วัดใจ ‘เศรษฐา-ทัพฟ้า’ เดิมพัน ‘เอฟ-16 VS กริพเพน’

17 กุมภาพันธ์ 2567 - 09:50

Srettha-Panpakdee-F16-Gripen-SPACEBAR-Hero.jpg
  • การจัดสัมพันธ์ในรอบ 10 ปี ระหว่าง ‘กองทัพ’ กับ ‘รัฐบาลเพื่อไทย’ ถูกมองผ่านปรากฏการณ์ 2 นโยยาย ระหว่าง ‘รัฐบาล-กองทัพ’ ที่หวัง ‘ยื่นหมูยื่นแมว’

  • ถือเป็นการ ‘วัดใจ-ซื้อใจ’ หลัง ‘เศรษฐา’ ประกาศชัดไม่ ‘ปฏิรูปกองทัพ’ แต่เน้น ‘พัฒนาร่วม’ ทำให้เกิดกระแสวิจารย์ถึง ‘จุดยืนเพื่อไทย’ มาแล้ว

  • ในยุคที่ ‘ปากท้อง’ ก็สำคัญ ‘เศรษฐกิจ’ ต้องเดินหน้า แต่ ‘กองทัพ’ ก็ต้องคงความพร้อมรบ จัดหา ‘ยุทโธปกรณ์’ เพื่อทดแทนของเก่า

  • จับตา ‘เศรษฐา-ทัพฟ้า’ กับเดิมพันจัดหาเครื่องบินรบ จะจบที่ F-16 หรือ Gripen บนเงื่อนไขที่รัฐบาลตั้งไว้ กับงบ 19,000 ล้านบาท

สัญญาใจ 1.9 หมื่นล้าน

พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผบ.ทอ. เปิดเผยว่า ทอ. เตรียมตั้งงบประมาณปี 68 เพื่อจัดหาเครื่องบินรบทดแทน F-16 Block 15 ที่ใช้งานมาแล้วกว่า 35 ปี วงเงิน 19,000 ล้านบาท โดยจะพิจารณาจาก 2 ค่าย คือ เครื่องบิน F-16 Block 70 สหรัฐฯ และ Gripen E จากสวีเดน ซึ่งเครื่องทั้ง 2 ค่ายมีประจำการอยู่แล้วใน ทอ. 

แต่สิ่งที่ ผบ.ทอ. ย้ำตามนโยบายของ ‘เศรษฐา ทวีสิน’นายกฯ คือเรื่อง Offset Policy หรือ ‘ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ’ ที่จะตกสู่ภาครัฐ ในการจัดซื้ออาวุธเพื่อให้เงินเข้าประเทศด้วย 

ส่วนหลักในการต่างตอบแทนทางเศรษฐกิจทางบริษัทของสวีเดนที่ผลิตกริพเพน จะได้เปรียบมากกว่าทางสหรัฐฯ หรือไม่ ผบ.ทอ. กล่าวว่า ยังไม่ได้รับการยืนยันตรงนั้น เพียงแต่เราวางมาตรฐานในเบื้องต้นไว้ แต่ถ้าถามว่าการแลกเปลี่ยนของสหรัฐฯ ทุน 333 เป็นรูปของงบประมาณที่ให้เรามาในการช่วยเหลือประชาชนสร้างโรงเรียน ซึ่งการตอบแทนเศรษฐกิจนั้นอาจจะไม่ใช่การแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตร แต่อาจจะเป็นการตั้งโรงงานการผลิตด้วย 

ส่วนท่าทีของ ‘เศรษฐา’ ต่อการจัดซื้อเครื่องบินรบนั้น ผบ.ทอ. กล่าวว่า นายกฯ ให้กองทัพตัดสินใจในสิ่งที่ดีที่สุด ซึ่ง ผบ.ทอ. ได้ตั้ง ‘คณะกรรมการคัดเลือก’ แบบพิจารณา 

ปัจจัยการเมือง ‘มหาอำนาจ’

พล.อ.อ.พันธ์ภักดี ผบ.ทอ. กล่าวว่า ต้องให้ความสำคัญกับมิตรประเทศ แต่ต้องดูเรามีพื้นฐานจากอาวุธยุทโธปกรณ์ของค่ายไหนมาก่อน ทั้งความชำนาญ คู่มือ การซ่อมบำรุง การสอน เพราะส่วนของเครื่องอุปกรณ์ถ้ามีการเปลี่ยนโดยกระทันหันจะยากต่อการสร้างใหม่ หรือ ก่อตั้งหน่วยใหม่ ทำให้เราต้องมาเริ่มต้นใหม่มีผลกระทบต่อขีดความสามารถของเราโดยตรง 

“ไทยเป็นประเทศเล็ก และอยู่ตรงกลางซึ่งหลายประเทศก็ให้ความสนใจในเรื่องการบาลานซ์ของไทยว่าทำได้อย่างไร ซึ่งนั่นเป็นธรรมชาติของคนไทยมากกว่า คิดว่ามหาอำนาจ มิตรประเทศเข้าใจและมีเหตุผล เพราะไม่เคยไปทำอะไรให้เกิดความหวัดระแวงหรือไม่ไว้วางใจ” 

“ผมยืนยันกับมิตรประเทศว่ากองทัพอากาศไม่เคยสะสมอาวุธไปต่อสู้กับใครในรอบบ้าน แต่เราจำเป็นต้องมีเพื่อความทัดเทียมในการป้องกันตัวเอง และทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้านในการปกป้องถ้า เกิดเหตุการณ์ในภูมิภาคเราต้องร่วมมือกัน อยากให้มองภาพในลักษณะของทหารที่เราเป็นรั้ว มีความเข้มแข็ง” 

ผลพวงสถานการณ์โลก

พล.อ.อ.พันธ์ภักดี ผบ.ทอ. ระบุว่า โครงการจัดหาเครื่องบินรบ ต้องใช้งบประมาณสูง ใช้ระยะเวลาในการจัดหา ในการเตรียมผลิตจากบริษัทขายอาวุธ เพราะปัจจุบันสถานการณ์การสู้รบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทั่วโลก ทำให้มีความต้องการอาวุธยุทโธปกรณ์สูง ถ้าไม่วางแผนไว้ก็จะเป็นช่องว่างได้ อาจต้องใช้ระยะเวลา 7-10 ปี ในการเข้ามาประจำการ หลังจากได้รับอนุมัติ 

ทั้งนี้มีรายงานว่า หากเป็นการจัดหาเครื่องบิน F-16 จะใช้ระยะเวลาจัดหา 7-10 ปี แต่หากเป็น Gripen จะใช้เวลาประมาณ 3 ปี 

เทียบดีกรี F-16 กับ Gripen

นักบิน Gripen ที่ กองบิน 7 มีที่เคยทำการบินเครื่องบิน F-16 มาก่อน กล่าวยอมรับในประสิทธิภาพของ Gripen กับ F16 แต่หากจะให้เทียบเครื่องทั้ง 2 รุ่น ที่ประจำการในไทย นำมาเทียบได้ยาก เพราะเครื่องบิน ที่ประจำการ ทอ. ไทย เป็น F-16 Block15 ประจำการ ทอ. แล้ว 30 ปี ส่วน Gripen เข้าประจำการ ทอ. เมื่อปี 2554 หรือราว 12 ปี ดังนั้นเทคโนโลยีต่างๆ-คอมพิวเตอร์ จึงต่างกัน 

แต่หากเปรียบเทียบทางยุทธวิธี ‘หลักการยิง’ มีหลายระดับ หากเป็น ‘ระยะไกล’ ซึ่ง Gripen จะได้เปรียบกว่า เพราะมีระบบเรด้าที่ไกลกว่า แต่ถ้าทะลุเข้ามาใกล้กัน มองเห็นตัวแล้วสู้กัน F-16 ก็จะได้เปรียบกว่า เพราะจะเลี้ยวในวงที่แคบและเร็วกว่า แต่ Gripen ขนาดเครื่องจะเล็กกว่า ทำให้มองเห็นได้ยากกว่า

ส่วนเครื่องชนิดใดดีกว่ากันอยู่ที่ ‘นักบิน’ และ ‘ประสบการณ์’ การบิน การพิจารณาจึงต้องดูปัจจัยโดยรวม  

สถานะ ‘3 กองบินรบหลัก’

การปรับโครงสร้างใหญ่ ทอ. เน้น 3 กองบิน ได้แก่ กองบิน 7 สุราษฎร์ธานี ที่มีเครื่องบิน Gripen ประจำการ , กองบิน 4 ตาคลี ที่มีเครื่อง ‘F-16 ประจำการ ซึ่งได้รับการ Midlife update F-16 MLU ให้ทันสมัยขึ้น และ กองบิน 1 โคราช ที่มีเครื่อง F-16 ประจำการ 2 ฝูงบิน ที่เตรียมปลดประจำการช่วงปี 2571-2575 

วัดใจ-ซื้อใจ ‘ทัพฟ้า-เพื่อไทย’

ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ปรากฏภาพ ‘เศรษฐา’ พบปะ ผบ.เหล่าทัพ นอกรอบหลายครั้ง โดยเฉพาะกับ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี ผบ.ทอ. ที่ทาง ‘รัฐบาลเพื่อไทย’ ขอความร่วมมือมาหลายข้อ ตามที่ ‘เศรษฐา’ เคยย้ำจุดยืนว่าเป็น ‘ยุคพัฒนาร่วม’ ไม่ใช่ ‘ปฏิรูป’ ที่จะใช้กลไกกองทัพในงานด้านเศรษฐกิจ-ปากท้อง 

โดยเฉพาะการจัดระเบียบ ‘ขุมทรัพย์กองทัพ’ ซึ่งในส่วนของ ทอ. ถูกเพ่งเล็งอยู่ 2 สนามกอล์ฟ คือ สนามกานตรัตน์ (สนามงู) กลางรันเวย์สนามบินดอนเมือง ที่ทางรัฐบาลขอนำมายกระดับท่าอากาศยาน-เส้นทางการบิน หรือ Aviation Upgrade โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมขึ้นมา เพราะ ‘สนามงู’ เป็นอีกพื้นที่ ‘ยุทธวิธีทางทหาร’ เพราะเป็น ‘Airside Areas’ ที่กั้นระหว่าง ‘การท่าอากาศยาน’ กับ ทอ. ด้วย รวมทั้ง ทอ. ยินดีให้ความร่วมมือจัดตารางการฝึกบินให้เหมาะสม ให้รบกวนการขึ้น-ลงของเครื่องบินพาณิชย์น้อยที่สุด  

ส่วนสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ ทาง ทอ. มีความกังวลเรื่อง ‘บุคลากร’ ที่อาจตกงานกว่า 2,000 คน จึงมีการตั้งคณะกรรมการร่วมขึ้นมา ทาง ทอ. เสนอโมเดล ‘ศูนย์สงเสริมกีฬาครบวงจร’ ขึ้นมา ให้ประชาชนมาใช้บริการได้ ทั้งการตีกอล์ฟ ออกกำลังกาย สระว่ายน้ำ 

นอกจากนี้ ‘เศรษฐา’ ขอแนวทางใช้ ‘สนามบินโคราช’ ที่เป็นสนามบิน ทอ. (กองบิน 1) จะมีการเปิดพื้นที่ให้ ‘สายการบินพาณิชย์’ได้มาใช้ประโยชน์ร่วมกัน 

สุดท้ายคือเรื่อง ‘ถนนวงแหวนรอบที่ 1’ จ.เชียงใหม่ ที่ต้องผ่าน ‘กองบิน 41’ ทาง ทอ. ยินดีให้มีการพัฒนาร่วมกัน เพื่อแก้ปัญหาการจราจร แต่ทาง ทอ. ยังคงย้ำมาตราการ รปภ. เพราะกองบินเป็นพื้นที่ความมั่นคงมีเครื่องบินทางยุทธวิธี จึงเป็น ‘พื้นที่ชั้นความลับสูง’ และมีเขตพระราชฐาน ที่ต้องให้การรักษาความปลอดภัยสูงสุดด้วย 

ทั้ง 4-5 เรื่อง คือสิ่งที่ ทอ. ตอบรับนโยบาย ‘รัฐบาล-เศรษฐา’ ถือเป็นการ ‘ซื้อใจ’ รัฐบาล เพื่อ ‘วัดใจ’ การอนุมัติจัดซื้อ ‘เครื่องบินรบ’ จากรัฐบาลในอนาคตด้วย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์