รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับพิจารณาคดีเจ้าที่รัฐเอื้อ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้ารักษาตัวชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ว่า ถ้า ป.ป.ช. มาเป็นองค์คณะไต่สวน ก็หวังว่า เรื่องนี้จะมีคำตอบต่อสังคมโดยเร็ว คิดว่ามาถึงวันนี้ ทั้งอากัปกิริยาและการให้ความร่วมมือของหน่วยงานรัฐในหลายอย่างค่อนข้างชัดเจนว่ากรณีชั้น 14 ไม่ปกติแน่ๆ คนที่ติดตามข่าวการเมืองมาจะทราบว่า เรื่องที่เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เราจะเห็นว่าถ้าเรื่องไหนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชันภายในส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ก็จะให้ความร่วมมือ แต่ทำไมเรื่องชั้น 14 จะพบว่าเอกสารและข้อมูลหลายอย่างมีความยาก เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้ มีบางอย่างที่ถูกปิดซ่อนอยู่ แต่วันนี้แต่วันนี้สังคมอาจจะเดาไปได้ต่างๆนานา รู้กันอยู่แล้วว่ามีประมาณไหน อย่างไร แต่สุดท้าย สิ่งที่ยังขาดอยู่ในช่วงที่ผ่านมาคือการที่จะเอาความจริงทั้งหมดมาเปิดเผย และการระบุว่าใครเกี่ยวข้องอย่างไร มีความผิดตรงไหน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่อาจจะยังไม่ปรากฎออกมาชัดเจนมากนัก
รังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ต้องยอมรับว่า ป.ป.ช. มีอำนาจมากกว่า กมธ.ต่างๆ เยอะ ถ้าสมมติมีความชัดเจนตรงนี้ คิดว่า ก็คงจะสร้างความกระจ่างได้ ในฐานะที่ติดตามเรื่องนี้ ก็รอดูว่าจะมีความคืบหน้าอย่างไร ยืนยันว่า บรรดาข้าราชการทั้งหลายที่เป็นข้าราชการน้ำดี ต้องปฎิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ใครก็ตามที่มีข้อมูล ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ สามารถส่งมาได้ ยินดีที่จะทำหน้าที่ต่อไป และข้อมูลไหนที่เป็นประโยชน์ต่อการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช. ก็ยินดีที่จะมอบข้อมูลเหล่านี้ให้ ป.ป.ช.ต่อ เพราะมีหลายเรื่องที่เราส่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ไปให้แล้ว
ส่วนการที่ ป.ป.ช.นำขึ้นมาพิจารณาช่วงนี้ มีนัยยะอะไรหรือไม่นั้น รังสิมันต์ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่ากรณีทักษิณ มีคนร้องเรียนและมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ มีการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้นเรื่อย ๆ และข้อมูลทางการแพทย์ก็มากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน รวมไปถึงการให้ความร่วมมือของส่วนราชการที่มีพิรุธด้วย สิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ทำให้เชื่อว่า มีส่วนที่ทำให้หน่วยงานที่มีอำนาจตรวจสอบจำเป็นต้องทำอะไร เพราะถ้าเรื่องของทักษิณไม่มีความกระจ่างอะไร มันยังดำมืดอยู่แบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ หน่วยงานที่ถูกตั้งคำถามหน่วยงานแรก คือหน่วยงานที่มีอำนาจตรวจสอบ
เมื่อถามว่า มีข้อกังวลถึงกรอบระยะเวลาการพิจารณาของ ป.ป.ช. หรือไม่ เนื่องจากคดีหนึ่งจะใช้เวลาหลายปี รังสิมันต์ กล่าวว่า ส่วนตัวเป็นหนึ่งในคนที่ร้องไปยัง ป.ป.ช.หลายเรื่อง ทราบดีว่า การดำเนินการของ ป.ป.ช. ค่อนข้างใช้เวลา แต่หากเป็นเรื่องของพรรคประชาชนหรือพรรคก้าวไกลก็อาจจะเร็ว ซึ่งในเรื่องนี้ ป.ป.ช. มีกรอบเวลาตามอำนาจหน้าที่ แต่เมื่อ ป.ป.ช.เป็นองค์คณะต้องติดตามเรื่องกรอบเวลาทำงานที่ใช้จะมากเท่าเดิมหรือไม่ และมีเหตุผลอะไร และหากเรื่องนี้กระจ่างแล้วก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ระยะเวลาเต็มกรอบเวลา เชื่อว่า สามารถดำเนินการได้โดยเร็ว หากมีหลักฐานทั้งหมด โดยประเด็นที่ต้องวินิจฉัยคือ
1.ทักษิณป่วยจริงหรือไม่
2.ที่ถูกส่งไปรักษาตัวยังโรงพยาบาลกระบวนการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
3.อยู่โรงพยาบาลจนครบ 180 วันชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
4.เมื่ออยู่จนครบได้รับการพักโทษการประเมินต่างๆ เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือไม่
เมื่อถามว่า คดีที่ ป.ป.ช.นี้ จะกลายเป็นชะนักติดหลัง เพื่อถือไพ่ทางการเมืองของผู้มีอำนาจหรือไม่รังสิมันต์ ระบุว่า เริ่มไม่แน่ใจใครมีอำนาจบ้าง และต้องยอมรับว่า พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล และมีโอกาสหลายอย่างที่จะทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติและการบริหารประเทศ ซึ่งเรื่องความไม่สง่างามกรณีทักษิณทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาล เพราะรัฐบาลจะต้องมีเครดิตทางการเมือง แต่เมื่อเจอกรณีทักษิณ เครดิตทางการเมืองก็ถูกทำลายไป
“คุณทักษิณแย่งคุณอิ๊งค์เป็นนายกฯ คุณทักษิณแสดงบทบาทความเป็นนายกรัฐมนตรี จนราวกับว่าคุณอิ๊งค์เป็นอะไร ผมคิดว่า สิ่งเหล่านี้เมื่อผนวกรวมกันกับกรณีเรื่องชั้น 14 เครดิตของรัฐบาลหายไปเยอะ ทำให้รัฐบาลที่จะผลักดันในวาระต่างๆ ที่ต้องอาศัยความน่าเชื่อถือ ก็ยิ่งแย่ลงตามลำดับ ยังไม่นับว่า มีนโยบายหลายอย่างที่รัฐบาลอาจจะไม่สามารถทำให้เกิดตามที่สัญญาเอาไว้กับประชาชนได้ สิ่งเหล่านี้ยิ่งทำลายเครดิตของรัฐบาล ผมคิดว่าต้องยอมรับว่า วิกฤตทางการเมืองที่จะมีเกิดขึ้นต่อไปในคราวนี้ มันอาจจะมีองค์ประกอบอื่น แต่องค์ประกอบไม่น้อย ก่อโดยพรรคเพื่อไทยเอง”
รังสิมันต์ กล่าว
รังสิมันต์ ในฐานะประธานกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ยังกล่าวถึงกรณีศาลเมียนมาสั่งดำเนินคดี 4 ลูกเรือประมงชาวไทย และจะมีการปล่อยตัวหลังปีใหม่ว่า เป็นเรื่องน่าเศร้า และเป็นเรื่องที่มีความรู้สึกว่า ครอบครัวของคนที่รออยู่คงจะตั้งคำถามว่า ทางรัฐบาลไทยได้ทำอะไรกับเรื่องนี้ ซึ่งจากข้อมูลที่พูดคุยกับหน่วยงาน ตามกลไกของกรรมาธิการความมั่นคงฯ ก็รับทราบว่า มีหน่วยงานเข้าไปเยี่ยมลูกเรือชาวไทย ซึ่งเรื่องดังกล่าว ส่วนตัวไม่ได้ติดใจ แต่สิ่งที่อยากได้ความชัดเจนคือ ตกลงแล้วลูกเรือชาวไทยจะได้กลับ ประเทศไทยเมื่อไหร่ ซึ่งก็ยังไม่ได้รับข้อมูลตรงนี้ และยังไม่ได้รับข้อมูล แม้แต่วีธีการพูดคุยเจรจาหาทางออก และแน่นอนว่า สุดท้ายความชัดเจนที่บอกว่า หลังปีใหม่จะคือเมื่อไหร่
รังสิมันต์ กล่าวต่อว่า อีกเรื่องที่ยังไม่เห็นคือ การใช้ความรุนแรงของกองทัพเรือเมียนมาต่อเรือประมง ที่มองว่า เกินความเหมาะสม ความจำเป็นไปมาก แล้วตกลงไทยจะไม่มีท่าทีอะไรเลยหรือไม่ เชื่อว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่คนไทยอยากเห็น แต่ตนไม่ได้หมายความว่า วันพรุ่งนี้ไทยจะต้องส่ง กองทัพไปยิงคืน แต่มีวิธีการแสดงท่าทีหลายอย่างที่สามารถจะยกระดับแสดงให้เห็นว่า ไทยนั้นไม่พอใจ
“อย่างการเชิญฑูตเมียนมา และอ่านเป็นบันทึกให้เขาฟัง ซึ่งระดับของมันคือ การแสดงความกังวล มันน้อยมาก มันควรจะแสดงท่าทีที่มากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการประท้วง ที่อาจจะต้องมีการแสดงท่าทีออกมา แต่ก็ไม่เห็นจากรัฐบาล เพราะฉะนั้นวันนี้รัฐบาลของเรา ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากๆว่า รัฐบาลนี้อ่อนแอ แล้วไม่สามารถสร้างความรู้สึกให้กับพี่น้องชาวไทย ได้รับรู้รับทราบว่า เขาจะปลอดภัย”
รังสิมันต์ กล่าว
รังสิมันต์ ระบุว่า น่านน้ำมันไม่มีหลักหมุดที่ชัดเจน และบางครั้งเป็นพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการเจรจา ซึ่งปลาที่ว่ายอยู่ก็ไม่ได้สนใจว่า อยู่ในเขตประเทศไหน ส่วนเรือประมงก็พยายามจับปลา เพราะฉะนั้นก็มีโอกาสที่จะเข้าไปอยู่ในพื้นที่ทับซ้อน สิ่งเหล่านี้รัฐบาลจะต้องทำให้เกิดความรู้สึกปลอดภัยต่อประชาชน ในการที่จะทำมาหากินต่อไป สิ่งนี้ก็คงเป็นเครื่องหมายคำถามต่อรัฐบาลไทยต่อไปว่า รัฐบาลจะเอาอย่างไร แล้วตกลงว่า เรื่องของคนไทย 4 คน ทำได้แค่นี้ใช่หรือไม่
ส่วนที่รัฐบาลชี้แจงว่า เป็นวีธีการทางการฑูต รังสิมันต์ มองว่า วิธีการทางการทูตไม่จำเป็นต้องทำแค่นี้ แล้วคิดว่า รัฐบาลไทยนั้นทำได้มากกว่านี้ และทำให้คนไทยรู้สึกว่า ปลอดภัยกว่านี้ โดยเฉพาะความเสียหายใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ผู้ที่ถูกยิงแฉลบศีรษะใครรับผิดชอบ รวมทั้งมาตรการการช่วยเหลือ จะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องการความชัดเจนมากกว่านี้
เมื่อถามว่า การดำเนินคดีกับลูกเรือประมง เป็นขั้นตอนปกติ แต่สามารถขออภัยโทษได้ภายหลัง รังสิมันต์ กล่าวว่า การตัดสินให้ใครมีความผิดนั้น ถือเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งเรื่องการต่อสู้คดีนั้นเป็นไปอย่างเต็มที่หรือไม่ และเป็นการต่อสู้ที่อยู่บนพื้นฐานของกระบวนการยุติธรรมจริงๆ รวมทั้งทางการไทยได้ให้ความช่วยเหลือทางทนายความมากแค่ไหน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่มีใครรู้ ตอนที่กรรมาธิการความมั่นคงฯ ถามหน่วยงานราชการ และกระทรวงการต่างประเทศ ไม่ได้พูดถึงการให้ความช่วยเหลือทางด้านทนายความและทางคดีเลย สะท้อนเห็นว่าไม่มีความชัดเจนอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย
“สิ่งที่ผมกำลังตั้งคำถามคือ รัฐบาลจะมอบความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชน ที่เขาทำมาหากิน เขาทำมาหากิน เขามีรายได้ และเขาก็เสียภาษี ตกลงแล้วรัฐบาลไม่ต้องทำอะไรเพื่อพี่น้องประชาชนเลยใช่ไหม นี่คือคำถามที่ประชาชนเขาอยากจะรู้ เราใช้เงินงบประมาณหลายส่วนไปกับเรื่องความมั่นคง วันนี้ประชาชนกำลังทวงถามว่า ความมั่นคงของเขา ที่ต้องจ่ายเป็นเงินภาษี ตกลงแล้วจะตอบแทนให้เขาในรูปแบบไหน ผมไม่ได้หมายความว่า เราต้องไปโจมตีด้วยการทิ้งระเบิด แต่มีกระบวนการหลายอย่างที่สามารถทำได้ ที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรม เขาได้แสดงออกถึงความไม่พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะที่นี่ไม่ใช่น่านน้ำโซมาเลีย ที่จะมีเรือโจรสลัดติดอาวุธรุนแรง แต่นี่เห็นชัดเจนแล้วว่า เป็นเรือประมง”
รังสิมันต์ กล่าว