มองประเทศไทยผ่าน Google Trends เกิดอะไรขึ้นในวงจรชีวิต 7 ปี (รอบที่ 12) หลังเปลี่ยนจาก ‘สยาม’ เป็น ‘ไทย’

28 ธ.ค. 2566 - 04:30

  • พ.ศ.2566 คือปีที่ประเทศไทยครบรอบ วงจรชีวิต 7 ปี รอบที่ 12 จากวันที่รัฐบาลประกาศเปลี่ยนชื่อจาก ‘สยาม’ เป็น ‘ประเทศไทย’ เมื่อ พ.ศ.2482

  • SPACEBAR ชวนดูเหตุการณ์ใหญ่ที่เป็น ‘ข่าว’ ใหญ่ 5 อันดับแรกบน Google Trends ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2560-2566)

  • การเมือง คนจน คนดัง ความมู หวย กราดยิง โควิด คือเรื่องใหญ่ในความทรงจำของคนไทย

spacebar สเปซบาร์, Google Trends, ประเทศไทย, ปี 2566

พ.ศ.2566 คือปีที่ประเทศไทยครบรอบ วงจรชีวิต 7 ปี รอบที่ 12*

วงจรชีวิต 7 ปี (7 Year Cycles) เป็นแนวคิดของ รูดอลฟ์ สไตเนอร์ (Rudolf Steiner) นักปรัชญาและนักไสยศาสตร์ชาวออสเตรีย ที่เสนอว่า ร่างกายและจิตใจของคนเราจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทุกๆ 7 ปี

แนวคิดดังกล่าวแฝงอยู่ในความเชื่ออย่าง อาถรรพ์รัก 7 ปี เมื่อคู่รักคบกันจนถึงปีที่ 7 ความรักจะเริ่มสั่นคลอนหรือถึงจุดเปลี่ยนแปลง ใน พ.ศ.2555 แนวคิดดังกล่าวถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ รัก 7 ปี ดี 7 หน

หากชีวิตประเทศไทยวางอยู่บนวงรอบ วงจรชีวิต 7 ปี เท่ากับในปีนี้ (พ.ศ.2566) คือจุดบรรจบของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่

ก่อนก้าวไปสู่วงรอบต่อไปของชีวิต SPACEBAR ชวนย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ใหญ่ที่ปรากฏเป็น ‘ข่าว’ ที่คนไทยสนใจมากที่สุด 5 อันดับแรกบน Google Trends ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2560-2566)

ชีวิตประเทศก็เหมือนชีวิตคน เหตุการณ์มากมายนับไม่ถ้วนเกิดขึ้น แต่มีเพียงไม่กี่เหตุการณ์ที่ประทับรอยในความทรงจำ

และกลายเป็น Digital Footprint ขนาดใหญ่บนโลกออนไลน์

*หมายเหตุ: รัฐบาลประกาศเปลี่ยนชื่อจาก ‘สยาม’ เป็น ‘ประเทศไทย’ อย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ.2482

spacebar สเปซบาร์, Google Trends, ประเทศไทย, ปี 2566
Photo: 7 ปี ชีวิตประเทศไทย พ.ศ.2560-2566 ในความทรงจำของคนไทย

ชีวิตประเทศไทย 7 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร?

เบื่อการเมือง อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง

spacebar สเปซบาร์, Google Trends, ประเทศไทย, ปี 2566

ปีนี้ (พ.ศ.2566) การเมืองเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด เพราะมีการ เลือกตั้ง 2566 ที่อาจเป็นการพลิกขั้วรัฐบาล กกต. จึงถูกประชาชนจับตาอย่างใกล้ชิด ผลคะแนนบอกชัดคนไทยจำนวนไม่น้อยอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง หลัง พรรคก้าวไกล มาแรงพลิกโผได้คะแนนเสียงอันดับ 1 แต่ด้วยกลเกมและกลไกการเมืองที่อาศัยเสียง สว. ในการจัดตั้งรัฐบาล สุดท้ายจบด้วยก้าวไกลกลายเป็นฝ่ายค้าน ขณะที่ฝั่งรัฐบาลเป็นคนหน้าเก่าของรัฐบาลชุดก่อน ที่นำโดยคนหน้าใหม่อย่างพรรคเพื่อไทย

การเมืองไทยหลังจากนี้จะไปไหนต่อ จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น หรือวนเวียนเป็นวังวนน้ำเน่า คงต้องรอดู

1 ใน 5 ของคนไทยยัง “จน”

spacebar สเปซบาร์, Google Trends, ประเทศไทย, ปี 2566

ขณะที่ปากท้องยังเป็นเรื่องสำคัญ ลงทะเบียนค่าไฟ รับสิทธิ์ลดค่าไฟของผู้มีสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและบัตรคนจน ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดก่อนเห็นชอบให้ ผู้มีรายได้น้อย หรือคนจน ลงทะเบียนรับสิทธิ์ช่วยเหลือผ่านสวัสดิการแห่งรัฐเมื่อ พ.ศ.2560

12.4 ล้านคน คือจำนวนคนไทยผู้มีรายได้น้อย (มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี, ราว 8,333 บาท/เดือน) ที่ผ่านการลงทะเบียน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เมื่อมีนาคม พ.ศ.2566

ประชากรไทยมีราว 66 ล้านคน มีคนจน 12.4 ล้านคน คิดเป็น 18.7% หรือเกือบ 1 ใน 5 เลยทีเดียว

ความมู (ยังคง) คู่คนไทย

spacebar สเปซบาร์, Google Trends, ประเทศไทย, ปี 2566

ไม่รู้ว่าเพราะความจน ความรู้สึกไม่มั่นคงหรือเปล่า คนไทยจึงหันหน้าเข้าหาที่พึ่งทางใจ กระแส ครูกายแก้ว ในปีนี้ ข่าวพระบิดา ลัทธิประหลาดรักษาโรคด้วยกินอึกินฉี่ เมื่อปีก่อน (พ.ศ.2565) และ ข่าววัดพระธรรมกาย ที่จู่ๆ หลวงพ่อเจ้าอาวาสหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยหลังถูกดีเอสไอฟ้องคดีฟอกเงินเมื่อปีโน้น (พ.ศ.2560) เกิดขึ้นเป็นข่าวใหญ่

ยังไม่นับรวม อาจารย์น้องไนซ์ เชื่อมจิตได้ ที่มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ที่เพิ่งมีข่าวปลายปีนี้ และอีกหลายเรื่องราวที่เกิดขึ้น

แม้ความเชื่อจะเป็นเรื่องวิจารณญาณและความคิดเห็นส่วนบุคคล แต่สิ่งน่าสนใจคือทำไมคนไทยถึงหันหน้าเข้าหาและพึ่งพาสิ่งเหล่านี้กันมากเหลือเกิน

กราดยิง (อีกแล้ว)

spacebar สเปซบาร์, Google Trends, ประเทศไทย, ปี 2566

สิ่งใดเกิดขึ้นสิ่งนั้นดีเสมอ เป็นแนวคิดที่ควรมีติดใจไว้ทุกปี เพราะไม่ว่าปีไหนๆ ต้องมี ‘เรื่องร้าย’ เกิดขึ้นเสมอ เช่น ปีนี้ที่มีข่าวเด็กอายุ 14 กราดยิงพารากอน หรือปีก่อนๆ หน้านั้น ไม่ว่า ข่าวกราดยิง ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นเหตุการณ์อุกอาจจนกลายเป็นข่าวไปทั่วโลกเมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ.2565) รวมถึง กราดยิงโคราช (พ.ศ.2563) ที่สร้างความสะเทือนขวัญไปทั้งประเทศ

เหตุกราดยิงครั้งหนึ่งเกิดจากอดีตตำรวจ อีกครั้งเกิดจากทหาร (และครั้งอื่นๆ ที่ไม่ได้ถูกกล่าวถึง) นำมาสู่คำถามมาตรการควบคุมอาวุธปืนว่าควร เข้มงวด-จริงจัง-เอาจริง แล้วหรือยัง?

โควิด เคอร์ฟิว ภัยพิบัติ และ RSV

spacebar สเปซบาร์, Google Trends, ประเทศไทย, ปี 2566

ช่วงปี พ.ศ.2563-2564 ประเทศไทยและทั่วโลก เจอวิกฤตโควิด-19 โรคระบาดที่เล่นงานมนุษย์จนอลม่านไปทั้งโลก เหมือนมนุษย์ที่คิดว่าตัวเองชนะธรรมชาติได้แล้ว ถูกชกหน้าจากธรรมชาติเข้าอย่างจัง ข่าวโควิด คือเรื่องใหญ่ในช่วงสองปีนั้น หลัง โควิด-19 คร่าชีวิตผู้คนกว่า 18 ล้านคนทั่วโลก จนรัฐบาลหลายประเทศต้องประกาศ ข่าวเคอร์ฟิว เพื่อรักษาชีวิตผู้คนและหยุดการระบาด

ช่วงเวลานั้นหลายคนที่สู้ชีวิตอยู่แล้ว ต้องสู้ชีวิตหนักขึ้น และถูกชีวิตสู้กลับ โศกนาฏกรรมในพื้นที่ต่างๆ ยังคงเกิดขึ้น ข่าวไฟไหม้ (พ.ศ.2564) โรงงานผลิตโฟม ‘หมิงตี้เคมิคอล’ ในซอยกิ่งแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ รุนแรงและอันตราย เพราะอยู่ใกล้เขตชุมชน ข่าวน้ำท่วม (พ.ศ.2564) ที่ท่วมหนักกว่า 20 จังหวัดทั่วประเทศ เพราะฝนตกหนักต่อเนื่องจากอิทธิพลพายุเตี้ยนหมู่ สูญเสียทั้งโอกาสหากินและทรัพย์สิน

หนำซ้ำในปีแรกที่โควิดระบาด (พ.ศ.2563) ความโควิดยังไม่ทันหาย ไวรัส RSV ก็เข้ามาแทรก พ่อแม่ต่างอกสั่นขวัญแขวน เพราะเชื้อส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจในเด็ก ไม่มียารักษา ต้องรักษาตามอาการ ขณะที่เด็กเล็กน้อยกว่า 1 ปี อาจมีอาการปอดอักเสบ

มนุษย์ทุกคนรักชีวิต ชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ โควิดจึงเป็นประเด็นใหญ่นำทุกเทรนด์ แต่นอกจากชีวิตแล้ว อีกเรื่องที่คนไทยให้ความสำคัญและสนใจ คือ ‘คนดัง’

ข่าวคนดัง (มัก) ปังเสมอ

spacebar สเปซบาร์, Google Trends, ประเทศไทย, ปี 2566

ถ้าเรื่องไหนมีคนดังเกี่ยวข้องด้วย เรื่องนั้นมักจะขายได้และติดเทรนด์ สังเกตได้จากข่าวที่ติดเทรนด์ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องคนดัง

ตั้งแต่การสูญเสีย ข่าวแตงโม (พ.ศ.2565) เสียชีวิตปริศนากลางแม่น้ำเจ้าพระยา ข่าวลัลลาเบล (พ.ศ.2562) พริตตี้คนดังเสียชีวิตหลังรับงานเอ็นที่บ้านแห่งหนึ่งย่านบางบัวทอง ข่าวน้องอิน (พ.ศ.2561) ณัฐนิชา เชิดชูบุพการี อดีตดาราเด็กที่ประสบอุบัติเหตุขับรถชนต้นไม้ ในวัย 21 ปี และ ข่าวโอ วรุฒ (พ.ศ.2561) อดีตพระเอก อายุ 49 ปี ที่ช็อกหมดสติและจากไปอย่างสงบ

เรื่องชีวิตส่วนตัวที่ถูกขยายและขายให้กลายเป็นเรื่องส่วนรวมอย่าง ข่าวออฟฟี่ แม็กซิม (พ.ศ.2562) พริตตี้คนดังที่ชีวิตตกอับพลิกผัน ข่าวป๊อป ปองกูล (พ.ศ.2562) กับความสัมพันธ์โลกสองใบ ข่าวปุ๊กกี้ ปริศนา (พ.ศ.2562) อดีตนักร้องดังยุค 90s ที่ถูกตัดสินติดคุก 38 ปีจากคดียาเสพติด

รวมถึงข่าวในวงการบันเทิงที่เน้นขายความบันเทิงผ่านเรื่องราวในวงการมายา เช่น ข่าวนิว วงศกร (พ.ศ.2561) ที่ถูกกุว่าโดดตึกตาย แต่สุดท้ายเป็นข่าวปลอม เต้ย เชียร์ (พ.ศ.2560) คู่ขวัญจากละคร The Cupids บริษัทรักอุตลุด ที่กระแสดีจนคนฟินและจิ้นต่อ

ลุงพล-เปรี้ยว ผลผลิตความบ้าเรตติ้งของสื่อไทย

spacebar สเปซบาร์, Google Trends, ประเทศไทย, ปี 2566

หรือบางคนไม่ดัง แต่มีจุดขาย เช่น หน้าตาดี สื่อก็ทำข่าวปั้นจนกลายเป็นคนดังได้ เหมือน ข่าวลุงพล ผู้ต้องหาคนดังจาก ข่าวน้องชมพู่ (พ.ศ.2563) เด็กหญิงที่เสียชีวิตในสภาพกึ่งเปลือย หลังหายตัวจากบ้านไปอย่างปริศนา ที่จู่ๆ กลายเป็นคนดัง เพราะข่าวทีวีบางช่องที่หากินกับเรตติ้งจนไม่ลืมหูลืมตา ทำข่าวปั้นลุงพลจากผู้ต้องหากลายเป็นดารา สื่อได้เรตติ้งถล่มถลาย แปรรูปเป็นรายได้โฆษณา ลุงพลได้ออกทีวี กินแอร์ไทม์เกินเนื้อหาสาระ มีแฟนคลับคอยติดตามมากมาย จนสุดท้ายลุงพลผันตัวเป็นยูทูบเบอร์

ล่าสุด ไม่กี่สัปดาห์ก่อนถึงสิ้นปีนี้ (20 ธันวาคม) ศาลชั้นต้นจังหวัดมุกดาหาร มีคำสั่งตัดสิน คดีน้องชมพู่ “จำคุกลุงพล 20 ปี” (ฐานกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 10 ปี และฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปจากบิดามารดาปราศจากเหตุอันควร จำคุก 10 ปี) ซึ่งฝ่ายลุงพลคงต่อสู้ในศาลอุทธรณ์ตามกระบวนการ ต้องรอดูว่า ถึงที่สุดแล้วผลจะเป็นอย่างไร

ข่าวเปรี้ยว (พ.ศ.2560) ก็เป็นอีกตัวอย่างของการปั้นคนหน้าตาดีให้มีสถานะเป็นคนดัง ที่เกิดขึ้นก่อนลุงพล และหนักกว่าลุงพล คือเปรี้ยวมีรูปการณ์ที่ชัดเจนว่าเป็นฆาตกรที่ร่วมกับพรรคพวกฆ่าหั่นศพสาวคาราโอเกะ แต่คดีสะเทือนขวัญก็ถูกเบนไปสู่แง่มุมอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น เสื้อที่ผู้ต้องหาเคยสวม รอยสักบนเนื้อตัว กระเป๋าที่ใช้ แป้งที่ทา ฯลฯ จนคนตั้งคำถามว่า สื่อกำลังปั้นผู้ต้องหาเป็นเน็ตไอดอลหรือยังไง?

หลังเกิดคดี ผ่านไป 2 ปี (30 กันยายน พ.ศ.2562) ศาลพิพากษาจำคุก “เปรี้ยวและพวก” ตลอดชีวิต แต่สารภาพลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 34 ปี 6 เดือน

“สื่อยุคปัจจุบันต้องทำเพื่อปากท้อง แม้จะผิดหลักจรรยาบรรณก็ต้องทำเพื่อความอยู่รอด หากไม่ทำอาจถูกหัวหน้าให้เลือกว่าจะทำงานหรือให้ลาออก”

ผศ.มรรยาท อัครจันทโชติ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน พูดในงานเสวนา ฆ่า หรือ ค่า สื่อกับดราม่าความรุนแรงในสังคมไทย หลังดราม่าการนำเสนอข่าวของสื่อส่วนใหญ่ในเวลานั้น

มองตามตำรา คนทำสื่อที่ยังไม่ลืมจรรยาบรรณรู้ดี สิ่งที่ควรนำเสนอคือคุณภาพมากกว่าปริมาณ แต่โลกความเป็นจริงกลับตาลปัตร ปริมาณกลายเป็นตัวชี้วัดหลัก เพราะหมายถึงการอยู่รอดของธุรกิจ ผู้บริหารสื่อที่มีวิสัยทัศน์และรสนิยมที่ดีพอเท่านั้น ถึงจะยืนเด่นโดยท้าทาย รักษาธุรกิจและจิตวิญญาณท่ามกลางพายุแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ยังไม่มีบทสรุปได้

ปัญหาครอบครัว หวย และความโลภ

spacebar สเปซบาร์, Google Trends, ประเทศไทย, ปี 2566

แม้โลกจะเปลี่ยนไปกี่ยุค เรื่องปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่เคยหายไป ข่าวน้องโยโย่ (พ.ศ.2562) เด็กหญิงอายุ 14 ปี หายตัวจากบ้านไปกว่าครึ่งเดือน ก่อนพบว่าไปกับลุงที่สนิทกัน สาเหตุที่น้องโยโย่หนีไปน่าจะเป็นเพราะไม่อยากอยู่บ้าน ขณะที่ทางครอบครัวยอมรับว่า ไม่ค่อยเปิดใจรับฟังปัญหา และกดดันเรื่องการเรียน หลังจากนี้จะเปิดโอกาสให้ลูกทำความสมัครใจ

เช่นเดียวกับเรื่องหวยที่เป็นเหมือนลมหายใจของคนไทย ข่าวหวย 30 ล้าน (พ.ศ.2561) ปริศนามหากาพย์เรื่องหวยถูกรางวัลที่ 1 เป็นของใคร ระหว่าง ‘หมวดจรูญ’ อดีตตำรวจผู้นำหวยไปขึ้นเงินกับ ‘ครูปรีชา’ ที่อ้างว่าหวยนั้นเป็นของตน เรื่องเกิดปลายปี 60 จบที่กลางปี 65 เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า ครูปรีชาไม่ใช่เจ้าของหวย

สงคราม รัฐประหาร เลือกตั้งอเมริกัน

spacebar สเปซบาร์, Google Trends, ประเทศไทย, ปี 2566

คนไทยสนใจเรื่องในประเทศมากกว่าเรื่องนอกตัว แต่ถ้าเรื่องต่างประเทศนั้นเป็นเรื่องใหญ่ มีผลกระทบต่อประเทศ คนไทยก็ติดตามใกล้ชิด ไม่ว่า ข่าวรัสเซีย ยูเครน (พ.ศ.2565) สงครามตัวแทนแสนยืดเยื้อและน่าจะยืดเยื้อต่อไป ที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาราคาน้ำมันแพงโดยตรง ข่าวพม่า (พ.ศ.2564) กองทัพทหารเมียนมารัฐประหาร ฆ่าประชาชนผู้ต่อต้าน ยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนของ อองซาน ซูจี จากนั้น พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย จัดตั้งรัฐบาลใหม่ภายใต้รัฐบาลทหาร เวลานั้นหลายคนอดเชื่อมโยงถึงประชาธิปไตยที่ถดถอยในประเทศไทยไม่ได้ และ US Election 2020 (พ.ศ.2563) การเลือกตั้งใหญ่สหรัฐ ใครได้เป็นประธานาธิบดีล้วนมีผลต่อการวางหมากประเทศไทยตาต่อไป

พี่ตูน ความสามัคคีที่ถ้ำหลวง เรื่องดีที่น่าจดจำ

spacebar สเปซบาร์, Google Trends, ประเทศไทย, ปี 2566

ในดีมีร้าย ในร้ายมีดี ข่าวถ้ำหลวง 13 ชีวิต (พ.ศ.2561) ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย หลังสมาชิกทีมฟุตบอล 12 คน และผู้ช่วยโค้ช 1 คน เดินเข้าไปสำรวจและกลับออกมาไม่ได้ เนื่องจากฝนตกหนัก น้ำเอ่อท่วมตามเส้นทางด้านใน ขังพวกเขาไว้ในถ้ำ นาทีชีวิตนับถอยหลังนับจากนั้น พร้อมกับปฏิบัติการช่วยชีวิตโดยผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ที่มาจากทั่วโลก ตอนจบของภารกิจการช่วยชีวิตลุล่วงด้วยดี เหตุการณ์นี้สอนให้รู้ว่า ท่ามกลางเหตุร้ายมืดมน ถ้ามนุษย์ร่วมมือร่วมใจ ไม่มีอุปสรรคใดจะขวางกั้นได้

แรงใจสำคัญ และส่งถึงกันได้ ก้าวคนละก้าว (พ.ศ.2560) คือหลักฐานของเรื่องนี้ที่เป็นปรากฏการณ์แห่งปีของปีแรกในช่วง 7 ปี (พ.ศ.2560-2566) ที่กำลังผ่านพ้นไป จากหนึ่งความมุ่งมั่นตั้งใจ ตูน บอดี้สแลม เป็นหัวหอกระดมทุนซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาล 11 แห่งทั่วประเทศ ผ่านการวิ่งจากใต้สุดไปเหนือสุดของประเทศ จนมีคนจำนวนมากร่วมบริจาคนับพันล้านบาท

ทั้งหมดนี้ ชีวิตประเทศไทยในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา มีทั้งเรื่องร้ายและดี ที่พอจะสรุปได้ว่า การเมืองเป็นเรื่องใหญ่ คนไทยจำนวนไม่น้อยต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง คนจนยังมาก ความเหลื่อมล้ำยังสูง คนดัง-คนหน้าตาดีมีภาษีที่สังคมจะเทความสนใจให้ ความมูและหวยเป็นสิ่งที่อยู่ในจิตวิญญาณ โศกนาฏกรรมอย่างกราดยิงเกิดขึ้นและเกิดซ้ำ ราวกับไม่เคยได้บทเรียนและข้อคิด โควิดคือมหาวิกฤตที่กินเวลายาวนานร่วม 2 ปี และเป็นคำเตือนมนุษย์ไม่ให้หลงตัวว่ายิ่งใหญ่กว่าธรรมชาติ สื่อมวลชนยังหลงอยู่ในวังวนตัวเลขเพื่อเอาตัวรอดไปวันๆ และยังหาทางออกไม่เจอ ว่าจะสร้างเนื้อหาเชิงคุณภาพ บาลานซ์จิตวิญญาณและธุรกิจ เพื่อถางทางไปสู่อนาคตได้อย่างไร ขณะที่เรื่องร้ายมีเยอะ เรื่องดีก็มีให้เห็น เพราะถึงที่สุด บางเหตุการณ์บอกเราว่า คนไทยไม่เคยทิ้งกัน

พ.ศ.2567 จะเป็นวงจรชีวิต 7 ปีรอบใหม่ของประเทศไทย หวังว่าสิ่งเก่าไม่ดีที่เคยเกิดซ้ำในวงรอบเก่า จะเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี โลกไม่ใจร้ายมากเกินไป แม้จะเห็นว่าพายุความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กำลังพัดมา

ชีวิตประเทศไทย 7 ปีต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร? เอาไว้ปี พ.ศ.2573 มามองผ่าน Google Trends กันอีกที

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์