‘มูลนิธิสืบฯ’ มอง ‘ร่างกฎหมายกรมอุทยานฯ’ แก้ปัญหา ‘ชุมชนในป่า’ ใช้ไม่ได้จริง

25 ก.ย. 2567 - 09:39

  • 'มูลนิธิสืบฯ' ยื่น 'กมธ.ที่ดิน' แสดงความกังวลต่อ 'ร่างกฎหมายการจัดการที่ดินในป่าอนุรักษ์' แนะให้ 'กรมอุทยานฯ' ทบทวนใหม่

  • ชี้ต้องอยู่บนพื้นฐาน 'เป็นจริง - เป็นธรรม - เป็นไปได้' หวั่นแก้ ‘ปัญหาชุมชนในป่าอนุรักษ์’ ไม่ได้จริง

Seub_Nakhasathien_foundation_Questioning_the_Draft_Law_on_Communities_in_Forest_SPACEBAR_Hero_e47cae7a84.jpg

‘อรยุพา สังขะมาน’ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ ‘พูนศักดิ์ จันทร์จำปี’ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอให้มีการทบทวนร่างพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และร่างพระราชกฤษฎีกา โครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ตามมาตรา 121 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และข้อเสนอแนะ 

ระบุความว่า สืบเนื่องจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กำลังจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และร่างพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ตามมาตรา 121 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562  

โดย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ดำเนินการสำรวจการถือครองที่ดินของราษฎรตามแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ และได้จัดทำแผนที่ท้ายร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติทั้ง 224 ป่าอนุรักษ์ส่งให้กรมการปกครองตรวจสอบรับรองแนวเขตแล้วเสร็จครบทุกพื้นที่ เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ปัจจุบันกรมการปกครองตรวจสอบรับรองแนวเขตการปกครองแล้ว จำนวน 43 ป่าอนุรักษ์ และมีแนวเขตการปกครองและข้อมูลรายละเอียด ต้องแก้ไขให้ตรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย จำนวน 181 ป่าอนุรักษ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้แก้ไขส่งให้กรมการปกครองตรวจสอบรับรองอีกครั้ง จำนวน 56 ป่าอนุรักษ์ (ข้อมูล ณ วันที่ 14 ส.ค. 2567)  

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในฐานะองค์กรด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมีความกังวลต่อเนื้อหาในร่างพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดังกล่าว เนื่องจากโดยหลักการของกฎหมายควรอยู่บนพื้นฐานที่เป็นจริง เป็นธรรม และเป็นไปได้

แต่จากรายละเอียดเนื้อหาในปัจจุบันของร่างพระราชกฤษฎีกาทั้ง 2 ฉบับ หากดำเนินการแล้วเสร็จจะไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง ทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ และกลไกการมีส่วนร่วมที่กรมอุทยานฯทำมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาจะสูญเปล่า ด้วยเหตุผลดังนี้ 

  • ไม่เป็นจริง การไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดรูปแบบการบริหารจัดการชุมชนของตนเองที่มีวิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมที่หลากหลาย เช่น การกำหนดการอยู่อาศัยหรือทำกินภายใต้โครงการไม่เกินครอบครัวละ 20 ไร่ และการสิ้นสุดการอยู่อาศัยและทำกินเมื่อโครงการตามพระราชกฤษฎีกานี้สิ้นสุดลงคือ 20 ปี 
  • ไม่เป็นธรรม เนื่องจากประชาชนบางส่วนได้อยู่อาศัยหรือทำประโยชน์ในพื้นที่มาก่อนประกาศเป็นเขตป่าอนุรักษ์ แต่ถูกจำกัดสิทธิการอยู่อาศัยและทำกินด้วยกรอบกฎหมาย นอกจากนี้ประชาชนส่วนหนึ่งยังไม่ได้เป็นผู้ถือสัญชาติไทยเนื่องจากอยู่ในระหว่างการพิสูจน์สัญชาติจึงทำให้เสียสิทธิในการสำรวจการถือครองที่ดิน หรือผู้ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิสูจน์สิทธิในการอยู่อาศัยหรือทำกินในที่ดินตามกระบวนการต่างๆของกฎหมาย หากสุดท้ายศาลยกฟ้อง บุคคลผู้นั้นอาจสูญเสียสิทธิในพื้นที่ดังกล่าวไปโดยปริยาย  
  • เป็นไปไม่ได้ ในทางปฏิบัติเนื่องจากความล่าช้าในการออกกฎหมายลำดับรอง ในบางพื้นที่มีการบุกรุกขยายเพิ่มเติมจากแนวเขตที่ได้มีการสำรวจไว้แล้ว ทำให้ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าในพื้นที่ 

การไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดรูปแบบการจัดการชุมชนตนเองที่มีความหลากหลาย การทับซ้อนของพื้นที่ทั้งระหว่างหน่วยงานกับประชาชน และการทับซ้อนของพื้นที่ระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกันเอง ความไม่ชัดเจนของแนวทางปฏิบัติรวมถึงนโยบายในการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินของราษฎรในป่าอนุรักษ์ที่เปลี่ยนไปแทบทุกรัฐบาล จนเกิดความไม่ไว้วางใจในการออกกฎหมายของภาครัฐ และไม่ยินดีที่จะเข้าร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหาดังกล่าว อาจนำไปสู่การขยายความขัดแย้งและไม่สามารถรักษาพื้นที่ป่าสมบูรณ์ไว้ได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย 

ด้วยเหตุผลดังกล่าว มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จึงขอได้โปรดให้มีการทบทวนร่างพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และร่างพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ตามมาตรา 121 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และเร่งออกมาตรการเพื่อควบคุมพื้นที่ที่ได้มีการสำรวจไว้แล้วไม่ให้มีการขยายเพิ่มเติม อันจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศต่อไป

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์