ผู้สื่อข่าวรายงานการประชุม คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 ณ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.)
โดยมี นิกร จำนง กรรมการฯ และโฆษกฯ, ชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย, พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, แสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม

นิกร จำนง เปิดเผยว่า ที่ต้องเชิญ ชูศักดิ์ และ พริษฐ์ มาร่วมประชุม เพราะทั้งคู่เป็นผู้ริเริ่มการแก้ไขกฎหมายประชามติ ในส่วนของสภาฯ จึงต้องการรับฟังความคิดเห็น โดยผลการหารือคณะกรรมการพิจารณาแนวทางประชามติ ได้ยกร่างแก้ไขกฎหมายประชามติ โดยนำจุดแข็งของแต่ละร่างมารวมกัน เพื่อให้ได้กฎหมายประชามติที่ดี ไม่ใช่แค่เรื่องรัฐธรรมนูญ แต่ทำประชามติได้ทุกเรื่อง
โดยจะเสนอในนามของคณะรัฐมนตรี มีสาระสำคัญ อาทิ การออกเสียงประชามติสามารถนำไปรวมกับการเลือกตั้งอื่นได้ เพื่อประหยัดงบประมาณ และเวลาของประชาชนที่ต้องมาออกเสียง สามารถออกบัตรเลือกตั้งอื่นได้ เช่น การลงคะแนนผ่านไปรษณีย์ และการลงคะแนนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านแอปพลิเคชัน
และประเด็นสำคัญ ให้ถือเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ โดยคะแนนเสียงข้างมากต้องมีเกินกึ่งหนึ่งของผู้ที่มาออกเสียง ไม่ใช่เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แทนของเดิมที่ต้องใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น
โดยวันที่ 3 พ.ค. คาดว่าร่างดังกล่าว จะสามารถเปิดรับฟังความเห็นของประชาชนได้ผ่านเว็บไซต์ สปน. ไม่น้อยกว่า 15 วัน แล้วจะเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบได้ต่อไป
ความตั้งใจจะเสนอร่างดังกล่าวได้ทันการเปิดสภาฯ สมัยวิสามัญ หลังการพิจารณาร่างงบประมาณปี 68 เมื่อสภาฯ เปิดสมัยสามัญ เดือน ก.ค. ก็จะได้พิจารณาวาระต่อไป ซึ่งคาดว่าจะมี สว.ชุดใหม่ เข้ามาแล้ว
นิกร จำนง
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า สรุปแล้วจะได้ลงประชามติเดือนไหน หลังจากที่เคยระบุปลายเดือน ก.ค., ต้นเดือน ส.ค. ประชาชนจะได้ออกเสียงนั้น นิกร ชี้แจงว่า เราเห็นปัญหาที่หากทำประชามติโดยยังไม่แก้กฎหมายประชามติ โดยใช้งบประมาณไป 3,500 ล้านบาท คนมาใช้สิทธิไม่ครบเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิทั่วประเทศ หรือ 26 ล้านคน จะทำให้งบประมาณเสียไปเปล่าๆ หลังจากนี้ จะได้เข้าคูหาเมื่อใดนั้น ต้องรอให้กฎหมายประชามติฉบับใหม่เสร็จสิ้นก่อน แล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปคุยรายละเอียดอีกทีทั้งเรื่องงบประมาณ การกำหนดวัน
ถ้าถามเวลาตอนนี้ ผมยังตอบไม่ได้ แต่คาดว่าจะทำได้ภายใน 5 เดือน หลังกฎหมายประชามติมีผลบังคับใช้ และผมอยากให้การทำประชามติครั้งที่ 2 ไปตรงกับการเลือกตั้งนายก อบจ. ช่วงต้นเดือน ก.พ. 68 และขอยืนยันการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทำเสร็จในกรอบเวลา 4 ปี ของรัฐบาลนี้
นิกร จำนง

ฟาดรัฐบาลสื่อสารให้ชัดเจน จี้เร่งเปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญ แก้กฎหมายประชานติ ไม่ต้องรอร่าง ครม.
ด้าน พริษฐ์ วัชรสินธุ ชี้ให้เห็นว่า อาจมีตัวแทนรัฐบาลที่สื่อสารผิดพลาดเกี่ยวกับการกำหนดวันทำประชามติครั้งแรก ที่ระบุว่าจะมีขึ้นปลายเดือน ก.ค. ถึงเดือน ส.ค. ซึ่งเป็นการตีความว่า เริ่มนับหนึ่ง ตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติให้เดินหน้าการทำประชามติ ตามที่คณะกรรมการศึกษาแนวทางฯ เสนอเมื่อวันที่ 23 เม.ย. แต่เราค้นพบวันนี้ว่า มติคณะรัฐมนตรียังไม่ให้นับหนึ่ง แต่จะนับหนึ่งก็ต่อเมื่อมีการแก้ไขกฎหมายประชามติเสร็จแล้ว
จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาล สื่อสารเกี่ยวกับการกำหนดวันทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน ขณะที่ตนเองและ ชูศักดิ์ มีความเห็นร่วมกันให้คณะรัฐมนตรีเสนอเปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญ โดยเร็วที่สุด เพราะตอนนี้ มีร่างแก้ไขกฎหมายประชามติของพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย เสนอเข้าสู่สภาฯ แล้ว
หากร่างคณะรัฐมนตรีประกบทัน ก็ถือว่าดีไป หากไม่ทัน ก็มีสองร่างดังกล่าวให้พิจารณาได้ แล้วให้รัฐบาลเสนอเนื้อหาเพิ่มเติมในชั้นกรรมาธิการในภายหลัง
พริษฐ์ วัชรสินธุ
นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลมีข้อกังวลเกี่ยวกับคำถามในการทำประชามติ อยากให้การตั้งคำถามเป็นการถามที่เปิดกว้างว่า ประชาชนเห็นชอบหรือไม่ให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะมองว่า หากถามแบบกว้าง โอกาสผ่านจะมีมากกว่า
และหากประชามติผ่านไปแล้ว รัฐบาลยังสามารถรักษาจุดยืนของตัวเองที่จะไม่แตะหมวดหนึ่ง, หมวดสอง ได้ในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เกี่ยวกับการกำหนดกรอบการทำงานของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ถือว่าข้อเสนอนี้ เป็นการเสนอด้วยความปราถนาดี ที่อยากเห็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประสบความสำเร็จ
เล็งแก้ผ่าน 2 สภาฯ เพราะช่วงปฏิรูปประเทศหมดแล้ว
ส่วน ชูศักดิ์ ศิรินิล กล่าวว่า การแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 จะเข้าพิจารณาใน 2 สภาฯ ตนเองและ พริษฐ์ รวมถึงคนส่วนใหญ่ เห็นว่าการปฏิรูปประเทศหมดลงไปตามวาระของ สว. จึงใช้ขั้นตอนปกติ โดยผ่านสภาผู้แทนราษฎร ก่อนส่งต่อให้วุฒิสภาพิจารณา ซึ่งจะเร่งรัดให้กฎหมายนี้เข้าสู่สภาฯ ในการเปิดสมัยประชุมสภาสมัยวิสามัญที่จะถึงนี้ เพื่อให้การแก้ไขกฎหมายเร็วขึ้น ซึ่งร่างดังกล่าว ได้มีการบรรจุไว้ในระเบียบวาระเรียบร้อยแล้ว เพียงวาระของ ครม. ก็น่าจะเสร็จทัน
ดังนั้น การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เป็นวาระรับหลักการในชั้นวิสามัญ และตั้งกรรมาธิการ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่มาก หรืออย่างน้อยประมาณ 3 เดือน หลังจากนั้น จะนำกฎหมายส่งต่อไปพิจารณาในวุฒิสภา แต่ปัญหาใหญ่คือ ผู้พิจารณาจะต้องเป็นวุฒิสภาชุดใหม่ และหวังว่าวุฒิสภาชุดใหม่จะราบรื่น ไม่ติดขัดอะไร
ไทม์ไลน์คาดการณ์ว่า อย่างน้อยที่สุด การทำกฎหมายประชามติ ไม่น่าจะเกิน 6 เดือน ซึ่งเป็นไปได้ว่า การเริ่มทำประชามติครั้งแรกจะนับระยะเวลา 6 เดือนหลังจากนี้ ส่วนจะทำประชามติในครั้งแรก เป็นช่วงของการเลือก อบจ.หรือไม่ เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องนำไปพิจารณา
ชูศักดิ์ ศิรินิล