เมื่อเด็กถูก ‘บูลลี่’ ไม่ใช่แค่เรื่อง ‘เด็กๆ’ อีกต่อไป

30 ม.ค. 2567 - 07:01

  • หนึ่งในปัญหาที่เรื้อรังมานาน คือ เด็กๆ ถูก ‘บูลลี่ กลั่นแกล้ง รีดไถ’ ในโรงเรียน ที่บางครั้งผู้ใหญ่อาจจะมองเป็นเรื่องเล็กๆ ของเด็ก แต่จริงๆ แล้ว เป็นปัญหาใหญ่ที่ ‘ผู้ใหญ่’ ต้องมีส่วนสำคัญในการร่วมกันป้องกันและแก้ปัญหา แม้ว่า เหตุแทงกันของเด็ก ม.2 จะยังไม่มีบทสรุปว่า ผู้ก่อเหตุ ถูกเพื่อน ‘รีดไถ ทำร้ายร่างกาย’ จริงหรือไม่? แต่เหตุการณ์นี้ ก็ทำให้ย้อนคิดถึงปัญหาของเด็กไทยได้

problem-bully-not-only-student-only-SPACEBAR-Hero.jpg

เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองสะเทือนใจ เมื่อนักเรียนชั้น ม.2 ถูกเพื่อนนักเรียนด้วยกัน ใช้มีดแทงจนเสียชีวิตกลางโรงเรียน โดยมีคำอ้างจากนักเรียนผู้ก่อเหตุว่า เพราะถูกข่มขู่ รีดไถเงินและทำร้ายร่างกาย 

แม้จะยังไม่ได้บทสรุปจากคดีดังกล่าว แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้ต้องย้อนฉุกคิดว่า ปัญหาการกลั่นแกล้ง บูลลี่ ทำร้ายร่างกายและจิตใจเพื่อนนักเรียนในโรงเรียนเดียวกัน มีมานานหลายสิบปีแล้ว แม้จะมีบทเรียนให้เห็นเกิดขึ้นมากมาย แต่ก็ยังไม่สามารถป้องกันปัญหา จนอาจนำไปสู่เหตุไม่คาดคิดขึ้นมาได้

อะไรคือ ‘แรงจูงใจ’ ของการบูลลี่-กลั่นแกล้งในโรงเรียน

นพ.ศรุตพันธุ์ จักรพันธุ์ ณ อยุธยา ผอ.สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา เล่าว่า แรงจูงใจมีได้หลายเหตุ บางครั้งเด็กก็เล่นกัน แต่เด็กไม่รู้ว่า การเล่นของเขา การล้อเลียนนั้น ทำให้เพื่อนอีกคนรู้สึกไม่ดี รู้สึกมีปมด้อย รู้สึกต่ำกว่า นอกจากนี้ การบูลลี่ส่วนใหญ่ มักเกิดจากกับเด็กที่อยู่คนเดียว ไม่มีเพื่อน มีนิสัยและพฤติกรรมแตกต่างจากคนอื่น ทำให้เพื่อนกลุ่มใหญ่ ทำให้รู้สึกว่า ตัวเองได้รวมกลุ่มกันแล้ว และมาแกล้ง มาล้อเด็กคนดังกล่าว จนกลายเป็นกิจกรรมของกลุ่ม แต่ในอีกกรณีหนึ่ง ก็คือ การจงใจแกล้งที่เกิดจากความไม่ชอบ เพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกดี รู้สึกเป็นหัวโจกของกลุ่ม หัวโจกของห้อง ทั้งหมดนี้ ทำให้คนที่ถูกกลั่นแกล้ง รู้สึกว่า ‘ทำไมฉันถึงถูกกระทำอยู่ฝ่ายเดียว’ และเด็กกลุ่มนี้ ก็มักจะไม่ค่อยตอบโต้กลับ หรืออยากจะโต้กลับ ก็โต้ไม่ได้ เพราะโดยลักษณะนิสัยของผู้ที่ถูกบูลลี่ จะเป็นคนที่เงียบๆ และไม่ค่อยมีปากมีเสียง

แล้วสภาพจิตใจของเด็กที่ถูก ‘บูลลี่-กลั่นแกล้ง’

“การบูลลี่ มีหลายรูปแบบ ทั้งการบูลลี่ด้วยวาจา โดนล้อ หรือเรื่องการกระทำอย่าง การขโมยยางลบ ซ่อนของ ขยับเก้าอี้เวลานั่ง หรือหนักๆ ก็ พวกทำร้ายร่างกาย ตัดผม ตบหัว ก็มีหลายรูปแบบ” ผอ.สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กล่าว

ผอ.สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา บอกว่า แน่นอน ผู้ถูกกระทำจะต้องมีความรู้สึก ‘โกรธ ไม่พอใจ น้อยใจ’ สุดท้ายก็ ‘น้อยใจตัวเอง’ ที่ไม่สามารถตอบโต้ได้ ซึ่งจะทำให้คิดไกลไปถึงเรื่องอื่นอย่าง

‘ทำไมเพื่อนไม่รัก’

‘ทำไมครูไม่ช่วย’

‘ทำไมพ่อไม่ดูแล แม่ไม่ช่วยปกป้อง’

ซึ่งสุดท้ายอาจจะเลยเถิดถึงขั้นกลายเป็น ‘โรคซึมเศร้า’ ในเด็กได้ เพราะหากถูกกระทำเช่นนี้ทุกวัน ก็จะเก็บจนกลายเป็นปมของเด็ก 

แนวทางการแก้ปัญหาและป้องกันการบูลลี่

  • ตัวเด็ก

ผอ.สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ชี้ว่า หากเป็นเด็กเล็กมากก็จะจะยากเสียหน่อย แต่หากโตขึ้นมาหน่อย จะต้องสอนเด็กว่า หากมีเหตุการณ์เช่นนี้ ให้รีบไปแจ้งครู และรีบบอกพ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งครูจะต้องมาช่วยดูแล และหากเด็กโตขึ้นมาหน่อย จะต้องมีการสอนและให้ความรู้ในโรงเรียน เรื่องพฤติกรรมบุญลี่ที่เป็นสิ่งซึ่งไม่ควรกระทำ เน้นย้ำความเป็นเพื่อนฝูงที่โตไปด้วยกัน ซึ่งครูจะต้องมีส่วนช่วยสอนเรื่องนี้ และเด็กจะค่อยๆ ปรับตัว และต้องสอนกรณีการถูกบูลลี่ด้วยว่า หากถูกเพื่อนแกล้ง ไม่ต้องแกล้งกลับ แต่จะมีวิธีอื่นเพื่อเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ดังกล่าว เช่น การเดินหนี เพราะในเรื่องของการกลั่นแกล้ง หากเราเดินหนีแล้วไม่สนใจ คนที่เป็นฝ่ายแกล้งก็จะเบื่อเอง แต่ก็ต้องดูไปตามแต่ละเหตุการณ์

  • โรงเรียน

ผอ.สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา มองว่า เป็นฝ่ายหลักที่ต้องแก้ปัญหา โดยควรจะมี ‘ครูที่ปรึกษา’ ซึ่งเด็กนักเรียนที่ถูกบูลลี่สามารถเข้าหาครูได้ทันทีที่ถูกกระทำ ซึ่งครูแนะแนวสามารถเป็นครูที่ปรึกษาได้ โดยวิธีแก้ปัญหาไม่ใช่การเรียกเด็กผู้กระทำมาตี แต่ต้องทำความเข้าใจโดยเน้นหลักความเป็นเพื่อนกันของเด็ก นอกจากนี้ โรงเรียนควรมีกิจกรรมที่ทำร่วมกัน โดยนำเด็กที่ไม่ค่อยพูด ให้ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนหลายกลุ่ม เพื่อให้เด็กนักเรียนในห้องได้รู้จักกันทั้งหมด อย่างน้อยจะได้มีความรู้สึกว่า เพื่อนคนนี้เคยอยู่กับเรามา เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวมักจะเกิดกับเด็กนักเรียนที่อยู่คนเดียว และพฤติกรรมแปลกๆ 

ผอ.สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ย้ำอีกว่า คุณครูประจำชั้นต้องทราบด้วยว่า เด็กที่ถูกกระทำ ถือเป็นเด็กกลุ่มเปราะบาง จะต้องสังเกตเป็นพิเศษว่า มีอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ ก็ต้องมีการจัดการในห้องเรียน อาจจะมอบหมายให้หัวหน้าห้องช่วยสังเกตนักเรียนคนดังกล่าวอีกทางหนึ่ง เพราะอย่างน้อยเมื่อถูกเพื่อนกลั่นแกล้ง หัวหน้าห้องก็อาจจะช่วยเคลียร์ให้แยกย้ายได้ ซึ่งการจัดการในห้องเรียนเหล่านี้สามารถเริ่มได้ทันที 

  • ครอบครัว

ผอ.สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ย้ำว่า ครอบครัวจำเป็นต้องรู้ว่าลูกของเรามีแนวโน้มที่จะถูกบูลลี่ได้ง่ายหรือไม่ จะต้องคุยกันทุกวันและค่อยๆ สอนเรื่องการคบเพื่อน ให้ลูกๆ ได้เล่าได้ระบาย กรณีเจอเพื่อนบูลลี่หรือกลั่นแกล้ง จากนั้นก็ให้กำลังใจ และให้คำแนะนำ รวมถึงพ่อแม่จะต้องเข้าไปคุยกับครูที่ปรึกษาเพื่อหาทางออกร่วมกันด้วย

ทั้ง ‘เด็ก-โรงเรียน-ครอบครัว’ ต้องช่วยกัน

ผอ.สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา เล่าว่า เรื่องบางอย่าง เห็นเป็นเรื่องเล็กๆ สำหรับผู้ใหญ่ อย่างการ ‘ล้อชื่อพ่อแม่’ แต่ในความรู้สึกของเด็ก ‘อาจไม่ชอบ’ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากพวกเขากลับมาเล่าให้ผู้ใหญ่ในบ้านที่สนิทฟังว่า ถูกล้อเลียน นั่นหมายความว่า เขารู้สึกไม่ชอบที่ถูกกระทำเช่นนั้นแล้ว ผู้ปกครองก็ต้องมีการพูดคุยกับเด็ก รวมถึงคุณครู เพื่อร่วมกันแก้ปัญหา 

แล้ว ‘เด็กๆ เหล่านี้ ก็จะผ่านเรื่องราวไปได้’

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์