‘คำนูณ’ ยืนยันไม่เห็นด้วย แก้ ‘พ.ร.บ.ประชามติ' ม.13

21 พฤศจิกายน 2566 - 07:51

Senator-disagree-Amendments-to-the-Referendum-Law-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ‘คำนูณ’ ย้ำอีกเสียงไม่เห็นด้วย แก้ ‘พ.ร.บ.ประชามติ’ มาตรา 13

  • ห่วงติดเดดล็อก แก้ ‘รัฐธรรมนูญ’ ไม่ผ่าน

 21 พฤศจิกายน 2566 ‘คำนูณ สิทธิสมาน’ สมาชิกวุฒิสภา(สว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก แสดงความเห็นต่อกรณีการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โดยเขียนหัวข้อว่า ‘เสียงข้างมาก 2 ระดับ’ เดดล็อกประชามติแก้รธน.จริงหรือ ? โดยมีเนื้อหาประกอบว่า การทำประชามติจะเกิดขึ้นได้ ก็เฉพาะในกรณีที่มีความสำคัญมาก เฉพาะตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เพราะเป็นการสอบถามประชาชนโดยตรง ให้ประชาชนร่วมในกระบวนการตัดสินใจโดยตรง ไม่ใช่เพียงแค่ให้ผู้แทนราษฏรตัดสินใจเท่านั้น อาจจะกล่าวได้ว่าเสมือนเป็นการใช้ประชาธิปไตยทางตรงมาเสริมระบบประชาธิปไตยโดยผู้แทน 

โดยหลักการแล้วจึงจำเป็นต้องได้เสียงข้างมากจริง ๆ ของประชาขน การกำหนดให้ใช้เงื่อนไข ‘เสียงข้างมาก 2 ระดับ (Double Majority)’ หรือจะเรียกแบบบ้านๆ ว่า ‘2 เกินกึ่งหนึ่ง’ หรือ ‘เกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้น’ ไว้ในมาตรา 13 พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 มีขึ้นเพื่อตอบโจทย์นี้ 

ผู้มาใช้สิทธิต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ ผลการออกเสียงต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ เป็นความพยายามที่จะให้การตัดสินใจในเรื่องสำคัญมากใดๆ เป็นไปตามเสียงข้างมากจริงๆ ของประชาชน 

ในกระบวนการภายในของรัฐสภาเอง เมื่อตัองลงมติสำคัญในบางเรื่อง ทั้งให้ความเห็นขอบร่างกฎหมาย และให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งสำคัญๆ รัฐธรรมนูญและกฎหมายก็กำหนดให้ใช้เงื่อนไข ‘เกินกึ่งหนึ่ง’ อยู่เป็นปกติ 

ในขั้นกระบวนการพิจารณาในรัฐสภาเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เนื้อหาในมาตรา 13 นี้แม้จะมีการอภิปรายกันอยู่บ้าง แต่หาใช่ประเด็นความขัดแย้งแต่ประการใด การลงประชามติตามกฎเกณฑ์ใหม่นี้ ยังไม่เคยเกิดขึ้นเลยสักครั้ง จึงยังไม่มีตัวแบบใดๆ ให้พิจารณาทั้งสิ้น 

วันนี้จะบอกว่ามีปัญหา ต้องแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้เหตุผลว่าข้อกฎหมายที่ให้ใช้เงื่อนไข 2 เกินกึ่งหนึ่ง หรือเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้นจะไม่มีทางทำให้การประชามติไม่ว่าเรื่องใดๆ ไม่มีทางสำเร็จได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดให้ทำประชามติสอบถามประชาชนก่อนเริ่มกระบวนการ ในเบื้องต้นยังมิอาจเห็นพ้องด้วยได้ ! 

อันที่จริง รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 166 รวมทั้งพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 2564 มีพัฒนาการและความก้าวหน้ามาก สำคัญที่สุดคือให้การประชามติมีผลผูกพันรัฐบาลที่จะต้องปฏิบัติตาม ไม่ใช่แค่ให้เป็นเสมือนการให้คำปรึกษาเหมือนที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ เท่านั้น ต่อมาคือให้ที่มาของการริเริ่มทำประชามติกว้างขวางขึ้น รัฐสภาเสนอได้ ประชาชนเข้าชื่อกันเสนอได้  

ร่างกฎหมายประชามติ คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอต่อรัฐสภาในฐานะร่างกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 ซึ่งกำหนดให้พิจารณาในที่ประขุมร่วมกันของรัฐสภา สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ยกร่างชั้นต้น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้ตรวจร่าง 

เสนอต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 ผ่านวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 ด้วยมติ 561 : 2 งดออกเสียง 50 ตั้งกรรมาธิการพิจารณา 49 คน ประกอบด้วยสส.ทุกพรรคและสว.ตามสัดส่วนที่นั่งในรัฐสภา พิจารณาวาระที่ 2 ในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภารวม 4 วันในเดือนมีนาคม เมษายน และมิถุนายน 2564 ผ่านวาระที่ 3 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 ด้วยเสียงท่วมท้น 611 : 4 งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน 1 ไม่มีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 

สุดท้าย ก็ต้องรอดูว่ารัฐบาลจะเสนอร่างกฎหมายแก้ไขกฎหมายประชามติ 2564 มาตรา 13 นี้หรือไม่ ถ้าเสนอ จะแก้ไขอย่างไร ยกเลิกเงื่อนไข ‘เกินกึ่งหนึ่ง’ ทั้ง 2 ชั้น หรือยกเลิกชั้นใดชั้นหนึ่ง หรือตั้งเกณฑ์ขึ้นใหม่ด้วยในชั้นใดชั้นหนึ่งหรือทั้ง 2 ชั้นโดยให้เหตุผลว่าอย่างไร...เป็นอีกประเด็นทางการเมืองที่ต้องติดตาม

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์