หดหู่! ตากใบจบแบบนี้ มองรัฐบาลอาจพอใจ

29 ต.ค. 2567 - 04:41

  • ‘โรม’ หดหู่ มองรัฐบาลอาจพอใจ ‘ตากใบ’ จบแบบนี้ ไม่มีใครถูกดำเนินคดีได้ ชี้ ‘ปลัดอำเภอท่าอุเทน’ อดีตจำเลยโผล่กลับมาทำงานทันที คงต้องดูข้อกฎหมาย เอาผิดจริยธรรมได้หรือไม่ เหน็บ ‘ทักษิณ’ คำขอโทษ 18 ปีช้าไป ไม่มีน้ำหนัก ซัดความจริงใจแทบไม่มี แนะ ‘นายกฯ อิ๊งค์’ เลิกมอบหมาย ‘ภูมิธรรม’ ดูเรื่องนี้ เหตุไม่มีคุณสมบัติ ควบคุมฝ่ายความมั่นคงที่ละเอียดอ่อน

  • ‘ปกรณ์วุฒิ’ ย้ำ ไม่เห็นด้วยฟ้องปิดปากประชาชน แต่กรณีกล่าวหา ‘ปชน.’ เป็น BRN อาจต้องฟ้อง เหตุเป็นการวิจารณ์ที่เลยเถิดไปมาก ทำเป็นกระบวนการ ยืนยัน เดินหน้าเสนอกฎหมายฟ้องปิดปากที่ฐานความผิดสอดคล้องกับการกระทำผิด

  • ส่วน ‘นิรโทษกรรม’ งง ‘เพื่อไทย’ เอาอย่างไร เหตุเสียงแตกรวม ม.112 หรือไม่ ชี้ หากเสนอกฎหมายประกบนิรโทษทุกความผิดในเหตุจูงใจทางการเมือง ‘ปชน.’ ยินดีเห็นชอบ เผย พอใจการทำงานฝ่ายค้าน หวัง เห็นนายกฯ ตอบกระทู้สดในสภาฯ

rome_takbai_29oct2024_SPACEBAR_Hero_5bd482d5af.jpg

รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีปลัดอำเภอท่าอุเทน จ.นครพนม ซึ่งเป็นอดีตจำเลยในคดีตากใบ กลับมาปฏิบัติหน้าที่ทันทีหลังจากคดีหมดอายุความว่า ก็คงรู้สึกไม่ต่างจากหลายๆ คน ว่าเอาเข้าจริงแล้ว รัฐบาลได้มีความพยายามอย่างจริงจังทุกทางที่จะเป็นไปได้ในการตามหาตัวจำเลยในคดีตากใบมากน้อยเพียงใด และเมื่อเห็นแบบนี้แล้วก็รู้สึกว่า รัฐบาลอาจจะไม่ได้พยายามอะไรเลย การที่คดีตากใบจบแบบนี้ อาจจะเป็นความพึงพอใจของรัฐบาลแล้วที่คดีจบได้เสียที ไม่ได้จบแบบมีความยุติธรรมให้กับผู้สูญเสีย แต่จบแบบสุดท้าย ไม่มีใครสามารถดำเนินการทางกฎหมายกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและพรรคการเมืองก่อนหน้านั้นที่เป็นต้นสายให้พรรคเพื่อไทยได้อีกต่อไป รวมถึงผู้นำทางจิตวิญญาณ ก็คงไม่สามารถเอาผิดเขาทางกฎหมายได้เช่นเดียวกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้ตนเชื่อว่าเป็นความสบายใจของรัฐบาล 

รังสิมันต์ กล่าวด้วยสีหน้าหดหู่ตลอดการสัมภาษณ์ ว่า นอกจากกรณีปลัดอำเภอคนนี้แล้ว ยังมีพฤติการณ์ของภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมถึงพฤติกรรมของนายกรัฐมนตรีเอง มีหลายอย่างที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้โดยตรง ไม่สามารถเชื่อว่า รัฐบาลมีความตั้งใจและเพียรพยายามอย่างเต็มที่ในการคลี่คลายปมนี้ เรื่องนี้อาจกลายเป็นวิกฤติอีกครั้งหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่น่าเกิดขึ้นเลยจริงๆ คิดว่าเป็นความน่าเสียดายและความผิดพลาดอย่างไม่น่าให้อภัย ที่คดีตากใบจบลงอย่างที่เราไม่สามารถนำผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสูญเสียชีวิตจำนวนมากมาดำเนินการได้

ส่วนจะเอาผิดจริยธรรมกับปลัดอำเภอคนดังกล่าวได้หรือไม่นั้น รังสิมันต์ กล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า เอาผิดอย่างไรต่อ เชื่อว่า ผู้ที่นำคดีตากใบขึ้นสู่ศาล และพวกเราพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่ติดตามเรื่องนี้ คงจะพยายามดูว่ามีมาตรการใดที่จะเป็นไปได้ แต่มองว่าปมใหญ่คือการใช้กระบวนการของศาลในการคลี่คลาย เพราะคดีตากใบไม่ใช่แค่การลงโทษ แต่เป็นการบอกว่าใครบ้างต้องเป็นผู้รับผิดชอบ โดยการใช้กระบวนการยุติธรรมของเราในการวินิจฉัย เป็นการสร้างความรับผิดรับชอบในสิ่งที่ตนเองตัดสินใจใช้อำนาจหน้าที่จนทำให้เกิดความสูญเสีย

ทั้งนี้ ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ควรออกมารับผิดชอบด้วยหรือไม่ รังสิมันต์ ระบุว่า ตอนนี้ทักษิณไม่ได้มีตำแหน่งใดๆ ในรัฐบาล คงไม่สามารถบอกได้ว่าทักษิณควรทำหรือไม่ควรทำอะไร แต่บอกได้ว่าที่ผ่านมา คำขอโทษมาช้า 18 ปี จึงอาจทำให้ความรู้สึกของประชาชนที่มองรัฐบาลชุดนั้นมาจนถึงปัจจุบัน ที่เขามองว่าถูกครอบครองโดยทักษิณ

“คำขอโทษ ถ้าขอโทษอย่างทันท่วงที น้ำหนักมันจะเยอะ แต่พอมันช้าไป น้ำหนักของคำขอโทษก็หายไปเยอะ และนี่เป็นผลลัพธ์ของอดีตนายกฯ ทักษิณได้ทำ จนมาถึงรัฐบาลนี้ และสิ่งที่คนอยากเห็นไม่ใช่แค่คำขอโทษอย่างเดียว แต่คือการกระทำที่แสดงถึงความจริงใจ ซึ่งแทบไม่มี ผมมองว่าสิ่งที่ผิดพลาดของรัฐบาลนี้ คือการปล่อยให้ภูมิธรรมออกมาพูดหลายอย่างที่ทำให้สถานการณ์แย่ลง นายกฯ ควรมอบหมายงานที่เหมาะสม เพราะภูมิธรรมได้พิสูจน์แล้วว่าท่านไม่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมจะมาจัดการเรื่องละเอียดอ่อน อย่างเรื่องความมั่นคง”

รังสิมันต์ กล่าว

รังสิมันต์ ยังมองว่าหลังจากกรณีปลัดอำเภอคนนี้ ก็ยังมีกรณีอื่นอีก ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาลก็จะยิ่งน้อยลง คำถามสำคัญคือจะต้องติดลบอีกขนาดไหน เมื่อไหร่เราจะถึงจุดสูงสุดของจุดต่ำสุด พร้อมย้ำว่า ความเชื่อมั่นของรัฐบาลตอนนี้ดิ่งเหว

เมื่อถามว่า หลังจากคดีหมดอายุความแล้ว มีโอกาสที่จะนำตัวอดีตผู้ต้องหาในคดี มาให้ปากคำเพื่อรื้อฟื้นความจริงหรือไม่ รังสิมันต์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องคุยกัน แต่ข้อเท็จจริงหลายอย่างก็ไม่ใช่ว่าจะหาไม่ได้เลย เพราะมีรายงานที่มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งจัดทำโดยคณะทำงานหลายส่วน รวมถึงส่วนที่ทักษิณเป็นผู้ตั้งขึ้นมาด้วยซ้ำ ดังนั้นในเรื่องของความจริงก็ส่วนหนึ่ง แต่สุดท้ายจะไปใกล้ถึงการหาตัวผู้รับผิดชอบหรือไม่ ส่วนตัวมองว่า การใช้กลไกศาลเป็นช่องทางที่ดีที่สุด เพราะมีการเสาะหาความจริงและตัดสิน แต่เมื่อทำอย่างนั้นไม่ได้ ก็ต้องรอดูว่ามีมาตรการอื่นๆ ที่ดีกว่าที่ผ่านมาหรือไม่

ด้าน ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงกรณีที่พรรณิการ์ วานิช อดีตแกนนำพรรคอนาคตใหม่ และอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุข้อความผ่านโซเชียลมีเดีย ว่า พรรคประชาชนจะฟ้องผู้ที่บิดเบือนว่าพรรคเป็นพวก BRN ว่า ส่วนตัวคงพูดได้แค่ภาพกว้างๆ เพราะคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้คือนพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ที่ดูฝ่ายกฎหมาย รายละเอียดคงต้องรอทางทีมฝ่ายกฎหมาย มาชี้แจงอีกครั้ง แต่ต้องย้ำว่า พรรคเรามีหลักการเหมือนเดิมว่า ไม่เห็นด้วยกับการฟ้องปิดปาก แต่การไม่เห็นด้วยกับการฟ้องปิดปากนั้น เราเตรียมที่จะยื่นร่างกฎหมายอยู่แล้วที่ป้องกันการฟ้องปิดปาก แต่ยืนยันว่าไม่ได้เอาคำว่า หมิ่นประมาทออกจากสารบบกฎหมายไทย ไม่ได้บอกว่า ใครจะพูดอะไรก็ได้ แต่ฐานความผิด จะต้องได้สัดส่วนกับการกระทำความผิดนั้น

“การดำเนินกฎหมายของพรรคประชาชน ไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม จะอยู่ในหลักการที่พรรคประชาชนยึดถืออย่างแน่นอน เรื่องนี้พรรคประเมินแล้วว่าเลยเถิดจากการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตไปแล้ว และเป็นการทำกันอย่างเป็นระบบ ดังนั้น จึงตัดสินใจว่า จำเป็นจะต้องใช้สิทธิ์ในการดำเนินคดี แต่ยืนยันอีกครั้งว่า การดำเนินคดีจะอยู่ภายใต้กรอบหลักการที่พรรคประชาชนยึดถือ และรอดูร่างกฎหมายที่เราเตรียมเสนอได้เลยว่าเราก็จะปฏิบัติไปตามนั้น”

ปกรณ์วุฒิ กล่าว

ปกรณ์วุฒิ ยังกล่าวด้วยว่า เรื่องนี้เท่าที่ทราบ คือความรู้สึกของคนที่ได้เห็น ได้รับฟังคลิปเนื้อหาดังกล่าว ทุกคนโดยวิญญูชนพึงรู้อยู่แล้วว่า นี่ไม่ใช่การวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต นี่เป็นการกล่าวหาว่า เราอยู่เบื้องหลังกลุ่มบางกลุ่มที่ก่อความไม่สงบ เรื่องนี้เลยเถิดมากจริงๆ ไม่ว่าใครฟัง ก็รับทราบอยู่แล้ว เราไม่ควรจะปล่อยให้กระบวนการที่ทำกันอย่างเป็นระบบนี้ พยายามทำให้ประชาชนเข้าใจผิดต่อไปได้อีกแล้ว ทั้งนี้ ไม่ทราบว่าผู้ที่กล่าวหาเราเป็นใคร

ปกรณ์วุฒิ ยังกล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษมาตรา 112 ว่า หลายเรื่องที่พรรคเพื่อไทยเคยพูดมาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง หรือผ่านการเลือกตั้งไปแล้ว คิดว่า เพื่อไทยเข้าใจดีเกี่ยวกับ 112 แต่ก็ไม่แน่ใจว่า ด้วยข้อจำกัดอะไรที่ในวันนี้อาจจะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ แต่ถ้าไปดูในรายงานกรรมาธิการที่ศึกษากันไปแล้วสภาฯ โหวตคว่ำในข้อสังเกต มีกรรมาธิการของพรรคเพื่อไทยจาก 8 คน 4 คนให้ความเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม มาตรา 112 แบบมีเงื่อนไข อีก 2 คนไม่เห็นด้วยและอีก 2 คนไม่แสดงความเห็น จึงต้องตั้งคำถามกลับไปว่า จริงๆ แล้ว พรรคเพื่อไทยก่อนเลือกตั้ง หลังเลือกตั้ง หรือแม้แต่ตัวแทนที่พรรคเพื่อไทยส่งเข้ามาในกรรมาธิการก็ยังมีความเห็นเกี่ยวกับคดี 112 แบบนี้อยู่ ดังนั้นกรรมาธิการที่ตั้งขึ้นมาเป็นดำริของพรรคเพื่อไทย ที่ตั้งญัตติเพื่อต้องการที่จะศึกษา ต้องการที่จะรับฟังความเห็นรอบด้าน แต่เมื่อรับฟังมาแล้วตัวแทนของพรรคเพื่อไทยกว่าครึ่ง มีความเห็นแบบนี้ ตกลงแล้วพรรคเพื่อไทยจะส่งร่างนิรโทษกรรมเข้ามาประกบกับพรรคประชาชนและพรรคอื่นๆ ในสมัยหน้าหรือไม่ และหน้าตาจุดยืนของพรรคเพื่อไทยเพื่อแก้ไขปมความขัดแย้งต่อเนื่องมายาวนานหลายปี จะมีแนวทางอย่างไร

ส่วนที่พรรคร่วมรัฐบาลอื่น มีแนวโน้มที่จะคว่ำร่างนิรโทษกรรมของพรรคประชาชนนั้น ปกรณ์วุฒิกล่าวว่า ก็ต้องมีการพูดคุยสื่อสารกับพรรคการเมืองด้วยกันเองและสังคมว่าเจตนาที่แท้จริงของเราคืออะไร การทำงานในสภาฯ ก็เข้าใจว่า สุดท้ายก็ต้องเคารพเสียงข้างมาก แต่ก็ต้องฝากว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยจะเสนอเนื้อหาที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปจากที่พรรคประชาชนเสนอไปบ้าง แต่ก็ยังเปิดโอกาสให้คนกระทำความผิดต่างๆ ไม่ว่าจะฐานความผิดใด แต่ด้วยแรงจูงใจทางการเมือง ก็ควร ได้รับโอกาสนิรโทษกรรม เราก็ยินดีที่จะเห็นชอบ จึงอยากให้พรรคเพื่อไทยระลึกและไว้ว่า ทุกพรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ ก็มีความคิด มีอุดมการณ์เป็นของตนเอง ไม่จำเป็นจะต้องเห็นพ้องกันทุกเรื่อง แม้จะเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านหรือรัฐบาลถ้าเรายึดหลักการของพรรคตัวเองให้มั่น พรรคประชาชนยินดีที่จะเห็นชอบกับ เรื่องต่างๆ ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับอุดมการณ์ของเรา ไม่ว่าจะพรรคไหนเป็นคนเสนอ

ปกรณ์วุฒิ ยังกล่าวถึงผลสำรวจที่ไม่เชื่อมั่นการทำงานของฝ่ายค้านว่า ออกมาสะท้อนการทำงานของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ให้เราทำงานหนักขึ้นพรรคประชาชนก็พึ่งเกิดมาไม่นาน ถึงแม้จะเคยเป็นพรรคก้าวไกลมาก่อนก็ตาม แต่ก็ไม่เสียกำลังใจ แต่ก็จะใช้การทำงานอย่างหนักของเราพิสูจน์ในอนาคตสมัยประชุมนี้จบไป สมัยประชุมหน้า เราจะกลับมาอย่างเต็มที่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องญัตติต่างๆ หรือพ.ร.บ.ที่ผ่านมา ที่เสนอเข้าสภาฯ 70 ฉบับแล้ว ก็จะทำให้ประชาชนได้เห็นอยู่เรื่อยๆ

ส่วนกระแสนิยมอาจจะตกเพราะประชาชนเห็นว่า ทั้งก้าวไกลเดิม เคยเป็นมิตรกับพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะกรณีที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่เคยไปพบกับ ทักษิณ นั้น ปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า “รอสมัยประชุมหน้า จะได้รู้ว่าเราเป็นมิตรกันจริงหรือไม่”

ปกรณ์วุฒิ ยังกล่าวถึงการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า คาดว่าช่วงต้นสมัยประชุมหน้าน่าจะเหมาะสม มากกว่าเพราะไม่ได้เร่งรีบมาก แต่ถ้าจะมีการเปิดสมัยประชุมวิสามัญจริงๆ คาดว่า น่าจะต้องรอกรรมาธิการร่วมพิจารณาพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ประชุมในวันพรุ่งนี้ ซึ่งต้องดูท่าที แต่ด้วยเนื้อหา ถ้าตั้งใจจริงๆ วันเดียวก็เสร็จ และอาจจะจบภายในช่วงปิดสมัยประชุมและอาจจะเปิดประชุมสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาในเรื่องนี้ได้

สำหรับภาพรวมการทำงานของฝ่ายค้าน ปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ค่อนข้างพอใจ แต่ต้องยอมรับว่า ในสมัยประชุมนี้ มีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เราก็พอที่จะบริหารจัดการได้ราบรื่นบ้าง ไม่ราบรื่นบ้าง ในส่วนของกระทู้เอง ก็คิดว่า คล้ายๆ กัน พรรคฝ่ายค้านก็มีผลกระทบรัฐบาลก็มีผลกระทบ แต่คาดหวังว่า ในสมัยประชุมหน้าตั้งแต่ต้นๆ สมัยประชุม จะได้เห็นนายกรัฐมนตรีจะมาตอบกระทู้สดของฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประชาชนก็คงจะคาดหวังที่จะได้เห็นนายกรัฐมนตรีมาตอบข้อสงสัยจากพรรคฝ่ายค้านเช่นเดียวกัน

ขณะที่รังสิมันต์ ยังกล่าวถึงกรณี ภูมิธรรม ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่เห็นชอบกับการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 โดยระบุว่า พรรคเพื่อไทยเคยสัญญาว่าจะคลี่คลายปัญหาของคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมทางการเมือง จึงไม่ควรมองว่านิรโทษกรรมคดีใดบ้าง แต่ควรมองหลักการว่าหากเราต้องการคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ว่าจะโดนด้วยข้อหาอะไร ก็ควรได้รับการนิรโทษกรรม 

รังสิมันต์ กล่าวว่า การดำเนินคดีการเมืองโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องยอมรับว่า บางครั้งก็ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง หรือเพราะสถานการณ์ที่บีบคั้นทำให้ผู้ชุมนุมพูดเกินเลยไป จึงต้องดูเจตนา แต่คำถามที่ต้องคิดคือ ประเทศเราได้อะไรจากการดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ส่วนตัวมองว่าการนิรโทษกรรมสามารถทำได้ และรัฐบาลนี้ก็ถูกคาดหวังว่า ครั้งหนึ่งรัฐบาลเองก็ถูกจดจำในประวัติศาสตร์ว่าอยู่เคียงข้างประชาชน ต่อสู้เพื่อคนตัวเล็กตัวน้อย ต่อสู้กับชนชั้นนำ หรือผู้มีอำนาจบาตรใหญ่ในสังคม ทำไมวันนี้เปลี่ยนไปขนาดนั้น

รังสิมันต์ กล่าวต่อไปว่า แม้กระทั่งภูมิธรรมเอง แน่นอนทราบดีว่า คนเดือนตุลาฯ ก็มีอุดมการณ์ที่หลากหลาย สิ่งที่เคยต่อสู้ในวันนั้นอาจจบลงไปแล้ว แต่คุณมองสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ การชุมนุมปี 2563 การต่อสู้ของภาคประชาชน ไม่เห็นตัวเองในนั้นบ้างเลยหรือ

“ถ้าสมมติว่าผมเป็นคนแบบคุณอ้วน ภูมิธรรม ผมคงรับตัวเองไม่ได้นะ อะไรทำให้การตัดสินใจของท่านในการคลี่คลายความขัดแย้ง ทั้งที่ตัวเองมีโอกาสแล้ว ความจริงคุณภูมิธรรมเคยเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งในสังคม เคยถูกกล่าวหา วันนี้บ้านเมืองของเราต้องการโอกาสที่ 2 เราต้องการการนิรโทษกรรม”

รังสิมันต์ กล่าว

รังสิมันต์ กล่าวอีกว่า หลายคนที่มาเป็นนักการเมืองในวันนี้ ไม่สามารถมาเป็นได้ หากไม่ได้รับการนิรโทษกรรมก็ไม่สามารถมายืนตรงนี้ได้ อยากให้เรามองเห็นประโยชน์ว่า นี่คือโอกาสทีประเทสไทยจะได้เริ่มต้นกันใหม่ เชื่อว่านิรโทษกรรมเป็นวิธีการที่น่าจะพอคุยกันได้ และละมุนละม่อมที่สุด จะตั้งเงื่อนไขก็ตั้งกันว่าอะไรคือความเหมาะสม และการนิรโทษกรรมก็ไม่ใช่การยกเลิกกฎหมาย ไม่ใช่การแก้ไข มาตรา 112 และกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยออกมา ก็ไม่ได้รวมไปถึงการนิรโทษกรรม ดังนั้น รัฐบาลสามารถทำได้ และคิดว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับสังคมวันนี้

เมื่อถามว่า ภูมิธรรมอาจจะได้รับใบสั่งมาหรือไม่ รังสิมันต์ กล่าวว่า ไม่อยากไปสรุปว่ามีใบสั่งหรือไม่มี แต่อยากให้มองว่า นี่คือโอกาสที่สังคมไทยจะได้กลับมาเริ่มต้นกันใหม่ วันนี้ท่านได้อยู่ในอำนาจแล้ว อย่าปล่อยให้โอกาสนี้หลุดลอยไป มันจะเป็นบาดแผลครั้งใหญ่ ไม่ใช่แค่เฉพาะของสังคมไทย แต่จะเป็นบาดแผลของตัวท่านเองด้วย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์