จบที่ GRIPEN หรือ F-16 เปิดข้อเสนอ-ท่าที ‘สวีเดน-สหรัฐฯ’

26 กุมภาพันธ์ 2567 - 09:57

Thai-Air-Force-GripenE-F16Block70-SPACEBAR-Hero.jpg
  • สัญญาณ ทอ. เริ่มชัด จบที่ GRIPEN หรือ F-16 หลังจบมหกรรมการบินนานาชาติ Singapore Airshow 2024

  • ผบ.ทอ. เยี่ยมชมบูธบริษัท SAAB สวีเดน ผู้ผลิต Gripen E และบริษัท Lockheed Martin สหรัฐฯ ผู้ผลิต F-16 Block 70

  • จับท่าที-ข้อเสนอ ‘สวีเดน-สหรัฐฯ’ ต่อ ทอ. ไทย ในการจัดหาเครื่องบินขับไล่ ที่ ทอ. เตรียมเสนองบรัฐบาล 19,000 ล้านบาท

ความเคลื่อนไหวของ ‘กองทัพอากาศ’ ในการจัดหา ‘เครื่องบินรบ’ ฝูงใหม่ เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น ภายหลัง ทอ. ได้ตั้งงบไว้เบื้องต้น 19,000 ล้านบาท ที่เตรียมเสนอรัฐบาลในงบประมาณปี 2568 โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่มี พล.อ.อ.เสกสรร คันธา เสนาธิการ ทอ. เป็นประธานฯ จะสรุปผลช่วง มี.ค.67

โดย ทอ. จะพิจารณาจาก 2 ค่าย คือ เครื่องบิน F-16 Block 70 สหรัฐฯ และ Gripen E จากสวีเดน ซึ่งเครื่องทั้ง 2 ค่ายมีประจำการอยู่แล้วใน ทอ.

ล่าสุด พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผบ.ทอ. ได้เดินทางไปยังประเทศสิงคโปร์ เพื่อร่วมงาน ‘สิงคโปร์ แอร์โชว์’ โดยได้เยี่ยมชมบูธหลายบริษัท โดยได้เยี่ยมชมทั้ง บริษัท SAAB ประเทศสวีเดน ที่ ทอ. ไทย จัดหาเครื่องบิน ‘JAS 39 Gripen C/D’ เข้าประจำการที่ กองบิน 7 สุราษฎร์ธานี

Thai-Air-Force-GripenE-F16Block70-SPACEBAR-Photo04.jpg
Photo: บูธบริษัท SAAB ผู้ผลิตเครื่องบินขับไล่ Gripen ในงาน Singapore Airshow 2024

ทั้งนี้มีรายงานความคืบหน้า (ก.พ.67) ว่า การจัดหาของ ทอ. ไทย ในเฟสแรกจะเริ่มต้นที่ 4 เครื่อง ส่วนราคาก็จะต้องมีการเจรจา ในการจัดหา 1 ฝูงบิน 12 เครื่องให้อยู่ในกรอบ 19,000 ล้านบาท ที่ ทอ. จะเสนอขอรัฐบาล 

อย่างไรก็ตามบริษัท SAAB มีการเทียบราคาเครื่อง ‘Gripen C/D’ 4 เครื่อง อยู่ที่ 200 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นราคาที่ ‘บัลแกเลีย’ สั่งซื้อ แต่ราคาจะมากหรือน้อยกว่านี้ อยู่ที่ระบบอาวุธ และระบบสนับสนุนภาคพื้นต่างๆ

ในส่วนของ ทอ. ไทย ทางบริษัท SAAB ได้เสนอหลายออฟชั่นของ ‘Gripen E’ ให้ไทยเลือก แต่สุดท้ายทางบริษัท SAAB ก็ต้องรอการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือกฯ เพื่อรองบประมาณปี 2568 ในการเข้าพิจารณาของ ครม. และสภาฯ

สิ่งสำคัญของการเจรจาอยู่ที่นโยบายรัฐบาล และ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกฯ คือเรื่อง Offset Policy หรือ ‘ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ’ ที่จะตกสู่ภาครัฐ ในการจัดซื้ออาวุธเพื่อให้เงินเข้าประเทศด้วย

ซึ่งทางบริษัท SAAB ก็จะสนับสนุนแนวทาง Offset Policy เอาบริษัทสวีเดนมาลงทุนในไทย ซึ่งในโครงการจัดหา Gripen ฝูงแรก ทางสวีเดนได้ให้ทุนการศึกษา 100 กว่าทุน กับนักศึกษาและคนในกองทัพ ซึ่งในครั้งนี้หากมีความร่วมมือกัน ก็จะสนับสนุนทุนการศึกษามากขึ้น

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ ‘เศรษฐา’ เคยพบปะกับ Marcus Wallenberg ประธานบริษัท SAAB ในห้วงระหว่างการประชุม World Economic Forum 2024 ที่มีเครือข่ายการจำหน่ายเครื่องบินและเรือดำน้ำ โดย Marcus ยินดีสนับสนุนและพิจารณาการขยายการลงทุนต่างๆ ในไทย

ส่วนไทม์ไลน์การจัดหา หาก ทอ. ไทยพิจารณาเลือก ‘Gripen E’ ทางบริษัท SAAB ก็จะสามารถจัดส่งได้หลังลงนาม 3-4 ปี รวมระยะเวลาที่ฝึกบินด้วย

Thai-Air-Force-GripenE-F16Block70-SPACEBAR-Photo03.jpg
Photo: เครื่องบินขับไล่ ‘JAS 39 Gripen D’ กองบิน 7 สุราษฎร์ธานี จัดแสดงในงาน Singapore Airshow 2024

นอกจากนี้ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี ผบ.ทอ. ยังได้เยี่ยมชมบูธบริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ตั้งโดดเด่นกลางแจ้ง เป็นบูธที่ต้องมีบัตรเชิญถึงเข้าชมได้ ต่างจากบริษัท SAAB ที่ตั้งใน Hall สามารถเข้าชมได้ ไม่ต้องมีบัตรเชิญ

ทั้งนี้ ทอ. ไทย เคยเสนอ ‘ขออนุมัติจัดซื้อ’ เครื่องบินขับไล่ F-35 A ใน ยุค พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ อดีต ผบ.ทอ. แต่ สหรัฐฯ ไม่อนุมัติขายให้ไทย โดย ทูตสหรัฐฯ ได้เข้าพบ พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผบ.ทร. ในขณะนั้น เพื่อรายงานผลว่า ยังไม่อนุมัติขายให้ ขอชะลอการซื้อขายไปก่อน โดยให้เหตุผลถึงความพร้อมของ ทอ. ไทย ในเรื่องอาคารสถานที่ การรักษาความปลอดภัย เนื่องจากสหรัฐฯ จะให้ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยเฉพาะเรื่องข้อมูลข่าวสารเป็นอันดับแรก

ทำให้โครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ F-35 A ของ ทอ. ไทย ต้องพับไปก่อน เมื่อมาในยุค พล.อ.อ.พันธ์ภักดี จึงได้เปลี่ยนไปพิจารณาเครื่องบินขับไล่ F-16 C/D Block 70/72 แทน ซึ่งทางสหรัฐฯ เคยเสนอให้ไทยจัดหารุ่นดังกล่าวแทน

Thai-Air-Force-GripenE-F16Block70-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: บูธบริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ผลิตเครื่องบินขับไล่ตระกูล F ในงาน Singapore Airshow 2024

แต่มีรายงานว่าเครื่องบิน F-16 หาก ทอ.ไทย พิจารณาจัดซื้อ ต้องต่อคิวประมาณ 7-10 ปี ถึงจะได้เครื่องลำแรก เพราะมีประเทศต่างๆ จัดหาก่อนแล้ว โดยมีคำสั่งซื้อกว่า 70-80 เครื่อง จากสถานการณ์ในภูมิภาคต่างๆ

หากพิจารณาจาก ‘ไทม์ไลน์’ ก็จะ ‘กระชั้นชิด’ กับที่เครื่องบิน F-16 Block 15 ประจำฝูงบิน 103 กองบิน 1 โคราช ที่จะทยอยปลดประจำการปี 2571-75

ส่วนที่กองบิน 4 ตาคลี เครื่องบิน F-16 ได้รับการ Midlife update F-16 MLU ให้ทันสมัยขึ้น ยืดระยะเวลาใช้งานได้อีกราว 10 ปี

ดังนั้นโอกาสที่ ทอ. ไทย จะพิจารณาจัดหาเครื่องบินขับไล่ Gripen E จึงยังคัดตัวเลือกดังกล่าวไม่ได้ แม้ภายใน ทอ. ก็มีเสียงที่อยากได้เครื่องบิน F-16 Block 70 ด้วยเรื่องเทคโนโลยีและการวาง ‘ดุลมหาอำนาจ’ ที่ ทอ. ต้องชั่งน้ำหนักทั้งการ ‘คงกำลังรบ’ ภายใน ทอ. และสถานการณ์โลกควบคู่กันไป

นอกจากนี้มีรายงานว่าในการเยี่ยมชมบูธ บริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน ของ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี ผบ.ทอ. ทางบริษัทฯ ได้นำเสนอทั้งเครื่องบินขับไล่ F-16 และ F-35 ไม่ได้มีท่าทีปัดกั้นไทยแต่อย่างใด

Thai-Air-Force-GripenE-F16Block70-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: เครื่องบินขับไล่ F-35 A กองทัพอากาศสหรัฐฯ ในงาน Singapore Airshow 2024

อย่างไรก็ตาม พล.อ.อ.พันธ์ภักดี ผบ.ทอ. ยังได้เยี่ยมชมบูธบริษัทยุทโธปกรณ์ของจีนด้วย เพื่อวางสมดุลมหาอำนาจ และพบกับอีกหลายบริษัทเพื่อป้องกันเรื่องการ ‘ผูกขาด’ กับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ในการจัดทำโครงการของ ทอ. ที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆนี้ และอีกราว 10 ปีข้างหน้า ที่ ทอ.ไทย เปิดรับทุกค่ายการผลิต

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์