ใครอย่าแตะ! ‘โรม’ ถามปม ‘ทักษิณ’ เจอองค์รักษ์ ‘เพื่อไทย’ ขวางทันที

28 มีนาคม 2567 - 08:45

Rangsiman-question-about-Thaksin-but-was-protested-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ใครอย่าแตะ! ‘โรม’ ตั้งกระทู้ถามปมสังคมคาใจอาการป่วย ‘ทักษิณ’

  • องค์รักษ์ ‘เพื่อไทย’ ลุกขวางทันที-โวยอย่าเอ่ยชื่อ ‘บุคคลภายนอก’

  • ‘ปธ.วันนอร์’ ขอให้ใช้แค่ ‘นายกรัฐมนตรีท่านหนึ่ง’

หนึ่งในไฮไลท์ของการการประชุมสภาผู้แทรราษฏรวันนี้ อยู่ในช่วงที่ รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสด พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เพื่อขอทราบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษานอกเรือนจำ หลังเคยถามไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2566 นอกจากนี้ รังสิมันต์ ยังชี้ให้เห็นถึงการที่เป็น สส.มา 5 ปี แต่ไม่เคยเจอการประท้วง ทั้งที่ยังไม่ทันได้เริ่มต้นจะอภิปราย

ผมมีทั้งประสบการณ์ทั้งกระทู้ถามสดทั่วไป และกระทู้เฉพาะ ผมเข้าใจเรื่องการพาดพิง กระทู้เรื่องนี้มีการตั้งไว้นานแล้ว แม้สถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปแล้วแต่ ยืนยันว่าจะถามให้สอดคล้องกับสถานการณ์และอยู่ในขอบข่ายอำนาจของรัฐมนตรีที่จะตอบได้อย่างแน่นอน

รังสิมันต์ โรม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทันทีที่รังสิมันต์ เอยถึงชื่อ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทำให้ สส.พรรคเพื่อไทย อาทิ ไชยวัตร ติณรัตน์ สส.มหาสารคาม ลุงขึ้นประท้วงไปยัง วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม ว่า หากไม่จำเป็น อย่าเอ่ยชื่อบุคคลภายนอก เพราะคนภายนอกไม่สามารถมาชี้แจงในสภาฯ ได้

ทำให้ฐานะประธานการประชุม วินิจฉัยว่า ไม่สามารถให้เอ่ยชื่อบุคคลภายนอก เพราะบุคคลภายนอกไม่สามารถจะมาตอบได้ แต่อนุญาตให้พูดว่า ‘นายกรัฐมนตรีท่านหนึ่ง’ แทนได้

รังสิมันต์ จึงขอเรียก ‘ท่านอดีตนายกฯ โทนี่ วู้ดซัม’ พร้อมระบุ พยายามเลี่ยงเต็มที่ เพราะการที่เอ่ยก็ไม่ได้เสียหาย 

แต่ประธานการประชุม กล่าวว่า ท่านวินิจฉัยเองว่าไม่ได้เสียหาย แต่คนฟังข้างนอกอาจจะเกิดความเสียหายได้ และคำว่า ‘โทนี่ วู้ดซัม’ ก็ไม่อยากให้ใช้ 

ทำให้รังสิมันต์ เปลี่ยนมาเป็นกรณีที่รู้กันว่า พักรักษาตัวอยู่ชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจ

จากนั้น รังสิมันต์ อภิปรายต่อไป โดยชี้ให้เห็นถึงกระบวนการที่อดีตนายกรัฐมนตรีเข้าสู่ประเทศไทย และก่อนหน้านั้นต้องเจออะไรมาบ้าง ตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหาร 2549 ต้องยอมรับว่าสถานการณ์วันนั้น จนถึงปัจจุบัน มีความอยุติธรรมเกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งความอยุติธรรมเหล่านั้น เป็นผลสืบเนื่องจากรัฐประหาร 2549 และความอยุติธรรมเหล่านั้น ไม่ได้เกิดขึ้นต่อวงศ์ตระกูลของอดีตนายกรัฐมนตรีเพียงอย่างเดียว แต่ประชาชนจำนวนมากก็ได้รับความไม่เป็นธรรมในลักษณะเดียวกัน

การที่อดีตนายกรัฐมนตรีมาพักอาศัยอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจชั้น 14 ซึ่งจากที่ตรวจสอบ พบว่าเป็นห้องพักเป็นห้องพักในลักษณะวีไอพี (VIP) นำมาสู่คำถามสังคมแน่นอนว่า ตกลงแล้วคือมาตรฐานใหม่ ที่ผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมคนอื่น ไม่สามารถได้รับสิทธิ์ในลักษณะนี้ได้

หมายความว่า กระบวนการยุติธรรมเรามีหลายมาตรฐาน และหากพิจารณาในแง่ของกฎหมายตามกฎกระทรวงข้อที่ 4 ในปี 2563 เขียนไว้ชัดเจนว่า เมื่อผู้บัญชาการเรือนจำอนุญาต ผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ ต้องตรวจสอบสิทธิ์รักษาของผู้ต้องขัง ให้เป็นไปตามที่ทางราชการจัดให้ และห้ามผู้ต้องขังเข้าอยู่ในห้องพักพิเศษแยกจากผู้ป่วยทั่วไป เว้นแต่การรักษาตัวในห้องควบคุมพิเศษตามที่รักษาของผู้ต้องขังตามข้อ 3 จัดให้

รังสิมันต์ โรม

รังสิมันต์ ได้ตั้งคำถามอีกว่า

1. การที่อดีตนายกรัฐมนตรีพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจและไม่พักห้องอื่น ปลอดภัยน้อยกว่าชั้น 14 อย่างไร

2. ท่านสามารถแสดงให้ที่ประชุมสภาฯ แห่งนี้เห็นได้หรือไม่ว่า ห้องพักชั้น 14 ที่อดีตนายกฯ รักษาตัว มีสภาพเป็นเช่นไร

3. ทำไมถึงมีความจำเป็นต้องแยกตัวอดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากผู้รักษาตัวคนอื่นๆ เพราะโดยหลักตามกฎกระทรวง ต้องรักษาตัวร่วมกับผู้รักษาตัวท่านอื่น หากจะแยก ต้องเป็นการควบคุมพิเศษและต้องมีเหตุผลรองรับว่า คืออะไรถ้าจะอ้างว่า ‘คาร์บอมบ์’ ต้องมีหลักฐานยืนยันข้ออ้างดังกล่าว

4. กรณี ‘เอกชัย หงส์กังวาน’ เป็นฝีในตับ ซึ่งร้ายแรง ทางราชทัณฑ์ส่งตัวไปรักษาโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ยังไม่ทันหายก็รีบส่งตัวกลับเรือนจำ อยากถามว่า ร้ายแรงน้อยกว่าอดีตนายกรัฐมนตรีอย่างไร ส่วนการจะนำข้อมูลสุขภาพมาเปิดไม่ใช่เรื่อง แต่ขอทราบชื่อแพทย์ที่รับรองการรักษาอดีตนายกรัฐมนตรี เพราะหากเรื่องนี้มีการทุจริตเกิดขึ้น เราจะได้สามารถดำเนินการกับตัวหมอได้ ยืนยันว่า ‘พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ’ ไม่ห้ามเปิดเผยชื่อแพทย์ อย่างแน่นอน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์