ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศประชุมวุฒิสภา ซึ่งวันนี้มีวาระสำคัญอยู่ที่การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ... หรือ ‘สมรสเท่าเทียม’ ในวาระแรก ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 136 กำหนดให้วุฒิสภาต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วัน นับตั้งแต่ที่รับจากสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา
โดยก่อนการพิจารณา ตัวแทนสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ได้รายงานของคณะกรรมการที่ศึกษาไว้ล่วงหน้าจากกรรมาธิการคณะต่างๆ เช่น กรรมาธิการการกฎหมาย, กรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน อาทิ ปัญญา งานเลิศ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะประธานกรรมการศึกษาเนื้อหา ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ซึ่งได้ศึกษาไว้ล่วงหน้า แถลงรายละเอียดว่า ในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรมการปกครอง รวมถึงกำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายละเอียด ซึ่งกำหนดกรอบระยะไว้ ทั้งนี้ ในรายละเอียดจำเป็นต้องแก้ไข พ.ร.บ.ครอบครัว ที่ต้องใช้เวลา และเสนอต่อสภาฯ หากขยายเวลาได้ จะมีความรอบคอบมากขึ้น
การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว อาจกระทบต่อผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์และอิสลาม ที่ยึดปฏิบัติตามหลักคำสอนทางศาสนา ดังนั้น ควรกำหนดหลักเกณฑ์และระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ต้องรับหน้าที่จดทะเบียนสมรสบุคคลเพศเดียวกัน ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามหลักศาสนาและชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากร่างกฎหมายดังกล่าว กำหนดให้เจ้าหน้าที่ที่ไม่รับจดทะเบียนเพศเดียวกัน ถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
— ปัญญา งานเลิศ
ขณะที่ ปิยฉัฏฐ์ วันเฉลิม สว. ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และการตำรวจ วุฒิสภา กล่าวว่า ในรายละเอียด พบว่ามีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายอื่นๆ อีก 47 ฉบับ ดังนั้น หากร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม กำหนดให้แก้ไขโดยอัตโนมัติ อาจทำให้ไม่ครบคลุม ไม่สอดคล้องกับเจตนารมของกฎหมายอื่นๆ
เช่น ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาตรา 102 กำหนดให้ผู้มีตำแหน่งต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน รวมถึงของคู่สมรส ที่ตามกฎหมาย ป.ป.ช. หมายถึงผู้อยู่ด้วยกันฉันสามีภรรยา สถานะครอบครัว ขณะเดียวกัน การกำหนดให้หน่วยงานของรัฐทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และมีระยะเวลาใช้บังคับกฎหมายไว้ 180 วัน กรรมาธิการมองว่า หากทอดเวลาอีกระยะ จะทำการพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้ละเอียดรอบคอบ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในการอภิปรายของ สว.นั้น เห็นด้วยในหลักการ และมีข้อเสนอให้กรรมาธิการพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติม เช่น การเยียวยาผู้เสียสิทธิที่จะมี การคุ้มครองบุคคลที่ยึดถือตามหลักศาสนา รวมถึงคำนึงถึงค่านิยม สังคมยอมรับได้ เพื่อให้ร่างกฎหมายมีความยั่งยืน นอกจากนั้นมีข้อเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหา เช่น ปรับอายุของบุคคลที่จะสมรส จาก 18 ปี เป็น 20 ปี เป็นต้น
นอกจากนี้ ทาง สว.ยังแสดงความกังวลต่อการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้องภายใน 180 วัน ในร่างมาตรา 68 ที่กำหนดให้หน่วยงานทบทวนร่างกฎหมายให้สอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ภายใน 180 วัน ซึ่งกังวลว่า อาจเป็นระเบิดเวลาและทำให้มีปัญหา เพราะไม่ใช่เกี่ยวกับชายและหญิงเท่านั้น แต่หมายถึงการสมรส นอกจากนั้น ในสิทธิ ‘รับบุตรบุญธรรม’ ที่ต้องคำนึงถึงวุฒิภาวะ ไม่ใช่บุคคลเพศเดียวกันที่สมรสกันในอายุ 18 ปี แล้วมีสิทธิรับบุตรบุญธรรมได้ รวมไปถึงการ ‘อุ้มบุญ’ ที่ควรพิจารณาให้รอบคอบ
ส่วนภายหลังจากที่ สว.อภิปรายแล้วเสร็จ ได้ลงมติในวาระแรก ซึ่งผลปรากฏว่า
- เห็นด้วย 147 เสียง
- ไม่เห็นด้วย 4 เสียง
- งดออกเสียง 7 เสียง
จากนั้น ได้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณา ซึ่งประกอบด้วยสัดส่วนของ สว., ครม. และภาคประชาชน
ทั้งนี้ มีรายงานว่า การพิจารณาวาระสอง ของวุฒิสภานั้น จะเกิดขึ้นในการประชุมสมัยหน้า ในเดือน ก.ค.นี้