เวทีเสวนาหัวข้อ ‘สว.67 ทางข้างหน้า? จากสิ่งที่เห็น’ ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการแสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันถึงระบบการเลือก สว.
โดย ‘ยิ่งชีพ อัชฌานนท์’ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ได้จับสังเกตเรื่องกลุ่มสาขาอาชีพของผู้สมัคร สว.ในงานเสวนา ‘สว.67 ทางข้างหน้า? จากสิ่งที่เห็น’ โดยพิจารณาจากหลายกลุ่มสาขาอาชีพ พร้อมกล่าวถึงผู้สมัคร สว.ที่ระบุอาชีพ อสม.ว่า อสม.เป็นตำแหน่งที่แต่งตั้งภายใต้กฎหมายของรัฐ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ใช่ประชาสังคม มีค่าตอบแทนโดยรัฐจ่าย อสม.ลงกลุ่มสาธารณสุขได้ไหม เป็นเรื่องต้องเถียงกัน แต่ลงกลุ่ม 17 ไม่ได้แน่ๆ กลุ่ม 17 คือประชาสังคม แต่เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ทำงานที่ได้รับมอบหมายจากรัฐ และรับเงินค่าตอบแทนจากรัฐ แม้มันจะน้อยก็ตาม ดังนั้น การเป็น อสม. จะเป็นประชาสังคมไม่ได้ แต่เขาก็สมัครมาโหวตรอบสุดท้ายไปแล้ว

“กลุ่ม 18 สื่อสารมวลชนและผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม มีท่านเป็น สว. ประชาสัมพันธ์เสียงตามสายหมู่บ้าน ท่านได้ให้สัมภาษณ์แล้ว ท่านเป็นคนน่ารัก ผมคิดว่า คนที่จบ ม.6 และทำงานในหมู่บ้าน เป็นประชาสัมพันธ์ก็ควรจะเป็น สว.ได้ ไม่ได้แปลว่า เรียนน้อย เป็น สว.ไม่ได้ เป็น สว.ได้ ทำอาชีพอะไรมาก็เป็น สว.ได้ แต่ต้องสมัครให้ถูกกลุ่ม ท่านเป็นประชาสัมพันธ์เสียงตามสายหมู่บ้าน มันเป็นสื่อสารมวลชนไม่ได้ ส่วนคนที่เป็นพิธีกรงานประเพณี คือ ไม่ใช่ใครที่อยู่หน้าไมค์เป็นสื่อสารมวลชนหมด อย่างเราเป็นวิทยากรบ่อย ก็ไม่ใช่สื่อสารมวลชน ดังนั้น กกต.ตรวจสอบวันนี้ ก็ช้าไปมากแล้ว เพราะท่านเหล่านี้โหวตไปเยอะแล้ว ถึงท่านถูกสั่งว่า ขาดคุณสมบัติและมีโทษจำคุก ท่านก็โหวตไปเรียบร้อยแล้ว แต่ถ้า กกต.ไม่ตรวจสอบคนเหล่านี้ และไม่สามารถชี้แจงว่า คนเหล่านี้ ลงสมัครกลุ่ม 17-18 ได้อย่างไร ผมคิดว่า กกต.มีความผิดละเว้นการปฏิบัติหน้าที่”
ยิ่งชีพ กล่าว

‘ยิ่งชีพ’ กล่าวอีกว่า กกต.มีหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครทุกคน ควรตรวจสอบตั้งแต่โหวตระดับอำเภอตอนนี้หลายท่านเข้ามาโหวตระดับประเทศไปแล้ว เสียงเอาคืนไม่ได้แล้ว แต่ว่า ท่านก็ควรตรวจสอบและดำเนินการเอาผิดย้อนหลังอยู่ดี เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์ว่า มีกระบวนการเอาคนไม่มีคุณสมบัติมาสมัครหรือไม่ แล้วถ้ามีคนมีเชิญชวนชักชวนพาเขามาสมัคร ความผิดอยู่ที่เขานะครับ เขาเป็นคนต้องรับโทษทางอาญา เราไม่อยากให้ใครติดคุกจากกระบวนการแบบนี้

จากนั้น ‘เทวฤทธิ์ มณีฉาย’ ว่าที่ สว.กลุ่ม 18 สื่อสารมวลชน ได้ร่วมพูดคุย โดยจับข้อพิรุธการเลือก สว.ระดับประเทศในรอบไขว้ว่า ไม่เปิดให้แนะนำตัว คือเราก็ทำการบ้านมาบ้าน แต่ยังไม่ได้ตกลงปลงใจ 100% ว่าคนไหนที่เราอยากจะเลือก ก็ไปหาเอาหน้างาน แต่ปราฎว่า ไม่ปล่อยเส้นกั้นให้เราไปคุยหรือแนะนำตัวกับผู้สมัคร คือมันแปลก ไม่ใช่แปลกเพราะเหตุการณ์เดียว แต่บางครั้งในระดับอำเภอ จังหวัดก็เปิด แต่ระดับประเทศนั้น ไม่เปิด นอกจากนี้ ระดับประเทศ เข้าใจว่า ต้องใช้เวลาระดับหนึ่งในการศึกษาคน เอกสาร สว.3 ที่แจกให้ ไม่ได้รับจากกลุ่มอื่น เราต้องไปค้นในเว็บ กกต.เอง
นอกจากนี้ ในช่วงเช้า ที่ตนเองอยากไปแจกเอกสารแนะนำตัว ก็เห็นได้ชัดว่า มีรถตู้อำนวยความสะดวก ซึ่งก็เดาว่า อาจเป็นรถตู้ของโรงแรมหรือรถตู้ของ กกต. แต่มันเป็นรถตู้ลักษณะเดียวกัน มีชุด มาเป็นทีม ขณะเดียวกัน ผลของการเลือกที่เป็นข้อสังเกต ผู้สมัครลำดับที่ 1-6 หรือบางกลุ่มถึงลำดับที่ 7 เราสามารถที่จะหาค่าความสัมพันธ์อะไรบางอย่างของผู้สมัครเหล่านั้นได้ บางคนก็จะเรียกว่า บ้านน้ำเงิน ก็มีความชัดเจน ซึ่งระบบนี้ มันไม่ชอบธรรม มันมีปัญหาตั้งแต่แรก สำหรับผม วิธีการมันตัดสินผล แม้ผมจะลงเล่นกับกติกานี้ แต่ก็พยายามเสนอว่า เราไม่ควรอ้างความชอบธรรมของผลในการใช้อำนาจบางประการ

ก่อนที่ในช่วงสาย จะเข้าสู่การเสวนาของนักวิชาการ ในหัวข้อ ‘เลือก สว. จะได้ประกาศผลหรือไม่ ปัญหาการฮั้ว กกต.จะสอยอย่างไร’ โดยเริ่มที่ ‘พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต’ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า ระบบการเลือก สว.ที่ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อป้องกันการฮั้ว แต่ระบบนี้ ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ไม่สามารถป้องกันการฮั้วได้แต่อย่างใด ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด จนถึงระดับประเทศ มีการฮั้วเกิดขึ้นทุกระดับ และมีการจัดตั้งของเครือข่ายนักการเมือง ผู้มีอิทธิพล ที่มีทั้งอำนาจและเงินตราอย่างหนาแน่น ซึ่งการฮั้ว และเครือข่ายนี้ จากแพทเทิร์นที่ได้เห็น มีตั้งแต่เครือข่ายระดับจังหวัดเอง ที่เป็นปัจเจกหรือผู้ทรงอิทธิพลในจังหวัดนั้น และเครือข่ายข้ามจังหวัดในระดับประเทศที่อยู่ใต้ร่มเดียวกัน ซึ่งต่อไปนี้ เรียกชื่อเล่นว่า เครือข่ายสายน้ำเงิน
‘พิชาย’ กล่าวว่า สว.ที่ได้รับเลือกมาเป็นจำนวนมาก ก็ชัดเจนว่า ไม่ได้เป็นตัวแทนของกลุ่มอาชีพเหล่านั้นอย่างแท้จริง อย่างคนขับรถของอดีตนักการเมืองคนหนึ่ง มีอาชีพเป็นนักฟุตบอล อีกหลายคน ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า เป็นประชาสังคมบ้าง เป็นสื่อมวลชนบ้าง การที่เอาคนเหล่านี้มา แล้วไม่ได้ใส่ให้ตรงกับอาชีพของเขาอย่างแท้จริง ถือว่า เป็นการดูถูกประชาชนของผู้จัดตั้งในเครือข่ายอย่างร้ายแรง เขาคงเห็นว่า ประชาชนไทยที่เฝ้ามองอยู่ ไม่สนใจหรือไม่แยแส ซึ่งอันนี้เป็นข้อผิดพลาดของเขาเอง เรียกว่า ทำอย่างเหิมเกริมมาก ส่วนเหตุผลที่ทำอย่างเหิมเกริม ส่วนตัวคิดว่า เครือข่ายน้ำเงินอาจมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับกลุ่มบางกลุ่มที่อยู่ในสังคมไทย ซึ่งการที่เขามีความมั่นใจว่า เขามีความสัมพันธ์กับกลุ่มอำนาจบางกลุ่ม ทำให้แม้กระทั่งเขาทำอย่างเหิมเกริม กกต.ก็ไม่กล้าที่จะทำอะไร หรือตรวจสอบอะไรกับคนกลุ่มนี้ได้ และเราก็คงคาดหวังยากว่า ในอนาคต กกต.จะสอยบรรดา สว.ที่มาจากเครือข่ายนี้ออกจาก สว.ได้ เหมือนกับที่ สว.ไม่สามารถทำอะไรกับ สส.ที่อยู่ใต้สังกัดของเครือข่ายนี้ ทั้งที่มีข้อร้องเรียนมากที่สุด แสดงให้เห็นว่า อิทธิพลทางการเมืองของเครือข่ายนี้ ค่อนข้างจะมีมากในสังคมไทย

‘พิชาย’ กล่าวว่า เครือข่ายเหล่านี้ ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำในจังหวัดที่มี สส.ของพรรคภูมิใจไทยอยู่ นั่นคือข้อมูลที่ตั้งสมมติฐานในเชิงของวิเคราะห์ เครือข่ายนี้ ก็อาจจะมีความเป็นไปได้อย่างหนึ่ง ซึ่งอาจมีการจัดตั้งตั้งแต่เริ่มต้นและขยายตัวเป็นพันธมิตรชั่วคราวกับเครือข่ายอื่นๆในช่วงวันเลือก ก็เลยทำให้เครือข่ายนี้กวาดไปประมาณ 60% ของ สว.ทั้งหมด เรียกได้ว่า เป็นเครือข่ายที่กุมสภาพการดำเนินงานของ สว.
‘พิชาย’ กล่าวอีกว่า อันหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่า ‘เครือข่ายสายน้ำเงิน’ เป็นเครือข่ายที่มีศักยภาพสูงมากในการขับเคลื่อนระบบจัดตั้ง เนื่องจากเขาอาจมีทรัพยากรมากและมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับกลุ่มอำนาจบางกลุ่มในสังคมไทย ในอีกด้านหนึ่ง การเลือก สว.ครั้งนี้ เราเห็นถึงความพ่ายแพ้ย่อยยับของเครือข่ายเชียงใหม่ หรือ เครือข่ายสีแดง ซึ่งสะท้อนว่า ศักยภาพในการจัดตั้งเครือข่ายสีแดงในยุคปัจจุบัน อ่อนแอลงจากเดิมมาก และเป็นการบ่งชี้ว่า บารมีทางการเมือง ของผู้ที่ทุกคนทราบว่าอยู่เบื้องหลังนั้น ตกต่ำลงเป็นอย่างมากเช่นเดียวกัน การพ่ายแพ้ของ ‘สมชาย วงศ์สวัสดิ์’ เป็นตัวบ่งชี้อย่างชัดเจน เพราะฉะนั้น การที่เครือข่ายสีแดง ซึ่งก่อนหน้านี้ประเมินว่า น่าจะเป็นเครือข่ายหลักและกุมเสียงข้างมากในวุฒิสภาได้ แต่ผลปรากฎ มันไม่ใช่แล้ว มันก็มีนัยยะว่า กลุ่มอำนาจในสังคมไทย ที่เล่นอยู่เบื้องหลังอาจไม่ไว้วางใจเครือข่ายสีแดง และไม่ประสงค์ให้เครือข่ายสีแดงยึดกุมทั้งสภาล่างและสภาบน ก็เลยหนุนเสริมให้เครือข่ายสายน้ำเงินดำเนินการอย่างเข้มข้น เพื่อยึดกุมสภาบนให้ได้ และจะเป็นสภาที่คอยรักษาผลประโยชน์และสถานะของกลุ่มอำนาจเดิมเอาไว้ ท่ามกลางความท้าทายของพลังใหม่ๆ ในสังคมที่เกิดขึ้นขณะนี้
‘พิชาย’ กล่าวว่า สำหรับเครือข่ายสายน้ำเงิน ถ้าเราพิจารณาในเชิงอุดมการณ์ ก็เป็นอนุรักษ์นิยมในเชิงอุปถัมภ์อย่างชัดเจน เมื่อเขามีเสียงข้างมากในสภาอย่างน้อย 100 เสียงขึ้นไป หมายความว่า วุฒิสภาชุดนี้ ถูกครอบงำด้วยอนุรักษ์นิยมเชิงอุปถัมภ์ แต่อนุรักษ์นิยมเชิงอุปถัมภ์ มีความเข้มข้นน้อยกว่าอนุรักษ์นิยมเชิงจารีตของ สว.ชุดปัจจุบันที่กำลังจะหมดอายุ และกลุ่มคนที่มีลักษณะอนุรักษ์นิยมเชิงอุปถัมภ์ อาจมีความสามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมได้มากกว่ากลุ่มอนุรักษ์นิยมเชิงจารีต จึงอาจเป็นความหวังเล็กๆว่า คนเหล่านี้อาจเปลี่ยนจุดยืน และอาจเป็นพันธมิตรกับกลุ่มเสรีนิยมประชาธิปไตยที่มีอยู่น้อยนิดมากในสภาบนขณะนี้

ด้าน ‘ปริญญา เทวานฤมิตรกุล’ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คำถามของผมประการที่หนึ่ง ถ้าผลออกมาเป็นแบบนี้ ผู้เล่นก็จะประมาณนี้ ส่วนตัวคิดว่า เลือกตั้งโดยตรงเลยไม่ดีกว่าเหรอ อันนี้ก็เป็นข้อหนึ่งที่ผมคิดว่า ภารกิจของ สว.200 ท่านจะได้มาคุยกันว่า คราวนี้เปลี่ยนเถอะระบบแบบนี้ ระบบแบบนี้ ที่ทำนายไว้ มันออกมาตามนั้นทุกอย่าง ระบบที่ซับซ้อน คนที่จะเข้าสู่ปลายทางได้ จะได้เปรียบที่สุดด้วยการมีปัจจัย 2 ประการ คือ 1.ต้องพวกเยอะ การจัดตั้งพวกให้ได้มาก แปลว่า มีทุนทรัพย์กับเครือข่ายในพื้นที่ ยิ่งมากยิ่งได้เปรียบ ก่อนหน้านี้ คาดการณ์ว่า เครือข่ายบ้านใหญ่ของพรรคอันดับสอง ผู้เล่นโดดเด่นอยู่ที่เชียงใหม่จะมา แต่ปรากฎว่า ทางฝั่งบุรีรัมย์ก็ขึ้นมาเยอะกว่า และจะมีผลทางการเมือง 2.ต้องโชคดี มากับดวง คือตอนจับสลากไขว้ ไม่รู้จะไปเจอใคร พออันดับท้ายๆ คะแนนเท่ากัน ก็จับสลากอีก หากถามว่า ระบบการเลือกผู้แทนปวงชนที่มี พวกกับดวง มันคือระบบที่เราโอเคหรือ? ไม่โอเค ก็ต้องเปลี่ยน ทั้งนี้ ก็เห็นได้ชัดว่า ระหว่างเครือข่ายบ้านใหญ่ 2 เครือข่ายหลัก ใครเก่งกว่า ใครทำได้ดีกว่า ก็เห็นได้ในคราวนี้
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ไม่ได้แปลว่า การเลือกเป็นโมฆะ มันเป็นปัญหาที่คนๆ ไป คือ ระบบการเลือก สว.ไม่ดี หรือ พ.ร.ป.ในการเลือก สว.ก็ไม่ดี การทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ก็ดีไม่พอ ไม่ได้แปลว่าการเลือกเป็นโมฆะ โดยภาพรวมก็เป็นไปตามกฎหมายแล้ว แต่มีคนที่ละเมิดกฎหมายตรงไหน ก็แก้เป็นคนๆ ไป ภาพรวมต้องเดินหน้าต่อ
‘ปริญญา’ ย้ำว่า ถ้าตราบใดที่ไม่มีการให้ผลประโยชน์ ไม่ผิด เพราะระบบออกแบบมาให้ต้องทำแบบนี้ ต้องจัดตั้ง ต้องมีพวก ต้องสร้างเครือข่าย หรือถ้าคำติดลบคือ ฮั้วกัน แต่ตราบใดที่ไม่มีการให้ผลประโยชน์ถือว่า ทำได้ ในทางกลับกัน ถ้ามีการผลประโยชน์เมื่อไหร่ ผิดกฎหมายทันที ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา มีโทษจำคุกและโทษตัดสิทธิ์เลือกตั้งด้วย แม้จะมีหลักฐานบ่งชี้ว่า มีการฮั้วกันเกิดขึ้น แต่ถ้าเกิดไม่มีหลักฐานเรื่องการให้ประโยชน์ เขายังไม่ผิด แต่ไม่ได้แปลว่า ไม่มีหลักฐานแล้ว กกต.ไม่ทำอะไร ถ้ามีสิ่งที่ทำให้เห็นว่า น่าจะมีการให้ประโยชน์กัน กกต.ก็ต้องไปหาหลักฐานมา แต่ถ้าเป็นพรรคการเมือง หรือผู้มีตำแหน่งใดๆในระดับชาติและระดับท้องถิ่น แม้ไม่ให้ประโยชน์ใดๆ แต่ถ้าช่วยเมื่อไหร่ ก็เป็นความผิด นี่คือสิ่งที่ กกต.ต้องทำใน 5 วันนี้ ดังนั้น ถ้าปรากฎหลักฐานอะไรก็แล้วแต่ กกต.ต้องทำให้เร็วที่สุด

ขณะที่ ‘ปุรวิชญ์ วัฒนสุข’ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่า กกต.ควรประกาศผลการเลือก สว.ไปก่อน เผื่อให้ สว.ชุดเดิม 250 คนได้ไปพักผ่อน ให้คนใหม่ๆ ได้เข้าไปทำงาน ทั้งนี้ ตั้งแต่เราเห็นกระบวนการ จนเห็นโฉมหน้า สว.200 คน ผมจำได้ เราทำแคมเปญกับเครือข่ายต่างๆ เราตั้งคำถามมาตลอดว่า ระบบเลือกกันเอง 20 กลุ่มป้องกันการฮั้วการบล็อกได้หรือ? ผลปรากฎว่า มันป้องกันไม่ได้ ทุกอย่างมันชัดเจน เรื่องกระบวนการรับสมัคร มีช่องโหว่ที่ใหญ่มากๆ
‘ปุรวิชญ์’ กล่าวว่า เรื่องบล็อกโหวต ขอตั้งชื่อเล่นๆ ว่า Coordinated Block Vote การเลือก สว.ครั้งนี้ ไม่ใช่เครือข่าย มันคือ โครงข่าย คือเอาหลายๆ เครือข่ายมาอยู่ด้วยกัน ในปริมาณที่มั่นใจว่า เอามาอย่างนี้ หลุดเข้าไปได้แน่ เป็นโครงข่ายที่ประสานกันอย่างหลวมๆ เพื่อรับประกันได้ว่า เข้าแน่ ไม่ต้องมาเถียงกันแล้วว่า บล็อกหรือไม่บล็อก มันเห็นอยู่แล้ววว่า ช่วงของคะแนน 1-6 มันชัดมาก มันไม่ได้มีแค่กลุ่มเดียว แต่หลากหลายกลุ่ม

“บล็อกโหวตยังเป็นแค่น้ำจิ้ม ผมทำนายล่วงหน้า คิดว่า สภาพการณ์การเมืองของสว.200 คน มันจะคล้ายๆกับ สว.รัฐธรรมนูญ 40 มันชัดว่า ตอนแรกเข้ามาแบบงงๆ สักพักเริ่มจับกลุ่ม กลุ่มชัดมากว่า จะเป็นบล็อกไหน แล้วจะชัดเจนมากตอนเลือกองค์กรอิสระ แต่ความต่างคือในวันนั้นค่ายสีแดงมีสัดส่วนเยอะ แต่วันนี้ไม่ใช่ เป็นค่ายสีน้ำเงิน แต่สภาพการณ์ ผมเดาได้เลย จะมีบล็อกที่ชัดเจนแบบนี้ และจะมี สว.ที่หน้าที่เป็นฝ่ายค้านในสภาฯ”
ปุรวิชญ์ กล่าว
‘ปุรวิชญ์’ กล่าวว่า สนามนี้ ยังไม่จบแค่วันนี้ องค์กรอิสระหลายองค์กร จะครบวาระในช่วง 2-3 ปีนี้ สมรภูมิแรก 2567 คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ในกันยายนนี้ ครบวาระ 6 คน จาก 7 คน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะมี 2 ท่านครบวาระในเดือนพฤศจิกายน และ เดือนธันวาคม กรรมการ ป.ป.ช.จะครบวาระ 3 คน เอาแค่ปลายปีนี้ก่อนเลย และยังมีอีก 1 ตำแหน่งที่ว่างไว้อยู่ ซึ่งตำแหน่งนี้ จริงๆแล้ว เขาเสนอชื่อเข้าไปถึงชั้นวุฒิสภา และในชั้นวุฒิสภาชุดปัจจุบันไม่ได้ให้ความเห็นชอบ และตำแหน่ง ป.ป.ช.ยังว่างอีก 1 ตำแหน่ง ท่านก็เห็นว่า ตำแหน่ง ป.ป.ช.ให้คุณให้โทษพอสมควร ท่านไปดูแบบแผนการลงมติ ท่านจะจับได้ว่า บล็อกไหนเป็นบล็อกไหน เข้าสภาฯ เมื่อไหร่ อาจจะมีสัดส่วนขยายเพิ่มเติม เพราะนี่เป็นเรื่องปกติ ตอนปี 2540 ก็เป็นแบบนี้ ตอนแรกยังเป็นบล็อกเล็กๆ พอปีที่ 3-4 เริ่มขยายเป็นบล็อกใหญ่ พอขยายเกินกึ่งหนึ่ง เรียบร้อย ไม่ต้องห่วง การเลือกองค์กรอิสระ มีใบสั่ง ในโผ เดี๋ยวช่วงเลือกองค์กรอิสระ จะมีเรื่องแบบนี้มาเต็มเลย
‘ปุรวิชญ์’ กล่าวอีกว่า ปี 2567 ว่าหนักแล้ว ปี 2568 เข้มข้นไม่เบา กกต. 5 ท่านจะพ้นวาระ 3 ท่านพ้นวาระเดือนสิงหาคม อีก 2 ท่านพ้นวาระเดือนธันวาคม กกต.มี 7 ท่าน และ 5 ท่านก็เกินกึ่งหนึ่ง ซึ่ง สว.ชุดใหม่ก็จะไปเลือกในปี 2568 นอกจากนี้ ยังมีผู้ตรวจการแผ่นดิน 1 คนที่จะพ้นวาระในเดือนพฤศจิกายน ทั้งนี้ สว.ชุดใหม่มีวาระ 5 ปี ก็คือ จะอยู่ถึงปี 2572 แต่ช่วงระหว่างทาง การแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนปี 2569 ไม่มี แต่ปี 2570 มีกรรมการ ป.ป.ช.อีก 1 ท่านครบวาระในเดือนกรกฎาคม และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 ท่านพ้นวาระเดือนสิงหาคม และถ้ารัฐบาลอยู่ครบวาระ ก็จะมีเลือกตั้งครั้งใหม่ จากนั้น ในปี 2571 มี กสม. 6 ท่านพ้นวาระ เดือนพฤษภาคม และมีผู้ตรวจการแผ่นดิน 2 ท่านพ้นวาระเดือนพฤศจิกายน
ดังนั้น ปลายปีนี้ ต้องจับตาเลือก คตง. ศาลรัฐธรรมนูญ และ ป.ป.ช. เอาแค่ว่า สว.ชุดที่จะพ้นวาระ ก็เกิดกรณีมาแล้ว ที่เสนอชื่อผ่านการคัดกรองคุณสมบัติแล้ว และ สว.ไม่ให้ความเห็นชอบ แล้วบรรยากาศแบบนี้ ชุดใหม่ก็จะมี และจะเป็นช่วงที่ฝุ่นตลบมาก เราปฏิเสธไม่ได้ว่า สว.เป็นด่านคัดองค์กรอิสระ ซึ่งให้คุณให้โทษ และกำหนดภูมิทัศน์การเมืองไทยอย่างสำคัญมากในช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา