เจาะชายแดน ‘ไทย-กัมพูชา’ รีเทิร์นสัมพันธ์ยุค ‘ชินวัตร – ตระกูลฮุน’

11 ก.พ. 2567 - 09:31

  • พื้นที่แนวชายแดน ‘ไทย-กัมพูชา’ กลับมาถูกโฟกัสอีกครั้ง หลังการพบกันของ ‘เศรษฐา - ฮุน มาเนต’ นายกฯไทย-กัมพูชา ผ่านความร่วมมือต่าง แม้จะเน้นไปในมิติ ‘เศรษฐกิจ’ เป็นหลัก แต่ก็เลี่ยงเรื่อง ‘ความมั่นคง’ ไม่ได้

  • โดยเฉพาะ ‘พื้นที่ทับซ้อน’ ทั้งทางบกและทางทะเล โดยเฉพาะในอ่าวไทย ที่ 2 ประเทศ หวังจะใช้ ‘พื้นที่พัฒนาร่วม หรือ JDA) ในด้านพลังงาน ที่เรียกว่าเป็น ‘ก้าวแรก’ อีกครั้ง

  • ส่วน ‘พื้นที่พิพาททางบก’ ดูเหมือนจะถูก ‘Freeze’ ไว้ก่อน จึงเน้นไปที่เรื่อง ‘ด่านผ่านแดนการค้า’ แทน โดยเฉพาะพื้นที่ ‘เขาพระวิหาร’ ที่ชาวบ้านในพื้นที่หวังให้ ‘ประตูเหล็ก’ เปิดอีกครั้ง หลังปิดมาแล้ว 10 ปี ‘ฝ่ายความมั่นคง’ กังวลเรื่องอะไร?

  • ตระเวนชายแดน ‘ไทย-กัมพูชา’ จ.สระแก้ว ที่เรียกว่ามี ‘ภูมิรัฐศาสตร์’ ที่เป็นจุดอ่อนที่สุด ทั้ง 2 ประเทศ มี ‘ยุทธวิธีทางทหาร’ ต่อกันอย่างไร เพื่อรักษาบรรยากาศในพื้นที่

Relationship-Shinawatra-Hun-Clan-Border-Thailand-Cambodia-SPACEBAR-Hero.jpg

การเยือนไทยของ ‘ฮุน มาเนต’ นายกฯกัมพูชา คนใหม่ ที่เป็น ‘ทายาทการเมือง’ ทางสายโลหิตของ ‘ฮุน เซน’ อดีตนายกฯ ที่ครองอำนาจมายาวนาน 38 ปี แม้ ‘นักรัฐศาสตร์-นักการต่างประเทศ’ ต่างมองว่าการบริหารงานของ ‘พ่อ-ลูก’ คงไม่ต่างกันมากนัก แต่การที่ ‘ไทย-กัมพูชา’ เปิดฉากคุยกันครั้งล่าสุด พอจะเป็น ‘นิมิตรหมาย’ แห่งยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ที่ทั้ง ‘ไทย-กัมพูชา’ มีการ ‘เปลี่ยนผ่านการเมือง’ ครั้งสำคัญ 

การพูดคุยครั้งนี้มีการ ‘โฟกัส’ ไปที่เรื่อง ‘พื้นที่ทับซ้อน’ ตามแนวชายแดนทั้งทางบกและทะเล สำหรับ ‘ทางทะเล’ ทั้ง ‘ไทย-กัมพูชา’ มีความร่วมมือ ‘ด้านพลังงาน’ ในพื้นที่อ่าวไทย ที่จะมีการหารือเพิ่มเติมในการแสวงหาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพลังงานใน ‘พื้นที่ทับซ้อน’ หรือที่เรียกว่า Overlopping Claims Area (OCA)

Relationship-Shinawatra-Hun-Clan-Border-Thailand-Cambodia-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: 'ฮุน มาเนต' นายกฯ กัมพูชา เยือนไทย ร่วมแถลงข่าวกับ 'เศรษฐา ทวีสิน' ภายหลังการลงนามความร่วมมือ ที่ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 7 ก.พ. 2567

การพบกันระหว่าง ‘เศรษฐา - ฮุน มาเนต’ ยังไม่มีการพูดคุยเรื่องการ ‘แบ่งเขตแดน’ ที่ทั้ง ‘ไทย-กัมพูชา’ ที่ต่างอ้างสิทธิของตัวเอง โดยผ่านมาแล้วกว่า 50 ปี ยังไม่ได้ข้อยุติ หลังกัมพูชาประกาศเขตไหล่ทวีปในอ่าวไทย เมื่อปี 2515 ก่อนที่ไทยจะประกาศในปี 2516 จึงเกิดพื้นที่ทับซ้อน 26,000 ตารางกิโลเมตร  

จนมาถึงยุค ‘รบ.ทักษิณ ชินวัตร’ ได้มีการลงนามรับรอง ‘บันทึกความเข้าใจไทย-กัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลในไหล่ทวีป’ เมื่อปี 2544 หรือที่เรียกว่า MOU 2544 

ซึ่งเป็น ‘บันทึกความเข้าใจ’ ที่กำหนดกรอบและกลไกในการเจรจาเพื่อหาข้อสรุปเรื่องการปักปันเขตแดน (Delimitation) ทางทะเลในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนส่วนบนที่อยู่เหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ โดยมีพื้นที่ประมาณ 10,000 ตารางกิโลเมตร เรียกว่า ‘พื้นที่ทับซ้อนส่วนบน’ 

อีกทั้งเรื่องการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียมสำหรับพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนส่วนล่างที่อยู่ใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ ในลักษณะพื้นที่พัฒนาร่วม (Joint Development Area: JDA) โดยมีพื้นที่ประมาณ 16,000 ตารางกิโลเมตร เรียกว่า ‘พื้นที่ทับซ้อนส่วนล่าง’ 

โดยต้องดำเนินการทั้งสองเรื่องในลักษณะที่ไม่แบ่งแยกออกจากกัน (indivisible package) และให้มีคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Joint Technical Committee: JTC) ดำเนินการพิจารณาและเจรจาร่วมกันในเรื่องนี้  และได้ตกลงกันว่า MOU 2544 การดำเนินการทั้งหมดตาม MOU 2544  จะไม่กระทบ ‘การอ้างสิทธิทางทะเล’ ของแต่ละฝ่าย

ดังนั้นการพูดคุยเรื่อง ‘ปักปันเขตแดน’ กับการ ‘พื้นที่พัฒนาร่วม JDA’ ต้องควบคู่กันไป จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ ‘โมเดล JDA’ จะเกิดขึ้น เพราะทั้ง 2 ประเทศจะ ‘แยกเจรจา’ เฉพาะ ‘พื้นที่พัฒนาร่วมกัน JDA’  ไม่ได้ เว้นแต่มีการแก้ไข MOU 2544 หรือทำ MOU ขึ้นใหม่ อีกทั้งการ ‘ขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียม’ ต้องใช้เวลานับสิบปี ก่อนจะนำ ‘พลังงาน’ ขึ้นมาใช้ได้ ดังนั้นการพบกันของ ‘เศรษฐา - ฮุน มาเนต’ จึงเป็นเพียง ‘จุดเริ่มต้น’ ของมหากาพย์ครั้งใหม่

ส่วนเขตแดน ‘ทางบก’ ที่เป็นพื้นที่ทับซ้อน เรียกว่ามีการ ‘Freeze (แช่แข็ง)’ ไว้ก่อน เพราะเป็น ‘พื้นที่อ่อนไหว’ ที่สุด การพบกันของ ‘เศรษฐา - ฮุน มาเนต’ จึงเน้นไปที่ด้าน ‘เศรษฐกิจ’ มากกว่า ‘ความมั่นคง’  

ในการอำนวยความสะดวกการค้าชายแดน โดยเฉพาะการเชื่อมโยง ‘เขตเศรษฐกิจพิเศษ’ บริเวณ จ.สระแก้ว กับ จ.ปอยเปต ของกัมพูชา รวมถึงการพัฒนาด้าน ‘การท่องเที่ยว’ ของทั้ง 2 ประเทศ และไปประเทศอื่นๆ ได้ในคราวเดียว 

หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของ ‘ไทย-กัมพูชา’ คือ ‘เขาพระวิหาร’ ที่ประตูเหล็กฝั่งไทย ที่ปิดมาแล้ว 10 ปี ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ ‘ผามออีแดง’ บ้านภูมิซรอล ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ  

ทำให้ ‘นักท่องเที่ยว’ จากฝั่งไทย ที่จะไปเที่ยว ‘ปราสาทพระวิหาร’ ต้องไปผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง จ.ศรีสะเกษ ข้ามไป จ.อัลลองเวง ของกัมพูชา เพื่อไปยัง จ.เสียมเรียบ ที่ตั้งของ ‘ปราสาทเขาพระวิหาร’ แทน 

ในช่วงนี้เอง ‘ภาคเอกชน-ภาคท่องเที่ยว-สส.เพื่อไทย จ.ศรีสะเกษ’ ขยับมากขึ้น อยากให้ ‘รัฐบาลไทย’ ขยับในเรื่องการ ‘เปิดประตูเขาพระวิหาร’ เพื่อฟื้นเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยวให้กลับมา

Relationship-Shinawatra-Hun-Clan-Border-Thailand-Cambodia-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: 'สุทิน คลังแสง' รมว.กลาโหม ลงพื้นที่ อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ ตรวจเยี่ยมกองกำลังสุรนารี ที่ผามออีแดง ฐานปฏิบัติการฟ้าลั่น เมื่อ 16 ธ.ค. 2566

แต่ในมุม ‘ฝ่ายความมั่นคง’ ยังคงย้ำถึง ‘มติศาลโลก’ เมื่อปี 2551 ที่ตัดสินให้ ‘ตัวปราสาท’ อยู่ในอธิปไตยของกัมพูชา แม้บันไดทางขึ้นสู่ ‘ปราสาทเขาพระวิหาร’ อยู่ที่ฝั่งไทย และมองว่าเป็น ‘พื้นที่ละเอียดอ่อน’ มีความกังวลในเรื่อง ‘บุคคล’ หากขึ้นไปบน ‘ปราสาท’ จะไปแสดงออกอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ส่งผลต่อ ‘ความสัมพันธ์’ ระหว่าง 2 ประเทศ และเสี่ยงผิดกฎหมาย เพราะพื้นที่โดยรอบตัวปราสาท ยังอยู่ใน ‘พื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม.’ เช่น กลุ่มธรรมยาตรากอบกู้รักษาผืนแผ่นดินไทย กรณีเขาพระวิหาร-มณฑลบูรพา ที่เคยจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวในพื้นที่ เมื่อครั้งปี 2551-56 เป็นต้น

ความร่วมมือระหว่าง ‘ไทย-กัมพูชา’ ทางการทหารหนึ่งในนั้น คือ ‘การเก็บกู้ทุ่นระเบิด’ ร่วมกัน ในฝั่งของไทย คือ  ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ กองบัญชาการกองทัพไทย ยังคงดำเนินต่อเนื่อง ชายแดน ‘ไทย-กัมพูชา’ ตั้งแต่ปี 2542 เป็นผลจากการลงนาม ‘อนุสัญญาออตตาวา’ 

หนึ่งในนั้นคือพื้นที่ อ.คลองหาด จ.สระแก้ว ที่ถูกฝังมา 40 กว่าปี ช่วงปี 2518 ตั้งแต่ยุคการสู้รบยุค ‘สงครามเขมร 3 ฝ่าย’ มาสู่ยุค ‘สงครามคอมมิวนิสต์’ สำหรับทุ่นระเบิด มีหลายประเภท ถูกผลิตจากหลายชาติ เช่น จีน รัสเซีย สหรัฐฯ เวียดนาม เป็นต้น ถูกฝังโดยทั้งฝ่ายไทย-กัมพูชาในอดีต เพื่อป้องกันการ ‘รุกล้ำ’ พื้นที่ แม้จะถูกฝังมาแล้ว 30-40 ปี แต่ระเบิดยังคงทำงานอยู่ 

สำหรับไทยมีพื้นที่ ‘ปนเปื้อนทุ่นระเบิด’ 900 แห่ง รวมเนื้อที่ 2,556 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันเก็บกู้จนเหลือพื้นที่ปนเปื้อน 29.7 ตารางกิโลเมตร ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง แต่บางพื้นที่ติด ‘เงื่อนไข’ เป็น ‘พื้นที่ทับซ้อน’

Relationship-Shinawatra-Hun-Clan-Border-Thailand-Cambodia-SPACEBAR-Photo07.jpg
Photo: ทุ่นระเบิดหลายประเภทที่ถูกเก็บกู้-ปลดชนวน พื้นที่แนวชายแดนไทย-กัมพูชา จ.สระแก้ว
Relationship-Shinawatra-Hun-Clan-Border-Thailand-Cambodia-SPACEBAR-Photo08.jpg
Photo: จนท. ทำการสำรวจซ้ำ ตามที่ชาวบ้านร้องขอ ให้สำรวจทุ่นระเบิด บริเวณหมู่บ้านทับทิมสยาม 05 จ.สระแก้ว ที่กำลังพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว เมื่อ 9 ก.พ. 2567

นอกจากนี้แนวชายแดน ‘ไทย-กัมพูชา’ จ.สระแก้ว จะมี ‘หมู่บ้านมั่นคง’ ที่ถูกตั้งขึ้นมาเป็น ’พื้นที่กันชน’ ระหว่าง 2 ประเทศ เพื่อย้ำถึง ‘เขตแดน’ จาก ‘พื้นที่ป่า’ กลายมาเป็น ‘หมู่บ้าน’ ให้มีกิจกรรมในพื้นที่ จัดตั้งขึ้นตามมติ ครม. ปี 2521 จึงเป็น ‘พื้นที่ต้นแบบ’ ไปยังชายแดน ‘กองทัพภาคที่ 2-3-4’ ช่วงปี 2524 ตามมติ ครม. เช่นกัน 

โดยในยุคแรกมี ‘ทหาร’ มาฝึกอาวุธ เพื่อใช้ ‘ป้องกันตนเอง’ ซึ่งคนในหมู่บ้านจะเป็น ‘คนต่างถิ่น’ ไม่ใช่คนพื้นที่ เพราะในอดีตพื้นที่ตรงนี้เป็น ‘ผืนป่า’ ทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านจากภาคอีสาน ที่มาอยู่ใน ‘หมู่บ้านมั่นคง’ จ.สระแก้ว

Relationship-Shinawatra-Hun-Clan-Border-Thailand-Cambodia-SPACEBAR-Photo04.jpg
Photo: การฝึกอาวุธ เพื่อใช้ ‘ป้องกันตนเอง’ ของชาวบ้านใน ‘หมู่บ้านมั่นคง’ จ.สระแก้ว ยุคบุกเบิก

ส่วนพื้นที่ประชิดชายแดน ห่างจากประเทศกัมพูชา 200-300 เมตร จะมีแนว ‘ถนนศรีเพ็ญ’ ตั้งจุดตรวจความมั่นคงตลอดแนว สำหรับ ถ.ศรีเพ็ญ จะทอดยาว จ.สระแก้ว เริ่มที่ตลาดโรงเกลือ ยาวไปทาง อ.โคกสูง ถึง อ.ตาพระยา 

โดนที่มาชื่อมาจากนามสกุล พล.อ.ศัลย์ ศรีเพ็ญ อดีตรอง ผบ.ทบ. ที่เคยเป็น ‘ผบ.กองกำลังบูรพา’ ที่ริเริ่มสร้าง ‘ถนนชายแดน’ เมื่อปี 2532 ถนนสายนี้ เป็น ‘ถนนความมั่นคง’ ห้ามประชาชนทั่วไปใช้สัญจร ยกเว้นชาวบ้านที่มีที่ดินทำกินในบริเวณนั้นๆ ที่สำคัญป่า 2 ข้างทาง เป็น ‘ป่าปลูกใหม่’ เมื่อราว 20-30 ปี หลังมีการ ‘เก็บกู้ทุ่นระเบิด’ ออกไปแล้ว ที่ใช้ ‘ป่าปลูก’ เป็น ‘รั้วธรรมชาติ’

ส่วนพื้นที่ใดที่เป็น ‘วิถีชุมชน-การเกษตร’ ที่ไม่ผิดกฎหมายระหว่างกัน ก็ให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ตามปกติ เพราะบางครั้งพื้นที่การเกษตรก็ไม่ชัดเจนว่าฝั่งใดเป็นของไทยหรือกัมพูชา เพื่อรักษาบรรยากาศและความสัมพันธ์ที่ดีในพื้นที่

Relationship-Shinawatra-Hun-Clan-Border-Thailand-Cambodia-SPACEBAR-Photo05.jpg
Photo: ตั้งจุดตรวจความมั่นคงทหารพราน อ.คลองหาด จ.สระแก้ว ห่างจากประเทศกัมพูชา 300 เมตร
Relationship-Shinawatra-Hun-Clan-Border-Thailand-Cambodia-SPACEBAR-Photo06.jpg
Photo: ‘ถนนศรีเพ็ญ’ ทอดยาวชายแดน จ.สระแก้ว เริ่มที่ตลาดโรงเกลือ ยาวไปทาง อ.โคกสูง ถึง อ.ตาพระยา สองข้างทางเป็น ‘ป่าปลูกใหม่’ ใช้เป็นแนว ‘รั้วธรรมชาติ’

สำหรับ ‘มิติด้านความมั่นคง’ ที่เป็นเรื่อง ‘ละเอียดละอ่อน’ ในพื้นที่ที่ยัง ‘พิพาท-ทับซ้อน-ไม่ชัดเจน’ ของทั้ง 2 ประเทศ ที่ต้อง ‘ถ้อยทีถ้อยอาศัย’ กันไป โดยเฉพาะ ‘หลักปฏิบัติในพื้นที่’ ที่ต้องใช้ทั้ง ‘ศาสตร์-ศิลป์’ ในการประคับประคองสถานการณ์ ควบคู่การรักษา ‘พื้นที่อธิปไตย’ ของตัวเอง 

สุดท้ายนี้ต้องติดตามกันต่อไป ภายหลังการพบกันของ ‘เศรษฐา’ ได้พบกับ ‘ฮุน มาเนต’ ในยุครัฐบาล ‘พรรคเพื่อไทย’ ที่วันนี้ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ได้กลับมาไทยแล้ว และการขึ้นเป็นนายกฯ ของ ‘ฮุน มาเนต’ ทายาทการเมืองของ ‘ฮุน เซน’ จะยกระดับความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ไทย-กัมพูชา’ ไปทิศทางใด ผ่านสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่าง ‘ตระกูลชินวัตร - ตระกูลฮุน’ ที่มีมายาวนาน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์