เมื่อตัวเลขวันที่ ผ่านพ้นสู่กระดาษใบสุดท้ายของหน้าปฏิทิน การลาพักร้อนเพื่อพักผ่อน จากการกรำงานมาตลอดทั้งศักราช ย่อมหาใช่เรื่องแปลก และไม่ใช่ประเด็นที่ผู้บังคับบัญชาจะซักถามหาเหตุและผล แต่เมื่อคนลาพักร้อน มีตำแหน่งสูงถึง ‘นายกรัฐมนตรี’ ประชาชนในฐานะ ‘นายจ้าง’ ผู้เสียภาษี ย่อมเกิดปุจฉาได้เป็นเรื่องธรรมดา
ยิ่งการลาพักร้อนของ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ตรงกับห้วงจังหวะบางประการ ที่เกี่ยวข้องกับการถูกจองจำของ ‘น.ช.ทักษิณ’ แบบไม่ต้องสืบความต่อ ว่าจะเป็นคำถามติดปลายนวม ในทุกๆ โอกาสของนักข่าวหรือไม่
เพราะหากเปิดปฏิทินตามสถานการณ์บ้านเมืองจะพบว่า นายกฯ เลือกวันลาพักร้อนได้อย่างเหมาะเจาะ ตั้งแต่ช่วงบ่ายวันที่ 19 ไปจนถึงบ่ายวันที่ 22 ธันวาคม ซึ่งวันสุดท้ายของการลาราชการนี่แหละที่กลายเป็นประเด็น
เนื่องด้วย หากลงนับนิ้วย้อนกลับไป 4 เดือน วันสุดท้ายของการลาพักร้อนของนายกฯ ตรงกับวันครบรอบ 120 วัน ของการเดินทางกลับมาเมืองไทยของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ที่ต่อมารับโทษ ‘นอนนอกคุก’ รักษาตัวอยู่ที่ชั้น 14 ในโรงพยาบาลตำรวจมาจนถึงทุกวันนี้ นอกจากนี้ยังเป็นวันเดียวกันกับที่ ‘เสี่ยนิด’ ได้รับการโหวตจากรัฐสภา ให้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกฯ คนที่ 30 อีกด้วย (22 สิงหาคม 2566)
กลายเป็นประเด็น ‘ลาพักร้อน’ เพื่อพักผ่อน หรือเพื่อหนีปม ‘อุ้มนักโทษเทวดา’ กันแน่…
จริงๆ เรื่องเหตุผลการลา เศรษฐาระบุชัดตั้งแต่ภารกิจเยือนประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงปลายสัปดาห์ก่อนแล้ว ว่าต้องการไปดูแลมารดาที่อายุมาก และเพื่อพบปะกับลูกชายทั้ง 2 คน ที่จะกลับเดินทางกลับจากต่างประเทศ จึงอยากใช้เวลาครอบครัวพักผ่อนร่วมกัน พร้อมยืนยันตามคอนเซปต์ ‘ทำงานไม่รู้จักเหนื่อย’ ใครก็สามารถติดต่อได้ตลอดเวลา
ทว่า ‘จตุพร พรหมพันธุ์’ วิทยาการคณะหลอมหลวมประชาชน ก็ได้แสดงความเห็นผ่านการไลฟ์เฟซบุ๊ก ให้จับตาการลาพักร้อนเศรษฐาให้ดี เพราะอาจเป็นการหลบเลี่ยง - หนีการรับรู้ ต่อสถานการณ์ ที่อาจจะแปรเปลี่ยน ส่งผลให้ ‘นักโทษชั้น 14’ ได้ย้ายจากโรงพยาบาลตำรวจ สู่เคหะสถานกลายเป็น ‘นักโทษนอกเรือนจำ’ ก็เป็นได้
“จังหวะลาพักร้อน ตั้งแต่วันที่ 19 - 22 ธันวาคมของนายกฯ ไม่ธรรมดา จัดเป็นลีลาการเมืองแพรวพราว เพราะคงไม่ต้องการรับรู้การตัดสินใจให้ทักษิณ เปลี่ยนจากคุกไปเป็นคุมขังอยู่บ้านได้เฉลิมฉลองวันปีใหม่ มีการตั้งข้อสังเกตว่า คงเป็นดีลหนึ่งในยุทธการฟ้าใสให้กลับบ้าน ถ้าเป็นเช่นนี้ประชาชนจะว่าอย่างไร”
จตุพร พรหมพันธุ์ กล่าว
เมื่อพิจารณาตามคำบอกของจตุพร ก็พอจะเห็น ‘เคล้าราง’ ที่สามารถประติดประต่อเรื่องราวได้บ้าง เพราะก่อนหน้าที่จะมีข่าวการลาพักราชการของนายกฯ เพียงไม่มีกี่วัน กรมราชทัณฑ์ได้ออกระเบียบใหม่ ‘คุมขังนอกเรือนจำ’ โดยสาระสำคัญ คือ การกำหนดสถานที่คุมขังอื่นที่ ‘มิใช่เรือนจำ’ หรือ ‘จำคุกนอกเรือนจำ’ เพื่อพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง แต่ละประเภท และการอื่น ตามมาตรา 33 และ 34 แห่ง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560
แน่นอนว่า อดีตนักโทษอย่าง ‘เทพไท เสนพงศ์’ ตำนาน สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ที่ออกแอคชันตั้งแต่ทักษิณถูกราชทัณฑ์กุมตัว ตั้งแต่เหยียบพื้นสนามบินดอนเมือง ได้ออกมาตัดพ้อต่อระบบยุติธรรม โดยหยิบยกมาเป็นเรื่องราว ‘16 เดือน ในเรือนจำ ของ น.ช.เทพไท กับ 4 เดือน ในโรงพยาบาลตำรวจ ของ น.ช.ทักษิณ แตกต่างกันราวฟ้ากับเหว’ มาเล่าผ่านเฟซบุ๊ก
โดยหนึ่งในการตั้งข้อสังเกตของเทพไท มุ่งที่ประเด็นการพักโทษ ซึ่งส่วนตัวถูกคุมขังครบตามกำหนด คือ 2 ใน 3 ของระยะเวลาจำคุกทั้งหมด จึงได้รับการอนุญาต และระหว่างที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ เป็นเวลา 16 เดือน พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 ก็ได้มีการบังคับใช้แล้ว แต่ไม่มีการออกกฎกระทรวง หรือระเบียบของกรมราชทัณฑ์ ที่เป็นประโยชน์ต่อการถูกคุมขังเลยแม้แต่ฉบับเดียว ซึ่งแตกต่างกับทักษิณ ที่ดูเหมือนทุกอย่างเป็นไปอย่างเร่งรีบ ทั้งการออกกฎกระทรวง และระเบียบกรมราชทัณฑ์ เพื่อรองรับการถูกคุมขังนอกสถานที่ จึงถูกตั้งคำถามจากสาธารณชนเสมอมา
“ผมอยากจะให้สังคมจับตาดูว่า ในวันที่ 22 ธันวาคมนี้ ครบ 120 วัน ที่คุณทักษิณพักอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจ อยากจะรู้ว่า กรมราชทัณฑ์จะดำเนินการอย่างไร มีมาตรการใดนำตัวคุณทักษิณกลับเข้าสู่เรือนจำ และในขณะเดียวกันประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่องการคุมขังนอกเรือนจำ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2566 คุณทักษิณจะได้สิทธิ์ตามประกาศฉบับนี้หรือไม่”
เทพไท เสนพงศ์ ระบุ
ขณะที่ ‘วุฒิสมาชิก’ หลายคน ที่ออกมาวิจารณ์นายกฯ เศรษฐา ตั้งแต่การแถลงผลงานครบรอบ 100 วันของการบริหารราชการของรัฐบาล ก็ไม่ยังละทิ้งข้องสังเกตข้างต้น อย่าง สว. ‘เจตน์ ศิรธารานนท์’ ที่ล่าสุดวันนี้ (19 ธันวาคม 2566) ลุกขึ้นถามถึง ‘พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และองคาพยพ ที่ข้องเกี่ยวกับการควบคุมตัวทักษิณ ไม่ว่าจะกรมราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจ กลางที่ประชุมวุฒิสภา ต่อการออกระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ
ถือเป็นการให้อภิสิทธิ์ต่อนักโทษเทวดาหรือไม่ และมองกรณีที่ทักษิณได้รับการเอื้อประโยชน์ทั้งหมด เป็นความเสื่อมของกระบวนการยุติธรรม และขัดต่อหลักนิติธรรมที่ต้องปฏิบัติต่อประชาชนอย่างเสมอภาคด้วย
ทั้งหมดทั้งมวลจึงกลายเป็นคำถาม พุ่งเป้าไปที่ การลาพักร้อนสิ้นปีของ ‘นายกฯ’ ว่าสุดท้ายแล้ว จะเป็นการพักผ่อนหาความสุข หรือต้องการซ้อนเร้นปมเอื้อประโยชน์ที่อาจจะเกิดขึ้นกับ ‘พ่อแม้ว’ หรือไม่
ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามที่ถูกตั้งข้อสังเกตทั้งหมด ก็การันตีได้เลยว่าปีหน้า ‘นักโทษเทวดา’ ที่ใครๆ ตั้งสมญา จะยิ่ง ‘แผลงฤทธิ์’ เข้ามามีบทบาทสำคัญทางการเมือง ‘แบบเปิดหน้า’ มากขึ้น และจะเกิดคำถามต่อกระบวนการยุติธรรม อย่างมิรู้จบ...แค่คิดก็ปวดหัวแล้ว