‘ปัญหาในเมียนมา’ ก็เป็นปัญหาของไทย

25 เมษายน 2567 - 05:30

Rangsiman-said-problems-in-Myanmar-are-also-problems-in-Thailand-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ‘กมธ.ความมั่นคงฯ’ เชิญหน่วยงานเกี่ยวข้องถก ‘สถานการณ์เมียนมา’

  • ‘สส.รังสิมันต์’ ชี้ปัญหาเพื่อนบ้านก็เป็นปัญหาของไทย เหตุคนอพยพข้ามแดน

  • แนะแบ่ง 3 ระยะช่วยเหลือ ลั่นไทยอยู่ในฐานะที่น่าไว้วางใจที่สุด ควรเป็นตัวกลางในการเจรจา

รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ, เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (เลขา สมช.), ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.), ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และตัวแทนภาคประชาสังคม ร่วมประชุมในประเด็นปัญหาผลกระทบจากการสู้รบในเมียนมา (เมียวดี) ว่า จะมีการสอบถามความคืบหน้าของการแก้ปัญหา

เนื่องจากหน่วยงานทั้งหมดที่เชิญมา เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการหามาตรการรองรับ ในกรณีที่มีผู้หนีภัยสู้รบข้ามมาฝั่งไทย การเตรียมรับมือปัญหาความขัดแย้งที่อาจจะลุกลามบานปลาย และสอบถามว่า ประเทศไทยมีบทบาทอย่างไรที่จะเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเมียนมา รวมไปถึงการพูดคุยกันว่า ในอนาคตจะมีหนทางไหนที่ประเทศไทยอาจเป็นตัวกลางที่สำคัญในการนำมาซึ่งสันติภาพในเมียนมา

ทาง กมธ.ทำเรื่องเมียนมามานานพอสมควร เราไม่ได้พึ่งมาประชุมในวันนี้ เรามีการพูดคุยกันมาตั้งแต่การเชิญกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในเมียนมา มาร่วมสัมมนาพูดคุยกันด้วยซ้ำ เพื่อให้เกิดมุมมองที่มากไปกว่าที่กระทรวงการต่างประเทศพูดคุยกับทางการทูตและรัฐบาลทหารของเมียนมาเท่านั้น ซึ่งนี่เป็นประโยชน์ที่เราสามารถต่อยอดมาเรื่อยๆ จนถึงวันนี้

ทั้งนี้ จะรับฟังอย่างรอบด้านและมีความเห็นต่อไปว่า หากเราต้องการจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ประเทศไทยต้องวางตัวอย่างไร เบื้องต้น เราใช้นโยบายทางการทูตมาโดยตลอด แต่วันนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของแรงงาน หรือผู้หนีภัยการสู้รบ รวมถึงผู้หนีภัยทางเศรษฐกิจที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย ทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย จะมีหนทางแก้ไขอย่างไร ซึ่งหากมองตัวเลขที่หนีเข้าประเทศไทยอาจจะถึงหลักล้านคน ประเทศไทยจะมีการรองรับอย่างไร

ปัญหาที่เกิดขึ้น แม้จะเกิดขึ้นในเมียนมา แต่ก็เป็นปัญหาของประเทศไทยด้วย ยิ่งมีการผสมรวมของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทุนจีนสีเทา หรือสแกมเมอร์ทั้งหลาย ยิ่งเป็นปัญหาของประเทศไทยที่ประเทศไทยต้องเร่งจัดการ

อีกทั้งเห็นว่า ไทยควรจะต้องแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1. สิ่งที่ประเทศไทยสามารถทำได้ทันที คือการสนับสนุนด้านสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่หนีภัยการสู้รบข้ามมาที่เราต้องช่วย ขณะเดียวกัน ระหว่างการช่วย จำเป็นที่จะต้องเก็บข้อมูลกลุ่มบุคคลต่างๆ ที่เข้ามา เพื่อให้มั่นใจว่า เราสามารถจำแนกได้ว่าใครคือ ‘จีนเทา’ ใครคือเหยื่อจากการสู้รบจริงๆ รวมไปถึงการทำให้ชายแดนมีความมั่นคงปลอดภัย เพราะสิ่งที่ตามมาอาจมีการแอบแฝงในด้านอื่น ถ้าเราไม่มีการจัดการเรื่องความมั่นคงปลอดภัย

ระยะที่ 2. ไทยต้องพูดคุยกับทุกฝ่าย เพื่อปูทางไปสู่ระยะที่ 3. ที่เราเรียกว่าประชาธิปไตยในเมียนมา ว่าจะเอาอย่างไร และอีกสิ่งหนึ่งที่ทำได้ในระยะ 2 คือการปราบปรามยาเสพติดชายแดน

ระยะที่ 3. เป็นระยะที่ต้องพูดคุยกัน อาจใช้ระยะเวลานานพอสมควรเพื่อให้เกิดประชาธิปไตยในเมียนมา เพื่อให้เกิดความมั่นคง และเป็นประชาธิปไตยสูงสุดในประเทศเมียนมา

ส่วนทางการไทยจะพูดคุยอย่างไร เพื่อไม่ให้ดูเป็นการแทรกแซงเมียนมานั้น รังสิมันต์ กล่าวว่า จากที่ได้กล่าวไปบทบาทต่างๆ ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรอยู่แล้ว และคงจะอยู่ในกรอบที่อาเซียนเคยมีมติ ฉะนั้น การเดินแบบนี้สามารถทำได้ และเป็นบทบาทที่ประเทศไทยต้องทำ ถ้าเราต้องการให้วิกฤตในประเทศเมียนมายุติลง

ต้องบอกว่า บทบาทของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการใช้พรมแดนร่วมกันระหว่างไทยกับเมียนมา บทบาทในการสนับสนุนด้านเศรษฐกิจ ก็เชื่อว่าประเทศไทยยังคงอยู่ในฐานะที่น่าไว้วางใจมากกว่าคนอื่น ในการที่จะเป็นตัวกลางในการเจรจาจนเชื่อว่าประเทศไทยสามารถทำได้ โดยที่ไม่ได้ละเมิดกฎเกณฑ์กติกาสากลทั้งสิ้น เราไม่ได้ส่งกองกำลังไป เราเองใช้วิธีการพูดคุยและวิธีการในการป้องกัน ที่เรียกว่าเคารพหลักสิทธิมนุษยชนด้วย

นอกจากนี้ ยังต้องให้ความสำคัญกับธุรกิจของประเทศไทยที่เกี่ยวพันกับทางเมียนมา ที่อาจเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น อาจเอารายได้ดังกล่าวไปซื้ออาวุธ รวมถึงการเกี่ยวข้องกับสแกมเมอร์ Call Center ซึ่งมีธุรกิจที่น่าสงสัยอย่างธุรกิจไฟฟ้า ธุรกิจน้ำมัน ที่อาจเข้าไปเกี่ยวข้อง

ผมได้พูดเรื่องนี้ตั้งแต่ มีการอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 แล้ว และบอกรัฐบาลว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และควรเป็นวาระแห่งชาติ ไม่ใช่เกี่ยวข้องกับสแกมเมอร์หรือ Call Center เท่านั้น แต่ยังมีความเกี่ยวพันกันหลากหลาย ซึ่งเรื่องนี้จะต้องพูดคุยกับหลายฝ่ายทั้งประเทศไทยประเทศลาวและประเทศจีน ในเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูลและทำลายโครงสร้างเครือข่ายเหล่านี้

รังสิมันต์ ยืนยันสนับสนุนบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศ และประเทศไทย ในการหาวิธีที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหา สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเมียนมา แต่นอกจากการมองไปถึงกลไกที่เกี่ยวกับการพูดคุยเจรจา เราต้องทำอย่างไรที่จะทำให้ประเทศไทย ไม่ไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ในฝั่งตรงข้ามแม่สอดด้วย นี่คือสิ่งที่เป็นห่วง รวมไปถึงบทบาทของประเทศไทยที่อาจเกี่ยวข้องในลักษณะของการสนับสนุนสิ่งผิดกฎหมายตามแนวชายแดน

ซึ่งเรื่องนี้ไม่จำเป็นจะต้องพูดถึงกลไกระหว่างประเทศ แต่อยู่ที่ตัวเราที่เราสามารถดำเนินการได้ จึงอยากให้รัฐบาลใช้กลไกต่างๆ ระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น และสื่อสารออกมาเป็นระยะๆ ว่าประเทศไทยได้ดำเนินการอย่างไรไปแล้วบ้าง เพื่อให้สังคมได้เห็นว่า ประเทศไทยมีวิธีการดำเนินการกับสถานการณ์ปัจจุบัน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์