เพิ่งมีชื่อพรรค! ‘รังสิมันต์’ ชี้ยังเร็วเกินไปที่จะคุยเรื่อง ‘ม.112’

9 ส.ค. 2567 - 07:17

  • ‘รังสิมันต์ โรม’ มั่นใจ! ชู ‘ณัฐพงษ์’ เหมาะสมนั่งประมุข ‘พรรคประชาชน’

  • ชี้พิสูจน์ตัวเองมาเยอะ สส.-สมาชิกพรรคให้การยอมรับ

  • บอกวันนี้เพิ่งมีชื่อ ‘รังใหม่’ ยังเร็วเกินไปที่จะคุยเรื่อง ‘ม.112’

Rangsiman-said-too-early-to-talk-about-Section-112-SPACEBAR-Hero.jpg

ภายหลัง ‘ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ’ ได้รับเลือกเป็น ‘หัวหน้าพรรคประชาชน’ ทางด้าน รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว โดยแสดงความมั่นใจมาก เพราะ ณัฐพงษ์ พิสูจน์ตัวเองมาเยอะ ผ่านการทำงานที่ได้รับการยอมรับ ทั้งจาก สส.และสมาชิกพรรค ดังนั้น มองว่า ณัฐพงษ์ มีความเหมาะสมในการเป็นผู้นำพรรคในเวลานี้

เมื่อถามว่า แนวทางของพรรคใหม่จะเป็นที่พอใจของประชาชนหรือไม่ รังสิมันต์ กล่าวว่า เรายังคงทำหน้าที่ ทั้งการตรวจสอบงบประมาณและการเสนอกฎหมาย เพื่อประโยชน์ของประชาชน ในส่วนนโยบายอื่น ๆ ที่คิดไปถึงการเลือกตั้งในครั้งต่อไป เราไม่ได้ถกเถียงกันในเวลานี้ แต่เชื่อว่านโยบายหลายอย่างจะให้ความสำคัญ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมืองเพื่อให้คนเท่ากัน ทลายทุนผูกขาด และเปลี่ยนสังคมไปในทางที่ดีขึ้น

ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายจับตาว่า พรรคอาจจะมีการลดระดับประเด็นเรื่อง ‘มาตรา 112’ รังสิมันต์ มองว่า ยังเร็วเกินไปที่จะคุยเรื่องนี้ เพราะวันนี้เราเพิ่งมีชื่อพรรค

ส่วนใหญ่คุยกันเรื่องกรรมการบริหารพรรคและการพูดคุยเล็กน้อย ยังไม่พูดคุยเรื่องทิศทางใหญ่ มองว่าเรามีเวลาพอสมควรที่จะคุยเรื่องทิศทางของพรรคในอนาคต

ท้า ‘ป.ป.ช.’ ปมไต่สวน ‘44 สส.อดีตก้าวไกล’ ลั่นหากใช้อำนาจกลั่นแกล้งต้องรับผิดชอบ

สำหรับกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีมติไต่สวน ‘44 สส.อดีตพรรคก้าวไกล’ ที่ลงชื่อเสนอแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ว่าอาจเข้าข่ายผิดจริยธรรมร้ายแรง ซึ่งเจ้าตัวก็เป็นหนึ่งในนั้น

ในเรื่องนี้ รังสิมันต์ ยอมรับว่า ป.ป.ช.มีอำนาจตรวจสอบ แต่ผู้ใช้อำนาจก็ต้องมีความรับผิดชอบ หากใช้อำนาจแล้วนำไปสู่การกลั่นแกล้ง ก็ต้องรับผิดชอบตัวเองเช่นเดียวกัน ซึ่งการจะชี้ว่าเรากระทำผิด และอาจส่งเรื่องไปให้ศาลฎีกาแผนกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยนั้น ก็ต้องไปดูว่าตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นธรรมหรือไม่ มีการดูพยานหลักฐานเพียงพอหรือไม่

การใช้อำนาจขององค์กรต่าง ๆ ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานการทำหน้าที่ของ สส.ด้วย และอย่างที่ทราบ เราเสนอกฎหมายตามขั้นตอน มีการตรวจสอบโดยสภาฯ ซึ่งสุดท้ายกฎหมายดังกล่าวไม่ได้ถูกบรรจุในวาระด้วยซ้ำ ดังนั้น ก็ต้องไปดูว่าเรื่องนี้จะจบอย่างไร และเราจะจับตาดูเรื่องนี้เป็นพิเศษ

รังสิมันต์ เผยด้วยว่า เป็นคนที่ร้องเรียนเรื่องต่าง ๆ ไปยัง ป.ป.ช.เยอะมาก ซึ่งแต่ละเรื่องไม่ทราบว่ามีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง แต่ทำไมคดีที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองที่เกี่ยวข้องกับพรรคก้าวไกลอย่างพวกเรา ทุกอย่างดูรวดเร็ว แต่เรื่องอื่นดูช้าไปหมด ดังนั้น ป.ป.ช.ต้องตอบคำถามสังคม หรือ ป.ป.ช.มีเอาไว้แค่ตรวจสอบ สส.ที่เคยอยู่พรรคก้าวไกลใช่หรือไม่ หากเป็นเช่นนั้น ระบบการตรวจสอบของประเทศไทยน่าเป็นห่วงมาก

รับไม่ได้โดนยุบพรรค! เชื่อแก้ ‘ม.112’ ไม่ผิด-อยู่ที่ตีความ

เมื่อถามว่า ส่วนตัวกังวลหรือไม่ เพราะ ป.ป.ช.ระบุว่าจะมีการไต่สวนเป็นรายบุคคล รังสิมันต์ กล่าวว่า การไต่สวนเป็นสิ่งจำเป็น แต่ในขณะเดียวกัน อยากชวนให้คิด เพราะความรู้สึกของเราไม่สำคัญเท่ากับความเป็นไปของประเทศ

ตกลงว่าระบบการตรวจสอบ ไม่ว่าจะองค์กรไหน ถูกออกแบบมาเพื่ออะไร เรายื่นให้ตรวจสอบไปหลายเรื่อง บางเรื่องเป็นปีแล้วก็ไม่เห็นความคืบหน้าอะไร และผมขอถามว่า ที่จะจัดการกับพรรคก้าวไกล เป็นเพราะการคอร์รัปชันหรือไม่เห็นด้วยกับการทำงานของพรรค ย้ำว่าอดีตพรรคฯ ไม่เคยมีข้อข้อหาเบียดเบียนเอาเงินกับประชาชนแม้แต่สตางค์เดียว และอยากให้สังคมตั้งคำถามว่า กลไกเหล่านี้ทำลายประเทศชาติขนาดไหนแล้ว ยืนยันว่าไม่ได้พูดเพราะน้อยใจ

เมื่อถามถึงมุมมองว่า การเสนอแก้กฎหมาย ถือว่าเข้าข่ายผิดจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ รังสิมันต์ ก็มองว่า ไม่ผิด

มีกฎหมายอะไรเขียนว่าเราห้ามเสนอแก้กฎหมาย ทางมาตรา 112 หรือเรื่องใด ๆ ทุกอย่างอยู่ที่ว่าคุณจะตีความแบบใด เราก็ตีความว่า เราเคารพในสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่หากไม่เห็นด้วยกับวิธีการที่เราเสนอ และใช้อำนาจสั่งให้หยุดการกระทำ เราก็เข้าใจ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือการยุบพรรค ซึ่งผมรับไม่ได้

นอกจากนี้ เห็นมีการพาดพิงไปยังต่างประเทศ ซึ่งแสดงความกังวลต่อการยุบพรรคก้าวไกล จึงขอชี้แจงว่า ประเทศไทยมีความสำคัญ ต่างประเทศจึงต้องแสดงความเป็นห่วง เพราะประเทศไทยสามารถช่วยส่งเสริมประชาธิปไตยและความมั่นคงให้กับประเทศอื่นได้ รวมถึงมีบทบาทในเรื่องสิทธิมนุษยชน อีกทั้งยังเป็นนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้ประเทศไทยอยู่ในสปอตไลท์ของโลก ต่างประเทศจึงให้ความสำคัญกับสิ่งที่เกิดขึ้น ดังนั้น เราควรเอาเรื่องนี้กลับมาคิด

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์