











‘17 พฤษภาคม 2567’ เวียนบรรจบครบรอบ 32 ปี ‘พฤษภาประชาธรรม 2535’ หรือเหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ’ โศกนาฏกรรมจากความรุนแรงเขย่าประเทศไทย อันสืบเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมือง ที่หลายคนไม่มีวันลืม
วาระงานรำลึกในปีนี้ มีผู้คนจากทุกฝั่งฝ่ายมาร่วมวางพวงมาลาน้อมจิตแด่ผู้วายชนม์เช่นเคย อาทิ ตัวแทนนายกรัฐมนตรี, ประธานรัฐสภา, ผู้นำฝ่ายค้าน ตลอดจนตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย, พรรคก้าวไกล, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน, สถาบันปรีดี พนมยงค์, มูลนิธิ 14 ตุลา, สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน, มูลนิธิพฤษภาประชาธรรม, คณะกรรมการญาติวีรชน พฤษภา 35 และกรุงเทพมหานคร เป็นต้น
เสียงบรรเลงจากวงปี่พาทย์เปรียบเสมือนการขับขานความอาลัย โหยไห้ถึงผู้วายวางและสูญหาย พร้อมด้วยการประกอบพิธีทางศาสนาอุทิศแด่ทุกดวงจิตที่แตกสลาย นี่คือการย้ำเตือนถึงความน่าสะพรึงและความสูญเสียที่ต้องไม่เกิดขึ้นอีก
อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ในฐานะประธานมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม ได้กล่าวคารวะวีรชน พร้อมเน้นย้ำถึงภารกิจต้านรัฐประหาร และเรียกร้องประชาธิปไตย
ในนามของผู้สูญเสียทุกคน เรามาช่วยกันนำบ้านเมืองกลับสู่ประชาธิปไตย ภายใต้รัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน และขอให้ตระหนักว่า รัฐธรรมนูญไม่ใช่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เป็นธรรมกับทุกคน โดยที่ไม่ต้องมีการเรียกร้องประชาธิปไตยหรือเกิดการต่อต้านรัฐประหาร เกิดการสูญเสียขึ้นอีก
ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
วันมูหะหมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ชี้ให้เห็นถึงการเสียสละที่เกิดขึ้น มีคุณูปการต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระบบประชาธิปไตย และยังเป็นเครื่องเตือนสติว่า ‘ประชาธิปไตย’ ยังต้องต่อสู้เพื่อก้าวต่อไป ตามเจตนารมย์ของวีรชน
ผลจากเหตุการณ์เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ไม่เพียงแต่ปรากฏในรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ยังสามารถทำให้มีกฎหมายจำนวนมากที่ตอบสนองประชาชนทุกกลุ่ม ไม่จำกัดเพศเพศ เชื้อชาติ และศาสนา รวมถึงความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม ผมขอขอบคุณและแสดงความเสียใจกับญาติวีรชนที่ได้เสียบุคคลอันเป็นที่รัก แต่ถือว่าบุคคลเหล่านั้น ได้ทำเพื่อบ้านเมืองและประชาธิปไตยอย่างน่าภูมิใจและน่าจดจำแห่งหัวใจตลอดไป จากนี้ สังคมจะต้องเดินต่อไปไปอย่างสันติภาพ แม้จะมีความขัดแย้ง แต่ไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงและการแก้ไขปัญหาที่ไม่ใช่ระบบประชาธิปไตย ไม่ทำให้การเสียชีวิตสูญเปล่า เพื่อดำรงเจตนาญาติวีรชนให้ดำเนินต่อไป
วันมูหะหมัดนอร์ มะทา