นอกเหนือจากการจับตาวาระสำคัญที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เตรียมประกาศผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ จำนวน 200 คน และบัญชีสำรองอีก 100 คนแล้ว
ผู้สื่อข่าวรัฐสภา ยังรายงานถึงอำนาจหน้าที่ของ สว. ซึ่งนอกจากต้องกลั่นกรองพิจารณากฎหมาย และการติดตามตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล
ยังมีอีกภารกิจสำคัญคือ การให้ความเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งในปี 2567 มีกรรมการในหลายองค์กรที่จะครบวาระ
โดยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) มีผู้ที่พ้นจากตำแหน่ง 1 คน ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา คือ จินดา มหัทธนวัฒน์ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งพ้นจากตำแหน่งในวันที่ 24 เม.ย. 2567 เหตุอายุอายุครบ 70 ปี
และในวันที่ 22 ก.ย.นี้ จะมี พล.อ.ชนะทัพ อินทามระ ประธานฯ และกรรมการตรวจเงินแผ่นดินอีก 4 คน ได้แก่ ยุพิน ชลานนท์นิวัฒน์, พิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์, สรรเสริญ พลเจียก และ อรพิน ผลสุวรรณ์ สบายรูป ที่ครบวาระดำรงตำแหน่ง 7 ปี
นอกจากนี้ ยังมีผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ลาออกจากตำแหน่ง 1 คน เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2567 คือ อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์
ในส่วนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) วันที่ 9 ก.ย.นี้ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. จะพ้นจากตำแหน่ง เหตุอายุครบ 70 ปี ตามที่กฎหมายกำหนด และยังมีอีก 2 คน ที่ดำรงตำแหน่งครบวาระ 9 ปี ในวันที่ 30 ธ.ค. 2567 คือ วิทยา อาคมพิทักษ์ และ สุวณา สุวรรณจูฑะ
ขณะที่ในช่วงเดือน พ.ย.นี้ จะมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พ้นจากตำแหน่งอีก 2 คน เหตุครบวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี คือ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะพ้นจากตำแหน่งในวันที่ 16 พ.ย. 2567 กับ ปัญญา อุดชาชน ที่จะครบวาระดำรงตำแหน่งในวันที่ 26 พ.ย. 2567
นี่คือภารกิจแรกของ ‘สภาสูงชุดใหม่’ ที่ต้องจับตา