เรียกว่าไม่สิ้นฤทธิ์ สว. ก่อนจะครบวาระ 5 ปี พ.ค.2567 ที่จะไม่มี สว. มาโหวตเลือกนายกฯ และต้องทำการสรรหา สว. ใหม่ตาม รธน. 2560 แต่ สว. ยุค คสช. ขอส่งท้ายด้วยการขอ ‘เปิดอภิปรายทั่วไป’ แบบไม่ลงมติ ตาม รธน. มาตรา 153 ในการซักฟอก ‘รัฐบาลเศรษฐา’ ส่งท้าย แม้ว่ารัฐบาลจะทำงานมาได้เพียง 4 เดือนเท่านั้น
โดย ‘เสรี สุวรรณภานนท์’ สมาชิก สว. ในฐานะประธาน กมธ.การพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ได้เป็นแกนนำ 98 สว. ในการยื่นรายชื่อขอเปิดอภิปรายกับ ‘พรเพชร วิชิตชลชัย’ ประธานวุฒิสภา เรียบร้อยแล้ว โดยมื 7 ประเด็นหลักในการอภิปราย ที่จะทำการแบ่ง สว. แต่ละคน ว่าใครจะอภิปรายเรื่องใดบ้าง
แม้ว่าจะไม่มีการลงมติ ทำให้ ‘รัฐมนตรี’ หรือ นายกฯ ต้องพ้นจากเก้าอี้ แต่ก็เป็นการ ‘สร้างมลทิน’ ส่งท้าย และอาจมีการทำไป ‘ขยายผล’ ต่อในทางการเมืองได้ เฉกเช่นในอดีต

7 ประเด็น สารพัดปัญหา ตั้งแต่ ‘เศรษฐกิจ’ ถึง ‘ทักษิณ’
1.ปัญหาด้านเศรษฐกิจของชาติและปัญหาปากท้องประชาชน เช่น การดำเนินนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต จะดำเนินการได้จริงหรือไม่
2.ปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรม และการบังคับใช้กฎหมาย ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ช่วยพวกพ้อง หาประโยชน์ส่วนตน สร้างมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยวทำให้การคุ้มครองสิทธิของประชาชาไม่เท่าเทียม
3.ปัญหาด้านพลังงาน
4.ปัญหาด้านการศึกษา สังคม
5.ปัญหาด้านการต่างประเทศ การท่องเที่ยว
6.ปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีความจำเป็นในการดำเนินการอย่างไร ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร จะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนหรือไม่
7.ปัญหาการดำเนินการปฏิรูปประเทศและการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ
สำหรับวันอภิปราย สว. ขอเอาไว้เบื้องต้น 2 วัน ในเดือน ก.พ.นี้ โดยต่อจากนี้สำนักงานเลขานุการวุฒิสภาและผู้เสนอญัตติฯ จะร่วมประสานไปยัง ครม. อีกครั้งหนึ่ง เพื่อกำหนดวันอภิปรายต่อไป

98 สว. จากทุกสายอำนาจ ลงชื่อซักฟอก ‘เศรษฐา’
สายทหาร ผสมหลายสาย -ไร้สัญญาณ '2 ป.ประยุทธ์-ประวิตร' ไม่มาเป็นแผง
พล.อ.อู๊ด เบื้องบน พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม พล.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร พล.อ.พิศณุ พุทธวงศ์ พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร พล.อ.ศุภรัตน์ พัฒนาวิสุทธิ์ พล.อ.วีรัน ฉันทศาสตร์โกศล พล.อ.สราวุธ ชลออยู่ พล.อ.ประสาท สุขเกษตร พล.อ.วราห์ บุญญะสิทธิ์ พล.อ.อ.สุจินต์ แช่มช้อย พล.อ.พิษณุ พุทธวงศ์ เป็นต้น
สว.จากพลเรือน สว. สายเสื้อเหลือง สว. สายอิสระ
เสรี สุวรรณภานนท์ , จเด็จ อินสว่าง , เฉลิมชัย เฟื่อนคอน , ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม , ถวิล เปลี่ยนศรี , สมชาย แสวงการ , วัลลภ ตังคณานุรักษ์ , กิตติศักดิ์ รัตนวารหะ คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์
สว.สายนักธุรกิจ เช่น เจน นำชัยศิริ , ณรงค์ สหเมธาพัฒน์
สว.สายนักวิชาการ เช่น นพ.อําพล จินดาวัฒนะ , บุญส่ง ไข่เกษ , พิสดาร เวชยานนท์
สว.สายข้าราชการพลเรือน เช่น ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล , ภาณุ อุทัยรัตน์ , อนุสิษฐ์ คุณากร
ไร้ชื่อ ปลัดกระทรวงกลาโหม – ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ที่เป็น สว. โดยตำแหน่งตาม รธน. 60
ย้อนวีรกรรม สว. ช่วงโหวต ‘เศรษฐา’ ชิงนายกฯ
สว.โหวต ไม่เห็นชอบ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ เป็นนายกฯ 16 คน ได้แก่ กษิดิศ อาชวคุณ , จเด็จ อินสว่าง , ถวิล เปลี่ยนศรี , พล.อ.นาวิน ดำริกาญจน์ , นิสดารก์ เวชยานนท์ , ร.อ.ประยุทธ เสาวคนธ์ , ประพันธ์ คูณมี , พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป , พิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ , พีระศักดิ์ พอจิต , วีระศักดิ์ ฟูตระกูล , พล.อ.สนั่น มะเริงสิทธิ์ , เสรี สุวรรณภานนท์ , พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ , สมชาย แสวงการ , พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม
ซึ่งรายชื่อเกือบทั้งหมด ได้ลงชื่อขอเปิดญัตติอภิปราย ‘รัฐบาลเศรษฐา’

ย้อนอดีต 16 ปี สว. กับ 2 รธน. เปิดซักฟอกกี่รัฐบาล
ครั้งแรกปี 2552 สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นำโดย ‘สมชาย แสวงการ’ ผ่าน รธน. 2550 มาตรา 161 ให้รัฐบาลชี้แจงการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง การล้มประชุมอาเซียนซัมมิท ที่พัทยา
ครั้งที่ 2 มี.ค.2553 ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เช่นเดิม นำโดย ‘เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ’ กับกลุ่ม 40 สว. ให้รัฐบาลชี้แจงเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองกลุ่ม นปช. ในพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมกับประเด็นขบวนการล้มสถาบันฯ
ครั้งที่ 3 เมื่อ 23 พ.ย. และ 28 พ.ย. 2555 ห่างกันเพียง 5 วัน 2 ญัตติ ในยุค ‘รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ ได้แก่ กลุ่ม 40 สว. เสนอญัตติพุ่งเป้าตรวจสอบ ‘โครงการรับจำนำข้าว’ งบประมาณ 4.08 แสนล้านบาท และ ญัตติ ‘วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์’ ประเด็นการบริหารราชการแผ่นดินที่ส่อว่าจะเกิดความเสียหายแก่บ้านเมือง
แต่ในญัตติเรื่อง ‘จำนำข้าว’ เรียกว่าเป็น ‘น้ำผึ้งหยดแรก’ ที่นำมาสู่มหากาพย์จำนำข้าว ที่นำมาสู่การใช้กลไกสภาฯ ในซีก สว. ในขณะนั้น ยื่น ป.ป.ช. ตรวจสอบ
ครั้งที่ 4 ต.ค. 2556 สว. นำโดย พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี ได้ยื่นอภิปราย ‘รัฐบาลยิ่งลักษณ์’ ที่ยังคงพุ่งเป้าไปที่ปัญหาด้านการเกษตร ที่หนีไม่พ้น ‘โครงการรับจำนำข้าว’ ที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจผ่านโครงการประชานิยม ที่สร้างหนี้สาธารณะ

ดังนั้นการที่ สว. ยื่นอภิปราย ‘รัฐบาลเศรษฐา’ ส่งท้าย จึงเป็นครั้งที่ 5 ที่ สว. ยื่นอภิปราย ในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นครั้งแรกของ รธน.60 ด้วย เรียกว่า สว. ที่นำยื่นอภิปราย ส่วนใหญ่เป็น ‘ตัวละครเดิม’ ตั้งแต่ในอดีต ที่สำคัญยังคงพุ่งเป้าหนีไม่พ้น ‘โครงการประชานิยม’ และเรื่อง ‘การเมือง’ ที่เกี่ยวโยงกับ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ที่เป็น ‘ผู้เล่นนอกสนาม’ ที่ยัง ‘ทรงอิทธิพล’ ถึงปัจจุบัน
แต่โจทย์ที่เปลี่ยนไปคือ ‘ทักษิณ’ กลับมาอยู่ในไทยแล้ว !