‘กัญชา’ รีเทิร์นยาเสพติด ‘พรรคร่วมฯ’ ส่อร้าวลึก?

9 ก.ค. 2567 - 08:07

  • จับตาปม ‘กัญชา’ ส่อร้าวลึก? ‘สมศักดิ์’ เตรียมดันกลับเป็นยาเสพติด

  • ยันไม่กระทบความสัมพันธ์ ‘ภูมิใจไทย’ เมิน ‘ม็อบสายเขียว’ เพราะหวังใช้สันทนาการ

  • ‘อนุทิน’ ลั่นหากได้กลับไปดูกระทรวงสาธารณสุข ต้องเอาออก

  • ดึงสติ ขรก.ขอให้สร้างบรรทัดฐาน อย่าตามใจรัฐมนตรี

Somsak-and-Anutin-opinions-on-marijuana-SPACEBAR-Hero.jpg

กรณีที่ ‘คณะกรรมการยาเสพติด’ ของกระทรวงสาธารณสุข เตรียมนำ ‘กัญชา’ กลับไปเป็นยาเสพติด กำลังถูกตั้งข้อสังเกตว่า อาจลุกลามบานปลายกลายเป็นปมปัญหาร้าวลึกภายใน ‘พรรคร่วมรัฐบาล’ หรือระหว่าง ‘เพื่อไทย-ภูมิใจไทย’ ซึ่งฝ่ายหลังชูเป็นนโยบายเรือธงมาตั้งแต่คราวหาเสียง

รอเสนอเรื่องเข้าคณะกรรมการ ป.ป.ส. ก่อนออกประกาศ 4 ฉบับ เตรียมดันเข้า ครม.

เริ่มกันที่ฝั่งพรรคเพื่อไทย สมศักดิ์ เทพสุทิน ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นดังกล่าว ว่า ตอนนี้ผ่านเรื่องแล้ว และต้องเอาเข้าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ซึ่งต้องส่งเรื่องให้พิจารณก่อนการประกาศสาร หรือพืชชนิดใดเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้ประกาศได้เอง ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจาก ป.ป.ส.ก่อน

คาดว่าจะประชุมกันสิ้นเดือนนี้ หากเห็นว่าเป็นยาเสพติด ต้องทำกฎหมายรอง กฎกระทรวง และประกาศอีก 4 ฉบับ ที่รวมถึงการปลูก โดยต้องนำเข้า ครม. แต่การประกาศเป็นยาเสพติดประเภท 5 ไม่ต้องเข้า ครม. เพราะเรื่องยาเสพติดมีอันตราย มีความเกี่ยวข้องกับผู้คน กฎหมายจึงเขียนให้รัฐมนตรีกระทำโดยเร็ว

สมศักดิ์ เทพสุทิน

ยก ‘พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาฯ’ ชี้ ‘พ.ร.บ.กัญชาฯ’ ออกไม่ทันเวลาแล้ว

ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายยาเสพติดมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2564 เป็นระยะเวลา 2 ปีกว่าแล้ว ถือเป็นกฎหมายหลัก และต้องมีกฎหมายลูกตามมาซึ่งต้องทำให้เสร็จภายใน 2 ปี วันนี้น่าจะสมบูรณ์ แต่เนื่องจากว่าเราออกกฏหมายรอง หรือ ‘พระราชบัญญัติ’ (พ.ร.บ.) ไม่เสร็จ เพราะการเสนอเข้าสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น กฎหมายไม่ผ่าน จึงจบไม่ทันเวลา และสามารถต่อได้อีก 1 ปี โดยจะครบกำหนดวันที่ 9 ธ.ค.นี้ คือ พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การทำร่างกฎหมาย และการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายปี 2562 

ดังนั้น เมื่อทำไม่ทันแล้ว จึงต้องรีบออกประกาศมายับยั้ง คิดว่าถ้าเราเห็นว่ากัญชามีปัญหา คนส่วนใหญ่เห็นว่ายังเป็นปัญหา ก่อนจึงใช้แนวทางในการออกประกาศว่าเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 เพื่อให้ทันเวลาในกรอบระยะเวลา 2 + 1 ปี ตามเงื่อนไขกฎหมาย โดยหากจะออกเป็นกฎหมายก็ไม่สามารถทำทัน เพราะการออกกฎหมายแต่ละฉบับ ใช้เวลา 2 ปี ย้ำว่า แก่นของปัญหาคือ พี่น้องประชาชนที่บริโภคกัญชาเหล่านี้ มีไอคิวลดลง คนส่วนใหญ่ยังกลัวอยู่

เราไม่ได้ปิดกั้นเป็นยาเสพติดตลอดไป ถ้าในโอกาสหน้า รัฐบาลหน้า หรือการออกกฏหมาย ไม่ใช่เฉพาะกฎหมายของรัฐบาล ส่งไปยังสภาผู้แทนราษฎร พี่น้องประชาชนทุกคน เป็นหมื่นคน ก็ลงรายชื่อเพื่อเสนอเป็นกฎหมายได้ และ สส.ในสภาผู้แทนราษฎร สามารถเสนอกฎหมายได้เป็นกฎหมายในนามของพรรคการเมือง ก็สามารถเสนอได้ แต่ในส่วนของรัฐบาล เรามองเห็นว่าผลเสียมากกว่าผลดี

สมศักดิ์ เทพสุทิน

ย้ำไม่เอื้อนายทุน-ไม่กระทบความสัมพันธ์ ‘ภูมิใจไทย’ เพราะเอาใจช่วยแต่แรก

สมศักดิ์ ยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับ นายทุนใหญ่ ที่มีการสั่งมา ตามที่ผู้ชุมนุมหน้าทำเนียบฯ อ้าง แต่เอื้อประชาชนโดยรวม ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น เคยเจอมาแล้วและต้องการนันทนาการ สำหรับคนป่วยที่ต้องการใช้กัญชา ต้องให้เข้าถึงได้ ไม่ยุ่งยาก แต่วิธีการขึ้นอยู่กับผู้ที่เขียน

เมื่อถามว่าจะเกิดปัญหากับ พรรคภูมิใจไทย หรือไม่ เพราะเป็นนโนบายเรือธง สมศักดิ์ ยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่มีปัญหาพรรคร่วมฯ หรือพรรคภูมิใจไทย เพราะเข้าใจเงื่อนไขของเวลา และไม่ได้ขัดแย้ง

เอาใจช่วยมาแต่แรกแล้ว แต่ไปแล้วไม่ผ่าน ก็ไม่ใช่ความผิดของผม จึงต้องรับผิดชอบต่อสังคม

สมศักดิ์ เทพสุทิน

เมิน ‘ม็อบสายเขียว’ เพราะหวังใช้สันทนาการ

สมศักดิ์ ยังยืนยันว่า หากนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด จะไม่กระทบต่อผู้ประกอบการ และผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวจากคดีที่ครอบครองกัญชา เนื่องจากมีกฎหมายในการคุ้มครองผู้ประกอบการ เพียงแค่ยื่นเจตจำนงไว้ ก็ถือว่ามีใบอนุญาต ส่วนเมื่อถามถึงกรณีที่ผู้ชุมนุมยืนยันปักหลักหน้าทำเนียบรัฐบาล จนกว่าจะได้ความชัดเจน สมศักดิ์ ก็บอกกล่าวว่า

เขาต้องการใช้ในด้านนันทนาการ เราได้เรียนไปตามข้อเท็จจริงแล้ว และได้ให้แนวทางของแพทย์แผนไทย แพทย์ทางเลือก ก็มีอำนาจหน้าที่ในสิ่งต่าง ๆ ที่เรากำลังเขียนขึ้นมา และการที่จะเข้าสู่คณะกรรมการ ป.ป.ส. หากมีข้อสงสัยให้สอบถามได้ที่ อย.

สมศักดิ์ เทพสุทิน

Somsak-and-Anutin-opinions-on-marijuana-SPACEBAR-Photo01.jpg

‘อนุทิน’ ดึงสติ ขรก.ขอให้สร้างบรรทัดฐาน อย่าตามใจรัฐมนตรี

ส่วนทางด้าน อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย แสดงความไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดฯ เพราะกรรมการชุดนี้ เป็นชุดเดียวกันที่เคยแนะนำในสมัยเป็น รมว.สาธารณสุข ให้นำกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด และการจะนำกัญชาออกจากยาเสพติด ตัวรัฐมนตรีไม่สามารถเอาออกได้ ต้องมาจากคำแนะนำจากคณะกรรมการชุดต่าง ๆ

ตอนที่เอาออกจากยาเสพติดเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ก็คือกรรมการชุดนี้ แล้วเหตุใดวันนี้ กรรมการชุดนี้จะเอากลับไปเป็นยาเสพติด ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะบอกว่าตนเองเป็นข้าราชการประจำ ก็ต้องทำตามนโยบายของรัฐมนตรี และผมจะไปเถียงอะไรเขาได้ ซึ่งก็จริงของเขา แต่ผมก็อยากรู้ว่า การจะทำอะไรก็ต้องมีหลักการ ผมเป็น รมว.สาธารณสุข 4 ปี ไม่เห็นมีใครบอกเลยว่าไม่ดี และทุก ๆ เดือน กระทรวงสาธารณสุขก็พาผมไปทำแคมเปญเรื่องกัญชา ไม่มีโรงพยาบาลไหนที่ไม่มีคลินิกกัญชาเลย มีแต่เรื่องการสนับสนุนกัญชาทุกอย่าง ซึ่งตอนนั้นผมก็เชื่อหมอ

อนุทิน ชาญวีรกูล

นโยบายรัฐไม่ชัดเจน กระทบเชื่อมั่นนักลงทุน ลั่นหาก ‘ภูมิใจไทย’ กลับไปดู ‘กระทรวงสาธารณสุข’ ต้องเอา ‘กัญชา’ ออกมาจากยาเสพติด

 

จึงขอย้ำว่า เรื่องนี้หากมีการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา ทุกอย่างก็จบ เพราะอย่าลืมว่า เวลาเจรจาเรื่องการเมืองต่าง ๆ ต้องสนับสนุนนโยบายของพรรคร่วมทุกพรรคอยู่แล้ว เราไม่อยากให้มีปัญหา ทั้งนี้ ไม่ได้ห่วงเรื่องกัญชา แต่ห่วงเรื่องภาพรวม ถ้าปรับเปลี่ยนบ่อย ๆ หรือปรับเปลี่ยนตามใจผู้บริหาร ใครจะมาลงทุน เรากำลังจะเร่งสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ

วันหนึ่งหากปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว พรรคภูมิใจไทยกลับไปดูกระทรวงสาธารณสุขอีก ผมต้องเอากัญชาออกมาจากยาเสพติด เพราะเป็นนโยบายเรือธงของพรรคภูมิใจไทย แล้วข้าราชการประจำต้องทำตามแนวทางรัฐมนตรี ก็ต้องนำออกจากยาเสพติดอีก แบบนี้คนมาลงทุนก็จะขาดความเชื่อมั่น ไม่ใช่มิติของกัญชาเพียงอย่างเดียว แต่จะหมายถึงส่วนอื่น ๆ ด้วย ซึ่งอาจจะกระทบทั้งประเทศ ยกตัวอย่าง หากนักลงทุนต่างชาติมาถามหากจะมาลงทุนเมืองไทย แล้วกฎหมายเปลี่ยนทุก ครม.หรือเปล่า ถ้าเราบอกว่าเปลี่ยนได้ ใครเขาจะมา เพราะนักลงทุนต้องการความยั่งยืน

อนุทิน ชาญวีรกูล

ยัน ‘โหวตโน’ ในชั้น ป.ป.ส. แต่ขอสื่อฯ อย่ามอง ‘ถูกหักหน้า’ ให้ยึดที่เหตุผลเป็นหลัก

เมื่อถามว่า จะไปต่อสู้ในชั้นคณะกรรมการ ป.ป.ส.อย่างไร อนุทิน บอกว่า ไม่ต่อสู้ และไม่เคยสู้ใครอยู่แล้ว แต่จะใช้เหตุผลเข้าว่า เพราะโหวตก็แพ้ แต่ก็จะโหวตโน และถ้าจะโหวต โดยใช้มติมหาดไทย ก็มีแค่ 3-4 เสียง ซึ่งก็ไม่ทราบว่าปลัดกระทรวงมหาดไทย จะเห็นด้วยกับตนเองหรือไม่ เราจะไปบังคับทุกคนได้อย่างไร อีกทั้งไม่เคยสั่งใครให้โหวตตาม ทุกคนต้องใช้ดุลยพินิจของตัวเอง

ส่วนจะถูกมองว่าเป็นการ ‘หักหน้า’ หรือไม่ เพราะนโยบายกัญชา เป็นนโยบายเรือธงของพรรคภูมิใจไทย อนุทิน ก็ยืนยันว่า ไม่มองเป็นการถูกหักหน้า เพราะหากมองว่าถูกหักหน้า คงไปร่วมประท้วงกับผู้ชุมนุมต้านกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ที่บริเวณหน้าทำเนียบในเวลานี้แล้ว ซึ่งเรื่องนี้เราต้องว่ากันด้วยเหตุด้วยผล

นโยบายหาเสียงปี 66 ของพรรคภูมิใจไทย ก็ไม่ได้มีเรื่องกัญชา เพราะเราคิดว่าทุกอย่างจะเป็นไปด้วยดี แต่เมื่อผมไม่ได้ดูกระทรวงสาธารณสุข ก็ไม่สามารถไปกำหนดนโยบายอะไรได้

อนุทิน ชาญวีรกูล

ส่วนเมื่อถามว่า รู้สึกอย่างไรที่ปฏิบัติตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีทุกเรื่อง รวมถึงสนับสนุนโยบายพรรคเพื่อไทย อาทิ ดิจิทัลวอลเล็ต นโยบายให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี และให้ต่างชาติซื้อคอนโด 75% แต่นโยบายของพรรคภูมิใจไทย กลับถูกหักหน้า อนุทิน ก็ย้ำว่า ไม่ได้เป็นเรื่องถูกหักหน้า และสื่อฯ ชอบถามให้คนมีเรื่องกัน

ขอยืนยันว่า ไม่ใช่เรื่องหักหน้าหรือไม่หักหน้า เพราะทุกคนมีสิทธิ์คิดได้ ทุกอย่างต้องเป็นเป็นไปตามสัญชาตญาณ และวันนี้ ผมไม่ได้ดูแลกระทรวงสาธารณสุข จะไปแทรกแซงนโยบายของ รมว.สาธารณสุข ได้อย่างไร แต่ผมไม่อยากให้มีบรรทัดฐาน รัฐมนตรีคนไหนเข้ามาแล้วทำตามใจรัฐมนตรี แต่ควรทำเรื่องนี้ให้เป็นกฎหมาย หรือ พ.ร.บ.เพื่อความยั่งยืน

อนุทิน ชาญวีรกูล

กรณีนำ ‘กัญชา’ กลับไปเป็นยาเสพติด จะเดินไปจนถึงจุดไหน โปรดติดตาม

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์