ชะตากรรม ‘เรือดำน้ำ’ ซ้ำรอย ‘เงินดิจิทัลฯ’ วัดใจ ‘เพื่อไทย’

15 ม.ค. 2567 - 10:46

  • มหากาพย์ ‘เรือดำน้ำ’ ไม่จบง่ายๆ แม้ว่า ‘อัยการสูงสุด’ จะส่ง 3 คำถามที่ ทร. ส่งให้พิจารณากลับมา ทร. แล้ว

  • ‘ทร.-กลาโหม’ นำส่ง 7 หน่วยงาน เพื่อพิจารณาขั้นสุดท้าย ก่อนนำเข้า ครม. เช็กท่าที ‘รบ.เพื่อไทย’ จบเรื่องนี้อย่างไร?

Submarine-Digital-Wallet-Pheuthai-Party-Test-One-Willingness-SPACEBAR-Hero.jpg

ความคืบหน้าล่าสุดโครงการจัดหาเรือดำน้ำของ ทร. ภายหลังสำนักงานอัยการสูงสุดส่งคำตอบกลับมายัง ทร. ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา หลัง ทร. ถามเพื่อต้องการความชัดเจนในการแก้ปัญหา ‘เครื่องยนต์เรือดำน้ำ’ หลังจีนไม่สามารถใส่เครื่อง MTU 396 ที่ได้รับ ‘License หรือ ลิขสิทธิ์’ ในการผลิตใช้งานและส่องออกจากเยอรมัน ต่อมาทางการเยอรมันสั่งห้ามนำไปใช้ต่อเรือเพื่อจำหน่ายประเทศที่ 3 ทำให้ทางการจีนต้องแก้ปัญหาโดยการเสนอใส่ ‘เครื่องยนต์จีน’ รุ่น CHD 620 แทน แต่ในสัญญาเรือดำน้ำระหว่างไทย-จีน ระบุชื่อรุ่นชัดว่า MTU 396 ที่ท้ายด้วยว่า GB31L (ผลิตในจีน)

ทร. ทำหนังสือถึงสำนักงานอัยการสูงสุด ตั้งแต่ พ.ย.66 เพื่อสอบถาม 3 ประเด็น 

1. การปรับแก้เครื่องยนต์เป็นสาระสำคัญหรือไม่ 

2. การจะเปลี่ยนเรือดำน้ำมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง 

3. อนุมัติให้แก้ไขเครื่องยนต์ อำนาจอยู่ที่ใคร

จนมาถึงสัปดาห์ที่ผ่านมา ‘สุทิน คลังแสง’รมว.กลาโหม ออกมาเปิดเผยว่า อำนาจสุดท้ายในการพิจารณา คือ ‘คณะรัฐมนตรี’ แต่จะรับฟัง ทร. ให้มากที่สุด ภายหลังสื่อถามว่าหากความเห็น ทร. กับ ครม. ต่างกันจะทำอย่างไร?

ส่วนข้อเสนอของ ‘สุทิน’ ที่เจ้าตัวเคยสารภาพกลางสภาฯ ระหว่างการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 67 ว่าเป็นการ ‘โยนหินถามทาง’ ในการเสนอต่อ ‘เรือฟริเกต’ แทน ‘เรือดำน้ำ’ นั้น ท่าทีล่าสุดของ ‘สุทิน’ ก็เปลี่ยนไป มีน้ำเสียงที่อ่อนลง เมื่อถูกสื่อถามถึงข้อเสนอนี้ขึ้นมา โดยตอบสื่อโดยหลักการว่ายึด 3 แนวทาง ได้แก่

1.ความต้องการของกองทัพเรือ 

2.ผลประโยชน์ของประเทศต้องไม่เสียหาย 

3.ถ้าไม่จำเป็น ก็ไม่อยากให้กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ซึ่งข้อที่สำคัญ คือ ข้อที่ 3 โดยมีรายงานว่าท่าทีของ ‘จีน’ ยืนกรานในการใส่ ‘เครื่องยนต์จีน’ เพราะบริษัท CSOC ได้ลงทุนต่อเรือไปแล้ว ไม่เช่นนั้นก็จะขาดทุน อีกทั้งฝ่ายไทยก็จ่ายเงินไปแล้วกว่า 6,000 ล้านบาท

อีกทั้ง ‘สุทิน’ เคยกล่าวในกลางสภาฯ ระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯปี 67 ในการจะเอาเงิน 6,000 ล้าน ไปแลกกับมูลค่าทางเศรษฐกิจ 2 แสนล้านบาทไม่ได้ ซึ่ง ‘สุทิน’ มองว่าเป็น ‘ยุทธศาสตร์’ ไม่ใช่การ ‘ง้อ’ อีกทั้งย้ำว่าเงิน 6,000 ล้าน ต้องไม่สูญเปล่า

ทั้งนี้ ‘สุทิน’ เตรียมเชิญ ‘บิ๊กดุง’พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพูดคุย ทั้งฝ่ายนโยบาย ฝ่ายกฎหมาย พูดคุย หลังได้คำตอบจาก ‘อัยการสูงสุดแล้ว’ พร้อมกันนี้มีรายงานว่า ทาง ‘กองทัพเรือ-กลาโหม’ ได้นำคำตอบของสำนักงานอัยการสูงสุด ส่งให้ 7 หน่วยงาน ในการพิจารณา ได้แก่ คณะกรรมการกฤษฎีกา กระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ที่เป็นปลายทางของเรื่องนี้

เรียกว่า 'กฤษฎีกาฯ' ยุคนี้ ต้องรับเรื่องร้อนของรัฐบาล ตั้งแต่เรื่อง พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้าน ในการจัดทำโครงการ 'ดิจิทัลวอลเล็ต' มาจนถึงเรื่อง 'เรือดำน้ำ'

ใกล้ถึง ‘ปลายทางเรือดำน้ำ’ เริ่มเห็นเค้าลาง ‘คำตอบ’ จะจบอย่างไร? แต่ทั้งหมดนี้ปัญหาเกิดมาจาก ‘ฝ่ายการเมือง’ ในอดีต เข้าไป ‘ล้วงลูก’ การจัดหายุทโธปกรณ์ของ ‘กองทัพ’ มากเกินไป 

สุดท้ายนี้ต้องวัดใจ ‘รัฐบาลเพื่อไทย’ จะจบเรื่องนี้อย่างไร? เพราะอีกแง่ก็สะท้อนภาพสัมพันธ์ ‘กองทัพ-รัฐบาล’ ด้วย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์