คณะคลี่คลายปม ‘เรือดำน้ำ’ เชิญจริงหรือแค่อยากให้เป็นข่าว?

23 มกราคม 2567 - 07:23

Rangsiman-doubts-about-invited-to-join-committee-solve-problem-of-Chinese-submarines-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ‘รังสิมันต์ โรม’ ถาม ‘รมว.กลาโหม’ ปมเชิญนั่งคณะกรรมการคลี่คลายปม ‘เรือดำน้ำ’

  • ต้องการจริงหรือแค่อยากเป็นข่าว? ชี้หาก ‘กองทัพ’ ร่วมมือให้ข้อมูล ก็ไม่จำเป็นต้องทำให้เปลืองภาษีประชาชน

  • ‘วิโรจน์’ บอกขอดูรายละเอียดก่อน หลังถูกเชิญร่วมก๊วนด้วย

  • ย้ำหลักการตรวจสอบถ่วงดุล อย่าให้ ‘นิติบัญญัติ’ อยู่เหนือ ‘ฝ่ายบริหาร’

หลังมีการเปิดประเด็นถึงการตั้งคณะกรรมการคลี่คลายปัญหาการจัดซื้อ ‘เรือดำน้ำจีน’ จาก สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งชื่อของ ‘ตัวตึง’ อย่าง ‘รังสิมันต์ โรม’ และ ‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ ก็ถูกโยงกับคณะกรรมการชุดนี้ด้วย

ในเรื่องนี้ รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ยืนยันว่า ยังไม่มีใครติดต่อมา และยังไม่ได้มีการปรึกษาหารือกันก่อนในรายละเอียด ส่วนตัวเห็นว่าควรคุยกันก่อน ซึ่งเจตนาของ สุทินต้องการให้มีประเด็นข่าวหน้าสื่อเพื่อที่จะให้เป็นประเด็นอื่นหรือไม่ ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ที่ตนเอเงเป็นประธานอยู่ ก็ยินดีที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ ภายใต้ผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ แต่หากไม่ได้มีการประสานล่วงหน้าจึงฝากคำถามกลับไปว่าต้องการให้ไปเป็นคณะกรรมการจริงหรือไม่ หรือต้องการให้มีภาพปรากฏในสื่อมาเท่านั้น

ในการเข้าไปร่วมคณะกรรมการดังกล่าว จะต้องพิจารณาในข้อกฎหมายว่า สามารถทำได้หรือไม่ และในทางปฏิบัติ แม้ไม่ได้เข้าไปร่วมในคณะกรรมการดังกล่าว จะเชิญกรรมาธิการไปร่วมรับฟังข้อมูล หรือมอบข้อมูลเรื่องเกี่ยวกับเรือดำน้ำต่อ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ ซึ่งต้องการข้อมูลดังกล่าวอยู่แล้ว จากกองทัพเรือ และกระทรวงกลาโหม ข้อมูลเรือดำน้ำที่บอกว่า จะจัดซื้อแล้วมีปัญหาแล้วจะเปลี่ยนเป็นเรือฟริเกต และมีข้อเสนอออกมา เราเองต้องการข้อมูลตรงนี้ให้ได้มากที่สุด เพราะในฐานะกรรมาธิการต้องปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ผลประโยชน์ของประเทศชาติ

รังสิมันต์ โรม

สำหรับเรื่องการเชิญเข้าเป็นคณะกรรมการฯ ตนไม่ได้ปฏิเสธ แต่ก็ไม่รู้จะตอบรับอะไร และยังคงรอการติดต่อจาก สุทินในประเด็นดังกล่าว ขณะเดียวกัน ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนจากกองทัพ ว่าจะจัดซื้อเรือดำน้ำ ด้วยภัยความมั่นคงแบบใด และหากจะซื้อมาแล้ว จะต้องพิจารณาในมิติเรื่องของการเชื่อมโยงระหว่างเรือดำน้ำและอาวุธต่างๆ มีหรือไม่ แต่ในวันนี้ ทางกรรมาธิการฯ ยังไม่ได้รับข้อมูลใดเกี่ยวกับการจะซื้อเรือดำน้ำเลย

หากจำเป็นต้องมีการตรวจสอบ ในฐานะฝ่ายตรวจสอบมีหน้าที่อยู่แล้ว ยินดีทำหน้าที่ แม้ไม่ได้อยู่ในบทบาทของกรรมการ หากกระทรวงกลาโหมให้ความร่วมมือ ก็สามารถที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบได้ และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปนั่งเป็นกรรมการ ขอแค่ความร่วมมือได้ไหม

รังสิมันต์ โรม

ชี้หาก ‘กองทัพ’ ร่วมมือให้ข้อมูล ก็ไม่จำเป็นต้องทำให้เปลืองภาษีประชาชน แฉเพราะมี ‘นาย บ.’ ไปจ่ายหัวคิวหรือไม่

นอกจากนี้ รังสิมันต์ ยอมรับว่าเข้าถึงข้อมูลของกองทัพได้ยาก หากได้รับความร่วมมือในฐานะกรรมาธิการฯ ก็จะถือว่าจบ ไม่จำเป็นต้องไปนั่งเป็นกรรมการให้เปลืองภาษีประชาชน แต่ครั้งนี้ ถือเป็นไฟต์บังคับว่า หากไม่เข้าร่วมคณะกรรมการข้อมูลที่จะรักษาผลประโยชน์ของประชาชนก็จะไม่สามารถดำเนินการได้ ทั้งนี้ บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าว ซึ่งเป็นบทบาทของฝ่ายบริหาร ในขณะที่ฝ่ายตรวจสอบ เป็นหน้าที่นิติบัญญัติ ซึ่งงานหลักคือ การตรวจสอบฝ่ายนิติบัญญัติ จึงจะยึดบทบาทตรงนี้เป็นหลัก โดยคาดหวังว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามระบบ

ขณะเดียวกัน ยังมองด้วยว่า รมว.กลาโหม ควรจะทำให้การปฏิรูปกองทัพเกิดขึ้นจริง ส่วนการจัดซื้ออาวุธยุทธโทรปกรณ์จะต้องเปลี่ยนวิธีคิด โดยเฉพาะเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำที่ยังหาเหตุผลของความจำกันไม่ได้ ควรจะต้องเลิก ซึ่งมีปัญหาเรื่องของเครื่องยนต์อีกด้วย และวอนไปยังรัฐบาลว่า อย่าพยายามปกป้องเรื่องนี้เพราะว่าสายไปแล้ว และจะต้องทำให้การจัดซื้อจัดจ้างโปร่งใส เป็นไปด้วยความจำเป็นไม่มีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น

เรื่องเรือดำน้ำ เลิกไม่ได้ หรือไม่ตอนจัดตั้งรัฐบาล มีนาย บ. คนนึงหรือไม่ ไปจ่ายค่าหัวคิว และสุดท้ายลุงคนนั้นไม่รู้รับไปแล้ว 20% หรือมากกว่านั้น เค้าจ่ายไปหมดแล้วเลยขึ้นกันไม่ได้แค่นั้นแหละ กลายเป็นเรื่องทุจริตคอรัปชั่นกลายเป็นเรื่องหักหัวคิวใช่หรือไม่ ให้ไปดูการอภิปรายของนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร

รังสิมันต์ โรม

‘วิโรจน์’ มีหวั่นไหว! บอกขอดูรายละเอียดก่อน หลัง ‘บิ๊กทิน’ เชิญร่วมนั่ง ‘ที่ปรึกษาโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ’ ย้ำหลักการตรวจสอบถ่วงดุล อย่าให้ ‘นิติบัญญัติ’ อยู่เหนือ ‘ฝ่ายบริหาร’

ขณะที่ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การทหาร ให้ความเห็นถึงข่าวการแต่งตั้งคณะกรรมการคลี่คลายปัญหาการจัดซื้อ ‘เรือดำน้ำจีน’ โดยชี้ให้เห็นเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุล ว่า เรามี กมธ.ความมั่นคงฯ ของ รังสิมันต์อยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมารัฐมนตรีให้ความร่วมมือในการตรวจสอบถ่วงดุล ก็เพียงแค่ให้ข้อมูลเปิดเผยรายละเอียดสัญญา และตอบคำถามที่ กมธ.สงสัย อย่างไรก็ตาม อะไรที่เป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติ และเรื่องการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นเรื่องที่พิจารณาได้ แต่เราต้องอย่าลืมหลักการการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ นิติบัญญัติต้องไม่เข้าไปแทรกแซงอำนาจฝ่ายบริหาร เพราะความรับผิดชอบในการตัดสินใจ ยังอยู่ในอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

สิ่งที่ต้องกังวล คือ จะเอาความเห็นของฝ่ายนิติบัญญัติ ไปอ้างอิงในการตัดสินใจของฝ่ายบริหาร ถ้าอยู่ลักษณะเช่นนั้น จะทำลายหลักการตรวจสอบ และถ่วงดุลในระบอบประชาธิปไตยทันที ดังนั้น ในความรู้สึกของผมกับนายสุทิน เข้าใจกันไม่ได้มีปัญหา แต่อยากจะรักษาหลักการตรวจสอบถ่วงดุล และอยากให้เป็นหน้าที่ของ กมธ.การทหาร หรือ กมธ.ความมั่นคงฯ ของนายรังสิมันต์ แต่ผมคงตอบแทนนายรังสิมันต์ไม่ได้ ส่วน กมธ.การทหาร ของผม อยากให้อยู่ในบทบาทของ กมธ.การทหาร และกระทรวงกลาโหมมากกว่า ดีกว่าให้เป็นนายวิโรจน์ คนใดคนหนึ่ง

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

เมื่อถามย้ำว่า จะไม่เข้าร่วมใช่หรือไม่ วิโรจน์ ก็ระบุว่า คิดว่าคงจะมีโอกาสหารือกับ สุทิน ในช่วงเดือน ก.พ. ซึ่งวันนี้คงต้องคุยในรายละเอียดก่อน แต่เจตนาที่พยายามจะคลี่คลายหาทางออก ให้เป็นประโยชน์กับเงินภาษีของประชาชน ก็เป็นดำริที่ดีอยู่แล้ว แต่ถ้าเรามีการข้อตกลงร่วมกัน ในการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างกระทรวงกลาโหม และ กมธ.การทหาร เพื่อให้ทำงานกันอย่างแนบแน่นมากขึ้น ไม่ใช่ว่าส่งเอกสารหรือขอหนังสืออะไรไปแล้ว ไม่เคยได้รับอย่างที่เคยเป็นมา ถ้าจะทำงานอย่างไร้รอยต่อมากขึ้น ถ้าเราสงสัยแล้วท่านชี้แจง เปิดเผยรายละเอียดเป็นสาธารณะ อะไรที่กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็เข้าอกเข้าใจกัน ตรงนั้นจะทำให้เราทำงานได้อย่างเข้าใจ

ส่วนกรณีที่ ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ตอบรับเข้าร่วมแล้ว วิโรจน์ มองว่าเป็นการตัดสินใจของ ยุทธพงศ์ ซึ่งบทบาทที่ผ่านมา ก็เป็นคนที่มีข้อมูลเรื่องเรือดำน้ำ และน่าจะช่วยงาน สุทินได้พอสมควร ไม่ว่ายุทธพงศ์ จะตัดสินใจด้วยเหตุผลใด ก็เคารพการตัดสินใจของ ยุทธพงษ์ ส่วนจะต้องนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ก่อนจะเข้าร่วมด้วยหรือไม่ วิโรจน์ ระบุว่า คงจะมีการหารือกันในหมู่ สส.มากกว่า เพราะเป็นเรื่องอำนาจนิติบัญญัติ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์