ขอโทษในนามรัฐบาล! ‘นายกฯ อิ๊งค์’ เสียใจเหตุการณ์ ‘คดีตากใบ’

24 ต.ค. 2567 - 10:45

  • ‘นายกฯ อิ๊งค์’ รับเสียใจเหตุการณ์ ‘คดีตากใบ’ พร้อมขอโทษในนามรัฐบาล

  • ย้ำทำให้ดีที่สุด ไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก ยันรัฐบาลไม่นิ่งเฉย

  • แจงถาม ‘กฤษฎีกา’ ปมออก พ.ร.ก.ขยายอายุความ แต่ไม่เข้าหลักเกณฑ์-เงื่อนไขตาม รธน.

  • รับพร้อมพูดคุยเยียวยาเพิ่มเติม ไม่หวังปาฏิหาริย์ได้ตัวผู้หา บอกขอให้อยู่กับความเป็นจริง

Prime_Minister_regrets_the_Tak_Bai_incident_SPACEBAR_Hero_6b2a257747.jpg

แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้า ‘คดีตากใบ’ ที่จะหมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค.นี้ ว่า สำหรับคดีตากใบที่นักข่าวให้ความสนใจ คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการกลับไปดูข้อมูลตัวเลขหลายๆ อย่าง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ตัวดิฉันเองเห็นเหตุการณ์นี้ ก็รู้สึกเสียใจกับผู้ที่มีผลกระทบทั้งหลาย

และรัฐบาลตั้งแต่สมัย 20 ปีที่แล้ว ก็มีการออกมาแสดงความเสียใจและออกมาขอโทษ  ตั้งแต่รัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาถึงรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ออกมาแสดงความเสียใจและขอโทษกับเหตุการณ์นี้ด้วย รวมถึงได้มีการชดเชยจ่ายค่าเยียวยาไปแล้ว

ตัวดิฉันเอง ในฐานะนายกรัฐมนตรี ในวันนี้รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก และต้องขอโทษในนามรัฐบาลด้วย ก็จะทำให้ดีที่สุดไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก ส่วนประเด็นเรื่องตัวกฎหมาย พวกเราไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการส่งคำถามไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งตอนแรกที่มีเรื่องคดีนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และรัฐบาลเองไม่ได้นิ่งนอนใจได้ทำงานเร่งรัดเรื่องนี้ ตามกระบวนการต่างๆ ที่จำเป็นทุกอย่าง

แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

นายกฯ เผยว่า ในช่วงเช้าวันนี้ ได้พูดคุยกันเรื่องผลสรุปต่างๆ และได้สอบถามว่า กฎหมายจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง สิ่งที่มีการคอมเมนต์มา เราจะทำอย่างไรต่อ และทำได้หรือไม่ อะไรบ้าง ในเรื่องของการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)

เราจึงได้สอบถามสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่า ทำอะไรได้บ้าง เมื่อพิจารณาเข้าหลักการของกฎหมายแล้วตามรัฐธรรมนูญ

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่ากรณีนี้ ไม่เข้าหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการตรา พ.ร.ก. มาตรา 172 และมาตรา 174 ส่วนเนื้อหาที่เป็นการต่ออายุความเฉพาะคดีเป็นมาตรากฎหมายขึ้น เพื่อเป็นการบังคับใช้แก่คดีดังกล่าวเป็นการเฉพาะ ไม่ได้มุ่งขยายอายุความในคดีลักษณะเดียวกัน เป็นการทั่วไป จึงไม่สอดคล้องกับมาตรา 26 วรรคสอง ทั้งยังอาจเป็นการเลือกปฏิบัติ โดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ตามมาตรา 27 วรรคสามของรัฐธรรมนูญ และหลักกฏหมายอาญาสากล

แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

สรุปคือ ไม่เข้าเกณฑ์ในการออก พ.ร.ก. ตามรัฐธรรมนูญ นี่คือสิ่งที่ทางรัฐบาลส่งไปถามสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่า ทำอะไรได้บ้างในเรื่องของกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตาม สุดท้ายนี้แล้ว ขอให้ทุกคน รวมถึงรัฐเองตระหนักถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้ ก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก และอยากให้เกิดเหตุการณ์ที่สงบสุข

ไม่อยากให้ทุกฝ่ายต้องเกิดความขัดแย้งซึ่งกันและกัน ก็ขอให้ทุกคนพยายามอย่างเต็มที่ในเรื่องนี้ ซึ่งรัฐก็พยายามอย่างเต็มที่เช่นกัน

แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

เมื่อถามว่า คดีที่จะอายุความ มีคำถามมายังรัฐบาลว่า จะเตรียมรับมือเหตุการณ์เหตุการณ์ที่จะเกิดหลังจากนั้นอย่างไรบ้าง เพราะช่วงนี้มีเหตุการณ์ความรุนแรงทางภาคใต้เกิดขึ้น? นายกฯ กล่าวว่า อย่างที่ตอบไปแล้ว, ในเรื่องของเหตุการณ์ที่ผ่านมา ทางรัฐบาลเองไม่ได้นิ่งนอนใจ

เมื่อมีหมายศาลหรืออะไรก็ตาม ทางหน่วยงานความมั่นคงเองหรือตำรวจ ก็ทำอย่างเต็มที่ ในการดูแลหรือการออกค้นหา หรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับคดี ก็ทำอย่างเต็มที่

ในเรื่องของความรุนแรงที่เกิดขึ้นล่าสุด ที่มีข่าวที่จังหวัดปัตตานี ได้รับรายงานจากหน่วยงานความมั่นคงและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ด้วย ว่าไม่ได้มีผู้เสียชีวิตหรือผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่ก็ไม่อยากให้เชื่อมโยงเรื่องความรุนแรงนี้กับการเมือง ไม่อยากให้เกิดความรุนแรงขึ้นอีกจึงไม่อยากให้โยงเรื่องนี้

แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

เมื่อถามต่อไปว่า สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำเป็นจะต้องตึงเข้มเรื่องการรักษาความปลอดภัยมากขึ้นหรือไม่? นายกฯ ตอบว่า เรื่องความปลอดภัยของทุกคนในประเทศมีความสำคัญ เพราะฉะนั้นเอง ตอนนี้ ทั้งหน่วยงานความมั่นคง อย่างกระทรวงกลาโหม ที่ได้พูดคุยกัน ก็ดูแลเรื่องนี้อย่างเต็มที่อยู่แล้ว ย้ำว่าในเรื่องนี้ก็พยายามตรึงกำลังอยู่แล้ว

ส่วนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มองว่า กระบวนการยุติธรรมของคดีตากใบ เหมือนเป็นทางออกทางเดียวให้ชาวบ้านในพื้นที่ยังไว้ใจรัฐบาล แต่เมื่อคดีสิ้นสุดไปแล้ว ความไว้ใจนั้นหายเลือนไปแล้ว ในฐานะผู้นำรัฐบาลจะสื่อสารอย่างไรกับคนในพื้นที่?

นายกฯ กล่าวว่า อย่างที่บอก, เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียใจ ดิฉันเองที่วันนี้เป็นนายกรัฐมนตรีรู้สึกเสียใจ ซึ่งเมื่อ 20 ปีที่แล้ว คิดว่านายกฯ หลายๆ ท่าน ที่ผ่านมาก็คิดว่ารู้สึกเช่นเดียวกัน เพราะทุกคนก็เป็นคนไทยเหมือนกัน และก็ได้มีการเยียวยาทุกอย่างไป รวมถึงแสดงความรับผิดชอบในส่วนที่ทำได้

เพราะฉะนั้นเอง อย่างที่บอก, ดิฉันจะทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุดเช่นกัน ก็ไม่อยากให้ความรุนแรงแบบนี้เกิดขึ้นอีก อยากให้ทุกคนช่วยกันด้วย เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ถ้าจะเกิดความสามัคคีได้ก็ต้องอาศัยทุกฝ่ายร่วมมือกันเพื่อให้เกิดความสงบสุข

ในส่วนของดิฉันเอง และในส่วนของรัฐบาล อะไรที่ทำได้ก็ทำเต็มที่แน่นอน และก็อยากให้ประชาชนทุกๆ คน ไว้ใจว่า มาอยู่ตรงนี้ ก็อยากทำให้ประชาชนได้สบายใจและให้บ้านเมืองได้สงบสุข นั่นคือเป้าหมายสำคัญ

แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

เมื่อถามด้วยว่า คดีดังกล่าวเกิดขึ้นช่วง ทักษิณ เป็นนายกฯ วันนี้ แพทองธาร ซึ่งเป็นลูกสาว เป็นนายกฯ กังวลว่าจะได้รับการกดดันจากเรื่องนี้หรือไม่? นายกฯ ตอบว่า ตั้งแต่รัฐบาล ทักษิณ และหลายรัฐบาลจากนั้นมีความรับผิดชอบเกิดขึ้น แน่นอนสมัยนี้ ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในทุกพื้นที่ของประเทศไทยอย่างสุดความสามารถ

หากถามว่ากังวลหรือไม่ มันไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องประเทศชาติและการดูแลทุกๆ คนในประเทศ ไม่ว่าจะหัวข้อไหนก็ต้องดูแลอย่างเต็มที่

เมื่อถามต่อไปว่า มีวิธีการอย่างไรเพื่อจะลดอุณหภูมิในพื้นที่? นายกฯ กล่าวว่า ไม่อยากให้ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ไม่อยากให้โยงกับประเด็นการเมืองในทุกๆ เรื่อง

อย่างเรื่องตากใบ มีการเยียวยา ทุกคนพยายามทำสุดความสามารถ เพื่อดูแลปัญหาดูแลจิตใจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ และไม่อยากให้ประเด็นอื่นๆ นอกจากคดีนี้ เป็นตัวเสริมทำให้เกิดความรุนแรง ขอให้ไม่เป็นเช่นนั้น

แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

ส่วนกรณีทีมทนายความของกลุ่มโจทก์คดีตากใบ มีการหารือว่า หากพึ่งพาความยุติธรรมในประเทศไม่ได้ อาจต้องพึ่งศาลโลก รัฐบาลจะสนับสนุนเรื่องนี้อย่างไร? นายกฯ ตอบว่า คดีนี้ผ่านมา 20 ปี วันนี้เมื่อมีการฟ้องร้องเพิ่มเติม ถือว่ามีหลายประเด็น หลายองค์ประกอบ ซึ่งตอบได้แค่นี้ คิดว่าศาลทำหน้าที่และได้ตัดสินไปแล้ว

เมื่อถามว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร เสนอว่า เมื่อคดีหมดอายุความไป รัฐบาลอาจจะต้องมีการเยียวยาเพิ่มเติม

นายกฯ กล่าวว่า เรื่องนี้จะต้องพิจารณา โดยไปดูว่าการเยียวยาก่อนหน้านี้จบตรงไหน และต้องดูว่ามีอะไรเพิ่มเติมที่เราสามารถจะทำอะไรได้

สำหรับกรณีนี้จะส่งผลกระทบกับการพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ทุกฝ่ายทำหน้าที่ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดสันติสุข

ส่วนเมื่อถามว่า หาก พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี ผู้ต้องหาคดีตากใบ เดินทางกลับมา หลังจากคดีขาดอายุความ จะมีการดำเนินการอะไรหรือไม่ เพื่อลดอุณหภูมิความรุนแรง? นายกฯ ตอบว่า คงต้องพูดคุยกัน วันนี้ พล.อ.พิศาล ก็ลาออกจากพรรคแล้ว และยังไม่มีใครได้พูดคุยกับ พล.อ.พิศาล

ประเด็นสำคัญคือ ไม่อยากให้เกิดเรื่อง อะไรที่พูดคุยกันได้ก็อยากให้ทำอยู่แล้ว เพื่อทำให้ปัญหาย่อลงมา

แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

เมื่อถามว่า คณะที่ปรึกษานายกฯ ได้ให้คำแนะนำในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง? นายกฯ ตอบว่า ปรึกษาตลอด ถามว่า 20 ปีที่แล้วเกิดอะไรขึ้น ทำไมจบไปแล้วกลับมาอีก อยากได้ความคิดเห็นจากหลายฝ่าย หลายช่วงอายุ

เมื่อถามต่อไปว่า พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ระบุในทำนองว่า “คงต้องหวังพึ่งปาฏิหาริย์ เพื่อให้ได้ตัวผู้ต้องหาคดีตาดใบมาดำเนินคดี” วันนี้รัฐบาลคิดว่าจะมีปาฏิหาริย์นั้นหรือไม่? นายกฯ ตอบว่า เราทำทุกอย่างอย่างเต็มที่ เต็มความสามารถ

ปาฏิหาริย์เหรอ? มันต้องใช้เรื่องจริง

แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

ส่วนหากมีโอกาส จะลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่? นายกฯ ตอบว่า “แน่นอน, ทุกพื้นที่ของประเทศไทย ต้องหาเวลาที่เหมาะสมและสถานที่ว่าจะไปที่ไหนก่อนหลัง”

‘อิ๊งค์’ บอก “ว่ากันไปตามกฎหมาย” หลัง ‘ลุงชาญ’ ถูกจำคุกคดีทุจริต

ส่วนกรณีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ได้พิพากษาจำคุก 6 ปี 18 เดือน ชาญ พวงเพ็ชร์ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี และสมาชิกพรรคเพื่อไทย คดีทุจริตในการจัดซื้อถึงยังชีพในโครงการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาอุทกภัย ใน จ.ปทุมธานี

เรื่องนี้ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ชี้แจงว่า ก็ต้องเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย จริงๆ ก็ต้องว่าไปตามนั้น อะไรก็ต้องให้เป็นไปตามกฎหมายไป ถ้าเขาโดนอย่างนั้น ก็ต้องว่าไปตามนั้น

ถกทีมที่ปรึกษานโยบายฯ เน้นขับเคลื่อนการใช้งบประมาณภาครัฐ

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า วันนี้ นายกรัฐมนตรีได้เดินทางเข้าบ้านพิษณุโลก เพื่อเป็นประธานการประชุมหารือข้อราชการร่วมกับคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษา, สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานที่ปรึกษา, ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษา, ธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษา และ พงศ์เทพ เทพกาญจนา ที่ปรึกษา

ทั้งนี้ ในการพูดคุยได้เน้นเรื่องการขับเคลื่อนการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงเรื่องกฎหมายสำคัญๆ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์