พักโทษกรณีพิเศษ! ‘ทวี’ ยันไม่เอื้อใคร ยังไม่ปรากฏชื่อ ‘ทักษิณ’

29 มกราคม 2567 - 10:13

Tawee-explains-criteria-for-suspending-punishment-in-special-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ‘รมต.ยุติธรรม’ เผยเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ยังไม่ส่งลิสต์รายชื่อผู้ต้องขังผ่านโครงการพักโทษประจำเดือน ก.พ.

  • ยืนยันยังไม่ปรากฏชื่อ ‘ทักษิณ’

ที่อาคารกระทรวงยุติธรรม (29 มกราคม 2567) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยุติธรรม) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 หรือระเบียบคุมขังภายนอกเรือนจำฯ ว่า ระเบียบได้มีการประกาศใช้มาสักพักแล้ว ขณะนี้กรมราชทัณฑ์ยังอยู่ระหว่างจัดทำระเบียบ แนวทางการปฏิบัติ และกำหนดคุณสมบัติของผู้ต้องขัง ซึ่งจะต้องมารองรับระเบียบคุมขังนอกเรือนจำฯ เพื่อให้เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับเรือนจำทั่วประเทศ

“ผมขอยืนยันว่าระเบียบดังกล่าวถูกประกาศใช้ตามกฎหมาย ไม่ได้ออกเพื่อเอื้ออำนวยใครคนใดคนหนึ่ง เพราะแม้ว่าจะคุมขังยังสถานที่อื่นๆ แต่สถานที่นั้นจะมีสถานะเหมือนเรือนจำทุกประการ เพราะสถานที่เหล่านั้นจะต้องสอดรับกับวัตถุประสงค์การคุมขังของกรมราชทัณฑ์ เช่น ผู้ต้องขังยังจะต้องได้รับการพัฒนาพฤตินิสัยแม้ว่าจะถูกคุมขังนอกเรือนจำฯ เป็นต้น เพื่อผู้ต้องขังจะยังได้รับโอกาสในการพัฒนาตน” พ.ต.อ.ทวี กล่าว

พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า ส่วนระเบียบ แนวทางการปฏิบัติและกำหนดคุณสมบัติของผู้ต้องขังที่จะต้องออกมารองรับตัวระเบียบคุมขังนอกเรือนจำฯ ยังคงอยู่ระหว่าง การจัดทำโดยนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ซึ่งทราบว่าอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เคยเข้ารายงานคณะกรรมการราชทัณฑ์แล้ว แต่ทางคณะกรรมการฯ ระบุว่าเป็นเรื่องของกรมราชทัณฑ์ ที่กรมฯ จะต้องไปขอรับฟังข้อเสนอแนะจากกลุ่มหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง 

ส่วนเรื่องข้อเสนอแนะเกี่ยวกับลักษณะผู้ต้องขังที่จะเข้าเกณฑ์ได้รับการคุมขังนอกเรือนจำฯ หรือสถานที่ใดที่จะมาเป็นสถานที่คุมขังนั้น ทางคณะกรรมการฯ อาจจะเสนอแนะทางกรมราชทัณฑ์หรือไม่เสนอแนะก็ได้ เนื่องจากกรมฯ จะต้องไปหารือพูดคุยกับผู้บัญชาการเรือนจำแต่ละแห่งว่าเรือนจำใดมีความแออัดอย่างไรบ้าง

ทั้งนี้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำฯ จะมีคณะกรรมการจากหลายภาคส่วน หากผู้ต้องขังรายใดจะได้ไปคุมขังนอกเรือนจำฯ ก็จะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการประจำเรือนจำฯ (ระดับ ผบ.เรือนจำฯ) คณะกรรมการส่วนกลางจนถึงระดับอธิบดีกรมราช ทัณฑ์ จะมี 3-4 คณะที่จะต้องพิจารณา

พ.ต.อ.ทวี เปิดเผยถึงกรณีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าจะเข้าโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไปหรือไม่ ว่า ทางเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จะเป็นผู้ดำเนินการและสรุปว่าผู้ต้องขังภายในเรือนจำฯ รายใดจะเข้าเกณฑ์ตามกลุ่มใด และแต่ละกลุ่มจะมีผู้ต้องขังกี่ราย จากนั้นถึงจะไปดูจำนวนตัวเลขอีกครั้ง

“แต่ตอนนี้ยังคงไม่มีการเสนอชื่อของอดีตนายกรัฐมนตรี และรายชื่อผู้ต้องขังอื่นๆ ที่จะเข้าโครงการพักการลงโทษ” รมว.ยุติธรรม กล่าว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์