วิเคราะห์ข้อมูลศึกซักฟอก ‘นายกฯ’ หนีภาษีจริงไหม? นักวิชาการชี้เป็นการวางแผนภาษีรัดกุมถูก กม.

25 มี.ค. 2568 - 11:24

  • นักวิชาการวิเคราะห์ ‘นายกฯ แพทองธาร’ ทำธุรกรรมการขายหุ้นผ่านตั๋วสัญญาใช้เงิน (PN)

  • ชี้ไม่ใช่การหนีภาษี แต่เป็นการวางแผนภาษีแบบรัดกุมสุดๆ ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ

Scan-data-from-the-no-confidence-debate-Is-the-Prime Minister-really-evading-taxes-SPACEBAR-Hero.jpg

กลายเป็นประเด็นร้อนในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร เมื่อวิโรจน์ ลักขณาอดิศร รองหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ได้อภิปรายโดยกล่าวหาว่า นายกรัฐมนตรีหลีกเลี่ยงการเสียภาษีการรับให้ โดยทำนิติกรรมอำพรางการรับหุ้นจากบุคคลในครอบครัว โดยการออกตั๋ว PN เป็นสัญญาการกู้เงินมูลค่ารวมกว่า 4.4 พันล้าน ทำให้ไม่ต้องเสียภาษีการรับให้มูลค่ารวมประมาณ 218 ล้านบาทเศษ

ต่อประเด็นดังกล่าว ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ (อาจารย์มิก) นักวิชาการกฎหมายภาษีอากร ผู้ก่อตั้ง iTAX รองคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม โพสต์เฟซบุ๊ก (25 มีนาคม 2568) “นายกฯ หนีภาษีจริงมั้ย?” ระบุว่า เรามาทำความเข้าใจข้อเท็จจริงและเรื่องภาษีไปพร้อมกันๆ ก่อน แล้วค่อยมาสรุปว่าท่านนายกฯ หนีภาษีรึเปล่า

1. เอางี้ก่อน มันเกิดอะไรขึ้น?

ก่อนหน้านี้ ท่านนายกฯ เคยได้รับโอนหุ้นจากญาติพี่น้องในรูปแบบสัญญาซื้อขาย มูลค่าประมาณ 4,400 ล้านบาท แต่ยังไม่ได้ชำระเงินค่าหุ้นนะ ติดหนี้ไว้ในรูปแบบตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory note: PN) อธิบายง่ายๆ คือ ออกเอกสารฉบับหนึ่งให้เจ้าหนี้ไว้ แล้วบอกว่าตอนนี้ยังไม่พร้อมจะชำระค่าหุ้นนะ เงินไม่พอ แต่เราจะทำตามสัญญาขอเวลาอีกไม่นาน ไว้อยากใช้เงินแล้วให้เอาตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับนี้มาทวง จะใช้เงินให้ทันที

ซึ่งในเรื่องนี้เป็น PN แบบใช้เงินเมื่อทวงถาม และไม่กำหนดดอกเบี้ย แปลว่า เจ้าหนี้ไม่คิดเบี้ย และอยากได้เงินเมื่อไหร่ก็ไปทวงเมื่อนั้น

ตอนนั้นท่านนายกฯ ได้รับโอนหุ้นมาจากญาติพี่น้องหลายคน ได้แก่ แม่ พี่ชาย พี่สาว ลุง ป้าสะใภ้ และทุกคนได้รับ PN มาก่อนโดยยังไม่ได้รับชำระเงินและยังไม่มีการทวงถามให้ใช้เงินแต่อย่างใด

2. ธุรกรรมนี้ใครต้องเสียภาษี?

ถ้าดูตามหน้ากระดาษ ธุรกรรมนี้คือสัญญาซื้อขาย ท่านนายกฯ ในฐานะผู้ซื้อไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว ส่วนคนขายเป็นคนได้ตัง เลยต้องเป็นคนเสียภาษี แต่เรื่องนี้มี 2 ประเด็นที่ต้องพิจารณาก่อน เพราะคนขายอาจจะไม่ต้องเสียภาษีก็ได้ เช่น

1)ขายหุ้นในราคาขาดทุนหรือเท่าทุน เช่น สมมติว่าพี่สาวขายหุ้นให้ท่านนายกฯ ในราคา 2,388.7 ล้านบาท แต่พี่สาวก็ได้หุ้นมาราคา 2,388.7 ล้านบาทเท่ากัน แบบนี้ต่อให้ได้เงินมาจริง แต่ก็ได้กำไร 0 บาท จึงไม่ต้องเสียภาษีอยู่ดี

ในทางกลับกัน ถ้าพี่สาวได้หุ้นมาในราคาต่ำกว่า 2,388.7 ล้านบาท แล้วขายหุ้นให้ท่านนายกฯ ในราคา 2,388.7 ล้านบาท แบบนี้พี่สาวซึ่งเป็นคนขายจะได้กำไรและต้องเสียภาษี เว้นแต่จะเป็นการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ แม้จะได้กำไรก็ไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นการขายหุ้นนอกตลาดฯ จึงไม่น่ามีประเด็นยกเว้นภาษีจากกำไร

2)ขายหุ้นได้กำไรจริง แต่ยังไม่ได้เงินจริง เพราะ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีหลักการรับรู้เงินได้ตามเกณฑ์เงินสด (cash basis) ถ้าแปลง่ายๆ คือ ได้เงินจริงปีไหน ค่อยให้เป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีปีนั้น

เช่น สมมติว่ารับงาน freelance ตอนเดือน ธ.ค. 67 แต่คนจ้างขอจ่ายเงิน ม.ค. 68 แบบนี้แม้ว่าจะส่งมอบงานเสร็จเรียบร้อยตั้งแต่ปี 67 แต่เนื่องจากได้รับเงินจริงตอนปี 68 ทำให้เงินค่าจ้างนั้นกลายเป็นเงินได้ของปีภาษี 68 (ปีที่ได้เงินจริง) ไม่ใช่เงินได้ของปีภาษี 67 (ปีที่ส่งงาน)

ถ้าเทียบเคียงกับกรณีขายหุ้นนี้ ท่านนายกฯ ไม่ได้ชำระเป็นเงินสด หรือโอนเงิน หรือจ่ายเช็ค หรือแม้แต่เอาทรัพย์สินหรือประโยชน์ใด เช่น รถหรู กระเป๋าแบรนด์แนม ฯลฯ ไปแลกหุ้นมา มีเพียงตั๋ว PN ที่บอกว่าติดเงินไว้ก่อนนะ ไว้คนขายอยากได้เงินเมื่อไหร่ก็แวะมา ดังนั้น ตราบเท่าที่คนขายยังไม่ได้เงินซักที (เพราะยังไม่ได้ทวงเงินจากคนซื้อ) ก็เลยยังไม่มีกำไรที่ต้องนำไปเสียภาษี

จุดนี้จะมองว่าเป็นช่องสุญญากาศของกฎหมายก็ได้ เพราะที่จริงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตั้งใจเลือกใช้เกณฑ์เงินสดเพื่อความสะดวกและเข้าใจง่ายของประชาชนทั่วไป บุคคลธรรมดาจึงได้ประโยชน์จากการปรับใช้กฎหมายแบบนี้ ซึ่งถ้างานนี้คนขายเป็นบริษัทจะใช้เกณฑ์อีกแบบที่ต้องเสียภาษีทันทีที่ขายได้กำไรแม้จะยังไม่ได้เงินเข้ากระเป๋าก็ตาม

3. ถ้าโอนหุ้นให้โดยไม่ได้เงินและคนขายก็ดูไม่มีวี่แววจะทวงเงินด้วย แบบเราควรจะมองธุรกรรมนี้เป็นการให้เปล่ามากกว่ามั้ย? เพราะถ้าเป็นการให้เปล่าจริงๆ ท่านนายกฯ จะกลายเป็นคนที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีแทน

โดยปกติ การได้รับทรัพย์สินมาเปล่าๆ เช่น โอนหุ้นมาให้เฉยๆ ถ้าปีนึงได้รับไม่เกิน 10 ล้าน จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี (ถ้าคนให้เป็นบุพการี คู่สมรส หรือลูกหลาน จะได้ขยายเพดานเพิ่มเป็น 20 ล้านบาท) แต่ถ้าได้รับเกินกว่านั้นจะต้องเสียภาษีการรับให้ 5% ของส่วนเกินดังกล่าว

เช่น สมมติว่าพี่สาวโอนหุ้นให้ท่านนายกฯ มูลค่า 2,388.7 ล้านบาทภายในปีเดียวกันโดยไม่มีค่าตอบแทน พี่สาวไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษี แต่ท่านนายกฯ เองนั่นแหละที่จะมีหน้าที่ต้องเสียภาษีในฐานะผู้ที่ได้รับทรัพย์สินมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทในคราวเดียว

แต่ถ้าพี่สาวทยอยให้หุ้นท่านนายกฯ ปีละไม่เกิน 10 ล้านบาท ทั้งท่านนายกฯ และพี่สาวจะมีใครไม่ต้องเสียภาษีเลย และสามารถทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายเช่นกัน เพียงแต่กว่าจะโอนหุ้นให้จนหมดอาจจะต้องใช้เวลานานหน่อย ประมาณ 239 ปี

4. แค่ไหนถึงเรียกว่าหนีภาษี?

คำว่า “หนีภาษี” เป็นคำที่ต้องใช้อย่างระมัดระวังมากๆ เพราะโดยปกติเราจะสงวนไว้ใช้กับพฤติกรรมที่ดำสนิทจริงๆ เช่น เอาบัตรประชาชนของคนอื่นที่มีรายได้น้อยๆ มารับรายได้แทนตัวเองเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียภาษีแพง หรือขายของออนไลน์ได้กำไรเป็นล้านๆ แต่ไม่เคยยื่นภาษีหรือจ่ายภาษีซักบาท เป็นต้น

กรณีของท่านนายกฯ อาจเรียกได้ว่าเป็นการวางแผนภาษีแบบดุดัน (Aggressive tax planning) คือ วางแผนภาษีแบบรัดกุมสุดๆ และถูกกฎหมายทุกประการ แต่ขัดใจความรู้สึกของใครหลายคน และมองว่าเป็นการเลี่ยงภาษี (Tax avoidance) โดยการใช้ช่องว่างทางกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ถึงกฎหมายจะกำหนดให้คนไทยมีหน้าที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่มีกฎหมายข้อไหนบังคับให้ต้องเสียภาษีแพงที่สุดเท่าที่จะเสียได้ ดังนั้น การเลือกหนทางที่ทำให้ตัวเองเสียภาษีน้อยที่สุด ย่อมเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ทราบเท่าที่เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมาย

เราอาจจะต้องแยกให้ออกด้วยว่า “ถูกกฎหมาย” vs. “ถูกใจ” เป็นคนละเรื่องกัน

ผศ.ดร.ยุทธนา ระบุด้วยว่า เมื่อ 19 ปีก่อน ครอบครัวของท่านนายกฯ ก็เคยขายหุ้น “ชินคอร์ป” มูลค่า 73,271 ล้านบาท โดยไม่ต้องเสียภาษีซักบาท ซึ่งแม้ภายหลังจะมีคดีขึ้นสู่ศาลภาษีอากรเพื่อเก็บภาษีในส่วนนี้ แต่ท้ายที่สุดศาลพิพากษายกฟ้องอยู่ดี

แน่นอนว่าถึงจะ “ถูกกฎหมาย” แต่ก็ไม่ได้ “ถูกใจ” ทุกคนด้วย ยิ่งเกี่ยวข้องกับนายกฯ ก็ต้องเผื่อใจเรื่องความรับผิดชอบทางการเมืองต่อความรู้สึกของประชาชน และการเปิดช่องให้ฝ่ายค้านโจมตีได้ ซึ่งมันก็เป็นไปได้ว่าใครบางคนรู้สึกไม่สบายใจที่ท่านนายกฯ มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกรรมนี้ แล้วจะไม่อยากสนับสนุนท่านนายกฯ ต่อ ก็เป็นประเด็นทางการเมืองที่ท่านนายกฯ และพรรคการเมืองที่ท่านสังกัดต้องรับมือต่อไป เพราะท่านต้องรู้อยู่แล้วว่าคนไทยพร้อมใส่ใจท่านนายกฯ เสมอ รถทัวร์ก็รออยู่แล้วหลายคัน งานทอดกฐินก็มีคนพร้อมจองตลอดเวลา อบอุ่นแน่นอน

ผศ.ดร.ยุทธนา ระบุอีกว่า ซึ่งเรื่องนี้ ท่านนายกฯ ได้ชี้แจงว่าตอนนั้นไม่พร้อมชำระเงินตามตั๋ว PN แต่ได้ตกลงกับครอบครัวแล้วว่าจะชำระเงินค่าหุ้นให้ภายในปีหน้า นั่นหมายความว่าธุรกรรมซื้อขายหุ้นนี้ ในท้ายที่สุดผู้ขายก็จะต้องเสียภาษีอยู่ดี ไม่ใช่ท่านนายกฯ ในฐานะผู้ซื้อหุ้นอยู่แล้ว

แต่มีเกร็ดเล็กน้อยที่น่าสนใจว่า การเสียภาษีช้าหน่อยก็เป็นเทคนิคการประหยัดภาษีรูปแบบนึงเช่นกัน เพราะการยื้อเวลาจ่ายภาษีให้ช้าที่สุด (Tax deferral) ก็ช่วยให้มีกระแสเงินสดไปหมุนเพื่อสร้างรายได้ระหว่างรอชำระภาษีได้ด้วยเหมือนกัน ถึงแม้สุดท้ายจะต้องจ่ายภาษีจำนวนเท่าเดิม แต่การเสียภาษีช้าก็ได้ประโยชน์มากกว่าเสียภาษีทันที

5. สรุปท่านนายกฯ หนีภาษีจริงมั้ย?

จากข้อมูลเท่าที่มีตอนนี้ ถามว่าถึงขั้นหนีภาษีมั้ย? คำตอบคือ “ไม่เป็นความจริง”

ส่วนเหตุเรื่องขายหุ้นไม่เสียภาษีของครอบครัวท่านนายกฯ นี้จะเป็นสารตั้งต้นไปสู่เหตุการณ์แบบปี 2549 ได้อีกหรือไม่? คำตอบคือ “ไม่รู้ๆๆ”

สุดท้ายนี้ ถึงผมจะอายุมากกว่าท่านนายกฯ แต่ผมก็มั่นใจว่าผมเสียภาษีให้รัฐน้อยกว่าท่านแบบถูกกฎหมายแน่ๆ เพราะผมใช้ iTAX

info_Scan-data-from-the-no-confidence-debate-Is-the-Prime Minister-really-evading-taxes.jpg

‘ภาษีการรับให้’ คืออะไร ปมร้อนฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ

ประเด็นร้อนในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีดังกล่าว นำไปสู่ความกังขาข้อสงสัย 'นายกฯ' หลีกเลี่ยงการเสียภาษีการรับให้ ทำนิติกรรมอำพรางการรับหุ้นจากบุคคลในครอบครัว โดยการออกตั๋ว PN เป็นสัญญาการกู้เงิน ทำให้ไม่ต้องเสียภาษีการรับให้มูลค่ารวมกว่า 200 ล้านบาทเศษ จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

ไปทำความรู้จักกับ ‘ภาษีการรับให้’ ว่ามีรายละเอียด และความสำคัญอย่างไร 

โดย ภาษีการรับให้ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ‘Gift Tax’ คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จัดเก็บจากทรัพย์สินที่ได้รับจากการให้โดยเสน่หา ก่อนผู้ให้เสียชีวิต ภาษีนี้มีขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีการรับมรดก และป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีมรดก

ภาษีการรับให้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2559 เป็นต้นมา ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ.2558 และ (ฉบับที่ 43) พ.ศ.2559

โดยผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับให้ แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ 1.กรณีการให้อสังหาริมทรัพย์ ผู้ที่โอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี เช่น บิดา มารดาที่โอนที่ดินให้บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย (ไม่รวมบุตรบุญธรรม)

2.กรณีการให้สังหาริมทรัพย์ บุคคลธรรมดาที่ได้รับเงินได้จากการอุปการะหรือจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส เฉพาะส่วนที่เกิน 20 ล้านบาทต่อปีภาษี

บุคคลธรรมดาที่ได้รับเงินได้จากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา หรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือโอกาสตามประเพณี จากบุคคลอื่นที่ไม่ใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส เฉพาะส่วนที่เกิน 10 ล้านบาทต่อปีภาษี

ทั้งนี้ ทรัพย์สินที่ต้องนำมาคำนวณภาษีการรับให้ ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ (ที่ดิน อาคาร) หลักทรัพย์ (หุ้น พันธบัตร) เงินฝาก ยานพาหนะ ทรัพย์สินทางการเงินอื่นๆ

การคิดอัตราภาษีการรับให้ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับให้ ต้องเสียภาษีในอัตราดังนี้

กรณีอสังหาริมทรัพย์ ผู้โอนเสียภาษี 5% ของมูลค่าทรัพย์สินส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท หรือนำไปรวมคำนวณกับเงินได้พึงประเมินอื่นก็ได้

กรณีสังหาริมทรัพย์ ผู้รับเสียภาษี 5% ของมูลค่าทรัพย์สินส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท (กรณีรับจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส) หรือ 10 ล้านบาท (กรณีรับจากบุคคลอื่น) หรือนำไปรวมคำนวณกับเงินได้พึงประเมินอื่นก็ได้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์