จ่อชงนิรโทษกรรมคดี ‘แรงจูงใจทางการเมือง’ พ่วงเหตุไม่รุนแรง ตั้งแต่ปี 48-ปัจจุบัน

2 พ.ค. 2567 - 11:03

  • ‘กมธ.นิรโทษกรรม’ จ่อชงนิรโทษกรรมคดี ‘มีเหตุจูงใจทางการเมือง’

  • พ่วงคดีไม่รุนแรง ตั้งแต่ปี 48-ปัจจุบัน

  • แต่ต้องแยกพิจารณา ‘คดี ม.112’ เหตุเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

propose-amnesty-for-politically-motivated-cases-and-non-violent-cases-from-2005-present-SPACEBAR-Hero.jpg

ชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ระบุที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ มีมติเห็นชอบร่วมกันว่า “จะมีการนิรโทษกรรมการกระทำและการแสดงออกทั้งหลายที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง” โดยมีคำนิยามว่า “มูลเหตุทางการเมือง” หมายถึงการกระทำอะไรบ้าง โดยจะนิรโทษกรรมตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

ส่วนจะนิรโทษกรรมการกระทำอะไรบ้าง ที่ประชุมมีความเห็นชอบร่วมกันว่า การกระทำที่มีโทษนั้น ควรจะเป็นการกระทำที่อยู่ในบทนิยามคำว่า “มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง”

คณะอนุกรรมการฯ จะไปสรุปประเภทคดีว่า มีการกระทำอะไรตั้งแต่ 2548 จนถึงปัจจุบัน ที่อยู่ในข่ายมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ก็จะนำเข้ามาเป็นรายละเอียดพร้อมทั้งแยกแยะให้เห็น เนื่องจากการกระทำหลายอย่าง ดูแล้วไม่ใช่ และไม่อยู่ในข่ายที่เป็นมูลเหตุจูงใจทางการเมืองโดยตรง แต่การกระทำในทางกฎหมายที่เรียกว่า เป็นความผิดในหลายบท เช่น บางคนอาจโดนคดีหลักและมีคดีรอง เช่น คดีจราจรทางบก คดีนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ คดีเกี่ยวกับพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นต้น

ชูศักดิ์ ศิรินิล

ทั้งนี้ ทาง กมธ.จะแยกแยะการกระทำประเภทนี้ว่า มีการกระทำอะไรบ้าง ที่จะสมควรได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ ซึ่งบางเรื่องจะมีขอมติให้ขอนิรโทษกรรมไปเลย เพราะบางคดีเป็นความผิดที่ไม่รุนแรงนัก เช่น ความผิดพ่วง เป็นต้น นอกจากนั้น ที่ประชุมยังมีมติขอขยายพิจารณาออกไปอีก 60 วัน แต่ กมธ.คงใช้ไม่เต็มทั้ง 60 วัน โดย กมธ.จะทำรายงานสรุปให้เสร็จก่อนเปิดสภาฯ ในครั้งหน้า ในเดือน ก.ค.

ส่วนมีคดีอะไรบ้างที่จะให้นิรโทษกรรมนั้น ชูศักด์ กล่าวว่า เป็นคดีที่เราระบุ เกิดตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันเกี่ยวกับเหตุการณ์ แต่ไม่ได้ระบุถึงประเภทคดีแบบเป็นรายคดี ว่าหมายถึงการกระทำ หรือคดีอะไรบ้างที่อยู่ในข่ายควรที่จะได้รับนิรโทษกรรม ซึ่งจะทำเป็นรายละเอียดไปเสนอให้กับคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ ได้พิจารณาในชั้นรายละเอียด ส่วนจะเป็นคดีอะไรบ้าง เราจะทำเป็นรายละเอียดแนบเป็นรายงานเพิ่มเติมเข้าไป

เราก็คิดว่า ถ้ามีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองแล้ว ส่วนใหญ่ก็ต้องได้รับการนิรโทษกรรมทั้งหมด โดยไม่มีการแลกเปลี่ยนอะไร

ชูศักดิ์ ศิรินิล

ส่วนคดีเกี่ยวกับมาตรา 112 จะแยกไปเป็นอีกกรณีหนึ่ง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และมีความเห็นที่อาจจะยังไม่ตรงกันมาก เราจึงคิดว่า น่าจะแยกออกมาเป็นการเฉพาะ เพื่อพิจารณาว่า เรามีมาตรการอย่างหนึ่งอย่างใดหรือไม่ โดยจะไม่พิจารณาร่วมไปในเรื่องที่เราพูดกันไปแล้ว

propose-amnesty-for-politically-motivated-cases-and-non-violent-cases-from-2005-present-SPACEBAR-Photo01.jpg

เปิด 4 ไทม์ไลน์ม็อบใหญ่-กาง 3 แนวทางเลือก จำแนก ‘ฐานความผิดที่มาจากแรงจูงใจทางการเมือง’ แบบชัดเจน-ไม่ชัดเจน

สำหรับประเด็นการจำแนกคดีที่มีฐานความผิดมาจากแรงจูงใจทางการเมืองนั้น ยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการ (อนุ กมธ.) ศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ชี้แจงว่า ในแง่ของระยะเวลา ได้พิจารณาโดยยึดแนวทางของคณะอนุ กมธ.พิจารณาศึกษาข้อมูลและสถิติ ที่มี นิกร จำนง เป็นประธาน คือวันที่ 1 ม.ค. 2548 จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 20 ปี แบ่งออกเป็นอีก 4 ช่วงเวลา ดังนี้

  1. ตั้งแต่ปี 2548 - 2551
  2. ตั้งแต่ปี 2552 - 2555
  3. ตั้งแต่ปี 2556 - 2562
  4. ตั้งแต่ปี 2563 - ปัจจุบัน

ใน 4 ช่วงเวลานี้ มีเหตุการณ์ทางการเมืองใหญ่ๆ เช่น การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ (เสื้อเหลือง) การชุมนุมของกลุ่ม นปช.(เสื้อแดง) การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. และการชุมนุมของกลุ่มเยาวชน

นอกจากนี้ ยังมีกระบวนการในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองย่อยๆ ภายในระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา รวมถึงชุมนุมในโลกออนไลน์ ที่มีเหตุในการเข้าข้อกฎหมายด้วย ซึ่งกระบวนการตรงนี้ เราได้จำแนกเกณฑ์ต่างๆ ในการพิจารณา โดยยึดเกณฑ์ใหญ่ที่สุดคือ ฐานความผิดที่มาจากแรงจูงใจทางการเมือง ทั้งที่ชัดเจนและไม่ชัดเจน โดย

  1. ฐานความผิดที่มาจากแรงจูงใจทางการเมืองชัดเจน เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมโดยตรง เชื่อมโยงคดีอาญา คดีในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือคดีในการชุมนุมสาธารณะ รวมถึงบางช่วงเป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายการทำประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2560
  2. ฐานความผิดฯ ที่ไม่ชัดเจน เป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำ เช่น พ.ร.บ.จราจร, พ.ร.บ.ความสะอาด ซึ่งไม่ได้เป็นกฎหมายโดยตรงเกี่ยวกับการชุมนุม แต่เป็นผลที่เกิดขึ้นจากการชุมนุม

เมื่อจำแนกออกมาเป็น 2 ส่วนแล้ว ก็จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม หลังจากนี้จะมีการประชุมคณะอนุ กมธ.ฯ ในสัปดาห์หน้า เพื่อปรับแก้ตามความคิดเห็นของ กมธ.ชุดใหญ่ เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปว่า ทางเลือกที่ 1. คือใช้กฎหมายนิรโทษกรรม ที่ยังมีความจำเป็น เพราะในกระบวนการนิรโทษกรรม ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆจะนำไปปฏิบัติ ก็ต้องมีฐานทางกฎหมายในการให้อำนาจหน่วยงานฯ ไปดำเนินการต่อไป ส่วนทางเลือกที่ 2. ฐานความผิดบางฐานอาจยังไม่มีข้อสรุป หรือข้อยุติที่ตกผลึก อาจจะใช้มาตรการที่ไม่ใช่กฎหมายในการดำเนินการ ขณะที่ทางเลือกที่ 3. บางฐานความผิด ซึ่งดำเนินคดีไป ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับสาธารณะ ท้ายที่สุดแล้ว ก็อาจต้องใช้กฎหมายอื่น เช่น พ.ร.บ.องค์กรอัยการ ตามมาตรา 21 เพื่อให้อัยการสั่งไม่ฟ้อง เช่น คดีเกี่ยวกับ พ.ร.บ.จราจร และความสะอาด

ยุทธพร อิสรชัย

คาดได้ถกในสภาฯ ช่วง ก.ค. แต่ ‘คดี 112’ ยังไร้ข้อสรุป

ส่วนทั้ง 3 ทางเลือกที่จะนิรโทษกรรม จะดำเนินการได้เมื่อไหร่นั้น ยุทธพร บอกว่า การนิรโทษกรรมเป็นเรื่องของ สส. หลังจากที่ กมธ.ชุดใหญ่มีข้อสรุป คาดว่าไม่เกินเดือน ก.ค.จะได้ข้อสรุป เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาในสภาฯ ซึ่งทางสภาฯ ก็มีเอกสิทธิ์รับฟังข้อเสนอเหล่านี้ทั้งหมด หรือจะไม่ฟังก็ได้ หรือจะนำไปใช้บางส่วนก็ได้

ขณะที่การกระทำความผิดตามมาตรา 112 จะได้รับการนิรโทษกรรมด้วยหรือไม่นั้น เรื่องดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการหารือ ยังไม่มีข้อสรุป

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์