‘เพื่อไทย’ ทิ้งบอมบ์ ‘เรือดำน้ำ’ งานนี้ ‘ทัพเรือ’ สมยอม หรือ กลืนเลือด ?

1 เมษายน 2567 - 14:29

Sutin-Pheuthai-Party-Srettha-Adoong-Submarine-SPACEBAR-Hero.jpg
  • สุดท้าย ‘กองทัพเรือ’ หรือ ‘เพื่อไทย’ เปิดข้อเสนอยกเลิก ‘เรือดำน้ำ’ เปลี่ยนเป็น ‘เรือฟริเกต’ หรือ ‘เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง’ แทน หลังข้อเสนอเดินตั้งแต่ ต.ค.66 ถูกปัดฝุ่นอีกครั้ง

  • เปิดเบื้องหลังวงเจรจา ‘ไทย-จีน’ หลัง ‘สุทิน คลังแสง’รมว.กลาโหม ควง ผบ.ทร.-รมช.ต่างประเทศ พร้อม ‘วิศวกรเครื่องยนต์’ บินด่วนไปจีน งานนี้จีนมีท่าทีอย่างไร จะยอมไทยหรือไม่

  • ปลายทาง ‘มติ ครม.’ จะเคลียร์จบหรือไม่ จะมี ‘เช็คบิลย้อนหลัง’ หรือไม่ เพราะโครงการเรือดำน้ำ เป็นหนึ่งในมรดกจากยุค คสช. ที่ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ มอบนโยบาย ‘สุทิน’ ทำให้จบ โดยฝั่ง ‘สุทิน’ ขีดเส้นเชื่อว่า เม.ย.67 จบแน่

เรียกว่าเป็น ‘วิบากกรรม’ สำหรับโครงการเรือดำน้ำ แม้จะผ่านมาแล้ว 6 ปี การต่อเรือที่ดำเนินมากว่า 50 เปอร์เซนต์ เมื่อเปลี่ยนมาเป็น ‘รัฐบาลเพื่อไทย’ แม้จะเป็น ‘รัฐบาลข้ามขั้ว’ แต่ในเรื่อง ‘กองทัพ’ ภายใต้ ‘ดีลลับ’ กำหนดขอบเขตไว้แค่ไหนอย่างไร ที่รัฐบาลจะไม่ ‘ล้วงลูก-ล้างบางกองทัพ’ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นท่าที ‘เพื่อไทย’ ก็ไม่ยอมอ่อนให้ ‘กองทัพ’ ไปเสียหมด หนึ่งในนั้นคือการ ‘จัดหายุทโธปกรณ์’ ต่างๆ ที่ชิงไหวชิงพริบใส่กัน

โดยเฉพาะ ‘กองทัพเรือ’ เป็นตำบลกระสุนตก สัมพันธ์ระหว่าง ‘เพื่อไทย-ทร.’ ดูจะมี ‘ระยะห่าง’ มากกว่าเหล่าทัพอื่นๆ ที่ปรากฏชัดผ่านโครงการจัดหา ‘เรือฟริเกต-เรือดำน้ำ’ ที่ส่งผลต่อกันและกัน ด้วยเป็นโครงการที่ต้องใช้งบประมาณสูงนับหมื่นล้านทั้งคู่ ในสภาวะที่รัฐบาลต้อง ‘ระดมหาเงิน’ มาทำโครงการแจกเงิน ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ผ่านการจัดงบประมาณปี 2567-68 และไม่ให้ถูกมองว่า ‘เลียท็อปบูท’ ตามที่ ‘เศรษฐา’ กล่าวเอาไว้

ล่าสุด ‘สุทิน คลังแสง’รมว.กลาโหม บินด่วนไปจีน กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมี ‘บิ๊กดุง’พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร. ‘จักรพงษ์ แสงมณี’รมช.การต่างประเทศ ที่ได้ชื่อว่าเป็นสายตรง ‘เศรษฐา’ พร้อมด้วยคณะ ‘ฝ่ายเสนาธิการ-วิศวกรเครื่องยนต์’ เดินทางไปด้วย เพื่อพูดคุยกับ ‘คณะทำงานฝ่ายจีน’ โดยการพูดคุยได้มีการพูดในหลายข้อเสนอ ในข้อดีข้อเสีย และความเป็นไปได้

‘สุทิน’ เปิดเผยว่า เรือดำน้ำก็เป็นทางเลือกหนึ่งว่าเป็น ‘เครื่องยนต์จีน CHD 620’ แต่ทำให้เราสบายใจได้หรือไม่ว่า คุณภาพได้รับการอ้างอิงและรับรอง ส่วนประเด็นที 2 ถ้าเปลี่ยนเรือฟริเกตหรือเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง (OPV) ต้องถามกองทัพเรือว่ารับทางเลือกนี้ได้หรือไม่ ถ้าไม่เอาเรือดำน้ำ ก็เป็นการเรียงลำดับกันอยู่ 

ดังนั้นถ้าไม่ได้เรือดำน้ำก็เป็น ‘เรือฟริเกต หรือ เรือOPV’ จึงยังไม่สรุปว่าเป็นแนวทางใด เชื่อว่าจะจบแล้วนำเข้า ครม. เดือน เม.ย.67

แต่ที่เรียกว่า ‘ตรงไปตรงมา’ แบบไม่เกรงใจ ‘จีน’ คือการที่ ‘สุทิน’ กล่าวถึงสาเหตุการปัดฝุ่นคืนชีพข้อเสนอ ‘ยกเลิกเรือดำน้ำ’ เพราะไม่มั่นใจเครื่องยนต์จีน

สังคมไทยยังติดใจอยู่ว่าไม่เป็นไปตามข้อตกลงและยังไม่สบายใจคุณสมบัติเรือดำน้ำ พูดง่ายๆคือคนไทย ยังคิดว่าไม่ได้อย่างที่ตกลงกัน และยังไม่มั่นใจในคุณสมบัติในเครื่องยนต์ (CHD 620) ที่ไม่เคยใช้ที่ใด อันนี้เป็นความลำบากใจของเรา ให้ทางจีนเข้าใจตรงนี้ด้วย ซึ่งผมก็ได้แสดงความเห็นใจกับทางเขาไปด้วย เพราะเขาได้ดำเนินโครงการมาแล้ว ดังนั้นจะพบกันตรงไหน ไม่ให้สองฝ่ายเสียประโยชน์

สุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม

ส่วนท่าทีของจีนต่อข้อเสนอที่ไทยยื่นไป ‘สุทิน’ เปิดเผยว่า “เขาไม่ได้แข็งกร้าว เขามีท่าทีรับพิจารณา แต่มีเงือนไขว่า ถ้าเป็นเรือฟริเกตหรือเรือOPV ต้องมาคุยกันเรื่องราคา โดยเป็นเงินที่เราจ่ายไปแล้ว และเงื่อนไขอื่นๆ ประกอบด้วย เขาไม่ได้ปิดแนวทางนี้”

สำหรับข้อเสนอดังกล่าวยังเป็นเพียง ‘ระดับคณะทำงาน-ระดับประสานงาน’ ของทั้งฝั่งไทยและจีน ที่สุดท้ายหากได้ข้อสรุปก็จะส่งให้ ‘ระดับรัฐบาล’ 2 ประเทศต่อไป ที่เป็น ‘ชั้นตัดสินใจ’ ในส่วนของไทยก็คือ ‘นายกฯ - ครม.’ เพราะโครงการเรือดำน้ำจัดหาแบบ ‘รัฐต่อรัฐ’ จึงเป็นเรื่อง ‘ระดับนโยบาย’ ที่ต้องจบด้วย ‘มติ ครม.’ นั่นเอง

โครงการ ‘เรือดำน้ำ’ เปรียบเป็น ‘ของร้อน’ สำหรับ ทร. ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา การ ‘ดำเนินการ’ ที่ทำตามขั้นตอนกฎหมาย ในอีกแง่ก็ถูกมองว่าเป็นการ ‘ยื้อเวลา’ ไปในตัว แต่ทุกอย่างก็มี ‘เส้นตาย’ เช่นในปัจจุบันนี้ แต่บริบท ‘การเมืองเปลี่ยน’ ทำให้ ‘ชะตาเรือดำน้ำ’ เปลี่ยนไปด้วย

ประกอบกับเกิดเหตุการณ์ รล.สุโขทัย อับปาง ก็ทำให้แผนการวางกำลังทางเรือของ ทร. ต้องปรับใหญ่อีกครั้ง ทำให้ต้องเร่งหา ‘เรือฟริเกต’ หรือ ‘เรือ OPV’ เข้ามาประจำการเร็วขึ้น เพราะกำลังทางเรือของ ทร. ในขณะนี้ ‘เรือฟริเกต’ เข้าสู่ภาวะไม่เพียงพอ เพราะ ‘เรือฟริเกต’ ที่ประจำการอยู่เหลือ 4 ลำ และใกล้ปลดประจำการ ได้แก่ รล.ตากสิน (ประจำการครบ 40 ปี ในปี 2578) รล.นเรศวร (ประจำการครบ 40 ปี ในปี 2577) รล.รัตนโกสินทร์ (เตรียมปลดประจำการปี 2569 ) และ รล.ภูมิพลอดุลยเดช ที่เข้าประการได้ 5 ปีแล้ว

ดังนั้นข้อเสนอ ‘ยกเลิกเรือฟริเกต’ ไปเอาเรือฟริเกตหรือเรือ OPV จึงถูกปัดฝุ่น หลังเคยมีการพูดคุยระหว่าง ‘สุทิน-ทร.‘ เมื่อ ต.ค.67 เมื่อครั้ง ‘สุทิน’ ตรวจเยี่ยม บก.ทร.วังเดิม ที่ในขณะนั้นมีการพูดคุย 2 แนวทาง

1.ขอเปลี่ยนรายการไม่เอาเรือดำน้ำก็ได้ แต่ขอเป็นเรือฟริเกต 3 ระบบ สามารถต่อสู้ ทางอากาศ ผิวน้ำ ใต้น้ำ ส่วนราคาก็จะประมาณเรือดำน้ำ 

2.ถ้าไม่ได้เรือฟริเกต ขอเป็นเรือตรวจการณ์ระยะไกล (OPV) ทดแทน 

ทั้งนี้มีรายงานว่า สุดท้ายแล้วหาก ทร. และ ครม. ยกเลิก ‘เรือดำน้ำ’ ไปเอา ‘เรือฟริเกตจีน’ หรือ ‘เรือ OPV’ ก็สามารถทำได้ เพราะเป็นสัญญา ‘จีทูจี’ เป็นเรื่องระดับนโยบาย 2 รัฐบาล ในการตกลงกันเอง แต่โจทย์สำคัญคือต้องตอบประชาชนให้ได้ว่า คุ้มค่าและได้มากกว่าเสียอย่างไร ซึ่งบริษัทที่ต่อเรือให้ไทย บริษัท CSOC เป็นรัฐวิสาหกิจ ก็ต้องปฏิบัติตาม เพราะอยู่ภายใต้รัฐบาลจีน

แต่ปัญหาจะอยู่ที่ ‘เงินค่างวดงาน’ กว่า 7,000 ล้านบาท ที่ไทยจ่ายให้จีนไปแล้ว จะจัดการอย่างไร แม้ว่า ‘สุทิน’ จะย้ำตลอดว่าเงินที่จ่ายไปจะไม่สูญเปล่าก็ตาม

ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวว่า การไปพูดคุยกับ ‘บริษัทเอกชนจีน’ ในการโยกเงินค่างวดงานที่ไทยจ่ายให้จีนไปแล้วกว่า 7,000 ล้านบาท แล้วไปจัดหาเรือฟริเกตจากจีนแทน แต่ปัญหาอยู่ที่เงิน 7,000 ล้านบาท ไม่เพียงพอในการจัดหาเรือฟริเกต แต่ถ้า ‘เรือ OPV’ จะอยู่ที่ราว 6,000 ล้านบาท ก็จะเพียงพอ ซึ่งทั้งหมดอยู่ที่การตกลงของ 2 ประเทศ ในระดับรัฐบาล

สิ่งที่เกิดขึ้นต้องติดตามต่อไปว่าจะมีการไปร้อง ป.ป.ช. ในอนาคตหรือไม่ ในส่วน ทร. ก็ยืนกรานทำตามขั้นตอนมาตลอด ทั้งการให้ ‘กรมอู่ทหารเรือ’ เดินทางไปจีนเพื่อศึกษาและดูการทดสอลสมรรถนะเครื่องยนต์จีน CHD620 ซึ่ง ทร. ก็ยืนกรานเรื่อง CHD 620 เทียบเท่าเครื่อง MTU 396 รวมทั้งส่ง ‘สำนักงานอัยการสูงสุด’ ตีความ 3 ประเด็น 

1.การปรับแก้เครื่องยนต์เป็นสาระสำคัญหรือไม่ 

2.การจะเปลี่ยนเรือดำน้ำมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

3.อนุมัติให้แก้ไขเครื่องยนต์ อำนาจอยู่ที่ใคร

บทสรุปสุดท้ายทุกอย่างต้องผ่าน ‘มติ ครม.’ ทั้งการเปลี่ยนเครื่องยนต์และขยายสัญญาระยะเวลาต่อเรือ ล่าสุด ‘สุทิน’ ออกมาเปิดเผยในส่วนนี้ หลังพูดคุยกับ ครม. อย่างไม่เป็นทางการ ว่า “อะไรที่ ครม. และพรรคร่วมไม่สบายใจ เราก็ไม่อยากทำ”

ในระดับนโยบาย ‘สุทิน’ ได้รับโจทย์จาก ‘เศรษฐา’ ว่าต้อง ‘ทำให้จบ’ ซึ่งคนใน ทร. ก็รู้ท่าทีลึก ‘เพื่อไทย’ ที่ไม่อยากได้ ‘เรือดำน้ำ’ ภายใน ทร. ด้วยกันเองก็ ‘เสียงแตก’ ไม่เป็นเอกภาพ มีท่าที ‘เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา’ จนเกิดคำถามว่า การยกเลิกโครงการเรือดำน้ำ ทร. ‘สมยอม’ หรือ ‘กลืนเลือด’ กันแน่

สุดท้าย ‘รัฐบาลไทย-จีน’ จะจบมหากาพย์เรือดำน้ำอย่างไร แต่ที่ต้องจับตาต่อคือจะมี ‘เช็คบิลย้อนหลัง’ ในฝั่งไทยด้วยกันเองหรือไม่ เพราะโครงการเรือดำน้ำเป็น ‘มรดก’ จากยุค คสช.

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์