ร้อนแรงขึ้นทุกขณะสำหรับกรณีวุฒิสภา (สว.) เตรียมยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาล โดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 โดยเรื่องนี้ เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ในฐานะแกนนำยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาลฯ เปิดเผยว่า ขณะนี้มี สว.ร่วมลงชื่อในญัตติแล้ว 91 คน
ทั้งนี้ การเปิดให้ลงชื่อจะยังคงเปิดให้ สว.ที่สนใจจนถึงวันนี้ จากนั้น จะพิจารณายื่นเรื่องให้ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในช่วงวันที่ 19 ม.ค. หรือ 22 ม.ค.นี้ เบื้องต้น คาดว่าจะมี สว.ร่วมลงชื่อเพิ่มอีก แต่จะไม่มีผู้ใดถอนรายชื่อ เพราะกว่าที่ สว.จะร่วมลงชื่อ ได้พิจารณาเนื้อหาของญัตติอย่างรอบคอบแล้ว
ส่วนกรณีที่นายวันชัย สอนศิริ สว. ระบุว่า อาจมีคนถอนชื่อออกจนยื่นญัตติไม่ได้นั้น เป็นแค่หลักการ แต่เชื่อว่าจะไม่มีใครถอนรายชื่อ
เสรี สุวรรณภานนท์
สำหรับการเตรียมพิจารณากรอบเวลานั้น กมธ.พัฒนาการเมืองฯ ได้หารือร่วมกันเมื่อวันที่ 15 ม.ค. เบื้องต้นอยู่ระหว่างการสอบถาม สว.ที่ร่วมลงชื่อว่า ต้องการอภิปรายในประเด็นใด ใน 7 หัวข้อตามญัตติ และจะใช้เวลาเท่าใด เพื่อดูรายละเอียดว่า ต้องใช้เวลาเท่าใด และใช้เป็นข้อเสนอต่อรัฐบาล ส่วนตัวมองว่า การอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติดังกล่าว ควรได้เวลา 2 วัน
ส่วนกรณีที่ฝ่ายการเมืองไม่อยากให้อภิปรายพาดพิงถึง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก่อนยื่นญัตติต้องทบทวนประเด็นดังกล่าวหรือไม่นั้น เสรี ยืนยันว่า ไม่มีการทบทวน เพราะก่อนที่ สว.จะลงชื่อสนับสนุนญัตติได้ส่งรายละเอียดให้พิจารณาแล้ว ดังนั้น ไม่สามารถทำตามใจตัวเองได้
เมื่อถามว่า ในการอภิปรายดังกล่าว เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ควรมาตอบด้วยตนเองหรือไม่ เสรี ระบุว่า แล้วแต่นายกรัฐมนตรี แต่หากจะให้ดี นายกรัฐมนตรีควรมาเอง เพื่อเป็นประโยชน์กับรัฐบาลเอง
‘ดิเรกฤทธิ์’ ไม่กังวลสมาชิกถอนชื่อออกก่อนยื่นซักฟอกรัฐบาล ชี้ใครถอนต้องตอบสังคมให้ได้ เชื่อเป็นผู้ใหญ่แล้วไม่ทำ โวมีแต่มาลงชื่อเพิ่ม
ขณะที่ ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้ความเห็นถึงการเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ว่า เตรียมเสนอเรื่องไปที่ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในวันที่ 22 ม.ค.นี้ ซึ่งเมื่อเสนอไปแล้ว ประธานวุฒิสภา จะต้องนำเรื่องส่งไปให้รัฐบาล ซึ่งขณะนี้ สามารถรวบรวมเสียงได้ 90 กว่าเสียงแล้ว จึงจำเป็นต้องมีการหารือกับรัฐบาล เช่น จะให้เวลาในช่วงไหนอย่างไร หรือให้เวลากี่วัน หลังจากนั้น เราจะนำเข้าสู่วิปวุฒิสภาเพื่อจัดสรรเวลากันอีกครั้ง
ในส่วนของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา เราเป็นเหมือนผู้ก่อการ มีความคิดเห็นและได้พิจารณาถึงอำนาจและหน้าที่ รวมถึงเวลาที่มีอยู่ว่า ควรจะเปิดอภิปรายหรือไม่ อย่างไร หากเปิดแล้วจะได้ประโยชน์กับใคร ซึ่งเมื่อเราได้ความคิดเห็นแล้วว่าจะเปิดอภิปราย ก็ได้ส่งเรื่องไปให้สมาชิกแต่ละท่านพิจารณา ซึ่งก็พบว่ามีคนเห็นด้วยเยอะ นอกจากนี้ จะมีการส่งเรื่องไปยัง กมธ.อื่นๆ ด้วยว่า ท่านมีรายละเอียดเพิ่มเติมในแต่ละหัวข้อที่เราเคยเสนอไปหรือไม่ อย่างไรบ้าง หรือจะเพิ่มประเด็นอะไรหรือไม่
อย่างไรก็ตาม จากที่ได้รับการประสานและพูดคุยเบื้องต้นนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องในรัฐบาลตอบรับมาอย่างดี ซึ่งหากท่านตอบรับ และมีความรับผิดชอบต่อสภาฯ ก็สามารถใช้เวทีนี้มาอธิบายให้ประชาชนเพื่อคลายข้อสงสัยได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์มาก ไม่ใช่ปล่อยให้คนที่ไม่เข้าใจไปกล่าวหารัฐบาลว่าทำเช่นนั้น เช่นนี้ไม่ถูก ทั้งนี้ เมื่อเราตั้งคำถามไปแล้ว รัฐบาลสามารถใช้เวลาตอบคำถามได้อย่างเต็มที่ จึงคิดว่าเวทีนี้เป็นเวทีที่สำคัญ
เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่กรณี สว.ที่ลงชื่อไปแล้ว ท้ายที่สุดจะมีการถอนชื่อทำให้ไม่สามารถเสนอญัตติดังกล่าวได้ ดิเรกฤทธิ์ ก็ระบุว่า ไม่กังวล เพราะเห็นว่าทุกคนเป็นผู้ใหญ่อยู่แล้ว รวมถึงก่อนลงชื่อ ก็มีการพิจารณาประเด็นต่างๆ ดีแล้ว
หากลงชื่อและมีการถอนภายหลัง เขาก็ต้องอธิบายกับสังคมให้ได้ และคิดว่าจะมีการลงชื่อเพิ่ม ไม่มีการถอน ทั้งนี้ เราพร้อมที่จะเปิดเผยรายชื่อผู้ที่ลงชื่อให้สังคมได้รับทราบ ส่วนรูปแบบการอภิปรายว่าจะเป็นในนาม กมธ.หรือให้เอกสิทธ์ สว.ทุกคนสามารถอภิปรายได้นั้น ต้องมีการดูรายละเอียดอีกครั้ง ขณะที่กรอบเวลาที่เหมาะสมในการอภิปรายนั้น เนื่องจากเรื่องนี้ เราเห็นว่าเป็นเรื่องด่วน เพราะบางเรื่องหากปล่อยให้ช้าไป แล้วหากรัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อาจมีการเดินเรื่องไปผิดทาง จึงคิดว่าเป็นช่วงเวลาที่เร่งรีบจะต้องมีการเปิดอภิปรายให้ทันเวลา ก่อนที่ความเสียหายจะเกิดขึ้น หรือก่อนที่รัฐบาลจะก้าวพลาด ผมมองว่า 1-2 วัน จะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่ก็อยู่ที่ความพร้อมของรัฐบาล
ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม

‘วันชัย’ ชี้ล็อบบี้ถอนชื่อซักฟอกรัฐบาลเป็นเรื่องปกติ อ้างความเป็นพรรคพวก-เพื่อนฝูง อาจทำให้เปลี่ยนแปลงได้
ทางด้าน วันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้ความเห็นถึงกรณีการเสนอญัตติอภิปรายทั่วไปรัฐบาลแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ว่า เท่าที่ตรวจสอบแล้ว รายชื่อได้ครบ 91 คน ซึ่งคณะดำเนินการก็พยายามขอรายชื่อสมาชิกเพิ่ม โดยต้องการให้มีผู้ลงชื่อเกินสักประมาณ 10-20 คน ให้ได้ 99-100 คน เป็นต้นไป
เผื่อขาดเผื่อเหลือ ซึ่งขณะนี้เพียงพอแล้วต่อการเสนอญัตติ ซึ่ง สว.ที่ลงชื่อไปแล้ว ถือเป็นสิทธิที่จะถอนรายชื่อออก หากเปลี่ยนใจ ก็เป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต เพราะฉะนั้น เรื่องแบบนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ คณะที่ดำเนินการจึงพยายามหาเสียงให้มาก เผื่อ สว.คนใดจะมาถอนชื่อสัก 5 คน หรือ 10 คน ก็ยังครบ 84 คน ที่ยังเสนอญัตติได้
วันชัย สอนศิริ
เมื่อถามถึงกระบวนการล็อบบี้ให้มีการถอนรายชื่อนั้น วันชัย ระบุว่า เท่าที่ดู ตนเองพยายามประเมินสถานการณ์ คนที่ลงชื่อไปแล้วและดูจากรายชื่อที่ปรากฏ คิดว่ามีสิทธิ์เหมือนกันที่อาจจะเปลี่ยนใจในภายหลังได้ ถ้าสถานการณ์ใดๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น เราก็ต้องยอมรับในฐานะที่เป็นสมาชิก
พรรคพวกใครมาขอร้องให้ช่วยเซ็นญัตติอื่นใด เราก็มักจะเซ็นให้ ไม่ค่อยขัดอกขัดใจ แต่ตอนหลังถ้ามีสถานการณ์ใดๆ เปลี่ยนแปลง อาจจะเกิดเหตุปัจจัยอื่นใด ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น เท่าที่ดูแล้ว อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในภายหลัง ก็อาจจะเป็นไปได้ หรืออาจจะเพิ่มขึ้นก็เป็นไปได้ มันอยู่ที่เหตุปัจจัยต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น และที่สำคัญที่สุดนั้น สมาชิกวุฒิสภาเราไม่ได้มีพรรคการเมือง แต่ละคนเป็นอิสระตัวเอง เราว่ากันตรงๆ แต่ถามว่าเป็นอิสระ 100% หรือไม่ บางคนก็เป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นพรรคพวก เป็นรุ่น เป็นเพื่อนเป็นฝูงกัน เพราะฉะนั้นกระแสเหล่านี้ ก็อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายหลังก็เป็นได้
วันชัย สอนศิริ
‘98 สว.’ ลงชื่อหนุน ‘ซักฟอกรัฐบาล ม.153’ เตรียมยื่นประธานวุฒิสภา 22 ม.ค. ‘เสรี’ มั่นใจไม่มีใครถอนชื่อ เผยมี ‘วุฒิฯ สายทหาร’ ร่วมด้วยหลายคน
ต่อมา เสรี สุวรรณภานนท์ สว. เปิดเผยว่า ได้ชื่อ สว.ที่ร่วมสนับสนุนมติดังกล่าวครบตามจำนวนแล้ว โดยมียอด สว.ร่วมลงชื่อทั้งสิ้น 98 คน และจะเปิดให้ สว.ร่วมลงชื่อได้ถึงเช้าวันที่ 22 ม.ค. พร้อมมั่นใจว่า จะไม่มีใครถอนชื่อ
แต่ก็เป็นสิทธิ์ของเขา เพราะถอนแล้วจะเสียคน ส่วนเสียงที่เกินมา 14 เสียง จาก 84 เสียงถือว่าอุ่นใจได้และมีเยอะอยู่ในระยะที่ปลอดภัย
เสรี สุวรรณภานนท์
ขณะเดียวกัน มี สว.สายทหารลงชื่อหลายคน อาทิ พล.อ.อู๊ด เบื้องบน, พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์, พล.อ.พิศณุ พุทธวงศ์, พล.อ.บุญธรรม โอริส เป็นต้น ส่วน สว.ที่จะร่วมอภิปราย จะมีหารือกันอีกครั้งว่าจะมีใครเป็นผู้อภิปรายบ้าง ในหัวข้อใด ทั้งนี้ จะได้ยื่นญัตติดังกล่าวให้กับประธานวุฒิสภา ในวันที่ 22 ม.ค. เวลา 09.30 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา แจ้งสื่อมวลชน ระบุว่า ขอเชิญสื่อมวลชนทำข่าว คณะสมาชิกวุฒิสภาที่เข้าชื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ นำโดย เสรี สุวรรณภานนท์ สว. จะยื่นเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ต่อ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในจันทร์ที่ 22 ม.ค. เวลา 09.30 น. ณ บริเวณหน้าห้องประชุมวุฒิสภา ชั้น 2 อาคารรัฐสภา