สว.พลเรือน กระหึ่ม! ‘ทหาร-ตร.’ ยังรอสัญญาณ?

10 ม.ค. 2567 - 07:56

  • แม้ว่า จะหมดวาระในอีกไม่กี่เดือนหลังจากนี้ แต่ สว.ยิ่งฟิตปั๋ง! ลุยล่ารายชื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 153 ถึงการทำงานของรัฐบาล งานนี้ ที่กระหึ่มสุด! เห็นจะเป็น ‘สว.สายพลเรือน’ ที่ลงชื่อกันใกล้ครบจำนวนแล้ว

senator-civilian-ready-but-soldier-police-not-yet-SPACEBAR-Hero.jpg

จะเรียกว่า เป็นการฝากผลงานทิ้งทวนก่อนหมดวาระได้หรือไม่ สำหรับสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ผู้ทรงเกียรติ เมื่อคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา รวบรวมรายชื่อ สว. เพื่อยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 โดยมี ‘สว.เสรี สุวรรณภานนท์’ ประธานกรรมาธิการฯ และ ‘สว.จเด็จ อินสว่าง’ เป็นหัวหอกล่ารายชื่อ ที่ตอนนี้ผ่านไปเพียง 2 วัน ก็ได้มากถึง 65 รายชื่อแล้ว จากที่จะต้องรวบรวมรายชื่อให้ครบ 1 ใน 3 หรือ 84 คน ซึ่ง ‘สว.เสรี’ ยืนยันว่า รายชื่อที่รวบรวมได้ มีหลากหลายกลุ่ม รวมถึง ’ทหาร’ เชื่อว่า ภายในสัปดาห์นี้ น่าจะได้ครบ

‘เฉลิมชัย เฟื่องคอน’ คือ หนึ่งใน สว.ที่เริ่มต้นเสนอให้มีการอภิปรายรัฐบาลโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 ย้ำว่า นี่ไม่ใช่การโจมตีรัฐบาล แต่เป็นการเปิดโอกาสให้รัฐบาลได้ชี้แจงการทำงาน และเป็นผลดีกับประชาชน ซึ่งการอภิปรายครั้งนี้ สว.จะได้ทราบและเข้าใจว่ารัฐบาลทำงานอย่างไร เพราะมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลนำไปปรับแก้ไข ใน 7 ประเด็นตามญัตติ ได้แก่

  1. ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องประชาชน อาทิ การแก้ปัญหาความยากจน
  2. ปัญหากระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย อาทิ การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามคำพิพากษาที่สะท้อนกระบวนการยุติธรรม 2 มาตรฐาน 
  3. ปัญหาด้านพลังงาน 
  4. ปัญหาการศึกษาและสังคม 
  5. ปัญหาต่างประเทศและท่องเที่ยว 
  6. ปัญหาแก้รัฐธรรมนูญ 
  7. ปัญหาปฏิรูปประเทศ

‘สว.เฉลิมชัย’ ย้ำว่า สว.ไม่ใช่สภาผู้แทนที่จะอภิปรายหักล้าง และการอภิปรายครั้งนี้ไม่มีการลงมติ จึงไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล แต่เป็นเรื่องที่อยากให้รัฐบาลชี้แจงให้เข้าใจ โดยเฉพาะนโยบายที่หาเสียงไว้ รัฐบาลขับเคลื่อนอย่างไร เช่น โครงการเงินดิจิทัล จะดำเนินการอย่างไร ประชาชนจะได้ทราบ รวมถึงเรื่องกระบวนการยุติธรรมที่นายกรัฐมนตรีจะได้มาพูดคุย ซึ่งเป็นเรื่องดีทั้งสิ้น

นอกจากนี้ ยังมี ‘สว.กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ’ สว.ตัวตึง ที่ประกาศลั่นอย่างมั่นใจ ว่า ตัวเองลงชื่อเป็นลำดับที่ 3 และเชื่อว่าจะได้จำนวนครบ 84 คนแน่นอนภายในสัปดาห์หน้า เพราะกรรมาธิการบางคณะได้สอบถามเพื่อขอเพิ่มประเด็นในการอภิปรายเสียด้วยซ้ำ และการลงชื่อครั้งนี้เป็นไปด้วยความสมัครใจทั้งสิ้น 

อีกหนึ่ง สว.ที่ลงชื่อในครั้งนี้ อย่าง ‘สว.คำนูณ สิทธิสมาน’ ก็ยอมรับว่า มี สว.จากหลากหลายกลุ่มที่ร่วมลงชื่อสนับสนุน เช่นเดียวกับ ‘สว.ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม’ และ ‘สว.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์’ ที่ลงชื่อเรียบร้อยแล้ว หลังจากออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องโครงการเงินดิจิทัลของรัฐบาล

ขณะที่ ‘สว.วันชัย สอนศิริ’ ที่แม้จะเป็นตัวจี๊ดแต่ก็ยังรอดูท่าที เพราะจนถึงเวลานี้ก็ยังไม่ลงชื่อสนับสนุนการอภิปรายแต่อย่างใด

ด้าน ‘สว.ทหาร’ อย่าง ‘พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช’ ที่ยืนยันว่า ยังไม่ได้รับการติดต่อหรือเชิญชวนให้ร่วมลงชื่ออภิปรายรัฐบาล ต่างจาก ‘พล.ต.โอสถ ภาวิไล’ ที่ยอมรับว่า มีการติดต่อเข้ามาให้ร่วมลงชื่อแล้ว แต่เจ้าตัวยังไม่ตัดสินใจ เพราะอยู่ระหว่างการพิจารณา

‘สว.สายทหาร-ตำรวจ’ ยังรอสัญญาณ?

มีรายงานว่า การล่ารายชื่อในครั้งนี้ หาก ‘ทหาร-ตำรวจ’ ไม่ขยับ กว่าจะครบ 84 คนอาจจะเป็นเรื่องยาก เพราะกลุ่มใหญ่ที่สุดในสภาเกือบ 200 คน คือกลุ่มของ ‘ทหาร ตำรวจ ข้าราชการประจำ’ ซึ่งหากกลุ่มนี้ยังนิ่งเฉยแบบในเวลานี้ การจะเก็บรายชื่อจนครบคงเป็นไปได้ยาก เพราะกลุ่มคนที่ลงชื่อตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นพลเรือนอิสระ

หากมองย้อนกลับไป เมื่อครั้งโหวต ‘เศรษฐา ทวีสิน’ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เป็นการเห็นพ้องต้องกันของกลุ่มอำนาจเก่า ดังนั้น กลุ่ม สว.สายทหาร ตำรวจ ข้าราชการ ส่วนใหญ่ก็คงไม่อยากจะปะทะกับ ‘กลุ่มผู้มีอำนาจ’ จึงเท่ากับว่า ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณใดๆ ส่งมาถึงพวกเขาใช่หรือไม่? เพราะเมื่อมองกลับไปถึงต้นน้ำของ สว.จะพบว่า มีสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมาตั้งแต่ยุค คสช. ยึดโยงมาถึง ‘สายบ้านป่า’ และ ‘สาย บิ๊ก ต.’ ดังนั้น สัญญาณที่พวกเขารออยู่ คือ สัญญาณจากต้นน้ำเหล่านี้หรือไม่? คงต้องลุ้น!

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์