





เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธานพิธีเปิดหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรสำหรับผู้บริหารแห่งอนาคต (วปอ.บอ.) รุ่นที่ 1 พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “บทบาทของผู้นำในอนาคตในการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ” ณ หอประชุมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ถนนวิภาวดีรังสิต
โดยมีบุคคลที่มีชื่อเสียงร่วมหลักสูตรดังกล่าว เช่น แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย, ธนนนท์ นิรามิษ ภรรยาอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย, รัดเกล้า สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ชัยชนะ เดชเดโช สส.พรรคประชาธิปัตย์, คณาพจน์ โจมฤทธิ์ คณะทำงานคนสนิทนายกรัฐมนตรี เป็นต้น
ในช่วงปาฐกถาพิเศษ เศรษฐา ได้ชี้ให้เห็นถึงหลักสูตร วปอ. นั้นมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และเป็นส่วนหนึ่งที่จะนำพาประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้ในอนาคต ทั้งนี้ เข้าใจว่ามีหลายคนอยากมาเรียนกันเยอะ เนื่องจากเป็นคอร์สที่มีความต้องการที่จะเข้ามาเรียนอย่างสูง อีกทั้งเชื่อว่าทุกท่านได้รับการคัดเลือกมาด้วยความเหมาะสม มีการอบรมเป็นอย่างดี
ไหนๆ ก็มาแล้ว ก็อย่าขาดเรียน เข้ามาก็เข้ายาก และขอให้เรียน ผมมั่นใจว่าหลักสูตรสถาบันนี้ให้ความรู้แน่นอน ซึ่งนอกจากความรู้แล้ว เรื่องของคอนเนกชั่น หรือเรื่องเครือข่ายในการทำงานร่วมกันเป็นเรื่องที่สำคัญ ผมเชื่อว่าหลายๆ ท่านมาในที่นี้เพราะเหตุผลนี้ ถามว่าผิดไหม ไม่ผิด แต่คอนเนกชั่นต่างๆ เหล่านี้ต้องใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง แก่ผู้อื่น โดยไม่ไปเบียดเบียนหรือไปทำให้เกิดความไม่เหมาะสม ผมเคยพูดไปหลายครั้งแล้วเรื่องนี้ ผมไม่อยากจะเน้นย้ำ แต่ว่าสังคมของเราในช่วงนี้ มีความเหลื่อมล้ำกันสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 คนรวย รวยขึ้น คนจน จนลง จึงต้องพูดอย่างตรงไปตรงมาที่สุด เรื่องนี้เป็นเรื่องที่บั่นทอนความมั่นคงของประเทศพอสมควร
เศรษฐา ทวีสิน
เศรษฐา ยังชี้ให้เห็นถึงหน้าที่ของทุกคนในการลดความเหลื่อมล้ำลงมา รวมไปถึงการเป็นที่จับตามองของสาธารณชนจากการประพฤติตัวตรงนี้
มีการใช้โซเชียลมีเดียต่างๆ นานา ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม เรามาอยู่ในที่นี้มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ มีองค์กรอิสระ นักธุรกิจ มีนักการเมือง เป็นการผสมผสานอย่างลงตัว ซึ่งสถาบันก็ได้คิดมาดีแล้ว เพราะฉะนั้นเรื่องเหล่านี้เราจะให้ความสำคัญในเรื่องของการใช้โซเชียมีเดีย ผมขอย้ำอีกครั้งว่า อะไรที่เป็นการทำให้คนรู้สึก หรือไม่มีโอกาสได้เข้ามาตรงนี้ เวลาจะทำอะไรขอให้คิด เพราะพวกท่านเป็นที่จับตามอง เพราะรายชื่อก็มีการประกาศชัดเจนว่าใครได้ ใครอยู่ในคอร์สนี้บ้าง ชื่อคอร์สก็บอกอยู่แล้ว Future Reader ผู้บริหารแห่งอนาคต ผมมองว่าเป็นเรื่องสำคัญของอนาคตของพวกท่านทุกคนส่งต่อไปสู่อนาคตของประเทศชาติ
เศรษฐา ทวีสิน
ส่วนในเรื่องความมั่นคง เศรษฐา ได้กล่าวถึงสถานการณ์สู้รบในประเทศเมียนมา พร้อมยืนยันว่า ประเทศไทยมีจุดยืนที่เป็นกลาง ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยชนและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย อีกทั้งไม่ก้าวก่ายกิจการภายในของแต่ละประเทศ
หากพวกท่านอาจจะเรียนภูมิศาสตร์มาแล้ว และเห็นว่าชายแดนของเราติดกับเมียนมาประมาณ 2,000 กิโลเมตร เพราะฉะนั้น ถือเป็นมีพื้นที่ที่ติดกันจำนวนมาก การเข้าออกได้ทุกทางสามารถเปลี่ยนไปได้อย่างง่ายดาย ซึ่งประเทศที่จะมีส่วนได้ส่วนเสียกับประเทศเมียนมา และสามารถพัฒนาได้ประโยชน์สูงสุดก็คือประเทศไทย แต่ในทางกลับกัน หากเขาอยู่ไม่ได้เราก็จะเดือดร้อน ซึ่งจุดยืนของเราชัดเจน ตามนโยบายที่ทางอาเซียนให้เรามา
เศรษฐา ทวีสิน
ส่วนโครงการแลนด์บริดจ์ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมทุนระหว่างเอกชนและรัฐบาล ยืนยันว่าคนที่จะ Control Access ทั้งหมด ต้องเป็นรัฐบาลไทย พร้อมมองว่า ประเด็นความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ จะทำให้ทุกคนต้องการเส้นทางนี้ในการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ
ผมมั่นใจว่าประเทศไทยจะเป็นสวิตเซอร์แลนด์ของโลก แลนด์บริดจ์จะเป็นอาวุธที่สำคัญเท่ากับเรือฟริเกต (Frigate) เครื่องบินกริพเพน (Gripen) ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพที่ดีขึ้น ใครก็ตามที่รุกรานเราก็จะคิดเสมอว่า เส้นทางนี้เป็นเส้นทางเศรษฐกิจที่สำคัญ หากถูกรุกรานเมื่อไหร่ก็จะได้รับความเดือดร้อน ซึ่งแลนด์บริดจ์จะต้องได้รับการลงทุนที่เหมาะสม และต้องนำมาซึ่งความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
เศรษฐา ทวีสิน
เศรษฐา กล่าวยังกล่าวถึงนโยบายสมัครใจเกณฑ์ทหารในรัฐบาลนี้ ซึ่งจะต้องค่อยๆ ทำด้วยการเปลี่ยนผ่าน เพราะสังคมไทยไม่ชอบอะไรที่เปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือ
ผมเชื่อว่าสถาบันทหารเอง ก็ต้องการบุคลากรที่มีคุณภาพที่ต้องเข้าไปอยู่ในองค์กรทำให้สถาบันทหารแข็งแกร่งขึ้น แต่แน่นอนว่า จิตวิญญาณของพวกเราทุกคน คนสมัยใหม่ต้องการทางเลือก ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ ก็ต้องมาด้วยกฎระเบียบที่ต้องค่อยๆ ผ่อนคลายกันไป วันนี้ก็เริ่มเห็นผลแล้ว ไม่ว่าจะเป็นมาตรการที่รับสมัครทหารมากขึ้น และลดปริมาณการเกณฑ์ทหารลง พร้อมกับมองว่า สายการแพทย์ของทหาร หากจะรับบุคลากรทางการแพทย์ทหารมากขึ้นแล้วผิดตรงไหน ก็เขาสมัครใจอยากจะมาเป็น อย่าเอาทฤษฎี One Size Fits All (แบบเดียวใช้ได้หมด) มาใช้กับทุกบริบทของประเทศ
เศรษฐา ทวีสิน
เศรษฐา กล่าวด้วยว่า หลังจบคอร์สในเดือน ก.ย.นี้แล้ว หากสามารถช่วยคนที่อยู่ฐานรากของสังคมได้ ก็ขอให้ช่วยอย่างจริงจัง อย่างการใช้เส้นสายในแง่ของช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าให้กับเกษตรกร ใช้เครือข่ายที่ตัวเองมีอยู่ช่วยเหลือประชาชน และคิดว่าสังคมไทยจะมั่นคงยิ่งขึ้น โดยมีฐานรากของเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง
ผมคิดว่าระยะเวลาการอบรม 6 เดือนนี้ จะเป็นมิตรภาพที่แน่นแฟ้น และมีส่วนพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต
เศรษฐา ทวีสิน