สภาผู้แทนราษฎรจัดพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ‘ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ’ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ลำดับที่ 11
โดยเมื่อถึงกำหนดพิธี เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้เชิญพระบรมราชโองการ พร้อมอ่านว่า สมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศว่า ตามที่ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ได้เข้าบริหารประเทศ และแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 12-13 ก.ย.2567 และพรรคประชาชนซึ่งเป็นพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุด และสมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เลือก ‘ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ’ เป็นหัวหน้าพรรคประชาชน แล้วนั้น
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 106 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง ‘ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ’ เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 25 กันยายน พุทธศักราช 2567 เป็นปีที่ 9 ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร
จากนั้น ‘ณัฐพงษ์’ ได้ถวายบังคมต่อพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นอันเสร็จพิธี
ทั้งนี้ ภายหลังเสร็จพิธี ‘ภราดร ปริศนานันทกุล’ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ได้มอบดอกไม้และร่วมถ่ายภาพแสดงความยินดีกับ ‘ณัฐพงษ์’ นอกจากนี้ยังมี สส.ของพรรคประชาชนรวมถึงข้าราชการของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ที่มาร่วมในพิธีร่วมแสดงความยินดีและถ่ายภาพร่วมกัน โดยเป็นที่สังเกตว่ามีเพียงสส.พรรคประชาชนจำนวนหนึ่งเข้าร่วมในพิธีเท่านั้น
โดย ‘ณัฐพงษ์’ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวขอบคุณทุกคนให้ความไว้วางใจในการทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ หลังจากนี้ จะหารือพรรคฝ่ายค้านต่อการทำงานหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบถ่วงดุลและให้ข้อเสนอแนะกับฝ่ายบริหารโดยคำนึงถึงประชาชนเป็นสำคัญ และยืนยันว่าจะทำหน้าที่ตรงนี้อย่างตรงไปตรงมาที่สุดให้คุ้มค่าเงินภาษีของประชาชนให้สมกับที่ประชาชนเลือกเรามา ไม่ว่าในฐานะของฝ่ายค้านก็ตาม
ทั้งนี้ เราพร้อมเดินหน้าเสนอกฎหมายต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับประชาชน สนับสนุนและผลักดันกฎหมายต่างๆ ทุกฉบับไม่ว่าจะถูกเสนอจากฝ่ายใดก็ตามตราบใดที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนคนส่วนใหญ่ นับจากนี้การทำงานของฝ่ายค้านจะครบถ้วนสมบูรณ์เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย และจะมีการเตรียมความพร้อมเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจอภิปรายทั่วไป และการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งคาดว่า น่าจะเกิดขึ้นได้ช่วงต้นปี 68 อีกทั้ง ผู้นำฝ่ายค้านยังมีการเดินสายพบประชาชน จากโครงการผู้นำฝ่ายค้านพบประชาชน ตามที่ได้รับเรื่องร้องเรียนเข้ามา
ส่วนปัญหางูเห่าในพรรคร่วมฝ่ายค้าน ‘ณัฐพงษ์’ ยอมรับว่า ที่ผ่านมาเป็นกลไกการหารือของวิปฝ่ายค้าน แต่ยืนยันว่าพรรคประชาชน ไม่มีเสียงแตก
สำหรับการกระชับความสัมพันธ์กับพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะพรรคการเมืองฝ่ายค้านจะใช้กลไกวิปเดินหน้า ทำงานอย่างเต็มที่แยกแยะงานพรรคกับส่วนบุคคลที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณถูกร้องเรียนถูกร้องเรียนเรื่องจริยธรรม และไม่ส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่
“หากมีประเด็นนี้เกิดในสภาผู้แทนราษฎร หากคณะกรรมการจริยธรรมไม่เดินหน้าตรงไปตรงมาอย่างเต็มที่ก็จะทำหลายศรัทธาของประชาชนกลายเป็นว่า สภาผู้แทนราษฎรกำกับดูแลกันเองเพื่อสมาชิกด้วยกันเอง แล้วไม่เดินหน้ากำกับดูแลเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรม เรื่องนี้กรรมาธิการพัฒนาการเมืองได้หารือและส่งเรื่องไปยังคณะคณะกรรมการจริยธรรมของสภาฯ คิดว่าจะมีการดำเนินการเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา”
ณัฐพงษ์ กล่าว
‘ณัฐพงษ์’ ยังกล่าวถึง 7 แพ็กเกจแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาชนว่า เรื่องนี้จะแก้ไขจะต้องได้รับความเห็นตรงกันของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะสว. รัฐบาล หรือฝ่ายค้าน สิ่งที่พรรคประชาชนยืนยันในตอนนี้ คือเรื่องมาตรฐานจริยธรรม มีปัญหาที่จะต้องแก้ไข เพียงแต่สาเหตุพักไว้ก่อน เพราะหากรัฐบาลไม่เห็นด้วย อาจจะทำให้การเดินหน้าการแก้ไขทั้ง 7 ชุดถูกตีตก ซึ่งยังเหลืออีก 6 ชุดที่เหลือ ทั้งเรื่องการบังคับการเกณฑ์ทหาร เรื่องสิทธิการศึกษาและสิทธิของประชาชนต่างๆ ยังอยู่ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราอีก 6 แพ็กเกจที่เหลือ เชื่อว่า รัฐบาลก็จะเห็นตรงกัน ไม่มีเหตุผลใดที่จะไม่เห็นด้วยกับแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ชุดดังกล่าว
ขณะเดียวกัน ขอยืนยันอีกครั้งว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถดำเนินฐานได้โดย 2 ช่องทางคือแก้ไขทั้งฉบับและแก้ไขรายมาตรา ขณะนี้พรรคประชาชนและฝ่ายค้านจะหารือกันผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ชุดที่เหลือ
“เรายังยืนยันว่าการแก้ไขมาตรฐานจริยธรรมเป็นการแก้ไขเชิงระบบ ไม่ใช่แก้ไขของนักการเมืองอย่างเดียว ผมยืนยันว่านักการเมืองจะต้องมีมาตรฐานจริยธรรม เพียงแต่กลไกนั้นจะต้องเป็นกลไกที่ตรวจสอบภายในองค์กรเอง ไม่ควรถูกคุกคามจากองค์กรและองค์กรหนึ่ง เช่น ศาลรัฐธรรมนูญที่เข้ามากำหนดกติกาและบังคับใช้เอง”
ณัฐพงษ์ กล่าว
เมื่อถามว่า จะต้องแสวงหาแนวร่วมเพิ่มอย่างเช่น พรรคภูมิใจไทยหรือไม่ ณัฐพงษ์ กล่าวว่า ไม่ว่าพรรคใดก็ตาม เห็นประโยชน์ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เชื่อว่า จะได้รับการสนับสนุน อีก 6 แพ็กเกจที่เหลือของพรรคประชาชน ที่ผ่านมาก็มีการพูดคุยกันทั้งหน้าบ้าน หลังบ้านอยู่แล้ว ก็คิดว่าเป็นกระบวนการปกติ ยืนยันว่า ยังไม่เห็นสัญญาณว่าไม่เห็น แต่อย่างที่ทุกคนเห็นตามหน้าสื่อ เหมือนเรื่องมาตรฐานจริยธรรม ก่อนหน้าทุกพรรคการเมืองเห็นด้วยมาโดยตลอด แต่ท้ายสุดก็มีการเปลี่ยนข้อคิดเห็นบ้าง จึงอยากให้ติดตามการประชุม ที่ผ่านมาก็พูดคุยมาตลอดอยู่แล้ว แต่ไม่สามารถพูดแทนพรรคอื่นได้ ตอนนี้ตอบได้ว่า ยังไม่เห็นสัญญาณในเชิงไม่เห็นด้วย โดย 6 แพ็กเกจนี้ คาดว่าน่าจะดำเนินการได้ในช่วง ต.ค.
ส่วนร่าง พ.ร.บ.การจัดทำประชามติ ล่าสุด วุฒิสภา (สว.) ยืนยันแก้ไขแบบเสียงข้างมาก 2 ชั้น ต้องถูกตีตกกลับมา สส. พรรคประชาชนมีจุดยืนอย่างไร ณัฐพงษ์ ยอมรับว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่น่ากังวลว่าการแก้ไขจะทำได้ไม่ทันการเลือกตั้งในปี 2570 เพราะถ้า พ.ร.บ.ประชามติเสร็จไม่ทัน สว.ไม่เห็นด้วย อาจจะต้องตั้งกรรมาธิการร่วม ทำให้กระบวนการพิจารณายืดเยื้อออกไป ต้องล่าช้าออกไป
ทั้งนี้ ส่วนตัวคิดว่า ยังพอมีหนทางในการที่จะทำให้การแก้ไขทั้งฉบับทันปี 2570 หากจัดทำประชามติเพียงแค่ 2 ครั้ง พรรคร่วมรัฐบาลก็ออกมาให้ความเห็นว่าทันสอดคล้องกับความเห็นของพรรคประชาชน เรื่องนี้ต้องหารือกับฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล อาจต้องทำภายในรัฐสภา หารือกับประธานรัฐสภาว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยอย่างไรที่จะบรรจุร่างแก้ไข
เมื่อถามว่าในเรื่องรายงานกรรมาธิการนิรโทษกรรมที่รัฐบาลขอถอนจากวาระสภาไปก่อน เพื่อทำการพูดคุยกับหัวหน้าพรรคทุกพรรค เรื่องจุดยืนของผู้ต้องหาคเี ม.112 พรรคประชาชนมีจุดยืนอย่างไร ณัฐพงษ์ กล่าวว่า ไม่มีเหตุผลอันใดที่จะถอนร่างรายงานไปก่อน เพราะรายงานเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น เเสดงตัวเลือกหลายๆตัวเลือก และเราสามารถเดินหน้าร่วมกันได้ เพราะฉะนั้นยังคิดว่าไม่น่ามีเหตุผลอะไรที่จะต้องถอนร่าง เนื่องจากไม่มีผลผูกพันใดๆ
ประการที่สอง พรรคประชาชนมองว่าเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมามีผู้ได้รับผลกระทบจากคดีทางการเมืองมากมาย ตนคิดว่าคนที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้ควรจะต้องได้รับการเยียวยาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและได้รับความยุติธรรม เรื่องนี้ไม่ว่าจะถูกดำเนินคดีด้วยวิธีใดก็ตาม มาตราใดก็ตาม ควรจะต้องได้รับความเป็นธรรมและได้รับการเยียวยา