ฝ่ายค้านแค่เทสต์ระบบ! ‘ศิริกัญญา’ ชี้ ‘สภาล่ม’ ตั้งแต่วันแรก สะท้อนชัดรัฐบาลไร้เสถียรภาพ

4 ก.ค. 2568 - 06:04

  • ‘ศิริกัญญา’ มอง ‘สภาล่ม’ ตั้งแต่วันแรก สะท้อนชัดรัฐบาลไร้เสถียรภาพ

  • เตือนหากไม่เตรียมพร้อม จะล้มเหลวในการโหวตกฎหมายสำคัญ

  • แนะอย่ามองฝ่ายค้านเล่นเกม ชี้ ‘เสียงปริ่มน้ำ’ ต้องเช็กเป็นปกติ

ฝ่ายค้านแค่เทสต์ระบบ! ‘ศิริกัญญา’ ชี้ ‘สภาล่ม’ ตั้งแต่วันแรก สะท้อนชัดรัฐบาลไร้เสถียรภาพ

ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรล่ม เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา จะทำให้การทำงานสะดุดหรือไม่?

โดยรองหัวหน้าพรรคประชาชน ระบุว่า “จริงๆ แล้ววันแรก เรายังคาดหวังว่าทางฝั่งรัฐบาลน่าจะอยู่กันอย่างครบถ้วน แม้ว่าจะมี สส.บางคนไปรับตำแหน่งรัฐมนตรี แต่เป็นส่วนน้อย ต่างกันประมาณ 30 เสียง อย่างไรก็ต้องรักษาองค์ประชุมได้ แต่เมื่อมีการขอนับองค์ประชุม ปรากฏว่าไม่ได้เตรียมตัวมาในช่วงนี้”

เราเห็นว่าเรื่องนี้ วิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ออกมาเตือน สส.ในพรรคผมเองแล้วว่าจำเป็นต้องให้พร้อม ห้ามขาด ห้ามลา ห้ามมาสาย แต่ในท้ายที่สุดสภาฯ ก็ล่ม คงเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนักในการโหวตกฎหมายที่สำคัญๆ ในครั้งต่อไป คงต้องมีการเตรียมความพร้อมมากกว่านี้ ไม่เช่นนั้นการทำงานคงเดินหน้าไม่ได้ ในภาวะที่ง่อนแง่นเช่นนี้

เมื่อถามว่า เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมาถือว่าเป็นการทดสอบเสียงรัฐบาลหรือไม่? ศิริกัญญา กล่าวว่า “จริงๆ ไม่ได้นัดกันมากับทางพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพราะเราคิดว่าวันแรก สส. คงมากันครบแน่ คงมีการกำชับกันหลายรอบ แต่การที่สุดท้ายแล้ว เมื่อมีการทดสอบแล้วสภาฯ ล่ม ยิ่งแสดงถึงความไม่มีเสถียรภาพ ความง่อนแง่นของสถานะทางฝั่งรัฐบาล”

ส่วนในการประชุมนัดถัดไปจะมีการนับองค์ประชุมอีกหรือไม่? ศิริกัญญา กล่าวว่า “วันที่ 9 กรกฎาคม ซึ่งจะมีการประชุมนัดถัดไป เป็นวันที่ต้องมีการโหวตกฎหมายอยู่แล้ว โดยมีร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบสถานบันเทิงครบวงจร หรือเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เข้าเป็นลำดับแรก ไม่ว่าจะมีการขอถอน แต่ก็จะต้องมีการโหวตว่าจะยอมให้ถอนหรือไม่ให้ถอน ซึ่งคิดว่าเราต้องเดินหน้าโหวตไปเลยสำหรับกฎหมายฉบับนี้ หากถอนไปแล้วไม่ได้มีการแก้ไข ก็ไม่ควรถอน”

ดังนั้น เมื่อเข้าสู่วันที่ 9 กรกฎาคม จะเข้าสู่โหมดนับองค์ประชุมโดยปกติอยู่แล้ว ฉะนั้น จะต้องมีการเช็กเสียงกันอีกครั้ง

ส่วนกรณีที่ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า การทำให้องค์ประชุมครบเป็นหน้าที่ของ สส. ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล? ศิริกัญญา กล่าวว่า “เราเข้าใจ แต่เมื่อเป็นการโหวตกฎหมายสำคัญที่ส่งมาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาลก็จำเป็นที่จะต้องมารับผิดชอบเรื่องนี้อยู่แล้ว เราแค่พยายามตรวจสอบว่าสรุปแล้วเสียงของรัฐบาลมีเท่าไหร่กันแน่ แต่ไม่ทันไรประธานในที่ประชุมก็ชิงปิดประชุม จึงไม่ทราบว่าตกลงแล้วเสียงของรัฐบาลมีเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม เราเข้าใจดีว่าการทำงานในสภาฯ เป็นทั้งของฝ่ายค้านและรัฐบาล”

เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ว่าอาจถูกมองว่าฝ่ายค้านเล่นเกมเกินไป? ศิริกัญญา กล่าวว่า “ในสภาวะเช่นนี้ ไม่ได้มองว่าเป็นการเล่นเกมทางการเมือง เราทราบอยู่ว่าเสียงค่อนข้างที่จะปริ่มกัน ดังนั้นต้องมีการเช็กเสียงกันเป็นเรื่องธรรมดา”

สมัยฝ่ายค้านร่วมกับเพื่อไทย เราก็เรียนรู้ในการใช้แทกติกต่างๆ ที่จะใช้เช็กเสียงพรรคร่วมรัฐบาล

ถ้ารับเงื่อนไข ‘นายกฯ ชั่วคราว’ ได้ พร้อมยกมือโหวตให้

รองหัวหน้าพรรคประชาชน ยังชี้แจงถึงรายละเอียดของนายกรัฐมนตรีชั่วคราว ว่า “เราได้มีการคุยกันถึงเรื่องนี้ในการประชุม สส.ที่ผ่านมา แต่ยังยืนยันในเงื่อนไข 7 ข้อ” แต่คนก็เอาไปตีความต่างๆ นานา ว่าเราจะโหวตให้ อนุทิน ชาญวีรกูล สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย หรือโหวตให้ ชัยเกษม นิติสิริ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย

เราต้องขอยืนยันว่าปิดชื่อพรรค ปิดชื่อนายกรัฐมนตรีไปเลย หากรับเงื่อนไขตรงนี้ได้ เราก็พร้อมที่จะยกมือให้เพื่อเปิดทางออกให้ประเทศ และนำไปสู่การยุบสภาในที่สุด อาจจะไม่ได้ในเร็ววันนี้ ขอให้ผ่านพ้นช่วงที่จะต้องแก้ปัญหาต่างๆ ไปก่อนก็ได้ แต่ก่อนปลายปีนี้ควรจะต้องมีการยุบสภาได้แล้ว

เมื่อถามว่า มองว่าข้อเสนอนี้จะได้รับการตอบรับหรือไม่? ศิริกัญญา กล่าวว่า “จะต้องมีการพูดคุยกันเพื่อสื่อสาร อีกทั้งประชาชนก็ยังไม่เข้าใจว่าจะเกิดทางตันอย่างไร อยู่ดีๆ เราจะไปยกมือให้ใคร หรือยกทำไม ซึ่งเสียงส่วนใหญ่บอกว่าไม่ต้องยก เรากำลังพูดถึงฉากทัศน์หนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้น คือหากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม หลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดังนั้นต้องมีการเปิดทางให้โหวตนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งตอนนั้นอาจจะวุ่นวายกว่าเดิม บรรดาพรรคร่วมรัฐบาลก็พยายามที่จะขย่มเก้าอี้ต่อรองอำนาจ คงจะยิ่งขย่มกว่าเดิม อาจจะรวมเสียงข้างมากไม่ได้ด้วยซ้ำไป”

เมื่อถามว่า มองไว้หรือไม่ว่าจะโหวตให้กับใคร? ศิริกัญญา กล่าวว่า “เราไม่แคร์แล้ว เพราะว่าช่วงเวลาที่เหลือคือการเตรียมตัวเพื่อไปสู่การเลือกตั้งใหญ่ต่อไป และการจัดการต่างๆ ที่นำไปสู่การเลือกตั้งด้วย เช่น ถ้าการเลือกตั้งใหญ่ควรจะต้องมีการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) พร้อมกันไปเลย ก็จัดการเรื่องพวกนี้ในช่วงสั้นๆ ก็ไม่ได้มีข้อกังวลว่าเป็นใคร แต่ขอให้อยู่ในลิสต์แคนดิเดต และมี สส.มากพอ รวมถึงรับเงื่อนไขของเรา เราได้หมด”

ดังนั้น ในฐานะที่เราเป็นพรรคการเมืองใหญ่พรรคหนึ่งในสภาฯ เราอยากใช้เสียงของเราอย่างมีค่ามากที่สุดในการนำเสนอทางออกให้ประเทศ ไม่ให้นำไปสู่ทางตัน หรือไปเรียกร้องให้เกิดการใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญอื่นๆ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์