‘ศิริกัญญา’ ซัด ‘ทักษิณ’ ชักจะเกินเลย! ดึงงบดิจิทัลปราบยาเสพติด

28 พ.ค. 2568 - 03:14

  • ‘ศิริกัญญา’ ซัด ‘ทักษิณ’ ชักจะเกินเลย! หลังปาฐกถาบอกให้ดึงงบ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ปราบยาเสพติด แนะไปขอ ‘ลูกสาว’ เบิกงบกลางที่มีอยู่ 6 หมื่นล้าน มาทำดีกว่า

  • ลั่น รัฐบาลควรใช้งบประมาณให้ถูกก้อน ไม่ใช่ปนกันไปหมด

  • เผย ปชน. เตรียมช่วยรัฐบาลหางบ ผ่านการอภิปราย ปรับ ลด เลื่อน งบที่ไม่จำเป็น ชี้ ยังไม่สอดคล้องเศรษฐกิจปัจจุบัน

  • ห่วงโยกงบ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ หวั่นซ้ำรอยงบกลางปี 67 ไม่เกิดประโยชน์ เหตุยังใช้เบี้ยหัวแตก

‘ศิริกัญญา’ ซัด ‘ทักษิณ’ ชักจะเกินเลย! ดึงงบดิจิทัลปราบยาเสพติด

ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวช่วงหนึ่งในการแสดงวิสัยทัศน์ ‘ยาเสพติด อาชญากรรมข้ามชาติ มุมมองและความท้าทายต่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน’ ที่สำนักงาน ป.ป.ส. เมื่อวานนี้ (27 พ.ค.) ว่า หากจะดึงงบฯ โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1.57 แสนล้านบาท มาใช้ในการปราบปรามยาเสพติด และเชื่อว่า ประชาชนจะไม่โกรธว่า เรื่องนี้ชักจะเกินเลย เพราะมติของคณะรัฐมนตรีที่ออกมานั้นมีแค่ 4 หลักการ สิ่งที่รัฐบาลควรจะทำคือ การกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน โดยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือให้สินเชื่อเพื่อกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนให้โฟลว์ยิ่งขึ้น แต่หากนำไปใช้ในเรื่องของยาเสพติด คิดว่า น่าจะเกินเลยไปเยอะ เพราะยังมีเม็ดเงิน อีกประมาณ 6 หมื่นล้านบาทในงบกลาง แต่รัฐบาลยังไม่ได้นำมารวม จึงอยากให้ทักษิณ ไปขอแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อเอางบกลางมาใช้ในการปราบปรามยาเสพติด แต่ไม่ได้หมายความว่าการปราบปรามยาเสพติดไม่สำคัญ  แต่ควรจะใช้งบประมาณให้ถูกก้อน ไม่ใช่ปะปนกันไปหมด

 

ศิริกัญญา ยังกล่าวถึงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2569 ว่า พรรคประชาชนเตรียมผู้อภิปรายไว้ 49 คน โดยใช้หัวข้อ ‘ช่วยรัฐบาลหางบประมาณ’ โดยจะตัดในส่วนที่ไม่จำเป็น เช่น เรื่องที่สุ่มเสี่ยงต่อการคอร์รัปชัน การใช้งบประมาณไม่เหมาะสม ไม่มีประสิทธิภาพ หรือไม่จำเป็นในช่วงนี้ที่สามารถชะลอออกไปก่อนได้ ทั้งปรับ ลด เลื่อน งบประมาณ และประเด็นการจัดสรรงบประมาณตามปกติ ที่ต้องดูถึงความเหมาะสมกับสถานการณ์หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข สวัสดิการ เกษตร และปากท้องของประชาชน โดยช่วงเริ่มต้นของการอภิปรายจะมุ่งเน้นไปที่ภาพรวมว่า มีส่วนไหนสามารถที่จะปรับปรุงวิธีการและลดปัญหาเรื่องการคอร์รัปชั่น จัดลำดับความสำคัญของโครงการใหม่ จัดเอาโครงการที่จำเป็นมาใช้ก่อน

 

ส่วนงบประมาณ 2569 ตอบโจทย์กับเศรษฐกิจตอนนี้หรือไม่ ศิริกัญญา กล่าวว่า ไม่ได้ตอบโจทย์ ยังเป็นงบประมาณตามปกติ เหมือนหลับไปตั้งแต่มีโควิด - 19 ตื่นขึ้นมาก็รู้สึกว่า งบประมาณนี้จัดเป็นช่วงที่ต้องสู้กับสงครามการค้า เราไม่ได้โทษรัฐบาลนี้เสียทีเดียว เพราะไม่มีใครคิดว่า ตอนต้นปีในวันที่จัดทำงบประมาณจะต้องเผชิญกับอะไร แต่ก็ต้องเห็นเค้าลางในหลายเรื่อง และเมื่อมาดูงบประมาณที่จัดไว้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจปีที่แล้วไม่ได้มีเหตุการณ์อะไร จัดไว้ 200,000 ล้านบาท แต่ปีนี้เหลือ 20,000 ล้านบาท กองทุน FTA ที่เอาไว้ช่วยเหลือเกษตรกรไม่ได้จัดไว้ ต้นปีรู้แล้วว่ าทรัมป์จะมา แต่ก็ไม่ได้จัดเตรียมงบประมาณไว้ กองทุนที่เอาไว้ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้งบประมาณเพิ่มขึ้น 5 ล้านบาท กองทุนช่วยเหลือเกษตรกรกลับถูกลดงบประมาณ ทั้งที่เกษตรกรเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ส่วนโครงการอื่นหน้าตาเหมือนเดิมเกือบทั้งหมด บางโครงการพุ่งขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ เช่น โครงการที่เกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์ ปีนี้เกือบ 10,000 ล้านบาท ซึ่งเดี๋ยวจะได้เห็นพรรคประชาชนวิเคราะห์งบประมาณซอฟต์พาวเวอร์กันว่าอย่างไร ตรวจผลงานสองปีที่ผ่านมาจะพร้อมที่จะอนุมัติงบประมาณหมื่นล้านให้กับซอฟต์พาวเวอร์หรือไม่ท่ามกลางเศรษฐกิจแบบนี้

 

สำหรับงบประมาณดิจิทัลวอลเล็ตที่โยกไปยัง 4 โครงการ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สมเหตุสมผลหรือไม่นั้น ศิริกัญญา กล่าวว่า สำหรับงบประมาณ 157,000 ล้านบาท เป็นงบประมาณของปี 2568 เหมือนเป็นกระสุนก้อนสุดท้ายของงบปี 2568 ในการกระตุ้นจีดีพีของปี 2568 ด้วย 4 เรื่อง ที่รัฐบาลอยากทำเป็นเรื่องที่ดีทั้งนั้น เป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ทั้ง น้ำ คมนาคม กระตุ้นการท่องเที่ยว ช่วยเหลือการส่งออก ในและลงทุนในเศรษฐกิจชุมชนต่างๆ ซึ่งตามหลักการถูกต้องทุกประการ แต่ขึ้นอยู่กับกระบวนการมากกว่า การที่สุดท้ายแล้วรัฐบาลเปิดให้หน่วยงานต่างๆ ทั้ง อปท. และท้องถิ่น รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ ส่งโครงการเข้ามา แต่ไม่ได้มีหลักเกณฑ์อะไรเลย นั่นหมายความว่า รัฐบาลไม่ได้เตรียมการล่วงหน้าว่า อยากเห็นโครงการประมาณไหน ขนาดไหน กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร สร้างงานเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ รัฐบาลไม่ได้เตรียมอะไรไว้เลย แถมกระบวนการจำกัดเวลาค่อนข้างสั้น รอบแรกที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติทำแค่วันเดียว แต่ต้องเลื่อน เนื่องจากระบบล่ม ทำให้มีเวลาเพิ่มขึ้นจนถึงวันที่ 26 พฤษภาคม 2568 ซึ่งสะท้อนว่า ไม่ได้เตรียมการอะไรล่วงหน้า ไม่มีโครงการในใจ อยากเห็นเศรษฐกิจถูกกระตุ้นด้วยวิธีการอะไร จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ซ้ำรอย ที่ใช้งบประมาณตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ เช่น พ.ร.ก.เงินกู้ 1.5 แสนล้านบาท ที่รอบแรกมีแผนฟื้นฟู 1 ล้านล้าน แต่ใช้ไม่หมด รอบที่สอง 170,000 ล้านบาท ก็ถูกใช้แบบเบี้ยหัวแตก ไม่ได้มุ่งเศรษฐกิจในชุมชนจริง หลายหลายโครงการไม่เป็นไปตามเป้าประสงค์ นี่คือบทเรียนที่เพิ่งเกิดขึ้น ไม่คิดว่ารัฐบาลจะลืมไปได้ง่าย ไม่คิดจะถอดบทเรียน เพื่อที่จะแก้ปัญหาไม่ให้เกิดการซ้ำรอยอีก

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์