คุยกับ ‘สมชัย’ อดีต กกต. กับปม ‘ยุบพรรคภูมิใจไทย’ เป็นไปได้แค่ไหน?

14 มีนาคม 2566 - 03:33

somchai-srisutthiyakorn-SPACEBAR-Thumbnail
  • ‘ยุบพรรคภูมิใจไทย’ เป็นไปได้แค่ไหน? ขึ้นอยู่กับการตีความคำว่า ‘แหล่งที่มาของเงินบริจาค’

เป้าหมายอันแรงกล้าของ ‘ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์’ ที่หวังคุมกำเนิด ‘พรรคภูมิใจไทย’ กลางศึกเลือกตั้งรอบใหม่ ที่เพิ่งจะเริ่มลั่นกลองรบได้ไม่นาน ด้วยการเตรียมยื่นเรื่องให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณายุบพรรคภูมิใจไทย จากเหตุที่เชื่อว่ามีบริษัทนอมินีของ ‘ศักดิ์สยาม ชิดชอบ’ บริจาคเงินให้พรรคเป็นหลักล้านบาท โดยคาดหวังว่า กกต. จะพิจารณายุบพรรคภูมิใจไทย ได้ทันก่อนการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ เพื่อปิดโอกาสไม่ให้ ส.ส. ย้ายสังกัดไปพรรคอื่นได้ ถือเป็นการทำลายพรรคภูมิใจไทย แบบหวังไม่ให้ได้ผุดได้เกิดกันเลยทีเดียว  

แต่ในความจริงจะเป็นอย่าง ‘ชูวิทย์’ คาดหวังหรือไม่นั้น เรื่องนี้ทีมข่าว SPACEBAR ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ‘สมชัย ศรีสุทธิยากร’ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคเสรีรวมไทย ในฐานะอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  มองว่าประเด็นสำคัญ อยู่ที่ กกต. จะตีความ ‘แหล่งที่มาของเงินบริจาค’ ว่าอย่างไร เพราะตามกฎหมาย ใช้คำว่า ‘รับเงินจากแหล่งที่มาโดยรู้หรือควรจะรู้ว่ามิชอบด้วยกฎหมาย’ ซึ่งที่ผ่านมา กกต. ตีความว่าเป็นเงินที่ได้มาจากการค้ายาเสพติด การพนัน หรือเงินที่ได้มาอย่างผิดกฎหมายชัดเจน แต่เงินบริจาคที่ได้รับจากบริษัทนอมินีที่มีความเชื่อมโยงกับคนในพรรค ส่วนตัวไม่มั่นใจว่า กกต. จะตีความว่าอย่างไร ถ้าตีความแบบกว้างคิดว่ามีความเป็นไปได้ที่เงินจากแหล่งที่มาดังกล่าวถือว่าเป็นเงินที่ผิดกฎหมาย แต่ถ้าตีความแบบแคบคิดว่าไม่ผิดกฎหมาย  

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ‘สมชัย’ ได้ยกตัวอย่าง กรณีที่ กกต. ได้ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ยุบพรรคอนาคตใหม่ จากเหตุที่ไปกู้ยืมเงินของ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค จำนวน 191.2 ล้านบาท โดยศาลรัฐธรรมนูญ ตีความว่าเงินกู้ เป็นเงินที่รู้หรือควรรู้ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 จะไม่ได้บัญญัติห้ามการกู้เงินไว้โดยชัดเจน แต่ก็ไม่ได้รับรองว่าให้กระทำได้ การได้มาและใช้จ่ายเงินเพื่อทำกิจกรรมทางการเมือง จึงกระทำได้ตามขอบเขตที่กำหนดไว้เท่านั้น 

เหตุผลดังกล่าว ‘สมชัย’ บอกว่าส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะแม้คำว่าเงินกู้ จะไม่ได้ถูกบัญญัติอยู่ในแหล่งที่มาตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง แต่ตามปกติแล้วหลายพรรคการเมืองก็มีการกู้เงินมาใช้ในพรรคเช่นเดียวกัน และที่ผ่านมายังไม่เคยมีเหตุการณ์ยุบพรรคจากกรณีที่รับเงินบริจาคจากบริษัทนอมินีของคนในพรรคมาก่อน  

แต่หากในชั้นของ กกต. เห็นว่ามีความผิดจริง ขั้นตอนต่อไปคือต้องส่งเรื่องต่อให้ ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้พิจารณาว่ามีความเห็นอย่างไร ซึ่งศาลจะพิจารณาช้าหรือเร็วคงตอบไม่ได้ แต่  ‘สมชัย’ เชื่อว่าหากไม่มีปัจจัยอื่นเข้ามาเป็นแรงส่งให้ศาลต้องรีบพิจารณา คิดว่าคงไม่ทันก่อนมีการเลือกตั้งแน่นอน แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยุบพรรค ก็จะคล้ายกับกรณีของพรรคไทยรักษาชาติ ที่ถูกยุบก่อนเลือกตั้ง ทำให้เบอร์ของผู้สมัครในพรรคนั้นๆ กลายเป็นเบอร์เสีย และคนที่ลงสมัครในพรรคนั้นก็จะเสียเปล่า เพราะย้ายพรรคไม่ทันตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด  

หมากของเกมนี้จะเป็นอย่างไรต่อไปคงขึ้นอยู่กับว่า ‘ชูวิทย์’ จะยกอะไรมาเป็นเหตุผลในการยื่นยุบพรรคภูมิใจไทย และเหตุผลนั้นจะมีน้ำหนักมากพอที่จะนำไปสู่การยุบพรรคได้จริงหรือไม่ แต่ไม่ว่าผลจะออกมาในทิศทางใด คงปฎิเสธไม่ได้ว่าท่ามกลางศึกเลือกตั้งที่ครุกรุ่นไปด้วยขมเขี้ยวของผู้เจนสนาม หากเผลอปล่อยให้มีช่องโหว่กลางศึก ก็คงไม่แคล้วตกเป็นเป้าโจมตี ให้พรรคอื่นมารุมทึ้งเป็นแน่

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์