กังขา! แจกเงินดิจิทัลฯ ใช้เงิน ธกส.ได้ไหม ‘ศิริกัญญา’ ชี้ต้องส่งกฤษฎีกาตีความ

10 เมษายน 2567 - 09:19

Sirikanya-wonders-if-distributing-digital-money-can-be-used-with-BAAC-money-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ‘ศิริกัญญา’ ไม่ตื่นเต้น ‘เศรษฐา’ แถลงแจก ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ 10,000 บาท กังขาแหล่งที่มาเงิน มีข้อจำกัด

  • ถามนำเงิน ธกส. มาแจกเกษตรกรฯ ผิดวัตถุประสงค์หรือไม่

  • ชี้อาจต้องส่งกฤษฎีกาตีความ ซัดนโยบายเป็นภาระประเทศ-รัฐบาลใหม่

ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ภายหลังที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงความคืบหน้าของโครงการดิจิทัล 10,000 บาทว่า ตนให้ความสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษในเรื่องแหล่งที่มาของงบประมาณ 5 แสนล้าน ว่าจะมาจากที่ใด ถือเป็นเรื่องที่ไม่ได้ตื่นเต้นอะไร เนื่องจากเป็นไปตามที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าเงินจะมาจาก 3 แหล่งคือ 

1.มาจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ที่ 1.5 แสนล้านบาทโดยการกู้ชดเชยขาดดุลที่เกือบชนเพดาน

2.รัฐบาลยังพูดไม่ชัดว่าเงิน ตามมาตรา 28 จะมาจากแหล่งไหน และธนาคารอะไร แต่ก็สามารถเดาได้ว่าจะมาจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  (ธ.ก.ส.) ซึ่งต้องไม่ลืมว่า ธ.ก.ส. ต้องเป็นแหล่งงบประมาณของโครงการต่างๆ เช่น โครงการพักหนี้เกษตรกร และ โครงการไร่ละ 1,000 บาท

3.การใช้งบประมาณปี 2567 ที่แม้จะผ่านสภาฯ ไปแล้วแต่ก็มีข้อจำกัดในการใช้งบประมาณอีกจำนวนมาก 

“แต่เมื่อพยายามดูแล้วอีกหนึ่งช่องทางที่รัฐบาลสามารถทำได้ คือ การกู้ชดเชยขาดดุลเพิ่ม เพื่อนำงบประมาณไปออกเป็นงบกลางปี 2567”

ศิริกัญญา ยังกล่าวว่า แหล่งที่มาของเงินทั้ง 3 แหล่งดังกล่าวนั้นสะท้อนให้เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลไม่ได้เตรียมการอะไรไว้ล่วงหน้า และเท่าที่ดูปฏิทินงบประมาณแล้วเชื่อว่าข้าราชการสำนักงบประมาณอาจไม่มีวันหยุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์

“ก็อยากที่จะฝากทางรัฐบาลว่าไหนๆ ก็มีการแถลงเป็นมั่นเป็นเหมาะแล้วว่าไตรมาส 4 นี้จะไม่เลื่อนแน่นอน ก็อยากที่จะดูแผนการทำงานทั้งหมด ไม่ใช่แค่เรื่องการหาแหล่งที่มาให้ครบจำนวน”

นอกจากนั้นยังมีเรื่องของการพัฒนาระบบที่ยืนยันแล้วว่า ไม่ได้ใช้แอพพลิเคชั่นเป๋าตังแล้ว โดยจะใช้แอพพลิเคชั่นใหม่ โดยให้กระทรวงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้พัฒนาระบบ ซึ่งเรื่องนี้จะต้องมีการทดสอบระบบก่อนการใช้งานจริง เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดและส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชน

สำหรับการใช้เงินรอบแรกสำหรับร้านค้ารายเล็กนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดีแต่ ยังไม่มีความชัดเจนว่าตกลงแล้วร้านสะดวกซื้อนั้นถือเป็นร้านค้ารายเล็กหรือไม่ และด้วยกลไกที่ยุ่งยากในการใช้เงินดิจิทัล ที่สามารถแลกเป็นเงินสดได้ ซึ่งร้านที่สามารถแลกเป็นเงินสดได้จะต้องเป็นร้านที่อยู่ในฐานภาษี ในส่วนนี้อาจทำให้ร้านค้ารายเล็กและรายย่อยตัวจริงไม่อยากที่จะเข้าร่วมโครงการ

ศิริกัญญา ยังบอกถึงการขับเคลื่อนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ว่า หากรัฐบาลทำได้ คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ร้อยละ 3.5 - 4.1 ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบของรัฐบาลว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ 

ขณะเดียวกัน ศิริกัญญา ยังตั้งคำถามว่า ที่รัฐบาลเคยสัญญาเอาไว้ว่า รัฐบาลจะสามารถทำให้เศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5 ใน 4 ปี จะทำได้หรือไม่ เพราะขณะนี้แม้รัฐบาลจะทุ่มเงินมากที่สุด เศรษฐกิจยังโตได้แค่ 5.1 แล้วปีอื่นๆ ที่เหลือ ที่ไม่มีงบประมาณไปทำอย่างอื่นจะเกิดอะไรขึ้น เหล่านี้อาจกระทบต่อหนี้สาธารณะของประเทศ จนเป็นภาระงบประมาณของรัฐบาลต่อไป ย้ำว่า แม้จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่สิ่งที่ตามมา คือ ภาระของประเทศ

ศิริริกัญญา ยังบอกถึงที่มาของเงินจาก ธกส. ว่า ยังมีข้อจำกัดเรื่องกฎหมาย ธกส. มีหน้าที่ช่วยเหลือเกษตรกรเรื่องค่าใช้จ่าย ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร โดยการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต เป็นประเด็นที่ต้องส่งกฤษฎีกาตีความเช่นเดียวกับธนาคารออมสินหรือไม่ เนื่องจากยังมีความเทาๆ อยู่ ที่สามารถเปิดให้รัฐบาลทำได้ 

พร้อมกันนี้ ศิริกัญญา ยอมรับว่า ไม่มั่นใจว่า รัฐบาลจะสอบถามไปยังกฤษฎีกาหรือไม่ แต่ในฐานะของฝ่ายค้าน จะต้องช่วยกระทุ้งเรื่องนี้ หรืออีกทางหนึ่งรัฐบาลจะกลับไปแก้ไขพระราชบัญญัติ ธกส.ให้เรียบร้อยก่อน เพื่อให้ ธกส. สบายใจว่า สามารถแจกเงินดิจิทัลให้กับเกษตรกร

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์