พรรคพันธมิตรกับปรากฏการณ์ ‘เอกราชปาตานี’

19 มิ.ย. 2566 - 11:42

  • อ่านปรากฏการณ์ 8 พรรคร่วมรัฐบาลในฝัน หลังดราม่า ทำประชามติ ‘เอกราชปาตานี’ และความล่อแหลม ‘ยุบพรรค’ จากประเด็นที่ขัดแย้งต่อความมั่นคง

Referendum-Southern-Patani-SPACEBAR-Thumbnail
แม้จะผ่านไป 2 สัปดาห์แล้ว สำหรับประเด็นดราม่าองค์กรขบวนนักศึกษาแห่งชาติ (Pelajar Kebangsaan Patani) จัดงานเสวนาหัวข้อพิเศษ ‘สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง (Self-Determination) กับสันติภาพปาตานี’ ที่ ม.อ.ปัตตานี โดยเฉพาะปมเผยแพร่ ‘บัตรลงคะแนน’ ในกิจกรรม ‘ทำประชามติจำลอง’ ที่ระบุในบัตรเป็นช่องให้เลือกว่า ‘เห็นด้วย’ หรือ ‘ไม่เห็นด้วย’ กับคำถามว่า ‘คุณเห็นด้วยกับสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองหรือไม่’ ที่จะให้ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็น ‘เอกราช’ ได้อย่างถูกกฎหมาย 

เปิดข้อกฎหมายก็ไม่แปลกที่สังคมจะแสดงความกังวล เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 ระบุในมาตรา 1 ชัดเจนว่า ‘ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้’ เรื่องกังวลข้อนี้กลายเป็นประเด็นหลัก พุ่งเป้าโจมตีพรรคพันธมิตรจัดตั้งรัฐบาลทั้ง 8  

โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่มีชื่อปรากฎในโปสเตอร์งานเสวนา 3 พรรค อย่าง ‘พรรคประชาชาติ’ ที่ส่ง ‘ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู’ รองหัวหน้าพรรคประชาชาติ ในฐานะว่าที่ ส.ส. ปัตตานี ‘พรรคเป็นธรรม’ ที่ส่ง ‘ฮากิม พงติกอ’ รองเลขาธิการพรรค และ ‘พรรคก้าวไกล’ ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ที่มอบหมายให้ ‘รอมฎอน ปันจอร์’ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เข้าร่วมเสวนา 

ทิศทางของกระสุนพุ่งเป้าอย่างต่อเนื่องจนพรรคทั้ง 3 ต่างทยอยตบเท้าชี้แจงเป็นสียงเดียวกัน ‘ไม่สนับสนุน’ การแบ่งแยกที่ขัดแย้งต่อกฎหมายสูงสุดของประเทศ และไม่ได้เป็นเบื้องหลังของการจัดกิจกรรมของกลุ่มนักศึกษา 

หากส่องนโยบายช่วงก่อนการเลือกตั้งของบรรดาพรรคร่วมฯ จะเห็นได้ว่าทั้ง ก้าวไกล ประชาชาติ และเป็นธรรม มีแนวคิดที่สอดคล้องกันในการที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาไฟใต้ โดยเสนอจะยกเลิกกฎหมายพิเศษ ทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินและยกเลิกหน่วยงานที่มีอำนาจทับซ้อนกับกองทัพอย่างหน่วยงาน กอ.รมน. จึงไม่แปลกใจที่หลายฝ่ายโดยเฉพาะ ‘นักร้อง’ ต่างใช้ปรากฏการณ์ ‘ทำประชามติจำลอง’ ผนวกกับแนวนโยบายแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ของพรรคฝากฝั่งเสรีนิยม (ที่ก่อนนี้มักถูกข้อครหาบ่อยครั้งว่าให้พื้นที่ผู้คิดต่าง) โจมตีเข้าร้อง กกต. ให้ ‘ยุบพรรค’ 

ในส่วนความเคลื่อนไหวของ ‘ความมั่นคง’ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติและกองทัพบก ก็เริ่มขยับตัว โดยเฉพาะคนลายพราง นำโดย ‘พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค’ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.กอ.รมน. ภาค 4 เรียกประชุมด่วน และมีการเปิดเผยว่า อาจมีพรรคการเมืองเข้ามาเกี่ยวพันกับเหตุการณ์ที่ ม.อ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน

เรื่องนี้ละเอียดละอ่อนจำเป็นที่จะต้องได้รับข้อมูลจากทุกฝ่าย วันนี้ (19 มิ.ย. 66) ผู้เขียนได้เดินทางไปยังที่ทำการพรรคประชาชาติ สถานที่ ‘กระชับมิตร’ ของพรรคพันธมิตรทั้ง 8 เพื่อติดตามความคืบหน้าประเด็นดังกล่าว หลังมีรายงานว่า ตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาลจะมีวงประชุมคณะทำงานสันติภาพชายแดนใต้ ครั้งที่ 2 ด้วย  

คณะฯ ใช้เวลาประชุมในครึ่งแรกร่วม 2 ชั่วโมง ก่อนที่ ‘รอมฎอน ปันจอร์’ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล (บุคคลผู้ปรากฏนามในเอกสารประชาสัมพันธ์กิจกรรม ที่ ม.อ.ปัตตานี แต่ไม่ได้เข้าร่วม) ได้ออกมาเปิดเผยกับสื่อมวลชนถึงประเด็นการหารือเบื้องต้นว่า วันนี้เป็นการพูดคุยภาพรวมเพื่อหาแนวทางในการดำเนินนโยบายต่างๆ ให้สอดคล้องกับโรดแมปที่จะทำทันทีใน 100 วันหลังการตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้น โดยเฉพาะการถอดถอนอำนาจพิเศษจากรัฐบาลคสช. ออกไปลดอุณหภูมิปลายด้ามขวาน พร้อมยืนยันว่าทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยเฉพาะประเด็นความปลอดภัย โดยจะสถาปนาไม่ให้มีมาตรการพิเศษเข้ามาครอบ ทั้งด้านกายภาพและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง

แยม - ฐปณีย์ ในฐานะที่ติดตามเรื่องนี้มาก่อน ได้ถามต่อว่า ในวงหารือมีการพูดคุยถึงเรื่องการจัดกิจกรรมของขบวนนักศึกษาแห่งชาติ (ที่กำลังถูกเพ่งเล็งเสี่ยงถูกยุบพรรคอยู่) หรือไม่ ผู้มีรายชื่อแต่ไม่ปรากฎตัวบนเวทีเสวนา ตอบว่า วันนี้ไม่ได้มีการพูดคุย เพราะส่วนใหญ่พูดคุยประเด็นอนาคตและสิ่งที่ตกค้างจากการประชุมรอบที่ผ่านมา สถานการณ์เฉพาะหน้ายังไม่ได้มีการพูดคุยกัน พร้อมย้ำกับนักข่าวว่าไม่ได้กังวลกรณีหากถูกร้องยุบพรรค แต่ให้ทุกคนทำงานอย่างระมัดระวัง 

ผู้เขียนถามต่อว่า แล้วประเด็นดังกล่าวจะถูกลงรายละเอียดในที่ประชุมหรือไม่ รอมฎอนระบุว่า เรื่องนี้ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของคณะทำงานย่อยอยู่แล้ว แต่เป็นปัญหาของแต่ละพรรคที่กำลังประสบอยู่ต้องแก้ไขกันเอง 

ส่วนประเด็นจะมีการผลักดันเรื่องการแบ่งแยกดินแดนหรือไม่ เขาระบุว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ตกไปแล้ว คงไม่มีรัฐบาลไหนเสนอเรื่องนี้ แต่ก็ถูกตั้งคำถามต่อเนื่อง ซึ่งจะขอชี้แจงว่า มันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง พร้อมยืนยันว่าพรรคร่วมดำเนินการตามความปลอดภัยใต้รัฐธรรมนูญไทยทุกประการ  

“มันเป็นประเด็นที่กลายเป็นข้อกังขา แต่เรายืนยันว่า เราทำการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แข่งขันยังชอบทำจากการเลือกตั้งของประชาชน เรื่องนี้ไม่ได้เป็นข้อถกเถียงใดๆ ทั้งสิ้นในที่ประชุม” รอมฎอน ปันจอร์ กล่าวทิ้งท้ายกับนักข่าวก่อนเดินขึ้นไปประชุมช่วงบ่ายต่อ... 

ประเด็นสูตรสำเร็จในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบชายแดนใต้ คงไม่มีอะไรเป็นสูตรสำเร็จ หรือทำได้แบบลัดนิ้วมือ แต่คงต้องใช้เวลา และทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วน  

ท้ายที่สุดคงต้องติดตามต่อว่า เมื่อหน่วยงานความมั่นคงเริ่มเพ่งเล็งและจับตามองทุกการเคลื่อนไหวของพรรคร่วมฯ จะมีเหตุอันใดให้ต้องลุ้นอีก...อุณหภูมิการเมืองตอนนี้ ไม่ต่างอะไรกับสมรภูมิแดนใต้  

ไม่มีใครรู้จะออกมาหน้าไหน... 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3vX5ahYIPZdHFQE6jnlpW8/c94242d41f9dca3404cf995265851731/Referendum-Southern-Patani-SPACEBAR-Photo01__1_
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4SRA5QbL66CC2aDzFhvI6w/4b8e7ef37329e350be21a701d3b9e5cc/Referendum-Southern-Patani-SPACEBAR-Photo02__1_
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4Uns41y9N08Udm32eHAvPq/d4a3d89f3d94eb434e6dd20f0c55f526/Referendum-Southern-Patani-SPACEBAR-Photo03__1_

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์