แนะรื้อศึกษา ‘แลนด์บริดจ์’ ใหม่ทั้งหมด ก่อนโรดโชว์นักลงทุน

23 ม.ค. 2567 - 08:34

  • ‘ศิริกัญญา’ โต้อ่านรายงาน ‘กมธ.แลนด์บริดจ์’ ผิดฉบับ

  • แนะรื้อศึกษาใหม่ทั้งหมด ก่อนนำข้อมูลที่ไปโรดโชว์นักลงทุน

  • ยันไร้เจตนามุ่งโจมตี เพียงแต่ต้องการถกหาข้อเท็จจริง

Sirikanya-suggests-completely-re-studying-Land-Bridge-before-roadshow-to-investors-SPACEBAR-Hero.jpg

ดูเหมือนจะกลายเป็นประเด็นทางการเมืองระหว่าง ‘สองขั้ว’ ไปเสียแล้ว สำหรับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ ‘โครงการแลนด์บริดจ์’ อย่างก่อนหน้านี้ บรรดารัฐมนตรีได้ออกมาซัดใส่ ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่าอ่านรายงานกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ ผิดฉบับ และเป็นเรื่องจินตนาการ

ขณะที่รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ชี้แจงเรื่องของการอ่านรายงานผิดฉบับ โดยมองว่า มนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม อาจไม่ได้สื่อโดยตรงว่าไม่ได้อ่านผิดฉบับ แต่อาจเป็นเพราะข้อมูลไม่ตรงกัน จึงเรียนว่าตัวรายงานที่ต้องให้ความสำคัญมากที่สุด คือ รายงานของสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไม่ใช่รายงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานการศึกษาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ รายงานของ กมธ. เพราะตัวรายงานของ สนข.จะเป็นตัวกำหนดว่า จะเป็นท่าเรือขนาด 20 ล้านตู้ทั้งสองฝั่ง รวมถึงเป็นตัวที่กำหนดเม็ดเงินการลงทุน เพราะตอนนี้ เราเข้าสู่โหมดเชิญชวนนักลงทุน แต่รายละเอียดหลายๆ อย่าง ยังไม่ได้ความชัดเจน

ดิฉัน ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จะเข้าร่วมประชุมด้วย หากเจอ สนข. ก็จะคุยว่าจะทำอย่างไรกันต่อ เพราะในขณะที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ยังพูดว่า ท่อส่งน้ำมันมีอยู่ในรายงานของ กมธ. แต่ไม่มีอยู่ในรายงานของ สนข. และเมื่อวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา โฆษกพรรคเพื่อไทย ก็ออกมายืนยันว่า ไม่มีท่อส่งน้ำมันเช่นเดียวกัน ดังนั้น ดิฉันคิดว่า จะต้องมีอะไรที่ผิดพลาดตรงไหนสักที่หนึ่ง ถ้าเป็นไปได้ทางออกที่ง่ายที่สุด เพื่อให้รายละเอียดต่างๆ เข้าใจตรงกัน และสมเหตุสมผล คือรื้อรายงานของ สนข.มาพิจารณาใหม่อีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะนำไปทำเอกสาร เพื่อทำการโรดโชว์กับนักลงทุนต่างประเทศ

ศิริกัญญา ตันสกุล

ส่วนประเด็นการทำรายงานใหม่ตามข้อเสนอ อาจต้องใช้เวลานานนั้น ศิริกัญญา มองว่า ขึ้นอยู่กับว่ารายละเอียดที่เพิ่มเติมและแตกต่างออกไปมีมากน้อยเพียงใด แต่เราไม่สามารถที่จะใช้ตัวรายงานที่มีรายละเอียดไม่ตรงกัน ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีพูดอย่าง รมช.คมนาคม ก็พูดเหมือนนายกฯ แต่โฆษกพรรคเพื่อไทยกลับพูดอีกอย่าง สนข.ก็พูดอีกอย่าง รายงานพูดอีกอย่าง 

ถ้าเป็นอย่างนี้ คงไม่สามารถผลิตเป็นตัวที่เป็นเอกสารสำหรับเชิญชวนนักลงทุนได้ เพราะครั้งนี้ เป็นการร่วมทุนแบบระหว่างรัฐกับเอกชน ไม่ได้เป็นการให้สัมปทานที่ดินกับนักลงทุนที่เขาจะไปจินตนาการอย่างไรก็ได้ ว่าเขาจะทำอะไรก็ได้กับที่ดินของรัฐ โดยที่ขอแค่ให้มีท่าเรือสองท่า และมีทางเชื่อมระหว่างสองท่าเรือเท่านั้น แต่พอเป็นรูปแบบนี้ เราต้องลงรายละเอียดในเรื่องของการออกแบบ ว่าเราจะกำหนดให้เขามาสร้างและแบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างไรในอนาคต ไม่ว่ารัฐจะออกเงินเท่าไหร่ก็ตาม

เท่าที่ทราบ รัฐจะออกน้อยหน่อย คือออกแค่ค่าเวียนคืน แต่ก็ยังเป็นเงินภาษีของประชาชนที่ต้องควักตังค์จ่ายในเรื่องของแลนด์บริดจ์ อยู่ดี ดังนั้น ต้องเคลียร์รายละเอียดให้สมเหตุสมผล รวมไปถึงการประมาณการณ์ต่างๆ ไม่ให้มันเวอร์เกินจริง ไม่ให้มันสวยหรูเกินไป นักลงทุนอาจมีความสนใจมากขึ้นก็ได้

ศิริกัญญา ตันสกุล

ส่วนหากรัฐบาลไม่รับฟังและยังคงมุ่งที่จะเดินหน้าโครงการแลนด์บริดจ์ต่อไป จะดำเนินการอย่างไรนั้น ศิริกัญญา ก็ระบุไม่ทราบว่าจะเดินหน้ากันต่อได้อย่างไร ในเมื่อตัวรายงานยังมีปัญหาอยู่แบบนี้ ถ้าใครบอกว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวรอให้นักลงทุนเขาเข้ามาประเมินความคุ้มค่าได้ด้วยตัวเอง

ดังนั้น พอ สนข.เข้ามาของบประมาณในส่วนที่เหลือของรายงานฉบับนี้ ดิฉันขออนุญาตตัดในส่วนที่เหลือเลยแล้วกัน และไม่ต้องทำต่อแล้ว รวมถึงเอกสารเชิญชวนด้วย เพราะไม่รู้ว่าจะเอาเครื่องมือที่ไหนมาทำงานต่อว่าจะต้องไปโชว์กับนักลงทุน และมติ ครม.ก็ออกมาแล้วว่า คุ้มค่าเหลือเกินใน 24 ปี แล้วเราจะทำอย่างไรกันต่อในเรื่องนี้ แต่ก็ขอให้ทบทวนกันอีกสักครั้ง เสียเวลากันอีกไม่นาน เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับทุกภาคส่วน รวมถึงนักลงทุนด้วย

สำหรับประเด็นที่โครงการแลนด์บริดจ์ดูเหมือนจะเป็นการเมืองระหว่าง 2 พรรคไปแล้วนั้น ศิริกัญญา มองว่า ในเมื่อเราอยู่ในประเทศที่ดูเหมือนจะเป็นประชาธิปไตยจะมีเรื่องอะไรที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองบ้าง เราไม่ได้มุ่งเข้ามาโจมตีโครงการนี้ เพียงเพราะว่าต้องการดิสเครดิต หรือทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาล สิ่งที่เราทำคือเอาข้อเท็จจริงมาโชว์กัน ซึ่งคำถามบางทีก็ถามแต่รัฐบาล เราตั้งคำถามไปที่ตัวหน่วยงานรัฐ ดังนั้น หน้าที่ของรัฐบาลคือการออกมาให้ข้อเท็จจริง และความกระจ่างเพื่อให้สิ้นสงสัยเท่านั้น

ทุกวันนี้ไม่ได้มีความพยายามที่จะโจมตีให้โครงการดูเลวร้ายอะไรเลย เราแค่ต้องการข้อเท็จจริงในเรื่องสมมุติฐานต่างๆ ของโครงการ ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานมากๆ แต่ดิฉันกลับถูกโจมตีทางการเมือง ไปเล่นว่าดิฉันขาดประชุม กมธ.แลนด์บริดจ์ 2 ครั้ง รวมทั้งมาสายด้วย อย่างนี้ใครกันแน่ที่กำลังเล่นการเมือง อย่างไรก็ตาม หากเขาตอบคำถามได้ทุกประเด็นเราก็ต้องไปต่อโดยที่ไม่ได้มาสนใจโครงการนี้ต่อไป และขอฝากทวงคำถามให้ด้วย เพราะโฆษกพรรคเพื่อไทย ให้มา 18 คำตอบ ไม่ค่อยตรงที่ดิฉันถามไป 7 คำถามสักเท่าไหร่ ซึ่งดิฉันก็รอคอยคำตอบอยู่

ศิริกัญญา ตันสกุล

Sirikanya-suggests-completely-re-studying-Land-Bridge-before-roadshow-to-investors-SPACEBAR-Photo01.jpg

‘สว.’ ชี้ 4 ปัจจัยสำเร็จโครงการแลนด์บริดจ์ อาจไม่เกิดขึ้นจริง แนะ ‘นายกฯ’ ฟังความเห็นให้รอบด้าน ทั้งเสียงคัดค้าน-สนับสนุน

ขณะเดียวกัน ในการประชุมวุฒิสภาวันนี้ สุรเดช จิรัฐิติเจริญ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ได้เรียกร้องรัฐบาลให้พิจารณาและดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์ ด้วยความรอบคอบและรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายให้รอบด้าน ทั้งหน่วยงานของรัฐ, สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, นักลงทุน, นักวิชาการ พร้อมชี้ให้เห็นถึงประเด็นปัจจัยความสำเร็จของโครงการแลนด์บริดจ์ 4 ด้าน จากการพิจารณาข้อมูลที่ได้จากกระทรวงคมนาคม ประกอบด้วย

1. ระยะเวลาที่สั้นลง : เห็นว่าแม้สภาพทางภูมิศาสตร์ประเทศไทย จะมีระยะทางที่สั้นลงเมื่อเทียบกับช่องแคบมะละกา 1,000 กิโลเมตร สามารถล่นระยะเวลาเดินเรือ เหลือเพียง 2-3 วัน แต่ของไทยไม่สามารถเดินเรือผ่านโดยตรงได้  เพราะไม่ได้ขุดคลองไทย ดังนั้น ต้องใช้การขนถ่ายสินค้าจากเรือขนาดใหญ่ 2-3 หมื่นทียู ซึ่งจะใช้เวลาขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ 3 วัน จากนั้น ต้องใช้การขนส่งทางรถและรถไฟ 1 วัน จากท่าเรือระยองไปชุมพร จากนั้น เมื่อถึงท่าเรือต้องขนถ่ายสินค้าลงเรือ อีก 3 วัน ซึ่งรวมเวลา 7 วัน ดังนั้น ที่กระทรวงคมนาคมแจ้งว่าจะสั้งลงนั้น จริงหรือไม่ เพราะต้องใช้เวลาเพิ่มมากขึ้นถึง 5 วัน

2. ค่าใช้จ่าย : เมื่อมีการขนถ่ายสินค้าจากเรือไปการขนส่งอื่น รวม 6 ครั้ง ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายประมาณหมื่นบาท ไม่ทราบว่าประหยัดค่าใช้จ่ายจริงหรือไม่

3. มีอุตสาหกรรมหลังท่า หรืออุตสาหกรรมต่อเนื่อง : โดยกรรมาธิการแลนด์บริดจ์ ของสภาฯ ศึกษาและระบุว่า โครงการดังกล่าวจะสำเร็จได้ เมื่อมีอุตสาหกรรมหลังท่า หรือ เอสอีซี ทั้งนี้ ต้องพิจารณาจุดแข็งของพื้นที่ที่นำไปสู่ความสำเร็จ เมื่อเทียบกับโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ดำเนินการ 10 เมือง ยังไม่พบความสำเร็จ ขณะที่โครงการอีอีซี ที่มีโครงการปิโตรเคมี แต่จนถึงวันนี้ยังไม่สำเร็จเท่าที่ควร

4. ผู้ร่วลงทุน : จากที่มีมติ ครม.ให้ทำโรดโชว์ในต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรมว.คลัง เดินทางไปแล้ว 4 ประเทศ จึงขอเรียกร้องให้นายกฯ ชี้แจงว่า มีนักลงทุนหรือประเทศใดสนใจหรือไม่ เพราะตามข้อมูลของกระทรวงคมนาคม กำหนดเงื่อนไขให้เอกชนลงุทน 100%

หลักการในการทำโครงการขนาดใหญ่ มีผลได้ และผลเสีย ซึ่งการดำเนินดังกล่าว ต้องการสร้างเพื่อทดแทนความคับคั่งที่ช่องแคบมะลากา ซึ่งเป็นการแข่งขันการเดินเรือสินค้ากับสิงคโปร์ และมาเลเซีย แต่ปัจจัยความสำเร็จตามข้อมูลของกระทรวงคมนาคม ใน 4 ประเด็นนั้น ผมขอตั้งคำถามว่าสำเร็จได้จริงหรือไม่ ดังนั้น ควรรับฟังข้อมูลให้รอบด้าน แม้จะสร้างเสร็จแล้วต้องดำเนินการต่อ ไม่ทำให้รกร้าง เพราะจะแข่งขันไม่ได้ ตามที่กระทรวงคมนาคมอ้างว่า ช่องแคบมะละกาคับแคบ แต่พบว่า มีความกว้างกว่า 100 กิโลเมตร ขณะที่สิงคโปร์ ยังมีการปรับปรุงเพื่อรองรับการเดินเรือที่เพิ่มมากขึ้น

สุรเดช จิรัฐิติเจริญ

นอกจากนี้ ยังย้ำด้วยว่า ในโอกาสที่ เศรษฐา นำคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประชุมนอกกสถานที่ พร้อมลงตรวจเยี่ยมพื้นที่ก่อสร้างใน จ.ระนอง ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นโครงการขนาดใหญ่ เพื่อรองรับเรือสินค้า 20 ล้านทียู ย่อมมีคนค้านและคนสนับสนุน ดังนั้น นายกฯ ต้องรับฟังข้อมูลรอบด้าน ทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบและผู้สนับสนุน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์