เสวนาการเลือก สว. และประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กับอนาคตประชาธิปไตยไทย หนึ่งในกิจกรรมรำลึก 32 ปี พฤษภาประชาธรรม 2535 จัดขึ้นที่คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์ท่าพระจันทร์
การเสวนาเริ่มต้นที่ ปริญญา เทวนานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รธน.60 เป็นผลพวงจากรัฐประหาร 2557 ซึ่งประธานร่าง รธน. ก็เป็นคนเดียวกับยุค รสช. ยึดอำนาจเมื่อปี 2535 แต่สิ่งที่ รสช. ทำไม่สำเร็จคือการทำให้ สว. ที่แต่งตั้งเลือกนายกฯ ได้ เพราะประชาชนในยุคนั้นไม่ยอม เพราะมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ cแต่มาสำเร็จในยุค รธน.60 โดยเอาเรื่องอำนาจเลือกนายกฯ ของ สว. ออกจากตัวร่าง รธน. แล้วไปใส่ในคำถามเพิ่มเติมแทน
ผ่านมา 10 ปี เรายังคงอยู่กับผลพวงรัฐประหาร 2557 แต่ที่แตกต่างจากยุค 2534 คือ ในยุคนั้นไม่มีองค์กรอิสระ ไม่มีศาล รธน. แต่มีเพราะ รธน.40 ที่ได้แบบอย่างมากจากสหรัฐฯ มาถึงปี 2557 กลายเป็นว่าองค์กรอิสระ ไม่ตรวจสอบเครือข่าย คสช. ถือเป็นบทเรียนที่กำลังเผชิญหน้าอยู่ แต่ในยุคหลังรัฐประหาร 2534 ใช้เวลา 6 ปี ในการล้างผลพวงรัฐประหาร 2534 ผ่านการตั้ง สสร. ในการร่าง รธน.40 แต่ปัจจุบันนี้ผ่านมา 10 ปี จาก คสช. ยึดอำนาจ แต่เรายังไปไม่ถึงไหน และสิ่งที่จะใช้ตั้งหลักดูแล้วมีปัญหาอย่างมาก เพราะความเห็นต่างกันระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน ในเรื่องการตั้งคำถามประชามติ
“รธน.เป็นกฎหมายสูงสุดที่เราทุกคนจะเสมอกันใต้ รธน. อยู่ร่วมกันท่ามกลางความเห็นต่าง เราเลือกพรรคการเมืองต่างกันได้ แต่จบด้วยหีบบัตรเลือกตั้ง รัฐบาลของเรามาจากหีบบัตรเลือกตั้ง แต่รัฐบาลของเรายังไม่มาจากหีบบัตรเลือกตั้ง เพราะมี สว. ที่เขาสืบทอดอำนาจ เราต้องนำประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตย ในแบบที่จบด้วยความเห็นประชาชนและการเลือกตั้งและการลงประชามติ จบลงด้วยกติกาตาม รธน. แต่ รธน.60 เต็มไปด้วยกลไกสืบทอดอำนาจ” ปริญญา กล่าว
ทั้งนี้ ปริญญา กล่าวว่า เราต้องทำให้ รธน. เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ก็จะทำให้การปฏิวัติรัฐประหารหมดไป ไม่ต้องมาเรียกร้องประชาธิปไตยจนนองเลือด และการปกครองของประชาชนก็จะสำเร็จอยู่ร่วมกันได้
ส่วนเรื่อง สว. ที่กำลังมีการเลือก เกี่ยวข้องกับ รธน. โดยตรง เป็นบทเรียนจากผู้ร่างรัฐประหาร 2534 หากให้การแก้ รธน. ปล่อยให้ สส. และ สว. เสียงข้างมาก 2 สภาฯ จะไปแก้ รธน. ที่เขาร่างไว้ ดังนั้น ‘มีชัย ฤชุพันธุ์’ จึงใส่กลไกเอาไว้ เพราะสมัยปี 2534 ไปถึงขั้นต้องร่างใหม่ ดังนั้นจึงใส่เรื่องใช้เสียง สว. 1 ใน 3 ถึงจะแก้ไขได้ ซึ่งพบว่า 7 ปีที่ผ่านมา สว. ที่มาจาก คสช. ไม่ให้แก้ไข รธน. มีเพียงเรื่องระบบเลือกตั้งที่ได้แก้ไขเท่านั้น จากสถิติ 16 ครั้ง ในการเสนอญัติแก้ไข รธน. ดังนั้นแก้เลือก สว. จะเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ รธน. คืนประชาธิปไตยกลับมา
ปริญญา กล่าวอีกว่า แต่ สว. ที่กำลังเลือกพบว่าระบบมีปัญหาในการเลือกกันเอง ผ่าน 20 กลุ่มอาชีพ เลือก 3 ระกับ อำเภอ จังหวัด ประเทศ จึงมีความซับซ้อนที่สุดในโลก รวมแล้วเลือก 6 ครั้ง อีกทั้ง กกต. กลับออกระเบียบที่ไม่เอื้อให้คนทั่วไปที่ไม่มีพรรคพวกจะมีโอกาสเป็น สว. ได้ ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ในเวลานี้คือการแก้ระเบียบ กกต. ที่ทำได้ตอนนี้

สว.ไทย มีปัญหา การนิยามตัวเอง
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์คณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร สถาบันนัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า สว. ชุดที่คณะผู้ร่าง รธน. ของ ‘มีชัย’ ออกมาแบบเพื่อแก้ปัญหา ที่เขามองว่าเป็นปัญหา จาก รธน.40 ก็พบว่ามีปัญหาจากกาเลือกตั้ง สว. กลายเป็นสภาผัวเมีย รธน.50 จึงแก้ไขย้อนกลับเลือกตั้งและสรรหาอย่างละครึ่ง แต่ รธน.60 ถอยหลังเข้าคลอง เพราะมาจากคณะรัฐประหารแต่งตั้ง ซึ่ง สว. กลับมีอำนาจโหวจเอาใครเป็นนายกฯ แต่ไม่มีอำนาจอำนาจเอาใครออกจากการเป็นนายกฯ ซึ่งกลไกแนบเนียน โดยอาศัยที่ประชาชนเบื่อหน่ายการเมือง และตั้งคำถามพ่วงไม่ตรงไปตรงมาและใช้เล่ห์เหลี่ยม เพื่อป้องกันการรณรงค์ไม่รับร่าง รธน. ที่อาจเกิดขึ้น
‘พิชัย’ มองว่าปัญที่เกิดขึ้นในขณะนี้ของ สว.ไทย คือการนิยามตัวเอง ที่เป็นผลจากระบบการเลือกกันเองจากกลุ่มอาชีพเช่นนี้ จะเลือกว่า สว. เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยได้หรือไม่ ซึ่งการเลือกเช่นนี้ทาง กกต. ตีความตาม รธน. มาตรา 107 ทำให้ผู้สมัครทำได้แค่การแนะนำตัวในเอกสารเท่านั้น และอ้างตามคำพิพากษาศาลฎีกาตัดสินหากโน้มน้าวให้ลงคะแนนเสียงจะผิดกฎหมาย จึงยึดทั้ง 2 สิ่ง มาออกแบบเอกสารแนะนำตัวและระเบียบ กตต. ซึ่งปัญหาสูงสุดคือการเชื่อมโยงกับประชาชนจะทำอย่างไร
ระบบ ‘เลือก สว.’ อัปลักษณ์ ไม่สอดรับ ‘ประชาธิปไตย’
โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา กล่าวว่า ทุกคนอยากให้การเลือก สว. มีความยึดโยงประชาชน ต้องการให้ สว. เป็นสถาบันการเมืองที่ตรวจสอบและแก้ปัญหาธรรมาภิบาลของรัฐบาล ผ่านการตั้งองค์กรอิสระ ซึ่งหลักการวางไว้ดี แต่ รธน.40 กลายเป็นว่าการเลือกตั้ง สว. กลับใช้ฐานการเมืองในแต่ละพื้นที่ในการเลือก จึงเกิดคำว่า ‘สภาผัวเมีย’ ขึ้นมา เกิดปัญหาเรื่องการตั้งองค์กรอิสระขึ้นมา ในการตรวจสอบรัฐบาลในขณะนั้น
ตั้งแต่ รธน.40-50-60 เรามี สว. ที่แตกต่างกัน แต่เราก็ยังไม่ตกผลึกว่า ‘มี สว. ไว้ทำไม’ ที่ผ่านมาพบว่า สว. กลับถูกใช้ไปในผลประโยชน์ในเรื่องการเมือง เพื่อสกัดหรือเสริมกลุ่มการเมืองที่อยากไว้ครองอำนาจ แต่กลับพบว่ามี สว. ในอดีตที่มาเป็น สนช. และมาเป็น สว. ยาว 10 กว่าปี นับตั้งแต่ รธน.50 ที่มีการฝังฐานอำนาจไว้ 10 กว่าปี ผ่านกลไกที่วางเอาไว้ ที่มีความสัมพันธ์มาถึงหลังรัฐประหาร 2557 เรื่อยมาถึง รธน.60 ดังนั้นการเลือก สว. ในปัจจุบันจึงมีความอัปลักษณ์มากที่สุด มีวาระที่ซ่อนเร้น และผิดหลักการค่อนข้างมาก
ถ้าเรายืนยันว่าเราปกครองระบอบประชาธิปไตย การได้ สว. ต้องสัมพันธ์กับหลักการประชาธิปไตย ซึ่งการได้มาซึ่ง สว. ขัดหลักการประชาธิปไตย ได้แก่ การมีส่วนร่วมของประชาชน เพราะ พ.ร.ป.การเลือก สว. สร้างความซับซ้อนมาก ดูเหมือนว่าฐานสาขาอาชีพจะเข้าไปเป็น สว. ได้ แต่กลับเป็นว่าประชาชนมองว่ายากจะเข้าถึง ถ้าเทียบกับการเลือกตั้ง สส. และท้องถิ่น
การเรียนรู้ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ต้องไม่มีข้อกำจัดมาก หากมีข้อจำกัดมาก ก็จะมีการใช้กลไกให้ได้มาซึ่ง 200 สว. ตามที่ต้องการได้ , โอกาสและความเสมอภาคที่เท่ากัน พบว่าการได้มาซึ่ง สว. มีปัญหา เช่น ค่าสมัคร 2,500 บาท มีเหตุรองรับอย่างไร ที่สร้างข้อกำจัดที่ประชาชนจะเข้าไปมีส่วนแบ่งในอำนาจ เป็นต้น
เรื่องศักดิ์สรีความเป็นมนุษย์ เพราะถ้าจะไปสมัคร สว. ต้องมีผู้รับรอง การได้มาของ สว. ชุดนี้จึงมีปัญหากับหลักการประชาธิปไตย หากจะใช้กลุ่มอาชีพ ก็ต้องมีสัดส่วนที่แท้จริง เพราะแต่ละกลุ่มอาชีพก็มีประชาชนที่อยู่ในอาชีพนั้นๆ ไม่เท่ากัน
ในสถานการณ์การเมืองแบบนี้ เป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของผู้ครองอำนาจ ก็คือ สว. เพราะถ้าหลุดจาก สว. ก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง นั่นก็คือการแก้ รธน. ที่ รธน.60 มีหลักเรื่องความเห็นพ้องกันในการแก้ไข ที่ต้องใช้เสียง สว. 1 ใน 3 หรือ 70 คน ดังนั้นเขาต้องบล็อกให้ได้ 70 คน รวมทั้งการตั้งองค์กรอิสระ จึงเป็นปราการสุดท้ายที่เขาต้องรักษาไว้ให้ได้
โอฬาร ถิ่นบางเตียว คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

นี่คือสภาวะการเชื่อมจิตครั้งสุดท้ายของคณะรัฐประหาร 2557 นี่คือมรดกที่พยายามจะเชื่อมจิตไว้ ที่จะส่งต่อ ที่สร้างความซับซ้อน สร้างเงื่อนไข สร้างปัญหาทางความคิด การได้มาซึ่ง 200 สว. ทำให้ประชาชนเกิดสภาวะถอดใจหรือไม่
วันวิชิต บุญโปร่ง คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต
การ 'เชื่อมจิต' ครั้งสุดท้าย
วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวอีกว่า ตนเห็นด้วยกับการรณรงค์ให้คนออกมาลงสมัคร สว. มากๆ ยิ่งประชาชนมีส่วนร่วม ปรากฏการณ์ที่จะเกิดการกวาดหัว การล็อบบี้จะต้องใช้ทุนหนามากขึ้น การจะได้ดักคอดักทางก็จะยากขึ้น ในอดีตมีการตำแหน่ง รธน.40 ที่มีการเลือกตั้ง สว. ปี 2543 ว่าเป็นสภาฯผัวเมีย แต่สิ่งที่อยากให้มองคือการนำคนที่อยู่ในพื้นที่รัฐประหารมาอยู่ในพื้นที่ประชาธิปไตยมากขึ้น เช่น นายพลถอดเครื่องแบบมาใส่สูทลงสมัรคเลือกตั้ง เป็นต้น
วันวิชิต กล่าวอีกว่า ฝ่ายอนุรักษ์นิยมปรับเปลี่ยนตัวเอง กลมกลืนมากขึ้น ใช้อำนาจผ่าน รธน. น่าสนใจมากขึ้น เช่น การใช้อำนาจของ ผบ.ทบ. ที่เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร ตั้งแต่รัฐประหาร 2534-2549-2557 ซับซ้อนมากขึ้น เท่ากับว่ากองทัพไม่อยากไปยึดโยงข้องเกี่ยวการเมือง จะพบว่า ผบ.ทบ. ที่ทำรัฐประหารเหลืออายุราชการน้อยลงเรื่อยๆ เช่น พล.อ.สุจินดา คราประยูร ก่อนเกษียณฯ 2 ปี พล.อ.สนธิ บุณญรัตกลิน และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เหลือหลักเดือนเท่านั้น ทำให้ผู้นำรัฐประหารมาอยู่ใน ครม. ซึ่งต่างจากคณะรัฐประหารชุดอื่นๆ สะท้อนภาพการใช้อำนาจตามลำพังกองทัพไม่สามารถทำได้ เพราะบริบทสังคมเคลื่อนไปข้างหน้า เป็นต้น
ในส่วนของ สว. ที่ตอนแรกกติกามาดี แต่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเรียนรู้ธงประชาธิปไตยมากขึ้น ในการทำหน้าที่ผ่านกรรมาธิการต่างๆ ของ สว. แต่ในอีกด้านก็พบปัญหาเรื่องการตั้งองค์กรอิสระ หรือการใช้อำนาจอำพรางผ่านกลไกตาม รธน. เช่น การให้ สว. เลือกนายกฯได้ โดยอ้างว่าผ่านการทำประชามติ ที่ผ่านการดีไซด์อำพรางให้เกิดขึ้น จึงเป็นภาวะเชื่อมจิตครั้งสุดท้าย ในการรักษาอำนาจเอาไว้
ระบบเลือก สว. ของไทย ไม่เหมือนที่ใดในโลก
ปุรวิชญ์ วัฒนสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การเลือกกลุ่มอาชีพเป็นครั้งแรกในโลก เพราะไม่มีใครทำกัน ผมได้ไปดู สว. ในโลกเลือกกันอย่างไร การเลือกกลุ่มอาชีพที่ใกล้เคียงสุดคือประเทศไอร์แลนด์ มี สว. มาจาก 3 ช่องทาง ได้แก่ นายกฯ แต่งตั้ง 11 คน มาจากมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ 2 แห่ง รวม 6 คน และการเลือกตามกลุ่มอาชีพโควต้า 43 ตำแหน่ง คล้ายกับกลุ่มอาชีพที่เสวนาวันนี้ เช่น วัฒนธรรม การศึกษา แรงงาน พาณิชย์ กลุ่มการปกครอง บริการสาธารณะ เป็นต้น ซึ่งของประเทศไอร์แลนด์จะมีอนุกรรมการ 2 ช่องทาง จะเข้าไป ผ่านองค์กรวิชาชีพที่จดทะเบียนตามกฎหมาย เป็นนิติบุลคลชัดเจน
ทั้งนี้กระบวนการเลือกจากกลุ่มอาชีพให้สมาชิกรัฐสภาที่อยู่ในตำแหน่งเสนอชื่อเข้ามาได้ สส. 160 คน และ สว. ที่กำลังจะพ้นวาระ 60 คน สมาชิกสภาท้องถิ่น 949 คน รวม 1,169 คน เป็นคนเลือก 43 สว. ชุดใหม่
สำหรับในการเลือก สว. ครั้งล่าสุดของไอร์แลน เมื่อปี 2020 มีผู้สมัคร 136 คน เลือกให้เหลือ 43 คน อย่างไรก็ตามในปี 2013 เคยมีการทำประชามติยกเลิก สว. แต่เสียงเกินกึ่งหนึ่ง เห็นชอบว่าควรมี สว. ต่อไป ดังนั้นกระบวนการเลือก สว. ของไทยตาม รธน.60 จึงไม่เหมือนใครในโลก