‘รังสิมันต์’ ยันมีข้อมูลส่ง ‘48 อุยกูร์’ กลับจีน ผวาเหตุเอาคืน
รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวภายหลังการประชุม กมธ. ว่า วันนี้มีการส่งชาวอุยกูร์ทั้ง 48 คน กลับไปที่ประเทศจีนแล้ว อนุมานได้ว่า ชะตากรรมของคนทั้ง 48 คน ไม่น่าจะดี ถือเป็นการกระทำที่มีความผิดต่อมาตรา 13 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทำร้าย และการกระทำที่ทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 เราเคยมีเหตุการณ์ส่งกลับชาวอุยกูร์ในยุค คสช. อย่างเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ กลุ่มคนเหล่านั้นไม่ได้มีชะตากรรมที่ดี
ที่เป็นห่วงมากคือ ภัยต่อความมั่นคงที่อาจจะเกิดขึ้นกับประเทศเรา โดยเฉพาะการก่อการร้าย การวางระเบิด หรือการเอาคืน จะทำให้ประชาชนอาจจะได้รับผลกระทบ หรือเดือดร้อนไปด้วย หากมีเหตุการณ์เกิดขึ้น อาจจะทำร้ายการท่องเที่ยวของประเทศไทยย่อยยับ
ทั้งนี้เรามีข้อมูลไม่เป็นทางการว่า มีการส่งกับชาวอุยกูร์กลับประเทศจีนไปแล้ว มีโอกาสคุยกับรัฐมนตรีหลายท่านตั้งแต่เมื่อวานนี้ ข้อมูลหลายอย่างที่ประกอบกันบ่งชี้ไปในทิศทางที่ค่อนข้างชัดเจนว่า มีการส่งชาวอุยกูร์แล้ว
"เรากำลังส่งสัญญาณว่าประเทศไทย ไม่ใช่ประเทศที่ปลอดภัยอีกแล้ว ไม่ใช่สิ่งที่ผมจินตนาการเอง แต่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต ไม่มีใครรับประกันได้ว่า ครั้งนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกครั้ง คำถามคือ นายกฯ และรัฐบาลนี้จะรับผิดชอบต่อความเสียหายได้หรือไม่ ยังไม่นับถึงผลกระทบให้เกิดความขัดแย้งระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา ในฐานะไทยได้ดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกา ไม่รู้ว่าเรื่องนี้จะกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้สหรัฐอเมริกาจะมีมาตรการบางอย่างต่อไทยหรือไม่
วันนี้รัฐบาลแกว่งเท้าหาเสี้ยนแล้ว ทำให้ตัวเองได้รับความเดือดร้อน โดยมีประชาชนเป็นผู้แบกรับภาระ ยังไม่นับว่าเหตุการณ์เหล่านี้อาจจะนำไปสู่การทำให้ไทยได้รับการประเมินด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยอาจจะใน Tier ที่ตกต่ำมากขึ้น
อย่างไรก็ตามในวันที่ 6 มี.ค.2568 เวลา 09.30 น. กรรมาธิการจะเชิญนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม รมว.การต่างประเทศ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้ามาชี้แจงด้วยตนเอง โดยไม่รับตัวแทน เพราะคนที่จะมาชี้แจงเรื่องใหญ่ขนาดนี้ได้จะต้องเป็นผู้กำหนดนโยบาย และผู้ตัดสินใจในเชิงนโยบาย รวมถึงจะเชิญมิตรประเทศ เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจว่าการตัดสินใจครั้งนี้ ที่เราในฐานะ กมธ.ที่ทำหน้าที่ในสภานิติบัญญัติไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เราต้องการแสดงจุดยืนให้เห็นว่า การกระทำครั้งนี้อาจนำไปสู่ความเสียหายและก่อเหตุความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น" นายรังสิมันต์ กล่าว
"ถ้าไม่ใช่รัฐบาลก็ตอบมาเลย นายกรัฐมนตรียังไม่ตอบ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก หากเราเข้าใจผิดไม่ถูกต้อง ก็ควรที่จะตอบให้ประชาชนสิ้นข้อสงสัย" รังสิมันต์ กล่าว
กสม. มีหนังสือด่วนถึงนายกฯ กังวลส่ง ‘อุยกูร์’ กลับจีน
หรรษา หอมหวล เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ติดตามข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับการเตรียมส่งชาวอุยกูร์กลับประเทศต้นทาง ด้วยความห่วงกังวลอย่างยิ่งว่าการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ชาวอุยกูร์ตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายต่อชีวิต อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ
ได้แก่ การไม่ผลักดันบุคคลไปสู่อันตราย (Non-refoulement principle) และขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศและพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของไทยอย่างร้ายแรง ทั้งพันธกรณีตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) นอกจากนี้ ยังจะกระทบต่อสถานะของประเทศไทยในประชาคมโลก ตลอดจนต่อความสัมพันธ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างไทยกับมิตรประเทศที่สำคัญ
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงมีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 27 ก.พ. 2568 ถึงนายกรัฐมนตรี แจ้งข้อห่วงกังวลต่อการส่งชาวอุยกูร์กลับประเทศต้นทาง โดยขอให้พิจารณาเรื่องนี้ ดังนี้
1.การส่งชาวอุยกูร์กลับประเทศต้นทางจะกระทบต่อความน่าเชื่อถือของไทยในฐานะสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) เนื่องจากขัดต่อเจตนารมณ์และคำมั่นของประเทศไทยที่จะส่งเสริมการเคารพและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่ได้ให้ไว้ในการรณรงค์หาเสียงในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิก HRC การที่ไทยได้รับเลือกเป็นสมาชิก HRC เมื่อเดือนตุลาคม 2567 ที่ผ่านมาด้วยคะแนนสูงที่สุด
สะท้อนให้เห็นว่าประเทศต่าง ๆ มีความเชื่อมั่นต่อนโยบาย ความมุ่งมั่น และการดำเนินการของไทยในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในหลายด้าน เช่น การออกกฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามการทรมานและการทำให้บุคคลสูญหาย ตามพันธกรณีในอนุสัญญา CAT ได้อย่างมีประสิทธิผล การดูแลผู้หนีภัยสู้รบชาวเมียนมา การแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล เป็นต้น
2\. กลุ่มประเทศมุสลิมหลายประเทศ รวมทั้งองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation: OIC) ได้มีท่าทีและติดตามสถานะของเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการส่งกลับชาวอุยกูร์ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่นับถือศาสนาอิสลาม จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศมุสลิมทั้งในอาเซียนและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตะวันออกกลาง รวมถึงอาจกระทบต่อความสัมพันธ์กับ OIC
ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อความพยายามของไทยในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และอาจส่งผลให้สถานการณ์กลับมาทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น อันจะกระทบต่อสิทธิและความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งสวนทางกับนโยบายของรัฐบาลที่จะนำความสงบคืนสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้และตั้งเป้าที่จะยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายด้านความมั่นคงในพื้นที่ภายในปี 2570
3.การส่งชาวอุยกูร์กลับยังจะส่งผลกระทบต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไทยกับประเทศตะวันตก ซึ่งให้ความสำคัญอย่างมากกับการเคารพสิทธิมนุษยชนในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ นอกจากนี้ อาจมีผลต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยที่นักลงทุนต่างชาตินำมาประกอบการพิจารณานำเงินมาลงทุน ทั้งนี้ หากการค้าการลงทุนจากต่างประเทศลดลง ย่อมมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในสภาวะผันผวนทางเศรษฐกิจของโลก รวมถึงต่อมาตรฐานการครองชีพและความกินดีอยู่ดีของประชาชนไทยเอง
4.ประเทศไทยมีวิวัฒนาการในการพัฒนาประเทศมาหลายทศวรรษ ทั้งในบริบทของการเมือง สังคม เศรษฐกิจ จนมีศักดิ์ศรีและสถานะเป็นที่ยอมรับในประชาคมระหว่างประเทศว่ายึดมั่นในหลักการสากลและพันธกรณีระหว่างประเทศโดยเฉพาะด้านสิทธิมนุษยชน
กสม. จึงขอเรียนมาเพื่อนายกรัฐมนตรีทบทวนนโยบายการส่งกลับดังกล่าวโดยเร่งด่วน เพื่อไม่ให้ประเทศไทยสูญเสียการยอมรับที่พัฒนามายาวนานข้างต้น และกระทบต่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนโดยรวม