รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงภายหลังการประชุม กมธ. ซึ่งเชิญบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาชี้แจง หารือกรณีการพักษาอาการป่วยของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เป็นไปโดยถูกต้อง ตามกระบวนการยุติธรรมหรือไม่
รังสิมันต์ เผยว่า ได้พิจารณา 3 กรอบแนวทางหลัก คือ
- การไปพักรักษาตัวของ ทักษิณ ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ชอบหรือไม่
- การพักรักษาตัวอยู่ยาวแบบนี้ สุดท้ายเป็นการตัดสินใจของใคร ถูกต้องทั้งทางการแพทย์ และทางกฎหมายหรือไม่
- ตั้งแต่ ทักษิณ ออกมาจนถึงปัจจุบัน มีปัญหาในเชิงความชอบด้วยกฎหมายอะไรบ้าง
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า 2 แนวทางแรก มีปัญหาอย่างมากในการพิจารณา เช่น การที่ ทักษิณป่วย มีอาการแน่นหน้าอก และไปที่สถานพยาบาล ปรากฏข้อมูลที่เราได้รับทราบว่า สุดท้ายคนที่มาดูแลสุขภาพ ทักษิณ เป็นแค่พยาบาลเท่านั้น
ทักษิณ ไมได้ถูกนำตัวไปที่โรงพยาบาลราขทัณฑ์เลย แพทย์ราชทัณฑ์ก็ไม่ได้มีโอกาสมาดูด้วยตา หรือใช้เครื่องมือดูแลสุขภาพ ทักษิณ มีเพียงพยาบาลโทรไปหาแพทย์ราชทัณฑ์เพื่อปรึกษา แล้วส่งตัวไปที่โรงพยาบาลตำรวจ จึงเป็นที่เคลือบแคลงว่า ทำไมกระบวนการถึงเป็นแบบนั้น
หลังจากเราไล่ไทม์ไลน์ทั้งหมด ระยะเวลาตั้งแต่นายทักษิณ ไปถึงสถานพยาบาล และพิจารณาหารือกับพยาบาลที่ได้ปรึกษาแพทย์ราชทัณฑ์ แล้วส่งต่อไปยังโรงพยาบาลตำรวจ จากข้อมูลที่ได้รับใช้เวลาเพียง 21 นาทีเท่านั้น หากตรวจดูจาก Google Maps ดูระยะเวลาการส่งตัว ใช้เพียง 17 นาทีเท่านั้น หมายความว่าระยะเวลาในการวินิจฉัย มีแค่เพียง 4 นาที ถือเป็นการทำเวลาได้รวดเร็วมาก
รังสิมันต์ โรม
ส่วนประเด็นต่อมา เราได้รับคำอธิบายว่าการส่งตัว ทักษิณ ไปโรงพยาบาลตำรวจ ดำเนินการโดยผู้บัญชการเรือนจำ เรื่องนี้ค่อนข้างแปลก ทำไมบทบาทของหมอโดยเฉพาะโรงพยาบาลราชทัณฑ์ถึงดูน้อยมาก ในการให้ความเห็นเรื่องนี้ สุดท้ายเป็นการโยนกันไปมา
แน่นอนว่าวันนี้ตัวแทนของโรงพยาบาลตำรวจไม่ได้มาเข้าชี้แจงต่อ กมธ. แต่เราติดตามข่าวสาร รองนายแพทย์ใหญ่ของโรงพยาบาลตำรวจ เคยออกมาให้สัมภาษณ์สื่อว่า การที่ ทักษิณ ต้องอยู่รักษาตัว ไม่ใช่การตัดสินใจของโรงพยาบาลตำรวจ แต่เป็นการตัดสินใจของกรมราชทัณฑ์
แต่วันนี้ได้รับคำตอบจากราชทัณฑ์ ว่า ไม่ได้เป็นการตัดสินใจของราชทัณฑ์ แต่เป็นการตัดสินใจของแพทย์เจ้าของไข้
รังสิมันต์ โรม
กมธ.ก็พยายามตรวจสอบหารายชื่อแพทย์เจ้าของไข้ ทักษิณ แต่ไม่ได้รับคำตอบเลย จนไม่แน่ใจว่า การที่ ทักษิณ รักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ เป็นการตัดสินใจของใคร
กมธ.พยายามแสวงหาคำตอบ ก็ไม่มีใครยืนยันกับเราได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา ถ้า 2 กรณีนี้ไม่ได้ข้อยุติ จะกลายเป็นว่านายทักษิณ ป่วยจริงหรือไม่ ถ้าไม่ป่วยจริง ปรากฏว่านายทักษิณ อาจมีส่วนในการตัดสินใจด้วย ความรับผิดชอบจะไม่ได้อยู่ที่แค่หน่วยราชการ แต่นายทักษิณ อาจจะเกี่ยวข้องกับการแสดงบทบาทบางอย่าง เพื่อทำให้เกิดการหลงเชื่อว่าตัวเองเจ็บป่วย ทำให้ผลของการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่รัฐต้องส่งไปโรงพยาบาลตำรวจ ทำให้สุดท้ายการที่นายทักษิณ ไปอยู่โรงพยาบาลตำรวจ ไม่แน่ใจว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
รังสิมันต์ โรม
นอกจากนี้ เราได้รับข้อมูลจากเลขานุการ กมธ. ว่าการที่ ทักษิณ ไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ ห้องพิเศษ มีค่าใช้จ่ายจำนวน 8,500 บาท เบ็ดเสร็จรวมแล้วอาจมีค่าใช้จ่ายถึง 1 ล้านบาท จึงมีคำถามต่อมาว่า ตกลงใครเป็นคนจ่าย ก็ยังไม่ได้รับคำตอบ, เวชระเบียน ข้อมูลการรักษา ถามใครก็ไม่มีใครตอบได้
ทั้งหมดนี้ ทำให้ข้อเท็จจริงหลายอย่างไม่ปรากฏชัดเจนต่อ กมธ. แต่สิ่งที่ชัดเจนคือ เรื่องนี้น่าสงสัย มีพิรุธ
ตั้งแต่ผมทำงานเป็นประธาน กมธ.มา เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ได้รับความร่วมมือน้อยที่สุดจากหน่วยงานราชการ และหน่วยงานราชการไม่อยากบอกอะไรกับเราเลย ทำให้ข้อสงสัยของสังคม เรื่องชั้น 14 ยังคงอยู่ต่อไป
รังสิมันต์ โรม
ส่วนเมื่อถามว่า ระยะเวลาผ่านมานานแล้ว ทำไมถึงหยิบยกเรื่องนี้กลับมาพิจารณาอีกรอบ รังสิมันต์ กล่าวว่า ระยะเวลาที่ผ่านมานาน ไม่ได้ทำให้กระบวนการที่เกิดขึ้นในวันนั้นกระจ่างเลย
ถามว่าทำไมเรื่องนี้ถึงสำคัญ ผมคิดว่าไม่ใช่คนเดียวที่ต้องตอบ แต่การที่มีคนไปร้อง การที่ประชาชนตั้งคำถาม เป็นการยืนยันว่ากรณีนี้เป็นกรณีที่พิศวง ยังไม่มีที่สิ้นสุดที่เราจะต้องแสวงหาข้อมูลต่อไป
รังสิมันต์ โรม