










รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูป สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลกรณี ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อช่วงเข้ารักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจว่า เป็นการพิจารณาต่อเนื่องจากครั้งที่แล้ว ยอมรับว่าข้อมูลหลายส่วนยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งรอบนี้เราเชิญเกือบ 20 คน และเอกสารหลายชุด โดยวันนี้หากได้รับการร่วมมือที่ดี ข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับ จะทำให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นในการพิจารณาต่อไป โดยเมื่อวานเราได้ติดตามการแถลงข่าวของที่ปรึกษาของกรมราชทัณฑ์ ไม่เคยเห็นที่ 1 วันก่อนหน้าเชิญเข้ามากมธ.จะมีการแถลงข่าว แต่การแถลงในหลายส่วนยอมรับว่าเป็นการแถลงโดยไม่เข้าใจ ในเรื่องของข้อกฎหมาย และไม่เข้าใจการทำหน้าที่ของกมธ. โดยส่วนตัวอยากให้รายละเอียดสั้นๆ ว่า เมื่อเราบอกว่าความมั่นคง คิดว่าเสาหลักของมั่นคงในประเทศชาติคือความยุติธรรม ซึ่งบางประเทศมีความเหลื่อมล้ำและมีการใช้อภิสิทธิ์ชน คนบางคนอยู่เหนือกฎหมาย และในเรื่องของการปฎิรูปประเทศส่วนตัวคิดว่า ภารกิจอย่างหนึ่งคือ การลดความเหลื่อมล้ำในเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งทั้งหมดได้อยู่ในความหมายของเรา ส่วนเรื่องความซ้ำซ้อนยืนยันว่า ไม่ได้ซ้ำซ้อนกับกมธ.ชุดอื่น และในส่วนที่บอกว่า จะไปแทรกแซงของหน่วยงาน ยืนยันว่า กมธ.ความมั่นคงฯไม่ได้ทำให้องค์กรอิสระอย่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ และย้ำว่า เราพยายามจะแสวงหาข้อมูลอย่างเต็มที่ ในการทำหน้าที่ของเราในฐานะฝ่ายตรวจสอบ ขณะเดียวกันเราเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ พร้อมที่จะเอาข้อมูลเหล่านี้เป็นสารตั้งต้นในกระบวนยุติธรรมกฎหมายต่อไป
รังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ส่วนเป้าหมายในวันนี้เป็นอย่างไรนั้น อยากย้ำว่ามี 3 ช่วง คือช่วงแรกการที่มีการส่งตัวทักษิณไปโรงพยาบาลตำรวจชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยมีรายละเอียดว่า ป่วยจริงหรือไม่ กระบวนการต่างๆ ถูกต้องหรือไม่ ส่วนช่วงที่สอง การอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจเป็นการอยู่โดยชอบหรือไม่ จำเป็นต้องอยู่ในห้องวีไอพีหรือไม่ และช่วงที่สามคือช่วงออกจากโรงพยาบาล ซึ่งทั้ง 3 ส่วนสำคัญจำเป็นต้องวางหลักและค้นหาข้อเท็จจริงกันต่อไป และหวังว่าหน่วยงานหากทำหน้าที่โดยสุจริตก็มาชี้แจงให้ครบถ้วน ทราบว่า พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม จะเข้ามาชี้แจง แต่ยังไม่เห็นส่วนชื่อลำดับที่หนึ่งคือ ทักษิณ และแน่นอนว่า เราไม่มีอำนาจในการให้คุณหรือโทษกับทักษิณ ได้ ซึ่งคุณโทษในทางกฎหมายเป็นเรื่องหนึ่ง แต่คุณโทษในความเข้าใจในความคิดของสังคม ก็เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายไม่ควรที่จะละเลย คิดว่า ทักษิณ เป็นอดีตนายกฯ คงมีผลงานหลายอย่างที่สังคมอาจจะชื่นชม แต่ไม่ควรเอาทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านเคยทำมาทิ้งไว้ที่นี่
เมื่อถามว่า อาจจะทราบว่า ทักษิณไม่มา เป้าหมายจะทำอย่างต่อไป รังสิมันต์ กล่าวว่า วันนี้ถ้ารัฐมนตรีมา เราก็อาจจะได้ข้อมูลมากขึ้น และคงต้องพิจารณาต่อไปว่า ข้อมูลเหล่านี้จะเพียงพอหรือไม่ในการที่จะเดินหน้าต่อ ถ้าข้อมูลวันนี้เพียงพอแล้ว สมมติว่าข้อมูลเป็นลบกับทักษิณหรือรัฐบาล เราก็พร้อมเดินหน้าต่อในเชิงของการตรวจสอบ ดำเนินการเพื่อเอาผิด แต่หากข้อมูลเป็นบวกทุกอย่างทำถูกต้องตามกฎหมายจริง ไม่มีพิรุธหรือวาระซ่อนเร้นก็เป็นเรื่องที่กมธ.ไม่มีเหตุผลที่จะดำเนินการต่อไป
“แต่ที่ผ่านมาพบว่า มีความน่าสนใจของการให้ความร่วมมือของหน่วยงานราชการต่อเรื่องนี้ ซึ่งเราพิจารณากันมาขนาดนี้ เราเชิญหน่วยงานคิดว่า น่าจะเกิน 100 หน่วยงานแล้ว เราไม่เคยเจอความยากลำบากของเราในการทำงานขนาดนี้ จึงค่อนข้างน่าแปลกใจ ผมเป็นสส.สมัยที่สอง ก็ไม่เคยเจอความยากลำบากแบบนี้เหมือนกัน ก็ค่อนข้างท้าทายว่า ป่วยจริงหรือไม่จริง ทำไมมันยากถึงการเข้าถึงข้อมูล และผมจะพูดกับรมว.ยุติธรรมว่า ท่าทีของกระทรวงยุติธรรมไม่ควรเป็นแบบนี้ และเมื่อวันที่ 7 พ.ย.กระทรวงยุติธรรมมาด้วยท่าทีในลักษณะใช้ PDPA หรือกฎหมายปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลมายันกมธ. ทั้งที่ในความเป็นจริงเราเห็นว่า กฎหมายเรื่องนี้ไม่ได้ครอบคลุมถึงการทำหน้าที่ของกมธ. ซึ่งเราสามารถทำได้ และเมื่อวานก็มีการพยายามยันอีกว่า เราไม่มีอำนาจนั่นนี่ คือตกลงแล้วท่านแค่ไม่ต้องการให้ข้อมูลกับเราใช่หรือไม่ ซึ่งผมคิดว่าท่าทีแบบนี้เป็นท่าทีที่ไม่สุจริต และเป็นท่าทีที่ไม่ต้องการจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 129 ซึ่งเป็นท่าทีที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นจากหน่วยงานรัฐหรือรัฐบาล”
รังสิมันต์ กล่าว
ส่วนที่วันนี้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณากรณีทักษิณล้มล้างการปกครอง รังสิมันต์ ไม่อยากลงรายละเอียดเรื่องนี้มาก แต่คิดว่าสิ่งสำคัญของวันนี้คือเรื่องของกระบวนการยุติธรรมที่เป็นเรื่องพวกเราทุกคน ถ้าเราปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมเป็นแบบนี้ สิ่งที่ต้องถามตัวเราเองคือเรารู้สึกสบายใจหรือไม่ที่บางคนได้รับอภิสิทธิ์ชนต่อกระบวนการยุติธรรม หมายถึงวันหนึ่งเราอาจจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งที่อาจถูกดำเนินการที่อาจจะเกิดขึ้นกับใครก็ได้ คำถามคือเราจะรู้สึกปลอดภัย หรือแฟร์หรือไม่
“อยากฝากไปถึงข้าราชการทั้งหมดว่า ถ้าเรื่องนี้มีมูลความผิดจริง ว่ามีแกล้งป่วยหรือป่วยทิพย์หรือใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ชอบ อยากให้พึงระลึกว่าที่ผ่านมา มีคนจำนวนมากที่พยายามช่วยคุณอะไรก็ได้ และถูกดำเนินคดีติดคุกมาก็เยอะ อย่าไปคิดว่าการที่เราทำทุกอย่างเพื่อบางคน สุดท้ายเราจะรอดพ้นหรือไม่ติดคุก จึงอยากให้ข้าราชการน้ำดีทุกคน บรรดาเหล่านาตาชาทั้งหลาย ที่รู้สึกว่า เรื่องนี้ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องก็สามารถส่งเรื่องมาที่กมธ.ความมั่นคงฯ เราพร้อมที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบต่อไป”
รังสิมันต์ กล่าว
ส่วนกรณีที่ทักษิณถูกฟ้องเรื่องนี้ในศาลรัฐธรรมนูญมองว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ รังสิมันต์ กล่าวว่า หากจะพูดถึงนิยามการล้มล้างการปกครองน่าจะต้องตีความแคบกว่านี้ คือต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครอง และจริงๆ เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับทักษิณก่อน แต่เกิดขึ้นกับพรรคก้าวไกลก่อน และในหลายกรณี แต่การนิยามหรือการตีความ ในช่วงเวลาที่ผ่านมาพูดกันตรงๆว่ามีปัญหาในข้อกฎหมายมาก ส่วนตนคงไม่เห็นว่ากรณีเรื่องชั้น 14 หรืออะไรก็แล้วแต่ จะถึงขนาดทำให้การปกครองของเราไปเป็นอีกระบอบการปกครองหนึ่ง ไม่น่าจะตีความอย่างนั้น แต่อย่างไรก็ตามเรื่องชั้น 14 ก็เขย่ากระบวนการยุติธรรม และทำลายความเชื่อมั่นของระบบความยุติธรรมประเทศเราอย่างมาก
เมื่อถามถึงกรณีที่คำร้องถูกหยิบยกเกี่ยวกับสมเด็จฮุนเซน รังสิมันต์ มองว่า ไม่น่าจะเกี่ยวกัน เพราะประเทศไทยมีสายสัมพันธ์กับประเทศต่างๆมากมาย ในเรื่องสมเด็จฮุนเซน เข้าใจว่าการเจอกันล่าสุดก็ไม่น่าจะเป็นการเจอกันในฐานะตัวแทนรัฐ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นเรื่องของสายสัมพันธ์ส่วนตัว ซึ่งก็วิจารณ์กันไปว่าเหมาะสมหรือไม่อย่างไร และคิดว่าสังคมไทยต้องตั้งหลักว่าเรื่องสำคัญในวันนี้คือกระบวนการยุติธรรม และแน่นอนว่าอาจจะไม่พอใจทักษิณในหลายเรื่อง แต่คงไม่ถึงขนาดเอาทุกเรื่องมาผูกโยงและปนกัน เรื่องเหล่านี้ต้องแยกและพิจารณาไปตามข้อเท็จจริง ซึ่งวันนี้ทำงานในฐานะกมธ.ความมั่นคงฯ ยืนยันว่า เรื่องนี้เราต้องขีดเส้นเฉพาะกระบวนการยุติธรรม หากจะมีการดำเนินการตามกฎหมายก็ดำเนินการตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏต่อเรา อยู่แค่เพียงฝ่ายรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง และข้าราชการน้ำดีทั้งหลาย
“วันนี้ผมต้องการสปิริตจากทุกคน และต้องการให้ช่วยกันในการแสดงสปิริตในการเอาข้อมูลมาให้กมธ.เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เรื่องกฎหมายมีความท้าทายหลายอย่าง ประเทศของเราวันนี้ ต้องการคนที่มีจิตวิญญาณ อดทนไม่ได้ต่อระบบยุติธรรมที่กำลังเป็นแบบนี้ ดังนั้นขอให้ช่วยกันส่งข้อมูลมาให้เราและเราจะทำหน้าที่อย่างดีที่สุด ผมทราบดีว่า เรื่องนี้เป็นแดนพิศวง จะพยายามทำเรื่องนี้คลี่คลายให้ได้มากที่สุด อย่างน้อยเราจะใช้โอกาสนี้ ทำให้กระบวนการยุติธรรมมันดีกว่าที่ผ่านมา”
รังสิมันต์ กล่าว
จากนั้น เข้าสู่การประชุมคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐกิจการชายแดนไทยยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศสภาผู้แทนราษฎร ที่มี รังสิมันต์ เป็นประธานในวาระพิจารณาเรื่องของ ทักษิณ เข้าพักรักษาตัวชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ โดยไม่ได้ติดคุกแม้แต่วันเดียว ซึ่งวันนี้ได้เชิญ ทักษิณ มาชี้แจง โดยส่งหนังสือไปทางไปรษณีย์ และมีการลงรับในวันที่ 16 พฤศจิกายน แต่ปรากฏว่า ไม่ได้มีการแจงตอบรับเข้าร่วมประชุมหรือไม่ แต่ในส่วนที่ตอบรับมา คือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์ ได้มอบหมายให้ ผู้อำนวยการกองทัณฑปฎิบัติ กลุ่มงานพักการลงโทษ มาชี้แจงแทน
ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม กรรมาธิการซีกรัฐบาล อย่างสส.พรรคเพื่อไทย โดยประยุทธ์ ศิริพานิช และสส.พรรคประชาชาติ โดย ซูการ์โน มะทา ได้หารือว่า อยากให้มีการประชุมลับ เพื่อถกเถียงว่ากรรมาธิการมีอำนาจในการพิจารณาเรื่องนี้หรือไม่ หลังกรมราชทัณฑ์ ได้ทำหนังสือท้วงติงว่า ‘กรรมาธิการ’ ไม่มีอำนาจ ทำให้กรรมาธิการหลายคนกังวลว่า จะขัดจริยธรรม หากเดินหน้าพิจารณาเรื่องนี้ ควรจะมีการหารือกันเป็นการภายใน และหากรัฐมนตรีว่าการการกระทรวงยุติธรรมต้องรอก็คงต้องรอ
ทำให้ รังสิมันต์ ชี้แจงยืนยันว่า มีอำนาจและที่ผ่านมาก่อนที่จะมีการประชุมสัปดาห์ถัดไป ทุกวันศุกร์ ก็จะต้องทำหนังสือรายงานต่อประธานรัฐสภาว่า จะประชุมเรื่องอะไรและเชิญใครบ้าง หากเรื่องใดที่ซ้ำซ้อนกับกรรมาธิการอื่น ประธานก็จะทวงติง แต่ในเรื่องนี้ประธานไม่ได้มีการท้วงติงอะไร ดังนั้น จึงมองว่า ให้ประชุมโดยเปิดเผยไปก่อนจนจบวาระนี้ ส่วนหลังจากนั้น ก็ยินดีที่จะให้เป็นการประชุมลับ
แต่ปรากฏว่า กรรมาธิการฟากฝั่งของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชาติ ไม่ยินยอม พร้อมยกเรื่องของการแถลงข่าวตอบโต้ระหว่างกรรมาธิการกับกรมราชทัณฑ์ขึ้นมา ในที่สุด รังสิมันต์ ประธานที่ประชุมได้ตัดบท ว่า เมื่อทุกคนเห็นด้วยกับข้อเสนอของประยุทธ์ ศิริพานิช ก็ขอให้มีการประชุมลับ เป็นการภายในกรรมาธิการก่อน แล้วจะกลับเข้ามาประชุมตามวาระเรื่องของทักษิณในเวลา 11.00 น. ทำให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องต้องออกมารอภายนอก รวมถึงพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมที่มารออยู่แล้ว ต้องไปพักรออีกห้องหนึ่ง
ต่อมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯ โดยย้ำว่า เข้ามาเป็นรัฐมนตรียุติธรรมหลังจากที่ทักษิณเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จึงต้องให้ความเป็นธรรมกับพ.ต.อ.ทวีด้วย แต่เหตุที่ต้องมาชี้แจง เหมือนกรรมาธิการชุดนี้ไปด้อยค่ากรมราชทัณฑ์ ไม่ให้เขาได้มีโอกาสชี้แจง และเลือกถ้อยคำบางประเด็นมาโจมตี ยืนยันว่า กรมราชทัณฑ์ ปฏิบัติตามกฎหมาย เราแบ่งเกรดของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ตามการใช้ศักยภาพ ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยที่ต้องรักษา
จากนั้น พ.ต.อ.ทวี ได้ส่งเอกสารลับให้รังสิมันต์ดู แต่ปรากฏว่า สื่อมวลชนอยู่ด้านหลัง ทำให้พ.ต.อ.ทวี ตำหนิประธานกรรมาธิการฯ ให้ระวังเอกสารลับ มีสื่อมวลชนกำลังบันทึกภาพอยู่ และถามย้ำกับช่างภาพว่า ถ่ายภาพติดหรือไม่ เนื่องจากกังวลเรื่องสิทธิของผู้ป่วย ก่อนที่จะชี้แจงต่อว่า ห้องที่ทักษิณอยู่ ไม่ใช่ห้องพิเศษและที่ต้องอยู่ห้องเดี่ยว เพราะทักษิณเคยถูกปองร้าย เคยโดนคาร์บอม และ การให้อยู่ห้องควบคุมพิเศษ เป็นดุลยพินิจของ ผบ.ตร.และโรงพยาบาลตำรวจ
“การเข้าเยี่ยมก็มีรายการการเข้าเยี่ยมทั้งหมด การเอาสิ่งเหล่านี้ที่ท่านพูดทำร้ายกรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรม มีคนนำคำพูดไปยื่นต่อ ป.ป.ช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งมีการสอบอย่างละเอียด พร้อมยืนยันว่า กรรมาธิการไม่ใช่การสอบสวนในทางการเมือง เราต้องไปข้างหน้า อย่ามาด้วยค่ากัน แต่ตนมีหลักฐานยืนยันตามระเบียบทั้งหมด”
พ.ต.อ.ทวี กล่าว
รังสิมันต์ กล่าวว่าเข้าใจในเรื่องการตรวจสอบที่มีความลำบากใจในหลายอย่าง แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนตั้งคำถาม หากรัฐมนตรีและราชทัณฑ์ให้ข้อมูลครบถ้วนก็จะสิ้นสงสัย
พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า ห้องที่ทักษิณไปอยู่คือ ห้องควบคุมพิเศษ ส่วนป้ายที่เขียนว่า ตึกนี้ชั้นนี้ เป็นพรีเมี่ยม ไม่ทราบ เพราะเป็นที่รักษาคนทั่วไป ญาติพี่น้องตำรวจคนเดียวใครก็ได้เข้าไปรักษา คนทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่ากัน คนทั่วไปก็อยู่ได้อย่าง อองซาน ซูจี ยังถูกกักขังที่บ้าน ประเด็นตรงนี้เราต้องควบคุมในลักษณะที่ยังต้องราชทัณฑ์อยู่ เพื่อไม่ให้เกิดการหลบหนีไปก่อเหตุร้าย
ส่วนผู้ที่ไปเยี่ยมตนอย่างตำหนิกรมราชทัณฑ์ ว่า เปิดให้เยี่ยมน้อย จริงๆ แล้วใครก็ได้ ที่ต้องการจะ ต้องให้เยี่ยมเพราะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่กรมราชทัณฑ์ก็กำหนดเอาไว้ และผู้ที่เข้าไปเยี่ยมทั้งหมด ทั้งคนที่อ้างว่า ไปเข้าพบมา ขอตรวจสอบได้ เพราะเรายืนยันว่า มีรายชื่อทั้งหมด ส่วนหากจะไปทางหนีไฟหรือไม่ ก็ไม่รู้ ยืนยันว่า ข้าราชการรักษาศักดิ์ศรี และไม่ทำอะไร ที่จะต้องมาโดนเช่นนี้ หากจะดูรายชื่อก็สามารถดูได้ แต่ขอยืนยันว่า ห้องนี้เป็นห้องควบคุมพิเศษและห้องรักษา และก็ไม่เคยเดินทางไปพบทักษิณขณะที่พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจชั้น 14
รังสิมันต์ กล่าวว่า “ท่านทวีช่วยตอบหน่อยได้หรือไม่ว่า คณะกรรมการที่ช่วยนายทักษิณเป็นการใช้อำนาจโดยชอบหรือไม่เป็นการช่วยเหลือ”
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ในฐานะรัฐมนตรีเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญและผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นแพทย์ได้ให้ความเห็นว่าเข้าหลักเกณฑ์ผู้สูงอายุทั้งหมดและเหลือโทษไม่มากการ จึงเป็น 9 คะแนน
“หมอวินิจฉัยโรคเข้าหลักเกณฑ์ทั้งหมดมีโรคหลายโรคและไม่มีผู้อื่นเห็นแย้ง อย่างผู้แทนอัยการสูงสุดกล่าวว่าการพิจารณาเข้าหลักเกณฑ์ผู้สูงอายุและการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ ถือเป็นการจำคุก ถือเป็นส่วนหนึ่งของเรือนจำ และมีผู้แทนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะฉะนั้น ผมคิดว่า หากจะให้ผมวินิจฉัยโรค ผมชอบให้หมอวินิจฉัยมากกว่า เพราะถ้าเป็นผม เป็นคนให้ยาท่านประธานคงไม่เอาเหมือนกัน จึงขอยืนยันว่าข้อมูลทั้งหมดอยู่ที่เอกสารส่วนจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง”
พ.ต.อ.ทวี กล่าว
ทำให้ ประยุทธ์ ขอใช้สิทธิ์แสดงความคิดเห็นว่า คำถามบางคำถามและการชี้แจงไม่ใช่หน้าที่ของพ.ต.อ.ทวี
“ถ้าหากใครยังมีความสงสัยอยู่ ขอแนะนำง่ายๆ ถ้าอยากจะใช้บริการของท่านรัฐมนตรีก็ลองไปเป็นนักโทษดู ท่านจะรู้ว่า ท่านทักษิณได้ใช้บริการนี้คุณจะได้ใช้บริการเดียวกันหรือไม่พูดกันตรงๆ ในฐานะที่ชีวิตเคยผ่านคุกผ่านตารางมาก่อน”
ประยุทธ์ กล่าว
พ.ต.อ.ทวี ยังกล่าวด้วยว่า ประเด็นที่จะให้ขึ้นไปที่โรงพยาบาลตำรวจก็ได้ เพราะมาที่นี่ มีคนห้ามว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ยังมา เพราะอยากทำความจริงให้ปรากฏ
ส่วนเรื่องการรักษา พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ได้มีโอกาสพูดคุยกับนายแพทย์ใหญ่ เขาแจงว่า เอกสารที่ส่งให้ ป.ป.ช.เหลือเพียงแค่ตัวเวชทะเบียน เนื่องจากเป็นสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติตามมาตรา 7 ส่วนเรื่องการรักษาพยาบาล ส่งให้ ป.ป.ช.ไปแล้ว เพราะว่า จะมีทั้งราคา รายละเอียดการรักษา มีรายงานว่า วันไหน ผ่าตัด วันไหนทำ MRI ซึ่งมันเหนือกว่าเวชระเบียนอยู่แล้ว ส่วนสิทธิ์ของผู้ป่วย ผู้ป่วยจะออกเงินเองก็ได้ เพราะโรงพยาบาลตำรวจจับมือกับ สปสช. ซึ่งกรณีของทักษิณ ค่ายาหลักสูง แต่ผู้ป่วยเป็นผู้ออกเอง และไม่มีกฎหมายเขียนห้ามไว้
ด้าน พ.ต.ท.ธีรวัตร์ ปัญญาณ์ธรรมกุล เลขานุการประจำคณะ กมธ. ให้ข้อมูลว่า วิวห้องที่ทักษิณ พักรักษาตัวเป็นวิว sport club เป็นห้องสูท ถ้าดูตามราคาที่ปรากฏทั่วไป คืนละประมาณ 8,500 บาท คูณ 120 วัน ก็ประมาณล้านกว่าบาท ในฐานะที่เป็นตำรวจและเคยใช้บริการจึงได้ส่วนลด แล้วทักษิณได้ส่วนลดด้วยหรือไม่ ถามไว้เผื่อคนอื่น ในอนาคตผู้ต้องหาคนอื่น อยากทำ จะสามารถทำได้หรือไม่
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า คนทั่วไปก็อยู่ห้องนั้นได้ ส่วนการรักษาพยาบาลทักษิณ ไม่ขอใช้สิทธิ์เป็นการจ่ายเงินเอง ถ้าไม่พอใจว่าท่านจ่ายเงิน ก็ไม่รู้แล้ว และราคาห้องอาจจะมากกว่าที่ท่านว่า เพราะอย่าลืมว่า มีค่าหมอค่ายาอีก และการที่ทักษิณอยู่ในห้องโรงพยาบาลตำรวจ ก็เหมือนอยู่ในเรือนจำอยู่แล้ว เพราะไม่ได้ออกไปไหน และการที่ต้องส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจเพราะศักยภาพของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่เพียงพอ
รังสิมันต์ กล่าวว่า มันมีข้อมูลที่ไม่ตรงกัน ครั้งที่แล้วกรมราชทัณฑ์ ให้ข้อมูลกับเราว่า พยาบาล 2 ท่านเป็นผู้วินิจฉัย ส่งตัวทักษิณไปที่โรงพยาบาลตำรวจ แต่รัฐมนตรีพึ่งบอกเราว่า มีคุณหมอเป็นผู้วินิจฉัย
ทำให้ พ.ต.อ.ทวี กล่าวชี้แจงว่า คุณหมอมาตรวจตอน 11.00 น แล้วรู้ว่าท่านเป็นโรคเยอะเลย แล้วพอกลางคืน พยาบาลเขาก็ส่งตัวตามตามคำแนะนำของแพทย์ในตอนเช้า และตามกฎหมายเขาเขียนให้พยาบาลเป็นผู้ส่งตัว ไม่ได้ให้หมอเป็นผู้ส่งตัว มันไม่มีอะไรที่จะผิดกฎหมาย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยังได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวในภายหลังว่า ทางกรรมาธิการฯ ต้องการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีทักษิณ เข้ารับการรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งได้ให้ข้อเท็จจริงตามที่ได้รับรู้และเห็นเอกสาร โดยได้ตอบทุกคำถาม ส่วนในการชี้แจงมีกรรมาธิการด้อยค่าเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์นั้น มองว่า อาจไม่ถึงขั้นนั้น แต่เห็นว่าทุกคน มีเกียรติ เหมือนกัน ดังนั้น ควรต้องให้เกียรติกันเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะข้าราชการของกรมราชทัณฑ์ และกระทรวงยุติธรรมทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ในทางกลับกันเป็นการส่งเสริมเจ้าหน้าที่ว่าการดำเนินการอะไร ต้องมีการตรวจสอบ ดังนั้น ในส่วนของตัวเอง อะไรที่ให้ความจริงได้ ไม่ผิดกฎหมาย ก็พร้อมที่จะให้ข้อมูล และยืนยันจากการอ่านข้อมูลเอกสาร เห็นว่าการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ ดูแลปฏิบัติโดยชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบและวิธีปฏิบัติของระเบียบกรมราชทัณฑ์ แต่หากใครมีความเห็นต่างจากนี้ก็จะต้องมีหลักฐานมาหักล้าง
ขณะที่ก่อนหน้านี้ได้รับรายงานหรือไม่ว่า ห้องควบคุมพิเศษ ต่างจาก พรีเมียมและวอร์ด อย่างไร พ.ต.อ.ทวี ยืนยันว่า เป็นการใช้ห้องควบคุมหรือรักษาพิเศษ เป็นสถานที่ที่ โรงพยาบาลจัดให้ ซึ่งเป็นสิทธิ์ของโรงพยาบาล
เมื่อถามย้ำว่า เวชระเบียนไม่สามารถส่งให้ ป.ป.ช. ได้ใช่หรือไม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า เวชระเบียน อยู่ที่โรงพยาบาลและได้สอบถามทางโรงพยาบาลว่า เวชระเบียนตามกฎหมายสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 7 ซึ่งเป็นกฎหมายที่แข็งมากจะต้องถามผู้ป่วยว่า จะยินยอมให้หรือไม่ แต่ทางโรงพยาบาลยืนยันว่า มีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลตลอด ซึ่งในนั้นมีรายละเอียดค่าที่พัก ค่ารักษาพยาบาลต่างๆ อาจจะดีกว่าเวชระเบียนด้วยซ้ำ เพราะเป็นการยืนยันชัดเจน
ส่วนมีเวชระเบียนในการรักษาทักษิณจริงหรือไม่นั้น พ.ต.อ.ทวี ยืนยันว่า เวชระเบียนมีจริง ในฐานะที่จะต้องรับรู้เมื่อครบ 120 วัน ซึ่งเห็นและมีใบแพทย์รับรองด้วย