สว.จี้ ‘รัฐบาล’ ออก พ.ร.ก.! หยุดอายุความ ‘คดีตากใบ’ ได้ทันที

22 ต.ค. 2567 - 09:34

  • ‘สว.อังคณา’ ติง ‘รัฐบาล’ ออก พ.ร.ก.หยุดอายุความ ‘คดีตากใบ’ ได้ทันที

  • ชี้เป็นเรื่องเร่งด่วน-ความหวังสุดท้ายผู้เสียหาย โอดทำอะไรไม่ได้ กระบวนการล่าช้า ความไว้ใจเริ่มหมดไป

  • กระตุกเตือนหากไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหา-จำเลยมาขึ้นศาลฯได้ทันเส้นตาย 25 ต.ค.นี้ คงเลี่ยงเกิดความรุนแรงยาก

Senator_urges_government_to_issue_Royal_Decree_Stop_the_statute_of_limitations_on_the_Tak_Bai_case_immediately_SPACEBAR_Hero_c1c4682ea9.jpg

รัฐสภา (22 ตุลาคม 2567) คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ที่มีอังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เป็นประธาน นัดประชุมเรื่องคดีตากใบ ซึ่งจะหมดอายุความอีก 3 วัน ในวันที่ 25 ต.ค.นี้ โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ตำรวจภูธรภาค 9 , กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า , สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และสำนักงานอัยการภาค 9 รวมถึงองค์กรสิทธิมนุษยชน เข้าร่วมสังเกตการณ์ 

สว.อังคณา ให้สัมภาษณ์ถึงแนวโน้มการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) หยุดอายุความในคคีตากใบ ที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (รมว.กลาโหม) ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลไปศึกษา พร้อมยอมรับอาจออกกฎหมายไม่ทันกับอายุความในคดีที่จะหมดลงในวันที่ 25 ต.ค.นี้ 

โดย สว.อังคณา กล่าวว่า ในกรณีเร่งด่วนรัฐบาลสามารถออก พ.ร.ก.ฯ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)วันนี้(22 ต.ค.)ได้เองเลย ขณะที่ในวันที่ 24 ต.ค.นี้ ยังมีการประชุมสาผู้แทนราษฎร ก็สามารถเสนอ พ.ร.ก.ฯ ได้ “ที่นายภูมิธรรม ออกมาระบุว่าไม่น่าจะทัน แต่ส่วนตัวคิดว่าทัน เนื่องจากเป็นกรณีเร่งด่วนสามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว”

เมื่อถามว่าที่ไม่ทันเพราะเหตุใด สว.อังคณา กล่าวว่า ไม่ทราบ แต่ที่นายภูมิธรรม ออกมาระบุว่าไม่น่าจะทัน ตนก็ยังไม่เข้าใจว่าเพราะเหตุใดถึงไม่ทัน หากเตรียมการก็สามารถดำเนินการได้ เพราะเป็นเรื่องของการหยุดอายุความไว้จนกว่าจะสามารถนำตัวผู้ต้องหา หรือจำเลยมาปรากฏตัวต่อหน้าศาลได้ 

“มันเหมือนเป็นความหวังสุดท้ายของผู้เสียหาย หากรัฐบาลหยุดชะลออายุความไว้ก่อน ยังเป็นความหวังว่าเขาจะสามารถได้รับความยุติธรรม แต่หากประตูตรงนี้ถูกปิด ก็ยังมองไม่ออกว่าถ้าหากผู้ต้องหา หรือจำเลยไม่มาศาลฯ ภายในอีก 2 วันกว่าๆ คดีก็จะหมดอายุความไปตามกฎหมาย”

เมื่อถามว่าผลจากคดีที่หมดอายุความไปแล้ว ทุกคนที่เกี่ยวข้องจะถือว่าลอยตัวพ้นผิดหรือไม่ สว.อังคณา กล่าวว่า ก็เป็นแบบนั้น เหมือนกับคดีการเสียชีวิตของประชาชน 31 รายในมัสยิดกรือเซะ แต่กรณีคดีตากใบเป็นการเสียชีวิตภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่รัฐ ถือเป็นความรับผิดชอบที่ไม่อาจปฏิเสธได้ 

เมื่อถามถึงทางออกสุดท้ายในเรื่องนี้ สว.อังคณา กล่าวว่า หากกลไกในประเทศไม่ทำงาน ประชาชนสามารถฟ้องศาลระหว่างประเทศได้ เพราะมีกลไกของสหภาพยุโรปหลายประเทศจะอนุญาตให้ผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนสามารถฟ้องร้องคดีได้ เมื่อศาลฯรับฟ้อง หรือมีคำพิพากษา บุคคลเหล่านั้นจะไม่สามารถเดินทางเข้าไปในประเทศนั้นๆ ได้ 

นอกจากนี้ยังสามารถถูกลงโทษภายใต้กฎหมายของประเทศนั้นๆ ได้ ก็เป็นอีกทางที่ต้องศึกษาเพิ่มเติม เพราะประเทศไทยยังไม่ค่อยมีประสบการณ์ในคดีเหล่านี้มากนัก ขณะเดียวกันการเสียชีวิตของบุคคลจำนวนมาก อาจเข้าข่ายอาชญากรรมร้ายแรงต่อมนุษยชาติ หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อีกด้วย ก็อาจนำเข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ ถ้าวันหนึ่งประเทศไทยให้สัตยาบรรณ

“แต่ขณะนี้ยอมรับว่าคงทำอะไรไม่ได้เพราะกระบวนการที่ล่าช้า ที่ผ่านมาทุกคนตั้งคำถามแล้วโยนความผิดให้ผู้เสียหาย แต่คดีอาญาแผ่นดิน ไม่ได้เป็นหน้าที่ของผู้เสียหายที่จะลุกขึ้นมาฟ้องร้องเอง แต่เป็นหน้าที่ของอัยการเป็นผู้ฟ้องร้องแทนประชาชน” สว.อังคณา กล่าว

เมื่อถามว่า 20 ปีที่ผ่านมามีการตั้งข้อสังเกตกระบวนการยุติธรรมไม่ได้รับความเป็นธรรมต่อประชาชนอย่างแท้จริง สว.อังคณา กล่าวว่า มันทำให้เกิดการเปรียบเทียบ เวลาประชาชนทำผิด ประชาชนต้องถูกลงโทษ มีการจับกุมผู้กระทำผิดได้ แต่เวลาเจ้าหน้าที่รัฐทำผิด แทบจะไม่เคยจับกุมผู้กระทำผิดได้เลย โดยเฉพาะกรณีที่เกิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เปราะบาง มีความอ่อนไหว และยังเกิดความรุนแรง แม้ประเทศไทยจะไม่ยอมรับว่าเหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นความขัดแย้งทางอาวุธ แต่ในทางสากลเข้าข่ายความขัดแย้งทางอาวุธ เพราะมีความยืดเยื้อ มีความขัดแย้งเกี่ยวกับชาติพันธุ์ ความเชื่อ ศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม เข้ามาเกี่ยวข้อง 

เมื่อถามว่าถึงเวลาต้องสังคายนากฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่ สว.อังคณา กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าจำเป็นต้องปฏิรูปกฎหมาย กรณีความผิดละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงจะต้องไม่มีอายุความ ขยายนิยามของผู้เสียหายให้มากขึ้นและสอดคล้องอนุสัญญาทรมาน และบังคับสูญหาย เช่น ผู้ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส เป็นต้น 

เมื่อถามว่าประเมินสถานการณ์อย่างไร หากคดีตากใบหมดอายุความวันที่ 25 ต.ค. แล้วยังไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหาและจำเลย มาขึ้นศาลฯได้ทั้งหมด สว.อังคณา กล่าวว่า กังวลจริงๆ เพราะเราอยู่กับเหตุการณ์นี้มาตลอดเกือบ 20 ปี รู้สึกเสียดายความไว้เนื้อเชื่อใจที่ริเริ่มขึ้นและมีมาระยะหนึ่งที่มันอาจจะหมดไป

“เมื่อคนรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมอาจมีคนกลุ่มหนึ่งใช้การต่อสู้ใช้ความรุนแรงในการที่จะให้ได้รับความเป็นธรรม ถือเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก ทุกฝ่ายตระหนักเรื่องนี้ หากไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาปรากฏตัวต่อหน้าศาลฯได้ หรือปล่อยโอกาสในการพิสูจน์ความจริงไป คงหลีกเลี่ยงยากในการเกิดความรุนแรงตามมา”

เมื่อถามว่า อยากฝากอะไรโดยเฉพาะ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ที่ดูเรื่องนี้โดยตรง รวมถึงพรรคประชาชาติ ที่ทำพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สว.อังคณา กล่าวว่า เราเห็นความพยายามของ รมว.ยุติธรรมมาโดยตลอด แต่หน่วยงานภายใต้กำกับกระทรวงอื่น หรือแม้แต่นายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้มีการสนับสนุนส่งเสริมในการพิสูจน์ความจริง เช่น ศาลออกหมายจับแล้วกลับปล่อยบุคคลในคดีทีเกี่ยวข้องหายไปถึง 7-8 คน มีข่าวว่าคนหนึ่งอยู่อังกฤษ อีกคนอยู่ญี่ปุ่น แล้วที่เหลือไปไหน ตรงนี้เป็นคำถามที่ท้าทายอย่างมาก แล้วเราจะคืนความยุติธรรมให้ประชาชนได้อย่างไร วันนี้ประเทศไทยกำลังสร้างความรู้สึกไม่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นมาอีก 

“รัฐบาลต้องหยุดสร้างวาทกรรมการโยนความผิดให้ผู้เสียหาย เราจะเห็นหน่วยงานรัฐบางหน่วย พยายามพูดว่ากรณีของตากใบเป็นการจัดการ เป็นขบวนการการกระทำของคนกลุ่มหนึ่ง เพื่อให้เกิดการชุมนุม แต่สิ่งที่ทุกฝ่ายที่พูดในวันนี้คือ ใครจะรับผิดชอบการเสียชีวิตของคน78คนในเหตุการณ์ตากใบ ไม่ว่าเขาจะมาจากไหน มีความเชื่ออย่างไร เขาต้องไม่เสียชีวิตภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ ตรงนี้คือประเด็นสำคัญ” สว.อังคณา กล่าว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์