‘ศิริกัญญา’ เตือน ‘เพื่อไทย’ อย่าพูดลอยๆ ระวังต้อง ‘กลับคำพูด’ อีก

13 พ.ย. 2566 - 10:08

  • ‘ศิริกัญญา’ เตือน ‘เพื่อไทย’ อย่าพูดลอยๆ จี้เปิดตัวเลขกู้เงินแจก ‘เงินดิจิทัลวอลเล็ต’ ถูกกฎหมายอย่างไร เปิดรายงานประชุม ‘แบงค์ชาติ’ เห็นด้วยกู้เงินจริงไหม

  • ยอมรับตนเองเคยเห็นด้วย ‘นโยบาย’ แต่รายละเอียดเปลี่ยนไปไกล ย้ำ ‘เพื่อไทย’ ต้องฟื้นความเชื่อมั่น เคยผิดสัญญาตอนจัดตั้ง รบ. ไปแล้ว

Sirikanya_Digital_Wallet_Move_Forward_Serttha_Phumtham_SPACEBAR_Hero_675b5b2ac4.jpg

ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ ภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ออกมาระบุว่า ศิริกัญญา เอง ก็เคยเห็นด้วยกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ว่า การเห็นด้วยก็มีหลายระดับ และเวลานี้นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตได้เปลี่ยนรายละเอียดมาไกล จากที่จะใช้เงินในงบประมาณ มาเป็นออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน จากแจกให้ถ้วนหน้า กลายเป็นจำกัดคนมีรายได้สูง  

พร้อมยอมรับว่า เคยมีการพูดคุยเรื่องนี้กันจริง เนื่องจากเมื่อครั้งเป็นพรรคที่จะร่วมรัฐบาลกัน พรรคร่วมรัฐบาลเคยวางแผนสำหรับงบประมาณปี 2566 แต่เงินที่มีไม่พอที่จะทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต หากแบ่งออกไปแล้วจะเหลืองบประมาณเพียงพรรคการเมืองละ 4-5 แสนล้านบาท ในเมื่อไม่สามารถนำงบประมาณไปใช้ได้ทั้งก้อน จึงต้องปรับลดงบประมาณลง ก็เป็นเรื่องที่ตรงไปตรงมา จึงขอให้อย่าบิดประเด็นไปมากกว่านี้ 

ศิริกัญญา กล่าวย้ำว่า จนถึงตอนนี้รัฐบาลยังไม่มีคำตอบใดๆ ออกมาว่า เหตุใดจึงยังเดินหน้าโครงการต่อ ในเมื่อการออก พ.ร.บ.เงินกู้ อาจขัดต่อ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ทำไมทางพรรคเพื่อไทย และรัฐบาลจึงคิดจะทำต่อ ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่ได้รับเหตุผลใดๆ กลับมา เพียงมีการขุดอดีตไล่ความชอบธรรมว่าตนเองเคยเห็นด้วย 

ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ทุกครั้งที่ออกมาแสดงความเห็นเรื่องนี้ ไม่เคยพูดคัดค้านแม้แต่ครั้งเดียว เพียงแต่ถามว่า งบประมาณมาจากไหน ยังไม่เริ่มคัดค้านจริงๆ จังๆ เลยสักครั้ง ขอให้รัฐบาลช่วยตอบให้ตรงประเด็นว่า จะไม่ผิดกฎหมายได้อย่างไร เพียงเปิดความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเปิดเผยรายงานการประชุม ทั้งในชั้นคณะอนุกรรมการ และคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ออกมาว่า ไม่ผิดกฎหมายอย่างไรก็จบแล้ว ตนเองก็จะเป็นคนหน้าแตกไปแล้ว 

ส่วนกรณีที่อ้างว่า ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เสนอให้ออก พ.ร.บ.เงินกู้ ด้วย ศิริกัญญา กล่าวว่า ยิ่งต้องไปดูรายงานของคณะกรรมการชุดใหญ่ว่ามีมติอย่างไร ถึงให้ออก พ.ร.บ.เงินกู้ เพราะตนเองไม่เชื่อว่าผู้ว่าฯ ธปท. จะเสนอแนวทางนี้ เพราะทุกครั้งก็คัดค้านมาโดยตลอด

เมื่อถามถึงกรณีที่ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า กระบวนการถูกต้อง เพราะการออก พ.ร.บ.ต้องเข้าสภาฯ ศิริกัญญา กล่าวว่า ต้องตรวจสอบก่อนว่า ถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่ อย่างไร มีอีกหลายฉบับที่ต้องพิจารณา 

“ดังนั้น เราคาดหวังว่า วันที่ประกาศต่อประชาชนว่า จะออก พ.ร.บ.เงินกู้ นั้น ได้ปรึกษาคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว ทุกฝ่ายเห็นร่วมกันว่าทำได้ ซึ่งหากไม่ผิดกฎหมาย ก็จะไม่มีช่องให้นักร้องไปร้องเรียนได้ แต่การพูดลอยๆ แบบนี้สุดท้ายต้องมากลับคำกันอีก ทำให้เสียความเชื่อมั่นต่อประชาชน” ศิริกัญญา กล่าว 

สำหรับกรณีที่มีนักร้องเริ่มไปร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นไปตามเกมของพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ศิริกัญญา กล่าวว่า ตนเองได้แต่ดักคอ เพราะเราไม่อยากให้มาถึงวันนี้ นักร้องไม่สมควรเข้ามามีส่วนร่วมกับการกำหนดนโยบายของรัฐบาล พอสบช่องให้ร้องแบบนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญรับฟ้องจะทำให้ล่าช้าออกไปอีก มองว่าเป็นกับดักที่รัฐบาลคิดเอาไว้แล้วหรือไม่ 

ศิริกัญญา ยังตั้งข้อสงสัยด้วยว่า ข้าราชการกระทรวงการคลัง ไม่มีใครท้วงติงรัฐบาลเลยหรือ จะถือว่าทำผิดกฎหมายกันหมด หากนโยบายนี้ผ่านเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา และใช้กลไกเสียงข้างมากให้ผ่านความเห็นชอบไปได้ ก้าวไกลก็คงต้องยอมรับความจริง แต่ขั้นต่อไปจะทำให้มีปัญหาเรื่องการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 

“นายกรัฐมนตรีพูดว่า จะชดใช้เงินกู้ให้หมดภายใน 4 ปี ปีแรกมาแล้วแสนกว่าล้านบาท ดอกเบี้ยอีกหมื่นล้าน มาแน่นอน ในการพิจารณางบประมาณปี 2568 ดิฉันคิดว่าการใช้คืนหนี้สูงมาก มีทั้งดอกเบี้ยเดิมและดอกเบี้ยใหม่ ภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บได้ 20% ก็ต้องไปใช้หนี้ ทำให้จัดงบประมาณปี 2568 ได้ยากลำบาก รวมถึงรายได้ที่คิดว่าจะมาจากดิจิทัลวอลเล็ตก็จะไม่ทัน ประชาชนเดือดร้อนแน่ๆ” ศิริกัญญา กล่าว 

ศิริกัญญา กล่าวยอมรับว่า ตนเองได้เทียบกรณีดังกล่าวกับ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า ผิดกฎหมาย รัฐบาลปัจจุบันจึงไม่สามารถอ้างว่าไม่รู้ เพราะคำวินิจฉัยของศาลปี 2557 ก็เป็นกรณีแบบเดียวกัน ที่ผ่านมายังไม่มีการถกเถียงกันเลยว่า มีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างไร นายกรัฐมนตรีก็เพียงยกตัวเลข GDP ย้อนหลัง 10 ปี ขึ้นมาระบุว่า เป็นปัญหาเรื้อรังเชิงโครงสร้าง ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยมาตรการระยะสั้น 

“เรายังรออยู่ แต่ก็ไม่มีเสียงตอบรับใดๆ มีแต่บอกว่ารักประชาชน บริสุทธิ์ใจ มุ่งมั่น หรืออ้างว่าดิฉันเคยเห็นด้วย ทั้งหมดนี้ไม่ได้ช่วยอธิบายใดๆ ว่าการออกร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน ถูกกฎหมายอย่างไร” ศิริกัญญา กล่าว 

เมื่อถามว่า หากไม่ผิดกฎหมาย เห็นด้วยหรือไม่ ศิริกัญญา กล่าวว่า หากไม่ผิดกฎหมาย การกู้เงินในระดับนี้มีปัญหาแน่ๆ เพราะหนี้สาธารณะแน่นอนว่า ยังไม่ถึงกรอบที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยขยายไว้ที่ 70% ของ GDP แต่ที่ไม่รอดแน่คือ ภาระดอกเบี้ยต่องบประมาณ แต่เป็นสิ่งที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะสถาบันจัดอันดับเครดิตเรตติ้ง ที่จะจัดอันดับ เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีจะต้องชี้แจงงบประมาณ ปีแรกจะต้องจ่ายเงินต้น และดอกเบี้ยซึ่งเกิน 10% ของงบประมาณแผ่นดิน ถ้าสุดท้าย พ.ร.บ.นี้ ผ่านสภาฯ และบังคับใช้ได้จริง และดิจิทัลวอลเล็ตเกิดขึ้นจริง 

“ที่รัฐบาลพยายามบอกว่า ประเทศกำลังมีวิกฤตนั้นเห็นว่า เป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นในระยะยาว เป็นปัญหาเรื้อรัง ซึ่งไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในการแก้ไขปัญหาด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นได้เลย นโยบายนี้ถูกคิดขึ้นมาตั้งแต่ มี.ค. - เม.ย. ปีนี้ จะถูกนำไปใช้จริงปีหน้า สรุปแล้ววิกฤตเกิดขึ้นตอนไหนกันแน่ แล้วเร่งด่วนถึงขั้นที่เราได้ 1 ปีเร่งด่วนหรือไม่ ดังนั้น การเลือกใช้โดยการออกร่าง พ.ร.บ. ยิ่งต้องใช้เวลาในสภาฯ จึงถามว่าความจำเป็นเร่งด่วนอยู่ตรงไหน และขออย่าปล่อยให้รัฐบาลบิดเบือน” ศิริกัญญา กล่าว 

ส่วนที่รัฐบาลมองว่า GDP ไม่โตตามเป้านั้น ศิริกัญญา กล่าวว่า ก็ต้องดูว่า GDP ได้ตามศักยภาพที่ไปได้หรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่า แม้ GDP เราโตช้า แต่เราไม่สามารถกระตุ้นได้ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจใน ระยะสั้น เลยควรต้องระบุในทางพื้นที่หรือไม่ว่า พื้นที่ไหนควรจะต้องใช้วิธีการกระตุ้นเป็นกรณีพิเศษ อย่างฮ่องกงปี 2565 เศรษฐกิจของฮ่องกงยังโตติดลบอยู่จึงต้องมีการแจกเงิน ซึ่งก็เหมือนของเราตอนโควิด และแจกเงินเยียวยาประชาชน แต่วันนี้เศรษฐกิจโตขึ้น ยังไม่ใช่เวลาของการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแน่นอน ดังนั้น ยังรอคำตอบ เพราะรัฐบาลไม่เคยนำตัวเลขออกมาให้เราดูชัดๆ 

“ต้องขอร้องว่า อย่าใช้ความรู้สึกในการบริหารประเทศต้องใช้ตัวเลขข้อมูลข้อเท็จจริง ในการบริหารประเทศว่า สรุปแล้วปัญหาคืออะไร ที่บอกว่าเกิดวิกฤตหนักสาหัสขอดูตัวเลขหน่อยว่ากำลังพูดถึงตัวเลขไหน จะได้คลายกังวลว่า ใช้เครื่องมือที่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหาประเทศ” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว 

เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรีต้องการเอาชนะหรือไม่ ศิริกัญญา กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องของการเอาชนะ แต่น่าจะเป็นการรักษาคำพูด ซึ่งน่าจะเป็นจุดอ่อนจุดหนึ่งเหมือนกัน หลังจากที่ไม่ได้รักษาคำพูดมาแล้วครั้งหนึ่ง ตอนร่วมรัฐบาล และตั้งรัฐบาลมา จึงจำเป็นต้องฟื้นความเชื่อมั่นว่า ต้องทำตามที่พูดที่ได้หาเสียงไว้ได้ ซึ่งเป็นบททดสอบที่สำคัญก็อาจจะแพ้ไม่ได้เช่นเดียวกัน จึงเป็นปัญหาหนักใจ  

เพราะตอนคิดโครงการ คิดมาไม่ถี่ถ้วน เนื่องจากตอนคิดยังบอกว่า ใช้เงินจากงบประมาณ ซึ่งเห็นว่าไม่มีทางเป็นไปได้ และพอหลังพิงฝาแล้วไม่มีทางออก จึงคิดเป็นอื่นไม่ได้ว่า ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากหาทางลง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์