‘สมศักดิ์’ หารือสันติสุขมาเลเซีย! วางกรอบทำงานเร่งแก้ปัญหา จชต.

10 มกราคม 2567 - 09:33

Somsak-discusses-peace-in-Malaysia-Accelerate-solving-problems-in-southern-border-provinces-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ‘สมศักดิ์’ หารือตัวแทนสันติสุขมาเลเซีย วางกรอบทำงานเร่งแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ให้รวดเร็ว

  • ‘ฉัตรชัย’ ยันพูดคุยสันติสุขแนวทางเดิม หวังคลอดแผน เม.ย.67 และมีข้อตกลงร่วมกันภายใน ธ.ค.67 หรือต้นปีหน้า

ทำเนียบรัฐบาล (10 มกราคม 2567) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ให้การต้อนรับ พล.อ.ตันศรี ดาโต๊ะ สรี ซุลกิฟลี ไซนัล อะบีดิน ผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยภายหลังการหารือ นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางแก้ปัญหาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) ว่า จะมุ่งเน้นการพัฒนาพื้นที่ให้ประชาชนอยู่ดีกินดีขึ้น ส่วนการหารือกับ พล.อ.ตันศรี ในวันนี้เป็นการสร้างความเข้าใจระหว่างภาคส่วนราชการของไทยและมาเลเซีย เพื่อให้การทำงานลงตัว

“เหมือนการสร้างระเบียบเพื่อให้การทำงานใช้เวลาไม่นาน รวมถึงกำหนดกฎเกณฑ์ในการพูดคุยว่าจะพูดคุยได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร ส่วนจะมีการพูดคุยสันติสุขครั้งต่อไปเมื่อไหร่นั้น ยังไม่ทราบ เพราะวันนี้เป็นการพูดคุยเพื่อเตรียมความพร้อมการทำงานให้เกิดความรวดเร็ว เพื่อให้ไทยกับมาเลเซีย จับมือกันพัฒนาเศรษฐกิจแข่งกับประเทศอื่นๆ ได้”

เมื่อถามถึงกรณีภาคประชาสังคมยื่นหนังสือถึงเลขาธิการสหประชาชาติ ว่าถูกภาครัฐใช้การดำเนินคดีเป็นการปิดปากกว่า 40 คดี จะสวนทางกับการพูดคุยสันติภาพหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า “ถ้าเรายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในบางอำเภอ แล้วใช้กฎหมายความมั่นคงแทนก็จะทำให้การแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ง่ายขึ้น เราพยายามยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในบางอำเภอออกไป ขอยืนยันว่าทั้งสองประเทศต้องทำหลักการให้ชัดเจนและดำเนินไปตามแนวทางที่วางร่วมกันเพื่อไปสู่เป้าหมาย”

Somsak-discusses-peace-in-Malaysia-Accelerate-solving-problems-in-southern-border-provinces-SPACEBAR-Photo01.jpg

ขณะที่นายฉัตรชัย บางชวด รักษาการเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) กล่าวว่า การหารือกันในวันนี้เพื่อนำคณะพูดคุยของฝ่ายรัฐทั้ง 2 ประเทศมาพูดคุยกันกำหนดแนวทางการทำงาน และขั้นตอนที่จะไปพูดคุยที่มาเลเซีย 

“ยืนยันว่า จะมีการสานต่อการพูดคุยสันติสุขในแนวทางเดิม โดยใช้แผนสันติสุขแบบองค์รวม คาดว่าจะมีการพิจารณาร่างดังกล่าวในเดือน มิ.ย.67 โดยตัวแทนผู้อำนวยความสะดวกของไทย จะไปพูดคุยกับฝั่งมาเลเซีย อาจจะมีความเป็นไปได้ว่าจะมีการพูดคุยเจรจากันภายในเดือน ก.พ.67”

รักษาการเลขาฯ สมช. กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ไทยมีเป้าหมายรับรองแผนฉบับดังกล่าวในเดือน เมษายน 2567 ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อนเดินหน้าไปได้มากขึ้น โดยมีเรื่องการลดความรุนแรง การเผชิญหน้า การเปิดเวทีสาธารณะ รวมไปถึงการแสวงหาทางออกทางการเมือง หวังว่าร่างฉบับนี้จะนำไปสู่ความสงบสุขในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยในขั้นต้นคาดว่าจะมีข้อตกลงสันติสุขภายในเดือนธันวาคม 2567 หรือช่วงต้นปีหน้า แต่ปัจจุบันขึ้นอยู่กับสถานการณ์และสภาพแวดล้อม 

“โดยยืนยันว่า จะดำเนินการตามแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม หรือ JCPP ที่ทำกับ BRN เดิม ซึ่ง BRN เป็นส่วนหนึ่งที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และคนในพื้นที่ก็มีส่วนสำคัญ จึงจำเป็นต้องเปิดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังปัญหา ซึ่งสุดท้ายต้องเป็นเรื่องของคนไทยด้วยกันเองที่ต้องหาข้อสรุปร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว แต่เรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจก็เป็นส่วนสำคัญ จึงจำเป็นต้องให้ทางการมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งที่ผ่านมาใช้ระยะเวลาหลายปีในการสร้างความไว้วางใจ เพื่อให้ผู้เห็นต่างเชื่อมั่นว่ารัฐมีความจริงจังที่จะแก้ไขปัญหา”

เมื่อถามว่า เรื่องที่กองทัพภาคที่ 4 แจ้งความดำเนินคดีในกรณีการสวมชุดมาลายูอาจสวนทางกับกระบวนการพูดคุยจะมีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลอย่างไร ฉัตรชัย กล่าวว่า อาจเป็นความเข้าใจผิด ไม่ได้มีข้อห้ามใดๆ ทั้งสิ้น เป็นไปตามนโยบายจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล เป็นเรื่องสิ่งสวยงาม อัตลักษณ์ วัฒนธรรม ทุกส่วนสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่

“ส่วนการกระทำความผิดบางส่วนก็เป็นเรื่องของกองทัพภาค 4 ที่จะดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ แต่ทั้งหมดต้องมีการพูดคุยกันภายในหาจุดลงตัวเหมาะสม ซึ่งตนมองว่าอาจมีบางส่วนเห็นต่างและสุ่มเสี่ยง มองว่าปล่อยให้กระบวนการดำเนินการไป ส่วนเรื่องการพูดคุยกันภาพใหญ่ก็จะดำเนินการต่อไป เนื่องจากมีประชาชนในพื้นที่ต้องการให้ดำเนินการต่อ ซึ่งต้องดำเนินการคู่ขนานกันต่อไป”

Somsak-discusses-peace-in-Malaysia-Accelerate-solving-problems-in-southern-border-provinces-SPACEBAR-Photo02.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์