ว่าด้วยข้อพิพาทระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ในเรื่องราว ‘มนุษย์’ กับ ‘สัตว์’ อย่างกรณีกลุ่ม ‘ผู้เลี้ยงนก’ เรียกร้องให้ปลดล็อกนกกรงหัวจุก ให้ออกจากบัญชี ‘สัตว์ป่าคุ้มครอง’ และการคัดค้านไม่เห็นด้วยของ 'เครือข่ายอนุรักษ์' จนเกิดเวทีประชาพิจารณ์ขึ้น 2 ครั้ง ในรอบไม่ถึงหนึ่งเดือน โดยครั้งล่าสุดจัดขึ้นที่อาคารรัฐสภา ภายใต้ชื่องาน ประชุมความเห็นเกี่ยวกับปัญหาการครอบครองและสถานภาพทางกฎหมายของนกปรอดหัวโขน
ผู้อ่านอาจสับสนว่านกทั้งสองที่ว่าตัวเดียวกันหรือไม่...ตัวเดียวกันครับ แต่มีชื่อเรียกต่างกัน ซึ่งตามหลักวิชาการและธรรมชาติวิทยา นกที่กำลังเป็นตัวละครหลักในกรณีพิพาท มีชื่อทางการว่า 'ปรอดหัวโขน' แต่สำหรับ 'กรงหัวจุก' เป็นคำเรียกของผู้เลี้ยงนก ที่ใช้เรียกพวกมันอย่างติดปาก
แล้วนกชนิดนี้สำคัญอย่างไร ถึงมีการหยิบยกมาหารือกันถึง 2 ครั้ง 2 ครา...เรื่องนี้ผู้เขียนขอหยิบยกข้อมูลมาท้าวความก่อนเข้าเรื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจกับผู้ที่ไม่รู้จักนกชนิดนี้ โดยจะขอแบ่งประเด็นออกเป็นสองเรื่องที่เกี่ยวข้อง 1) ความสำคัญต่อระบบนิเวศ 2) ความสำคัญทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม

ความสำคัญในเชิงธรรมชาติวิทยา - มูลค่าทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ของ ‘ปรอดหัวโขน’
ในเชิงธรรมชาติวิทยา นกปรอดหัวโขน (Red-whiskered Bulbul) เป็นนกในวงศ์นกปรอด (Pycnonotidea) ที่อาศัยและกระจายพันธุ์อยู่ในธรรมชาติเป็นสัตว์ประจำถิ่น โดยในประเทศไทย พบว่ามีการกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยพวกมันมักอาศัยอยู่ตามพื้นที่โล่ง ทุ่งหญ้า หรือพื้นที่เกษตรกรรม สวนผลไม้ แนวขอบป่า หรือป่าโปร่ง มักอยู่เป็นคู่ ในช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์อาจรวมฝูงเป็นฝูงใหญ่ หากินในระดับเรือนยอดของต้นไม้ บางครั้งลงมาในระดับต่ำ หรือรวมตัวกันบริเวณที่ มีผลไม้สุก สามารถกินได้ทั้งแมลงและผลไม้ได้
สำหรับความสำคัญทางธรรมชาติ พวกมันทำหน้าที่เสมือน 'นักปลูกป่า' คอย 'กระจายเมล็ดพืชขนาดเล็ก' โดยเฉพาะกลุ่มไม้เบิกนําหรือพืชที่มีขนาดเมล็ดไม่เกิน 15 มิลลิเมตร โดยเฉพาะกลุ่มที่อาศัยอยู่ตามแนวชายป่า และพวกมันมักจะนําเอาเมล็ดจากป่ามายังนอกพื้นที่รอบๆ และยังคอยควบคุมแมลงศัตรูพืชให้กับเกษตรกรอีกด้วย
เนื่องด้วยเสียงร้องที่ไพเราะ และลักษณะทางกายภาพที่น่ารักสะดุดตา ทำให้นกปรอดหัวโขนกลายเป็นสัตว์ป่ายอดนิยม ที่ถูกนำมาเพาะเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะในหมู่ชาวใต้ที่เพาะเลี้ยงมาอย่างยาวนานจนเป็นวัฒนธรรม และได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกภูมิภาค จากมูลค่าทางการตลาดที่สูงขึ้น โดยสามารถพบเห็นราคาตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักแสนบาท สร้างการหมุนเวียนให้กับระดับครัวเรือนและภาคธุรกิจ ทั้งในรูปแบบการซื้อขายนก และการแข่งขันประชันเสียงร้อง
แต่ด้วยแนวโน้มประชากรในธรรมชาติค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ จึงทำให้นกชนิดนี้ได้รับการขึ้นบัญชีเป็น 'สัตว์ป่าคุ้มครอง' โดยหากอ้างอิงตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ได้กําหนดความหมาย ของสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ว่า 'สัตว์ป่าที่มีความสําคัญต่อระบบนิเวศ หรือจํานวนประชากรของสัตว์ป่า ชนิดนั้นมีแนวโน้มลดลงอันอาจส่งผลต่อระบบนิเวศ ตามที่กําหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้' ซึ่งยังสอดคล้องกับสถานภาพของนกปรอดหัวโขน ในปัจจุบันที่มีแนวโน้มลดลงในธรรมชาติ แม้จะมีการ เพาะเลี้ยงได้เป็นจํานวนมาก
ปัญหาข้อพิพาท
เมื่อความต้องการของผู้เพาะเลี้ยงมีมากทำให้ที่ผ่านมา นกปรอดหัวโขนมีจำนวนประชากรในธรรมชาติลดน้อยลง โดยจากข้อมูลที่สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ได้รวบรวมไว้ตั้งแต่ปี 2558 - 2565 ผ่านการรายงานบนช่องทางวิทยาศาสตร์พลเมือง (citizen science) โดยใช้แอปพลิเคชัน eBird พบว่า การกระจายของนกปรอดหัวโขน จํานวนทั้งสิ้น 10,069 ครั้ง จาก 67 จังหวัด โดยส่วนใหญ่พบมากในพื้นที่ภาคเหนือ ส่วนภาคใต้และภาคอีสานมีจำนวนลดน้อยลงเรื่อยๆ

ข้อมูลข้างต้น แสดงให้เห็นอัตราการพบนกปรอดหัวโขนในธรรมชาติ มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ มีรายงานว่าพบนกชนิดนี้ในธรรมชาติเพียง 113 ครั้ง จากการสำรวจอย่างต่อเนื่อง 7 ปี สวนทางกับการที่นกปรอดหัวโขนได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายในประเทศไทย
แต่หากมองในมุมของกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงนกปรอดหัวโขน จะพบว่าพวกเขาเองต่างพบปัญหาจากกฎหมายดังกล่าว แม้ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะได้มีกระบวนการส่งเสริมการอนุรักษ์นกปรอดหัวโขนให้กับผู้ที่สนใจเลี้ยง และสนับสนุนพ่อแม่พันธุ์ให้ภาคเอกชนสามารถครอบครอง เพาะพันธุ์ และค้าได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงปรับลดขั้นตอนในการอนุญาตครอบครองหรือเพาะพันธุ์ แต่ยังมีผู้เพาะเลี้ยงจำนวนมากที่ไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากมีขั้นตอนการขออนุญาตหลายขั้นตอน ต้องใช้หลักฐานหลายอย่าง และต้องลงทุนสูง

จากรายงานสรุปของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ผู้ได้รับอนุญาตให้เพาะพันธุ์ ค้า ครองครอง นกปรอดหัวโขน ในช่วงปี 2555 ถึง ปัจจุบัน มีนกปรอดหัวโขนที่ขึ้นทะเบียนถูกกฎหมาย จำนวน 134,325 ตัว จากผู้ขอขึ้นทะเบียน จำนวน 11,527 ราย ซึ่งที่ผ่านมา ทางกรมอุทยานฯ ได้พบผู้กระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับนักปลอดหัวโขน ตั้งแต่ปี 2562-2566 รวม 183 คดี สามารถตรวจยึดนกผิดกฎหมายได้ทั้งสิ้น 6,406 ตัว
ทำให้กลุ่มผู้เพาะเลี้ยงนกพยายามที่จะขอ ‘ปลดล็อก’ ให้นกชนิดนี้ออกจากการเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ซึ่งแน่นอนว่าย่อมถูดขัดขวางจากเครือข่ายอนุรักษ์ที่กังวล ว่าจะไม่มีกฎหมายในการดูแลนกปรอดหัวโขน และจะส่งผลต่อเนื่องจนสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ
‘ประชาพิจารณ์’ หรือ ‘เวทีหาเสียง’
ขออภัยที่ผู้เขียนต้องท้าวความย้อนไปไกลหลายย่อหน้า แต่เรื่องนี้ค่อนข้างละเอียดอ่อนพอสมควร จึงอยากให้ผู้อ่านได้รู้เรื่องราวพอสังเขป ขออนุญาติกลับเข้าเรื่องที่เกริ่นไปช่วงต้น คือประเด็นการจัดเวทีแลกเปลี่ยนความเห็น ระหว่างผู้เพาะเลี้ยง และนักอนุรักษ์ ที่เรียกได้ว่าดุเดือดถึง 2 ครั้ง
ครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 เดือนที่แล้ว ณ ศาลาประชาคม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา (รอบนี้ผู้เขียนขอไม่กล่าวถึงเพราะไมได้ร่วมเหตุการณ์ เกรงจะผิดพลาด) และครั้งล่าสุดที่อาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา
มีหลายประเด็นให้ชวนขบคิด แต่หลักๆ ที่อยากจะเล่าคือภาพบรรยากาศความคึกคัก ครื้นเครง และตึงเครียด ที่แปดเปื้อนหลอมรวมอย่างอลม่าน

10 โมงเช้าเป็นเวลาที่ผู้เขียนก้าวเท้าเหยียบเข้าสู่อาคารรัฐสภาที่คุ้นเคย เพราะที่ผ่านมาก็มีโอกาสมาทำข่าวอย่างสม่ำเสมอ แต่่ความแปลกใจก็ประเดประดังดั่งลมแอร์ฉาดแรกที่กระทบใบหน้า เมื่อประตูโถงสภาเปิดต้อนรับ
ภาพกลุ่มพี่น้องประชาชนหลายร้อยคนจากภาคใต้ ที่เดินทางมาด้วยรถทัวร์หลายสิบคัน ที่ประเมินจากสายตา อาจเทียบเท่าหรือมากกว่า จำนวน สส. - สว. ที่นั่งประชุมในสภาอันทรงเกียรติแห่งนี้เสียอีก
พวกเขาและเธอ เดินทางมาจากแดนไกล เพื่อส่งเสียงเรียกร้องให้ ‘ปลดล็อกนกกรงหัวจุก’ สัตว์เลี้ยงที่สร้างเม็ดเงินให้กับครอบครัว และพวกมันสามารถสร้างความเพลิดเพลินให้กับผู้เลี้ยงได้ เพียงแค่นั่งฟังเสียงร้องอันไพเราะ ยามเกาะคอนอยู่ในกรงเลี้ยงหน้าบ้าน
ขณะที่เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่า นำโดย ‘สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย’ พร้อมด้วย ‘มูลนิธิสืบนาคะเสถียร’ ก็รวมกลุ่มเดินทางมายังจุดหมายเดียวกันเพื่อ ‘คัดค้านการปลดล็อกนกปรอดหัวโขน’ สัตว์ป่าที่สำคัญต่อระบบนิเวศอันกว้างใหญ่
ทำให้เวทีที่ถูกจัดขึ้น ดูต่างจากงานประชาพิจารณ์ทั่วไป ที่ข้าพเจ้าเคยผ่าน (การทำข่าว) มาตลอดชีวิตการเป็นนักข่าว
เพราะห้วงเวลากว่า 3 ชั่วโมง ทั้งในและนอกห้องประชุมเต็มไปด้วยเสียงเชียร์ - เสียงโห่ โดยเฉพาะจากฟากฝั่งกลุ่มคนแดนสะตอที่มาเยือนเมืองหลวง ยิ่งผนวกรวมกับถ้อยแถลงจากบรรดา สส.ภาคใต้จากพรรคการเมืองต่าง ๆ รวมทั้งเสียงจาก ‘พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน’ สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานสภาฯ คนที่ 2 ที่ผลักดันร่วมกับชาวบ้าน ยิ่งกลบเสียงเครือข่ายอนุรักษ์ ที่มาในจำนวนไม่มากไปกว่านิ้วมือ - นิ้วเท้าของมนุษย์ (รวมกัน)
“ไม่พูดคุย ไม่เจรจาแล้ว ที่นี่คือที่สุดของประเทศไทยแล้ว เราจะไม่ขึ้นทะเบียนอีกต่อไป ปลดล็อกนกกรงหัวจุกเดี๋ยวนี้ วันนี้ สส.ทุกคนมาให้กำลังใจและแสดงเจตนารมณ์ที่นี่แล้ว ซึ่งฝ่ายการเมืองเห็นความตั้งใจของพี่น้องถึงมีวันนี้ขึ้นมา”
แม้จะเป็นคำพูดทิ้งท้ายก่อนปิดงาน แต่น้ำเสียงและการใช้ถ้อยคำของพิเชษฐ์ กลับทำให้อุณหภูมิในห้องประชุมที่ควรจะเย็นลง ทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มนักวิชาการและบรรดาเอ็นจีโอสิ่งแวดล้อม ที่แต่เดิมการแสดงความเห็นแทบไม่ได้ถูกรับฟังอยู่แล้ว เพราะถูกกลบด้วยเสียงเฮ และเสียงปรบมืออย่างถูกอกถูกใจจากชาวบ้านหลายร้อยคน

จึงไม่แปลกที่จะถูกตั้งคำถามว่า การจัดเสวนาครั้งนี้ใครได้ประโยชน์กันแน่ ?
“ผมมองว่าการที่ท่าน สส. จัดเวทีประชุมแล้วมีการพูดในลักษณะหาเสียงแบบนี้ ผมรู้สึกเสียดายเวลา เสียดายโอกาสของพี่น้องผู้เลี้ยงนก ที่ควรจะคุยให้ชัดเจนว่าอะไรคือปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ มีแต่บ่น ๆ อย่างเดียวทำให้เรา (ภาควิชาการ) ไม่รู้ว่าปัญหาของเขา (ชาวบ้าน) คืออะไรกันแน่ เอาตรงๆ ที่ผมไปคุยนอกห้องประชุมกับคนเลี้ยงนก ยังได้ข้อมูลมากกว่า จึงไม่แปลกที่จะบอกว่าเวทีที่จัดขึ้นที่รัฐสภา มันไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นเลย”
นี่เป็นความรู้สึกของ 'ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์' กรรมการสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ในฐานะตัวแทนกลุ่มนักอนุรักษ์ ที่เฝ้าสังเกตการณ์และแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการกับชาวบ้าน ที่เวทีประชาพิจารณ์
ตามท่าทีที่ข้าพเจ้าสังเกตเห็น พบว่าตลอดระยะเวลาการจัดงาน นณณ์ถือเป็นผู้หนึ่งที่พยายามอธิบายและพูดคุยกับกลุ่มผู้เลี้ยงนก อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านที่แลกเปลี่ยนความคิดอย่างสุขุมคัมภีรภาพ หรือผู้ไม่พอใจเครือข่ายอนุรักษ์ที่ออกมาคัดค้านการปลด เขาก็พยายามทำความเข้าใจอย่างไม่ลดละ ไม่ว่าจะบนโพเดียมหน้าเวที หรือภายนอกสถานที่จัดงาน

นณณ์ กล่าวต่อว่า จริงๆ ควรจะจัดกิจกรรมประชาพิจารณ์อีกหลายๆ ครั้ง เพื่อถกหารือกันอย่างจริงจัง ระหว่างชาวบ้านกับเครือข่ายวิชาการ เพื่อตกผลึกปัญหาและหาทางออกร่วมกัน โดยไม่ควรจะมีภาคการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะจะยิ่งทำให้สถานการณ์ดูแย่ลง และเพิ่มความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนเลี้ยงนกกับนักอนุรักษ์ให้ทวีคูณยิ่งขึ้น
พร้อมกันนี้ นณณ์ยังได้เสนอแนะแนวทางแก้ปัญหา แบบมุ่งไปที่ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน อาทิ ไปแก้ไขวิธีขึ้นทะเบียนนกที่มีกระบวนการทางราชการแสนยุ่งยาก แทนการปลดล็อกที่มีลักษณะเหมือนการ ‘ล้มโต๊ะ’ กราย ๆ โดยเขายืนยันว่า หากมีการถอดนกปรอดหัวโขนออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองจริง อาจไม่ใช่แค่นกปรอดหัวโขนเท่านั้น แต่ในอนาคตอาจมีสัตว์ชนิดอื่น ถูกเรียกร้องให้ปลอล็อกจนทำให้ระบบนิเวศต้องปั่นป่วนอีกด้วย
“ในที่สุดแล้วผมอยากให้มองที่ตัวนกเป็นหลักนะครับ เราก็รักนกเหมือนกัน อยากให้นกในธรรมชาติอยู่ได้ควบคู่ไปกับนกในกรงก็ต้องอยู่ได้ อย่าไปทำให้ต้องมีฝั่งไหนต้องเสียประโยชน์ เราหาจุดร่วมกันดีกว่า และผมเชื่อว่าเราทุกคนมีทางออกร่วมกันเสมอ” นณณ์ กล่าวทิ้งท้าย
ความเห็นของนักดูนก สอดคล้องกับมุมมองของ ‘ภาณุเดช เกิดมะลิ’ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่มองว่า สถานการณ์ในห้องถกแถลง ไม่ต่างอะไรกับการหาเสียงของนักการเมือง หรือการอภิปรายในสภาอันรโหฐานของบรรดา สส. ผนวกกับรูปแบบการจัดเวทีที่ไม่ชัดเจนเนื่องจากไม่มีเจ้าภาพหลักในการดำเนินการ
ภาพเห็นที่ชัดเจนคือ การเลือกอาคารรัฐสภาในการจัดกิจกรรม โดยเป็นไปตามแนวคิดของรองประธานสภาฯ คนที่ 2 และให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ เป็นผู้ดำเนินการจัดการ ไม่ว่าจะเป็นการเชิญบุคคลเข้าร่วม และวางกำหนดการของงานทั้งหมด ซึ่งเขามองว่า ทุกอย่างผ่านการคัดกรองมาจากรองประธานสภาฯ คนที่ 2 ทั้งสิ้น ทำให้สามารถคัดเลือกผู้ที่จะเข้าร่วมงาน และสามารถวางลำดับการให้ข้อมูลได้อย่างเบ็ดเสร็จ

“อย่างชาวบ้านที่ร่วมงานก็ถูกเชิญมาโดยนักการเมืองท้องถิ่น โดยมีการจัดรถให้ มีป้ายโฆษณาว่า สส.คนนี้สนับสนุนการจัดรถคันนี้ ขณะเดียวกันพวกผมที่ไป กลับถูกเชิญโดยกรมอุทยานฯ มันก็ทำให้รูปแบบการจัดงานค่อนข้างอิหลักอีเหลื่อ เพราะเจ้าภาพอย่างกรมอุทยานฯ ก็ทำอะไรไม่ได้เต็มที่ มันติดที่ตัวหน่วยงานพื้นที่”
ประธานมูลนิธิสืบฯ กล่าวต่อว่า เมื่อทุกอย่างเป็นไปอย่างที่กล่าวไว้ ทำให้การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ไม่ได้เป็นไปในรูปแบบประชาพิจารณ์ แต่เป็นในลักษณะการอภิปรายของสส. มากกว่า แทนที่จะมาในรูปแบบนำเสนอประเด็นปูพื้นความเข้าใจผ่านหน่วยงานกลาง แล้วเสนอความเห็นเพื่อแก้ไขปัญหา ก่อนจะแลกเปลี่ยนเพื่อรับฟังซึ่งกันและกัน
“มันก็เลยกลายเป็นการใช้จำนวนคนเข้ามากดดัน และพยายามสร้างกระแสที่จะเรียกร้อง มากกว่าการที่จะได้พูดคุยเชิงประเด็น ซึ่งเราก็พยายามจะพูดในเรื่องปัญหาทางนิเวศวิทยา และผลกระทบทางพันธุกรรมของสัตว์ป่า แต่ก็ถูกปิดโดยคุณพิเชษฐ์ ที่พยายามโน้มนาวชาวบ้านให้ไม่ต้องลงทะเบียน และจะต้องเรียกร้องให้ปลดล็อกให้ได้ ซึ่งคิดว่าเวทีแบบนี้ไม่ควรจะมีการชี้นำโดยประธาน ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง และขอตำหนิการทำหน้าที่ของรองประธานสภาฯ คนที่ 2 ด้วยครับ ”
ภาณุเดช กล่าวว่า ในระดับผู้เลี้ยงรายเล็กหากมีการนำปัญหามาพูดคุยกันเรื่องกระบวนการต่างๆ ที่ยังติดขัด มาปรับแก้กันอย่างตรงจุด อาจทำให้ทางออกจริงๆ ไม่จำเป็นต้องข้ามขั้นไปถึงการปลดล็อก และที่สำคัญบุคคลที่อยากจะให้มีการถอดถอนจริงๆ อาจเป็นกลุ่มทุนรายใหญ่ที่มีช่องทางประสานกับภาคการเมือง จึงใช้ช่องทางนี้ในผลักดัน โดยใช้ฐานเป็นกลุ่มรายย่อยเป็นพลังร่วมในการเรียกร้องครั้งนี้ด้วย
“จริงๆ การปลดล็อกมันอาจเป็นกระบวนการท้ายสุด ถ้าเอาปัญหามาวิเคราะห์จริง ๆ ผมจึงมองว่าอาจมีบางกลุ่มที่ยกเรื่องนี้เป็นหลัก เพื่อที่จะดันให้เกิดการรื้อกฎหมายแบบสุดซอย แล้วมันจะเกิดผลประโยชน์กับกลุ่มบางกลุ่ม นี่คือสิ่งที่ผมเป็นห่วง และมันจะกลายเป็นประเด็นให้เราไม่สามารถคุ้มครองนกที่อยู่ในธรรมชาติได้เลย” ภาณุเดช กล่าวทิ้งท้าย
ท้ายที่สุดแล้ว เรื่องการจะปลดล็อกหรือไม่ คงอยู่ที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ที่จะต้องนำเสียงสะท้อนจากคนทั้ง 2 กลุ่ม ไปเสนอต่อคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เพื่อพิจารณาเห็นชอบในการครอบครองนกปรอดหัวโขนให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป (อย่างไร)
แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องขบคิด และพูดคุยกันอีกมาก เพราะในสังคมนิเวศแบบธรรมชาติ และโลกของมนุษย์ ทุกฝ่ายควรได้รับผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นธรรม
ไม่ว่าจะ ‘คนกับคน’ หรือ ‘คนกับสัตว์’
เสียดายนกมันพูดไม่ได้ มิฉะนั้นเราคงจะได้รู้ ว่าสุดท้ายแล้ว พวกมันคิดเห็นเป็นประการใด…
ข้าพเจ้าเสียดาย (และเสียใจ) จริงๆ
