ส่งกลับจีนดีที่สุด! ‘รัศม์’ ชี้ปม ‘อุยกูร์’ ไม่มีใครยื่นมือช่วยไทยจริงจัง

1 มี.ค. 2568 - 03:50

  • ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ‘รัศม์ ชาลีจันทร์’ มองปม ‘อุยกูร์’ ผ่านตัวเลือก 3 ทาง

  • ชี้ไม่มีประเทศใดยื่นมือช่วยไทยจริงจัง แถมหน้าไหว้หลังหลอก-เก่งแต่ชี้นิ้วกับชาติเล็กๆ

Russ_Charnsongkram_on_case_of_sending_Uyghurs_back_to_China_SPACEBAR_Hero_0b312a4986.jpg

กลายเป็นประเด็นร้อนแรงระดับชาติสำหรับกรณีการส่งตัว ‘ชาวอุยกูร์’ กลับประเทศจีน ขณะเดียวกันก็มีมุมมองและข้อวิพากษ์วิจารณ์ออกมาจากหลายฝ่าย

หนึ่งในนั้นมาจาก รัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตเอกอัครราชทูต ที่เผยผ่านโซเชียลมีเดีย ว่า

กรณีอุยกูร์ 40 คน เป็นเรื่องน่าเศร้าที่เต็มไปด้วยความยุ่งยากซับซ้อนกว่าที่เห็น และที่ไทยไม่ได้มีทางเลือกมากนัก แค่ 3 ประการ

ไม่ส่งให้ใคร และคุมขังพวกเขาต่อไปเรื่อยๆ

ส่งไปให้ประเทศที่สาม (หากมีประเทศใดที่จะแน่วแน่ช่วยเหลือยอมรับอย่างจริงจัง)

ส่งกลับไปประเทศต้นทาง ซึ่งคือจีน

ทางเลือกที่ 1 ง่ายแต่ก็เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง เพราะเป็นการกักขังโดยไม่มีความผิดและไม่มีกำหนด (indefinite detention) ซึ่งเข้าข่ายผิดทั้งกฎหมายทั้งของไทยและระหว่างประเทศ และโหดร้ายต่อชะตากรรมพวกเขาอย่างไร้มนุษยธรรมยิ่ง

ทางเลือกที่ 2 ฟังดูดีที่สุดแต่ยากจะเป็นไปได้จริง เพราะเอาเข้าจริงๆก็ไม่ได้มีประเทศไหนมุ่งมั่นอยากรับจริง อาจมีที่เคยแสดงท่าทีบ้างแล้วก็เงียบหาย ไม่ได้จะมาแน่วแน่ช่วยเหลืออย่างจริงจังเต็มที่อะไร แม้แต่ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ หรือองค์การระหว่างประเทศเองอย่าง UNHCR ก็ไม่ได้ให้สถานะผู้ลี้ภัยแก่คนเหล่านี้

บางประเทศมาชี้นิ้วห้ามไทยส่งให้จีน แต่ก็ไม่ได้มีข้อเสนอทางเลือกอื่นอะไรให้ ซึ่งจริงๆ ประเทศเหล่านี้ทำไมไม่ไปล็อบบี้ เจรจากับจีนโดยตรงบ้าง ว่าขอให้ยอมส่งไปประเทศที่สามได้ ก็ไม่เห็นมีประเทศไหนทำ รวมทั้งไม่เห็นมีใครมาบอกว่าหากไทยถูกจีนตอบโต้แล้วจะมาช่วยเหลืออะไรเรา

เรื่องมันน่าเศร้าที่ประเทศต่างๆ เอาเข้าจริงก็มักหน้าไหว้หลังหลอก ไม่ได้ตั้งใจช่วยเหลือเราจริงจัง มีแต่คำพูดสวยหรู และเก่งกับชี้นิ้วประเทศเล็กๆอย่างไทยเท่านั้น

ในขณะที่การส่งตัวไปประเทศที่สามไทยอาจต้องเผชิญกับการตอบโต้จากฝ่ายจีนโดยไม่มีประเทศไหนจะยื่นมือมาช่วยเหลือ ที่อาจส่งผลกระทบระดับรุนแรงต่อประชาชนคนไทยจำนวนมากที่ไม่ควรต้องมารับผลด้วย คำถามจึงคือคนไทยพร้อมจะเผชิญสิ่งนี้หรือไม่เพียงใด? การส่งตัวไปประเทศที่สามแม้ฟังดูดีแต่ในความเป็นจริงยากจะเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าพรรคไหนจะมาเป็นรัฐบาลไทยก็ตาม นี่คือความเป็นจริง

ทางเลือกที่ 3 แม้อาจฟังดูโหดร้าย แต่โดยที่ทางการจีนได้มีหนังสือรับรองอย่างเป็นทางการต่อความปลอดภัยของคนเหล่านี้ตามที่ไทยขอซึ่งในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไทยไม่มีเหตุผลที่จะไม่เชื่อสิ่งที่จีนรับรองอย่างเป็นทางการ และแม้หลายฝ่ายอาจไม่เชื่อจีน แต่เมื่อเขามีหนังสือรับรองเป็นทางการแล้ว เขาก็มีพันธะที่ต้องปฏิบัติตาม ถ้าไม่ทำตามนั้นก็เท่ากับผิดคำพูดและย่อมเป็นผลเสียต่อจีนเอง ซึ่งผมคิดว่าจีนซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจก็จำเป็นต้องรักษาคำพูดของเขาเช่นกัน

ทางการไทยมีท่าทีตลอดมาว่าจะหาทางออกเรื่องนี้ให้เหมาะสมที่สุด ซึ่งเมื่อไม่มีประเทศใดจริงจังที่จะรับคนพวกนี้ และทางจีนมีหนังสือรับรองความปลอดภัยเป็นทางการทางการแล้ว ไทยย่อมต้องถือตามนั้น จะไปบอกว่าเราไม่เชื่อถือคำพูดของเขาไม่ได้ ไม่งั้นก็ไม่ต้องมีความสัมพันธ์กัน

และโดยที่จีนรับรองความปลอดภัยเป็นทางการแล้ว ประเด็นการส่งตัวไปสู่สภาวะอันตราย ซึ่งไทยมีกฎหมายห้ามและที่อาจขัดหลัก non-refoulement ตามกฏหมายระหว่างประเทศ จึงหมดไป (แต่ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ฟ้องศาลได้และแล้วแต่ศาลจะตีความอีกที)

ในแง่หนึ่ง การส่งกลับไปจีนถือเป็นเรื่องมนุษยธรรมได้เช่นกัน เพราะการกักขังเขาโดยไม่มีความผิดและไม่มีกำหนดนั้น ยิ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและไร้มนุษยธรรมยิ่งกว่า ไม่งั้นเราอยากจะให้ขังพวกเขาตายจนคาคุกหรือ? เพราะไม่มีประเทศไหนที่ยอมช่วยเหลือจริงจัง (ขอเน้นคำว่าจริงจัง)

เมื่อพิจารณาจากทางเลือกทั้ง 3 ประการ การส่งตัวกลับจีนโดยได้รับการรับรองความปลอดภัยอย่างเป็นทางการ จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดที่ไทยพอทำได้ และยังดีกว่าขังพวกเขาไปเรื่อยๆ จนตายคาห้องขัง อย่างไร้มนุษยธรรม

มันอาจไม่ถูกใจหลายคน และเป็นเรื่องน่าเศร้า แต่ไทยไม่ได้เป็นผู้ก่อปัญหานี้ขึ้นมาแต่แรก และเรื่องนี้มันเอาแต่พูดสวยหรูโก้ๆไม่ได้เพราะเกี่ยวพันกับชีวิตปากท้องประชาชนคนไทยโดยรวมด้วยเช่นกัน

ที่ไม่ได้มีประเทศใดจะยื่นมือมาช่วยเราจริง

ก็ยอมรับว่าจริงๆ มันก็น่าเศร้า และใจผมก็ไม่ได้อยากให้สิ่งนี้เกิดขึ้น แต่นึกไม่ออกว่าแล้วจะให้ทำอย่างไร?

View post on Facebook

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์