หน.ผู้ออกแบบรัฐสภา คัดค้าน ‘ปรับปรุง’ สภาฯ

8 พ.ค. 2568 - 05:09

  • ‘หัวหน้าผู้ออกแบบสร้างสภาฯ’ ยื่นค้านปรับปรุงรัฐสภา-ถมสระมรกต หวั่นกระทบโครงสร้าง ทำอากาศไม่ไหลเวียน ต้องใช้งบอีกมหาศาลติดแอร์-จ่ายค่าไฟ ย้อนถามใช้งบ 100 กว่าล้านทำห้องสมุด ใช้คุ้มหรือยัง

  • ลั่น ‘ศาลาแก้ว’ มีฉนวนกันความร้อน ใช้ประโยชน์ได้แน่นอน

  • พร้อมหวั่นน้ำท่วม หากขุดใต้ดินทำที่จอดรถเพิ่ม

คณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา นำโดย  ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ รองประธานคณะกรรมาธิการ และประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านศิลปะสร้างสรรค์ รับหนังสือจาก ชาตรี ลดาลลิตสกุล ศิลปินแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าสถาปนิกผู้ออกแบบอาคารรัฐสภา เพื่อขอคัดค้านการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบของอาคารรัฐสภา

ชาตรี กล่าวว่า ขอคัดค้านการที่รัฐสภาได้จัดทำงบประมาณจากปิดสระมรกต เพื่อสร้างเป็นห้องสมุด และร้านค้าเพื่อบริการประชาชน โดยอ้างสาเหตุหลักมาจากปัญหาน้ำรั่วซึมและเกิดปัญหาน้ำเน่ายุงชุม ซึ่งขอชี้แจงว่า สระมรกต ถูกออกแบบและมีระบบการกรองแบบสระว่ายน้ำ หากดูแลตามปกติวิสัย มีการเปิดระบบให้น้ำไหลเวียนทุกวันตามมาตรฐาน ไม่สามารถเกิดยุงได้อย่างแน่นอน  และ เรื่องสระรั่วซึม เป็นเรื่องคุณภาพการก่อสร้างควรเป็นความรับผิดชอบของผู้รับเหมา เนื่องจากอยู่ในระยะประกันผลงาน และพึ่งตรวจรับงานไม่นาน จึงไม่จำเป็นต้องเอาปัญหาของผู้รับเหมามาเป็นของตัวเอง

ส่วนความคิดที่จะย้ายห้องสมุดจากชั้น 9-10 ลงมาชั้นหนึ่งนั้น ชาตรี กล่าวว่าไม่สมเหตุสมผล สิ้นเปลืองงบประมาณโดยไม่จำเป็น เนื่องจากห้องสมุดดังกล่าว ใช้งบประมาณถึง 100 กว่าล้านบาท และยังไม่ได้ใช้อย่างเต็มที่ และพื้นที่ดังกล่าวเชื่อมโยงกับหอจดหมายเหตุที่อยู่ชั้น 8 และผู้ที่ใช้งานห้องสมุด ส่วนใหญ่เป็น สส. และสว. และข้าราชการสภา  หากต้องการให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย ก็ไม่ควรย้ายมาบริเวณสระมรกต ควรสร้างนอกอาคาร  อีกทั้งการที่ใช้พื้นที่สระมรกต ทำห้องสมุด อาจจะกระทบกับโครงสร้างที่ออกแบบไว้ได้ เนื่องจากห้องสมุดมีน้ำหนักมากพอสมควร

ชาตรี ยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยกับการถมพื้นที่สระมรกต เนื่องจากตอนออกแบบ ต้องการให้อาคารรัฐสภา เป็นอาคารประหยัดพลังงาน ระดับดีเด่น (แบบตู้กับข้าว)  มีช่องลมให้อากาศพัดผ่านในทุกทิศ และแสงที่ส่องผ่านลงมากระทบผนัง เสาสระน้ำ และอาคาร เจาะจงให้แสงเข้ามาน้อยเพื่อให้บรรยากาศที่สงบร่มเย็นและมั่นคง อาศัยเทคนิคการปรับเย็นโดยวิธีธรรมชาติเป็นหลัก ในพื้นที่โถงและทางเดิน โดยอาคารจะถูกเจาะให้เป็นรูพรุนด้วยช่องลมทุกชั้นทุกทิศทางเพื่อให้ลมพัดความร้อนออกจากอาคาร  เป็นที่สังเกตว่า อากาศในโถงนี้ จะมีสภาวะสบาย แม้อากาศภายนอกจะร้อนมากในฤดูร้อนก็ตาม แต่หากถมสระมรกต เพื่อสร้างห้องสมุด จะต้องติดแอร์ทั้งหมด นึกไม่ออกว่า พื้นที่โล่ง 10 ชั้นจะต้องใช้งบประมาณ ขนาดไหน  ทั้งในการติดแอร์และปิดช่องต่างๆ ขณะเดียวกันในแต่ละเดือนจะต้องมีค่าไฟอีกจำนวนมหาศาล

S__383754303.jpg

สำหรับศาลาแก้วที่จะมีการของบประมาณจำนวนมากในการปรับปรุงนั้น ชาตรี กล่าวว่า ขอคัดค้านเช่นกัน เพราะเป็นการออกแบบมาสำหรับใช้ในงานพิธีสำคัญ เช่นพิธีทำบุญเทศกาลต่างๆ ของรัฐสภา แต่ที่ตั้งพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 ซึ่งขณะนี้ยังก่อสร้างอยู่นั้น ไม่ได้อยู่ในแบบ และที่ไม่ได้ติดแอร์ศาลาแก้ว แต่สามารถใช้งานได้จริง เพราะออกแบบให้มีผ้าใบที่เคลือบด้วยอะลูมิเนียมที่สะท้อนแสงกันความร้อนที่สามารถเลื่อนติดกระจกปิดกระจกให้ทึบได้ด้วยระบบไฟฟ้า โดยอากาศระหว่างระบบผ้าใบจะทำหน้าที่เป็นฉนวนกันความร้อนอีกชั้นหนึ่ง และศาลาอยู่ในที่โล่ง ลมพัดสะดวก ถูกออกแบบมาให้ลดอุณหภูมิ โดยสระน้ำที่อยู่โดยรอบ  และงานออกแบบนี้ไม่ได้สร้างขึ้นเพียงแค่เหตุผลการใช้งาน แต่มีเป้าหมายให้เป็นประติมากรรมสัญลักษณ์ที่แสดงถึงจิตวิญญาณ ภูมิปัญญาสถาปัตยกรรมไทย และเป็นภาพจำหนึ่งของความเป็นไทยร่วมสมัยให้สังคมสถาปัตยกรรมโลก

409463_0.jpg

เมื่อถามว่า ตอนรับมอบ เป็นไปตามสเปกหรือไม่ จนต้องของงบประมาณเพิ่ม เพื่อปรับปรุง ชาตรี  กล่าวว่า งานออกแบบของเราใช้งบประมาณ 11,000 กว่าล้านบาท แต่เมื่อมีการปรับแบบ ใช้งบประมาณ 12,000 กว่าล้านบาท แต่นอกเหนือจากนั้นไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเราเลย และไม่ได้เห็นด้วยในหลายหลายๆ เรื่อง เป็นโครงการที่อยู่นอกสัญญาหลัก ซึ่งเป็นวิธีที่รัฐสภาทำ หากถามว่าตรงตามสเปกหรือไม่ ก็เหมือนกับงานก่อสร้างทั่วไปที่ปัญหามากมาย การก่อสร้างใช้ทีมงานแบบเต็มทีมเหมือนก่อสร้างตึกของสตง. มีที่ปรึกษา และมีผู้รับผิดชอบ ส่วนผู้ออกแบบ ถ้าได้รับเชิญก็ไป แต่ 3-4 เดือนสุดท้ายก่อนที่จะรับมอบงาน ไม่ได้รับเชิญ

ชาตรี ยอมรับว่า ส่วนที่ต่อเติมนอกเหนือจากแบบขึ้นมา ไม่ได้ถือว่าผิดกฎหมาย เพราะการรับจ้างออกแบบ รัฐถือว่า เป็นการรับจ้างทำของ  และเมื่อเป็นของรัฐ รัฐก็มีสิทธิ์ “แต่ในฐานะผู้ออกแบบ ช่วยให้ความเคารพกับงานของเราและปรึกษาเราหน่อย”

สำหรับกรณีที่จะมีการก่อสร้างที่จอดรถเพิ่มจะส่งผลกระทบกับโครงสร้างหรือไม่นั้น ชาตรี ระบุว่า ไม่ทราบรายละเอียด แต่คนที่ทำจะต้องระวังเรื่องน้ำท่วม เพราะอาคารรัฐสภาที่ทำไว้แล้ว ได้ออกแบบป้องกันน้ำท่วมชั้นใต้ดินระดับ 4 เมตร และเมื่อปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่อยู่ระดับ 2.5 เมตร ดังนั้น น้ำไม่ท่วมแน่นอน แต่พื้นที่บริเวณถนนสามเสนต่ำ หากเดินจากลานประชาชนเข้าไป จะพบประตูหนึ่ง ซึ่งเป็นประตูกันน้ำ ดังนั้น ณ วันนี้ต่อให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ รัฐสภาก็ไม่ท่วม ยืนยันได้  และความจริงในเรื่องที่จอดรถตอนที่ออกแบบก่อสร้าง เราทราบว่า ไม่เพียงพอ จึงได้ประสานกับทางทหารฝั่งสามเสนและวัดแก้วฟ้าฯ เพื่อขอใช้ที่จอดรถเพิ่ม แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง ซึ่งเสนอไปถึง 8 ครั้ง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์


หน.ผู้ออกแบบรัฐสภา คัดค้าน ‘ปรับปรุง’ สภาฯ