‘เพื่อไทย’ กำราบ ‘นายพล’ ให้อำนาจ ‘นายกฯ’ สกัด ‘รัฐประหาร’

20 เมษายน 2567 - 06:15

Propose-a-law-giving-the-Prime-Minister-the-power-to-stop-coup-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ‘สุทิน’ เสนอแก้ ‘พ.ร.บ.กลาโหมฯ’ ในวง ‘สภากลาโหม’ วานนี้

  • ให้อำนาจ ‘นายกฯ’ ขอความเห็น ครม. มีคำสั่ง ‘พักราชการทหาร’ หากใช้กำลังยึดอำนาจ-ก่อกบฏ

  • เพิ่มโควต้าสมาชิกสภากลาโหม จาก 3 เป็น 5 สัดส่วน รมว.กลาโหม

  • คัดกรอง ‘นายพล’ ขึ้นตำแหน่ง ไม่เคยเป็น ‘ผู้มีอิทธิพล’ เกี่ยวข้องสิ่งผิดกฎหมาย

  • ไม่เป็น ‘คู่สัญญา-ทำธุรกิจ’ ไม่อยู่ระหว่างถูกสอบวินัย-ต้องคดีอาญา

จำนงค์ ไชยมงคล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ รมว.กลาโหม รับผิดชอบงานด้านกฎหมายและประชาสัมพันธ์ เปิดเผยว่า ในการประชุมสภากลาโหม วันที่ 19 เมษายน 2567 ซึ่งมี สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานสภากลาโหม ซึ่งมีการประชุมที่กองทัพอากาศ ได้เสนอให้สภากลาโหมเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติ จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม(ฉบับที่...) พ.ศ.... และร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่...) พ.ศ....

โดยมีสาระสำคัญในการแก้ไขเพิ่มเติมที่น่าสนใจ ดังนี้

1. ร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบกระทรวงกลาโหม มีการแก้ไขมาตรา 25 และมาตราอื่นๆโดยมีการกำหนดเงื่อนไขการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล โดยให้กระทรวงกลาโหมกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งนายพลในแต่ละระดับไว้ 3 ประการ คือ

  1. ต้องไม่เคยมีพฤติกรรมเป็นผู้มีอิทธิพล หรือมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด การค้ามนุษย์ การทำลายทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าโดยตรงหรือทางอ้อม
  2. ต้องไม่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม หรือประกอบธุรกิจหรือกิจการ
  3. ไม่อยู่ในระหว่างถูกสอบสวนทางวินัย หรือระหว่างถูกดำเนินคดีอาญา เว้นแต่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือความผิดลหุโทษ

นอกจากนี้ ยังให้อำนาจนายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีคำสั่งให้พักราชการทันที เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ข้าราชการทหารผู้ใดที่ใช้กำลังทหาร เพื่อยึดหรือควบคุมอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินจากรัฐบาลหรือเพื่อก่อการกบฏ

และมีการแก้ไขเพิ่มเติมเรื่อง สมาชิกสภากลาโหม ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้ง ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 5 คน จากเดิมกำหนดไว้เพียง 3 คน และยังมีการแก้ไขอีกหลายมตรา

2. แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพระธรรมนูญศาลทหาร โดยมีการยกเลิกศาลจังหวัดทหาร และให้ผู้เสียหายมีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาเองได้ ทั้งในเวลาปกติและเวลาไม่ปกติ และมีสิทธิอุทธรณ์ได้โดยตรงต่อศาลทหารสูงสุด ในเวลาไม่ปกติ เว้นแต่อยู่ในสถานการณ์การรบหรือสงคราม ซึ่งเดิม ในภาวะที่ไม่ปกติ ไม่สามารถอุทธรณ์ได้

การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวนี้ ก็เพื่อให้สอดคล้องกับการบริหารราชการแผ่นดินในภาวะปัจจุบัน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์