เย้ย ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ไม่เตรียมความพร้อม-ขายผ้าเอาหน้ารอด ชี้เปลี่ยนรายละเอียด 5 รอบแล้ว

3 เม.ย. 2567 - 08:32

  • ‘ศิริกัญญา’ เย้ยรัฐบาลเปลี่ยนรายละเอียด ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ มา 5 รอบแล้ว

  • ปูด 3 แหล่งที่มาของงบฯ จวกไม่มีการเตรียมความพร้อม ขายผ้าเอาหน้ารอดไปแต่ละวัน

  • ด้าน ‘จุลพันธ์’ อุบรายละเอียด บอกฝ่ายค้านล้างหูรอฟังวันที่ 10 เม.ย.นี้

Sirikanya-Chunlapan-Digital-Wallet-SPACEBAR-Hero.jpg

เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ถูกจับตาในศึกซักฟอกครั้งนี้สำหรับ ‘โครงการดิจิทัลวอลเล็ต’ โดยทาง ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายชี้ให้เห็นว่า มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการมา 5 รอบแล้ว โดยเฉพาะเรื่องแหล่งที่มางบประมาณ ส่วนที่มางบประมาณโครงการรอบนี้น่าจะมาจาก 3 แหล่งคือ

  1. งบกลางปี 2567 ใช้วิธีการออก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือ งบกลางปี โดยกู้ชดเชยขาดดุลจนเต็มเพดานอีก 100,000 แสนล้านบาท และอาจโอนเปลี่ยนแปลงงบกลางอีก 40,000 ล้านบาท
  2. เบ่งงบรายจ่ายปี 2568 เพิ่มอีก 150,000 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในโครงการนี้
  3. กู้งบฯ ธกส. 210,000 ล้านบาท แต่อาจต้องตีความว่า จะปล่อยกู้เพื่อนำมาจ่ายเป็นเงินดิจิทัลให้เกษตรกร หรือครัวเรือนของเกษตรกรได้หรือไม่

ทั้งนี้ ไม่รู้จะเดาผิดหรือไม่ ตอนนี้รัฐบาลเลือดเข้าตา จากเดิมเคยพายเรือในอ่าง ตอนนี้กำลังจะออกทะเลไปไกล เงิน 5แสนล้านบาท ที่จะนำมาใช้ ก็มาจากการกู้อยู่ดี แต่เป็นการกู้ที่อาจทำให้ถูกกฎหมายได้ ส่วนแอปพลิเคชัน ที่ระบุใช้ ‘เป๋าตัง’ ทราบว่า ธนาคารกรุงไทยจะไม่ทำให้ อาจต้องมีแอปฯ ของตัวเอง โดยให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ไปศึกษา ต้องเริ่มใหม่ตั้งแต่ต้น

ไม่รู้ระบบจะเสร็จสิ้นทันไตรมาส 4 ปีนี้หรือไม่ ถ้าไม่เสร็จก็เลื่อนออกไปอีก ทำให้ชวนคิด รัฐบาลมีประสบการณ์บริหารประเทศมาก่อนจริงหรือไม่ การเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอด แสดงให้เห็นว่า ไม่มีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่เริ่มต้น ขายผ้าเอาหน้ารอดไปแต่ละวัน หากเป็นไปไม่ได้จะเกิดความเสียหาย โมเมนตัมหรือพายุหมุนทางเศรษฐกิจจะไม่เกิดขึ้น เกิดความไม่เชื่อมั่นของประชาชนเกิดขึ้น

ศิริกัญญา ตันสกุล

ขณะที่ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ชี้แจงประเด็นความชัดเจนของโครงการดิจิทัลวอลเลต โดยขออย่าคาดเดาในรายละเอียดที่เตรียมแถลงในวันที่ 10 เม.ย. เนื่องจากจะสร้างความสับสน ส่วนนโยบายที่กำลังดำเนินการนั้น อยู่ระหว่างการแก้ไข ซึ่งยินดีที่จะถูกตรวจสอบเป็นระยะ และพร้อมรับฟังความเห็นที่เป็นประโยชน์ อีกทั้งเชื่อว่า เมื่อครบวาระของรัฐบาลและตัดเกรด หวังว่าจะได้ เอ (A) ส่งการบ้านให้ประชาชน

ทั้งนี้ ในเรื่องดิจิทัลวอลเลตนั้นยอมรับว่า มีการเปลี่ยนแปลงหลายมิติ ทั้งจำนวนคนเข้าสู่โครงการ, แหล่งเงิน เพราะต้องเปลี่ยนแปลงภายใต้กฎหมาย และข้อเสนอแนะของหน่วยงานเพื่อให้เกิดการเดินหน้าที่เป็นประโยชน์ แต่การเปลี่ยนแปลงนั้น ไม่ใช่เปลี่ยน 5-6 ครั้ง ตามที่อภิปราย เพราะบางอย่างที่รายงานต่อสภาฯ และตามที่สิ่งที่อภิปรายไปนั้น เป็นการคาดเดา ไม่ใช่มาจากคณะกรรมการดิจิทัลวอลเลต หรือ เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ หรือตนเอง อย่างไรก็ตาม ในการประชุมของคณะกรรมการฯ นั้น เชื่อว่าจะมีกลไกลที่ทำให้เดินหน้าได้ตามกรอบของกฎหมาย

อยากให้ลดการคาดเดาลง เพราะอีกไม่กี่วัน 10 เม.ย. จะแถลงให้ชัดเจน ผมพูดไม่ได้วันนี้ เพราะต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการ หากพูดเท่ากับชี้นำไม่ถูกขั้นตอน รอไม่นานและไม่อยากคาดเดา หากผิดต้องหน้าแตกอีก ไม่จำเป็น ผมรอให้ชัดเจน เพื่อจบและสมบูรณ์

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์

นอกจากนี้ จุลพันธ์ ชี้แจงประเด็นนโยบายซอฟพาวเวอร์ ที่ถูกตั้งข้อสังเกตถึงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ว่า มีกลไกรัฐบาลกลั่นกรองโครงการ รวมไปถึงสภาฯ และกลไกติดตามกำกับใช้จ่ายงบประมาณ ดังนั้น อย่าติดป้ายว่าทับซ้อนหรือทุจริตใดๆ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์