สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงงบประมาณกระทรวงสาธารณสุข ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท ภายหลังฝ่ายค้านได้อภิปรายวิพากษ์วิจารณ์งบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข
สมศักดิ์ ชี้ให้เห็นว่า แม้ผู้อภิปรายหลายคนยังเห็นว่า งบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข น้อยเกินไป แต่รัฐบาลขอยืนยันว่า ได้ผลักดันให้เพิ่มขึ้นอย่างเต็มที่ แต่ยังไม่เพียงพอตามที่ สส.ได้อภิปราย ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่เราต้องบริหารอย่างไร ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
ส่วนเรื่องการแก้ปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ขอขอบคุณที่ห่วงใยเรื่องงบประมาณน้อย แต่การดูแลเด็ก ยังมีงบประมาณจากอีกหลายหน่วยงาย ซึ่งไม่ใช่จากกรมอนามัยเพียงอย่างเดียว โดยทราบว่า ยังเกี่ยวข้องกับ สปสช. ที่ต้องดูแลความสมบูรณ์ของทารกด้วย ซึ่งมีเด็กเกิด 4.5 แสนคน แต่มาใช้บริการตรวจความสมบูรณ์ 1.8 แสนคน
ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขก็ต้องบูรณาการให้ครบถ้วน รวมถึงแก้ปัญหาการมีบุตรน้อยด้วย เพราะปัจจุบันมีบุตรเฉลี่ย 1.2 คน ทั้งที่ควรมี 2.1 คน
ส่วนเรื่องยาเสพติด ผมมารับหน้าที่ตรงนี้ ก็ได้เปลี่ยนแนวทางให้สันนิษฐาน ยาบ้า 1 เม็ด เป็นผู้เสพ แต่ ครม.ก็เพิ่มว่า ต้องสอบสวนด้วย ถึงจะได้รับสิทธิบำบัด เพื่อจะได้รู้ว่าผู้ค้าคือใคร เพื่อขยายผลไปสู่การยึดทรัพย์ ส่วนกระทรวงสาธารณสุข ก็มีหน้าที่บำบัดผู้ติดยาเสพติด โดยเฉลี่ยแล้ว มีผู้ป่วยเข้าบำบัดปีละ 1.1 แสนราย แต่ถ้าใช้กฎหมายครบ ก็จะเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น
ส่วนกรณีรถกู้ภัยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ก็กำลังดู เพราะได้รับทราบว่า รถกู้ภัยยังไม่ครบทุกตำบล จึงจะพัฒนาเป็นความร่วมมือระหว่าง สพฉ. กับ อบต. รวมทั้งพบว่า บางครั้งมีปัญหารถปลอมเข้ามา จึงจะแก้ด้วยการให้กรมขนส่ง ทำทะเบียนพิเศษให้
การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ เราทำแผนไว้แล้ว โดยในปี 2577 เราประเมินว่า แพทย์ควรมีเพิ่มอีก 41,000 คน, พยายาบาล 57,000 คน พร้อมเห็นด้วยว่า บุคลากรทางการแพทย์ทำงานหนัก จึงพร้อมสนับสนุนให้นำข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ออกจาก กพ. เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับคนทำงานหนัก รวมถึง อสม.ก็เป็นกำลังสำคัญ ผมจึงอยากทำกฎหมายให้ อสม.มีความยั่งยืน และมีที่ยืน จึงขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ช่วยกันทำให้ อสม.มีความยั่งยืนด้วย
สมศักดิ์ ชี้แจงอีกว่า กระทรวงสาธารณสุข ยังมีนโยบายเร่งรัดพัฒนา 5 ด้าน คือ
1. ยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว งบประมาณ 167,753 ล้านบาท เพื่อเชื่อมโยงระบบรักษา ลดแออัด ลดเดินทาง และยกระดับดิจิทัลสุขภาพ พร้อมเพิ่มเหมาจ่ายรายหัว จาก 3,472 บาท/คน เป็น 3,844 บาท/คน
2. แก้ไขปัญหาสุขภาพจิตและยาเสพติดอย่างบูรณาการ งบประมาณ 1,330 ล้านบาท เพื่อพัฒนาคุณภาพการบำบัดรักษา และดูแลผู้ป่วยตามระดับอาการ
3. การแพทย์ปฐมภูมิ และ อสม. โดยยกระดับหน่วยบริการปฐมภูมิ 2,700 แห่ง งบประมาณ 2,520 ล้านบาท เสริมความเข้มแข็ง อสม. เพื่อคัดกรองสุขภาพเชิงรุก และค่าป่วยการ งบประมาณ 25,800 ล้านบาท
4. Medical & Wellness Hub เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ เพราะมูลค่าตลาดอุตสาหกรรมการแพทย์ สูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท ส่วนมูลค่าเศรษฐกิจสมุนไพรในตลาดโลก 1.7 ล้านล้านบาท จึงตั้งงบประมาณ 905 ล้านบาท เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ และตั้งงบประมาณ 80 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนแพทย์แผนไทย
5. เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพ ยกระดับการใช้เทคโนโลยี และการศึกษาวิจัย งบประมาณ 10,298 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ และยกระดับการเข้าถึงบริการสุขภาพ